สุรชาติ บำรุงสุข | จีน สหรัฐ และโควิด (จบ) อดีตและอนาคตที่ท้าทาย

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“อังกฤษเป็นเจ้าของโลก และเยอรมนีก็ต้องการมัน”

Woody Allen

จากภาพยนตร์เรื่อง Zelig

1)ในท่ามกลางการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่นั้น หนึ่งในตัวอย่างที่ถูกยกมาเปรียบเทียบเสมอคือ สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1914 ที่เป็นความขัดแย้งระหว่างอังกฤษ (และฝรั่งเศส) กับเยอรมนี ดังจะเห็นได้ว่าจนถึงปัจจุบันการกำเนิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ยังคงเป็นประเด็นข้อถกเถียงทางวิชาการอย่างไม่มีจุดจบ

และในวาระครบ 100 ปีของสงครามโลกครั้งที่ 1 หัวข้อนี้ปรากฏเป็นหนังสือทางวิชาการให้คนรุ่นหลังได้วิเคราะห์กันอีกครั้ง

และขณะเดียวกันก็ชวนให้คิดต่อว่า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน คือการซ้ำรอยทางประวัติศาสตร์ของปี 1914 เช่นที่สงครามโลกครั้งนั้นคือการซ้ำรอยสงครามของเอเธนส์กับสปาร์ตา

2) หากย้อนกลับไปดูในช่วงก่อนปี 1914 จะเห็นได้ชัดว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ แรงขับเคลื่อนของ “ลัทธิชาตินิยมรุนแรง” (hyper nationalism) ที่ต่างฝ่ายต่างคิดเข้าข้างตนเอง และมองว่าการกระทำของตนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง คือมีทัศนะแบบ “มองเข้าข้างใน [ตัวเอง]” (inward-looking) และขณะเดียวกันก็มองรัฐอีกฝ่ายเป็นศัตรูมากขึ้น

และที่สำคัญ กระแสชาตินิยมเช่นนี้ทำให้ทุกฝ่ายมีความคาดหวัง และอาจเป็น “ความคาดหวังที่ไม่มีเหตุผล” ที่มักจะเชื่อว่าฝ่ายเราจะเป็นผู้ชนะสงคราม

3) คงจะไม่ผิดนักที่สภาวะของ “ลัทธิชาตินิยมสุดโต่ง” เช่นนี้เกิดทั้งในเยอรมนีก่อนปี 1914 และจีนในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้ชัดว่าผู้นำจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีนอาศัยลัทธิชาตินิยมเป็นพลัง ไม่ใช่อุดมการณ์สังคมนิยมในแบบเดิม วันนี้แทบไม่ต้องพูดถึงลัทธิมาร์กซ์หรือความคิดเหมาในการเมืองจีนอีกต่อไปแล้ว และกระแสชาตินิยมในแบบนี้เป็นตัวเร่งที่นำไปสู่ “ลัทธิเสนานิยม” (militarism) ที่ต้องการขยายอำนาจทางทหารของรัฐอย่างสุดขั้ว หรือเกิด “สายเหยี่ยวสุดโต่ง” (extreme hawkishness) และอาจกลายเป็นความคิดแบบนิยมสงคราม (bellicist ideas) อันเป็นพื้นฐานของการสร้างอำนาจทางทหารของรัฐอย่างสุดโต่ง จนเป็นจุดสำคัญที่นำไปสู่ “การแข่งขันสะสมอาวุธ”

จนดูเหมือนว่าการแข่งขันสะสมอาวุธระหว่างจีนกับสหรัฐปัจจุบันกำลังย้อนรอยเยอรมนีกับอังกฤษก่อนปี 1914

(FILES) In this file photo taken on April 3, 2020 one of the six robots of the Circolo di Varese hospital stands near a patient, to help the healthcare staff of the High Intensity Medicine department to assist twelve patients suffuring from the epedemic Covid-19, caused by the novel coronavirus. (Photo by Miguel MEDINA / AFP)

4) นอกจากผู้นำประชานิยมปีกขวาอย่างทรัมป์ หรือผู้นำชาตินิยมอย่างสีจิ้นผิง ที่ยืนอยู่บนพลังของลัทธิชาตินิยมสุดโต่งแล้ว แรงขับเคลื่อนที่สำคัญจึงได้แก่ “เหยี่ยว” หลายฝูงในสังคมที่พร้อมจะสนับสนุนให้รัฐเดินไปบนถนนสายสงคราม เพราะต่างฝ่ายต่างเชื่อในพลังอำนาจทางทหารของตน และการสร้างอำนาจทางทหารเป็นศูนย์กลางของนักชาตินิยมเสมอ

ฉะนั้น เมื่อลัทธิชาตินิยมสุดโต่งผนวกเข้ากับลัทธิเสนานิยมสุดโต่งมักจะจบลงด้วยความเชื่อว่า สุดท้ายแล้วสงครามให้ผลตอบแทนมากกว่าการเจรจาทางการทูต และเชื่ออีกว่าอาวุธของตนดีกว่า

5) แม้จะมีความหวังรางๆ อยู่บ้างในการเปลี่ยนภาวะเช่นนี้ ถ้าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2020 อาจทำให้การเมืองอเมริกันได้ผู้นำใหม่ แต่ก็น่าสนใจว่า ถ้าโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งจริง ทิศทางของการต่อสู้แข่งขันในเชิงโครงสร้างเช่นนี้จะเปลี่ยนไปจริงเพียงใด (ถ้าทรัมป์ชนะอีกครั้ง ก็ไม่ต้องคิดมาก!) เมื่อการเมืองโลกต้องกลับสู่ยุคแห่งการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่อีกครั้ง

จึงทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ถึงเวลาที่เราอาจต้องกลับไปอ่านงานของทูซิดิดิสใหม่ หรือเราควรลองหยิบหนังสือเกี่ยวกับกำเนิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 มาทบทวนกันอีกสักครั้งหรือไม่

6)หากว่าผู้นำสหรัฐหลังเลือกตั้งจะมาจากพรรคเดโมแครต แต่ในเชิงการเมืองโลกแล้ว เราอาจอธิบายในอีกมุมได้ว่า ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำที่วอชิงตัน ก็จะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับจีน เช่นเดียวกันในเงื่อนไขที่จีนเติบโต ไม่ว่าใครจะเป็นผู้นำที่ปักกิ่ง ก็ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ในการแข่งขันกับสหรัฐ

หรือกล่าวได้ว่ายุทธศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจทั้งสองฝ่ายจะไม่ได้แตกต่างกันในการเมืองโลก ความแตกต่างอาจจะเป็นเพียงยุทธวิธีและ/หรือวิธีการของผู้นำแต่ละคนในแต่ละช่วงเวลา

7) หากมองด้วยมิติทางประวัติศาสตร์แล้ว การเติบโตของจีนยุคปัจจุบันก็อาจจะไม่ต่างกับการเติบโตของเยอรมนีที่ก้าวขึ้นมาเป็น “รัฐมหาอำนาจใหม่” ของยุโรป และผู้นำเยอรมันก็มองว่า พวกเขาเพียงแต่ต้องการการอ้างถึงสิทธิสถานะของประเทศใน “ศูนย์กลางของดวงอาทิตย์” เท่านั้น (คำกล่าวของรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมันในเดือนธันวาคม 1897) และท่าทีของเยอรมนีเช่นนี้นำไปสู่การร่างแนวคิดทางยุทธศาสตร์ของอังกฤษในปี 1907 เพื่อเตรียมรับมือกับเยอรมนี

8) ในอีกมุมหนึ่ง เราอาจเทียบได้กับการเติบโตของญี่ปุ่นในเอเชียในช่วงทศวรรษ 1930 ที่มากับข้อเสนอ “ระเบียบใหม่ของเอเชียตะวันออก” (The New Order in East Asia) ซึ่งระเบียบนี้กำหนดให้ญี่ปุ่นเป็นผู้นำ และปลดปล่อยเอเชียออกจากอิทธิพลของมหาอำนาจตะวันตก ภายใต้คำขวัญ “เอเชียเพื่อชาวเอเชีย” (Asia for the Asiatics)

ข้อเสนอนี้ก็คือภาพสะท้อนการเติบโตของญี่ปุ่น (The Rise of Japan) ที่ก้าวขึ้นมาเป็น “รัฐมหาอำนาจใหม่” และท้าทายกับตะวันตกซึ่งเป็น “รัฐมหาอำนาจเก่า” จากยุคอาณานิคม ว่าที่จริงก็ไม่ต่างจากเยอรมนีที่ต้องการ “อยู่ในพระอาทิตย์ ไม่ใช่อยู่ในเงา”

9) สภาวะหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ซ้ำรอยเดิม เมื่อสหภาพโซเวียตรัสเซียเติบใหญ่มากขึ้นเป็น “รัฐมหาอำนาจใหม่” ซึ่งไม่ต่างกับสถานะของเยอรมนีในช่วงก่อนปี 1914 หรือญี่ปุ่นก่อนปี 1941 อันส่งผลให้จอร์จ เคนแนน นักการทูตชาวอเมริกันเสนอแนวคิดทางยุทธศาสตร์ในการรับมือกับโซเวียตในรูปของ “โทรเลขขนาดยาว” (หรือที่รู้จักกันในชื่อ The long telegram) เพราะมีความยาวถึง 8,000 คำ โทรเลขนี้เป็นต้นรากของ “ยุทธศาสตร์ปิดล้อม” ของสหรัฐในยุคสงครามเย็น

10) การเติบโตของเอเธนส์ เยอรมนี ญี่ปุ่น และรัสเซีย ไม่แตกต่างกันในบริบทของความเป็นรัฐมหาอำนาจใหม่ และนำไปสู่การแข่งขันกับรัฐมหาอำนาจเก่าไม่ว่าจะเป็นสปาร์ตา อังกฤษ และสหรัฐเสมอไป จนกลายเป็นดังทฤษฎีกำเนิดสงครามชุดหนึ่ง

11)โครงสร้างของระบบระหว่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดให้รัฐมหาอำนาจใหญ่ที่เป็นคู่แข่งขันต้องตกอยู่ภายใต้ชุดวิธีคิดเดียวกัน เพราะในที่สุดแล้วรัฐเหล่านี้จะต้องต่อสู้เพื่อให้รัฐตนมีสถานะเป็น “อันดับ 1” ในเวทีโลก (หรือที่เรียกว่า “the struggles for global supremacy”) หรือที่รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนีกล่าวในปี 1897 ว่า เยอรมนีต้องการอยู่ในพระอาทิตย์ เพราะไม่มีรัฐมหาอำนาจใหญ่รัฐใดที่ต้องการอยู่ภายใต้ร่มเงาของรัฐมหาอำนาจอื่น

12) อาจกล่าวเปรียบเทียบเสมือนกับการต่อสู้ชิงแชมป์ในเวทีมวย มีแชมป์คนเก่า และผู้ท้าชิงคนใหม่ แน่นอนว่าตำแหน่งแชมเปี้ยนมวยนั้นมีเพียงคนเดียว… ไม่เคยมีแชมป์มวยสองคนในเวทีเดียวกัน เพราะไม่มีคะแนนเสมอในการชก

13) สำหรับโลกในยุคปัจจุบัน แนวโน้มของความสัมพันธ์ของรัฐมหาอำนาจใหญ่สองฝ่ายเช่นนี้ ยังเห็นได้จาก “สงครามน้ำลาย” ที่ตอบโต้กันไปมา ว่าด้วยปัญหาจุดกำเนิดของเชื้อโควิด และเห็นได้ชัดว่าการต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายเข้มข้นขึ้นอย่างมาก จนเป็นเสมือนคำตอบในอนาคตว่า หลังโควิดแล้ว รัฐมหาอำนาจทั้งสองน่าจะต่อสู้กันเข้มข้น มากกว่าจะมีทิศทางประนีประนอมกัน

14) ประเด็นที่น่าติดตามในอนาคตก็คือ เมื่อโควิดมาถึงจุดสิ้นสุดจริงๆ รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายจะปรับยุทธศาสตร์ใหม่ในการแข่งขันให้เข้มข้นมากขึ้นอย่างไร เพราะในด้านหนึ่งนั้น สังคมภายในของรัฐมหาอำนาจทั้งสองต่างก็ถูกปลุกด้วยกระแสชาตินิยมสุดโต่งที่มีปัญหาเชื้อโรคเป็นแรงขับเคลื่อน และจักรกลของการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองยังมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างกระแสความเชื่อที่ต่างฝ่ายต่างมองอีกฝ่ายเป็นศัตรู จนอาจต้องกล่าวว่า บรรยากาศในเวทีระหว่างประเทศมีความเป็นศัตรูที่ถูกสร้างเพิ่มมากขึ้นในทุกช่วงเวลา และบรรยากาศของความเป็นมิตรก็เป็นเพียง “ละครฉากเล็ก” ที่แทรกอยู่ จนปัญหาของความร่วมมือระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่กลายเป็น “เมฆหมอกของความฝัน” มากกว่าความจริง ความหวังที่จะเกิดความร่วมมือสหรัฐ-จีนในยุคหลังโควิดยังดูห่างไกล

15) แต่ในอีกด้าน เราคงยังต้องมีความหวังว่าผู้นำรัฐมหาอำนาจเก่าจะมีความตระหนักถึงบทเรียนสงครามตั้งแต่ยุคเอเธนส์-สปาร์ตา ที่จะดำเนินการอย่างไรที่จะไม่เป็นการปิดพื้นที่ จนรัฐมหาอำนาจใหม่อยู่ในสภาพถูกกดและมองว่ามีเพียง “สงคราม” เท่านั้นที่เป็นทางออก

ในทำนองเดียวกัน รัฐมหาอำนาจเก่าเองก็ต้องไม่ตกอยู่ในภวังค์ด้วยความเชื่อว่า มีแต่ “สงคราม” เท่านั้นที่จะเป็นเครื่องมือในการป้องกันสถานะของรัฐตน

16)เช่นเดียวกันที่จะทำอย่างไรให้ผู้นำรัฐมหาอำนาจใหม่สามารถจัดการตนเองให้ได้ในฐานะของการเป็น “ผู้มาใหม่” ในระบบระหว่างประเทศ ที่จะไม่มีความเชื่อมั่นแบบด้านเดียวว่า มีเพียง “สงคราม” เท่านั้นที่เป็นเครื่องมือ หรือความหวังที่เลื่อนลอยว่า ผลตอบแทนในสนามรบมากกว่าผลจากโต๊ะเจรจา และไม่คำนึงว่าความเชื่อนี้จะมีเหตุผลหรือไม่ก็ตาม

17) บทเรียนสำคัญของสงครามในปี 1914 หรือ 1939 และ 1941 มาจากการที่ “องค์อธิปัตย์แห่งรัฐ” ล้วนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของลัทธิชาตินิยมสุดขั้วและลัทธิเสนานิยมสุดโต่ง และทั้งยังเชื่อด้วยความมั่นใจว่า “สงครามวันนี้ดีกว่าวันพรุ่งนี้” หรืออีกนัยหนึ่งคือการที่ยุทธศาสตร์ของรัฐถูกครอบงำด้วยแผนสงคราม และนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “The Cult of the Offensive” ทั้งในกองทัพและในรัฐบาล

18) สิ่งที่กล่าวมาในข้างต้นเป็นบทเรียนจากประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นว่า สุดท้ายแล้ว การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ “อาจจะ” จบลงด้วยสงคราม (ใช้คำว่า “อาจจะ” เพราะยังเป็นเรื่องในอนาคต) แต่เนื่องจากความตึงเครียดในโครงสร้างของระบบระหว่างประเทศเป็นปัจจัยตัดสิน จึงเกิดความกังวลว่าการแข่งขันอาจจบลงด้วยการชี้ขาดในสนามรบ ดังความเชื่อที่เป็นสำนวนเชิงภาพลักษณ์ว่า “สงครามเป็นเสมือนพายุในฤดูร้อนที่มาเพื่อช่วยทำให้อากาศสดใสขึ้น”

19) บันทึกของทูซิดิดิสจนถึงสงครามโลกทั้งสองครั้ง จึงเป็นเสมือน “เสียงพายุที่อยู่ไกลๆ” (distant thunder) แต่บางทีเสียงพายุที่อยู่ไกลนี้ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนก่อนที่พายุใหญ่จะมาถึงเสมอ เพราะในมุมมองของรัฐมหาอำนาจใหม่ การแข่งขันนี้ไม่เพียงต้องการสร้าง “สถานะใหม่” แต่ยังต้องการ “จัดใหม่” ในเชิงอำนาจในเวทีโลกอีกด้วย

20) ในท่ามกลางการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ที่เกิดขึ้นนั้น การสิ้นสุดของโรคระบาดในปี 2020 จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นการจัด “ระเบียบระหว่างประเทศใหม่” (New World Order) เพียงใด และการจัดระเบียบนี้จะส่งผลให้เกิด “สมดุลใหม่ของโลก” (New Global Balance) เพียงใด เรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นที่จะต้องติดตาม

แม้โลกปัจจุบันจะแตกต่างจากปี 1914 อย่างมากก็ตาม แต่การต่อสู้แข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ที่มีศูนย์กลางอยู่กับปัญหาจีน-สหรัฐในวันนี้มีความชัดเจนในตัวเองแล้ว และกลายเป็นโจทย์ชุดใหญ่ของการเมืองโลกปัจจุบัน!