ฉัตรสุมาลย์ : พระวินัยภิกษุณี

บนเส้นทางภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย (13)
ภิกษุณีปาติโมกข์

ปีแรกที่ท่านธัมมนันทาได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุณีกลับมาใน พ.ศ.2546 นั้น โดยเงื่อนไขของพระวินัย ท่านต้องถือนิสสัยกับปวัตตินี คือภิกษุณีที่เป็นอาจารย์ของท่าน 2 พรรษา

แต่ท่านติดขัดว่าไม่สามารถไปอยู่ที่ศรีลังกาได้ เพราะมารดาของท่านเอง คือ ท่านต้าเต้า หรือภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ นั้น อายุ 95 แล้ว จึงนิมนต์ภิกษุณีที่เป็นปวัตตินีมาเข้าพรรษาด้วยกันที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีในประเทศไทย เมื่อนิมนต์ท่านมาแล้ว ท่านธัมมนันทาก็ขอเล่าเรียนพระวินัยโดยตรงจากปวัตตินี ที่สำคัญคือ การสวดปาติโมกข์

ตรงนี้เองที่ปวัตตินีของท่านว่าต้องนิมนต์ภิกษุณีอื่นมาให้ครบอย่างน้อยควรอยู่กัน 5 รูป สวดปาติโมกข์จะทำในสงฆ์ และเมื่อออกพรรษาจะได้รับกฐินตอนออกพรรษาด้วยกัน

ก็เลยเป็นที่มาของการมีภิกษุณีจากเวียดนาม อินโดนีเซีย และศรีลังกามาเข้าพรรษาร่วมกันใน พ.ศ.2546 เป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการที่มีภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทมาจำพรรษาในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

ภิกษุณีเหล่านี้ ล้วนอุปสมบทในสายเถรวาทที่ศรีลังกาทั้งสิ้น ยกเว้นท่านสันตินี จากอินโดนีเซียที่ได้รับการอุปสมบทจากโฝวกวางซันที่ไต้หวัน และได้รับการอุปสมบทซ้ำจากพระภิกษุสายเถรวาทของศรีลังกาที่ไปร่วมในงานที่ไต้หวัน

สำหรับปาติโมกข์นั้น ผู้เขียนเคยเห็นหนังสือ อุภโตปาติโมกข์ คือปาติโมกข์ของทั้งภิกษุและภิกษุณี เป็นหนังสือที่พิมพ์ในงานศพของสมเด็จฯ วัดจักรวรรดิ องค์นี้เป็นเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยารูปแรกค่ะ (วัดไทยพุทธคยาเริ่มต้น พ.ศ.2500)

หลังจากนั้น การพิมพ์ปาติโมกข์ก็จะพิมพ์เฉพาะภิกษุปาติโมกข์

 

สําหรับท่านผู้อ่านที่ไม่คุ้นกับคำนี้ อธิบายอย่างเข้าใจง่ายๆ คือ สิกขาบทที่ภิกษุถือปฏิบัติ 227 ข้อ รวมอยู่ในปาติโมกข์ที่ว่านี้ ของภิกษุณีมากกว่า คือ 311 ข้อ

ที่ภิกษุณีถือสิกขาบทมากกว่านี้ ก็นำมาซึ่งความเข้าใจผิด ญาติโยมบางท่านว่า ทำบุญกับภิกษุณีได้บุญมากกว่า เพราะภิกษุณีรักษาสิกขาบทมากกว่า

ความเชื่อนี้ก็มีที่มาที่ไปค่ะ เพราะพระภิกษุบางรูปท่านไปสอนว่า คนที่ถือศีล 5 นั้น ดีกว่าคนที่ไม่ถือศีล

คนที่ถือศีล 8 ก็ดีกว่าคนที่ถือศีล 5

เณรที่ถือศีล 10 ก็ดีกว่าโยมที่ถือศีล 8

ภิกษุที่ถือสิกขาบท 227 ก็ดีกว่าเณรที่ถือศีล 10

มันไล่กันมาอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ก็ว่าโดยตรรกะ ภิกษุณีถือศีล 311 ก็ย่อมสูงกว่าภิกษุที่ถือศีล 227

ที่จริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ภิกษุณีมาทีหลัง โดยการเกิดขึ้นของสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นอย่างน้อย 5 ปี หลังการเกิดขึ้นของพระภิกษุสงฆ์

พระพุทธเจ้าจึงทรงวางภิกษุณีไว้ในตำแหน่งและฐานะของน้องสาวที่พึงมีความเคารพต่อพระภิกษุผู้เป็นพี่ชาย

พระพุทธองค์ทรงมุ่งหวังให้พระภิกษุสงฆ์ช่วยในการอบรมสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่ภิกษุณี เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุณีสงฆ์จึงพึงให้ความเคารพแก่พระภิกษุสงฆ์

นี้ว่าโดยหลักการ ภิกษุที่ทำตัวไม่น่าเคารพ พระภิกษุณีก็ไม่ต้องกราบไหว้ มีระบุไว้ในพระวินัยชัดเจนอยู่

 

กลับไปพิจารณาข้อสิกขาบทในปาติโมกข์ หากดูตามหมวดแล้ว ของภิกษุมี 8 หมวด ของภิกษุณีมีเพียง 7 หมวด ถ้านับตามจำนวนหมวด ภิกษุมีหมวดมากกว่าภิกษุณี แต่ถ้านับแจงโดยข้อ ภิกษุณีมี 311 ข้อ ภิกษุมี 227 ข้อ

พระภิกษุ หรือแม้ภิกษุณีที่ไม่ได้ศึกษาข้อสิกขาบทโดยละเอียด บางทีก็อธิบายตามความเข้าใจ (ผิดๆ) ของตัวเองว่า ที่ภิกษุณีต้องถือมากกว่า เพราะทำผิดมากกว่า

หมายถึงทำผิด และเป็นที่มาของการวางพระวินัยบัญญัติ ที่เรียกว่าต้นบัญญัติ เรื่องต้นบัญญัตินี้ ไม่ใช่ว่าทำผิดเสมอไป บางครั้ง ก่อนหน้านั้นยังไม่ได้มีกำหนดเป็นข้อห้ามไว้ เมื่อทำเช่นนั้น อาจจะไม่เหมาะสม พระพุทธองค์จึงวางเป็นข้อพึงปฏิบัติสำหรับภิกษุ และต่อมาสำหรับภิกษุณีด้วย

บางรูปก็ว่า ปาติโมกข์ของภิกษุมี 227 ข้อ ของภิกษุณีก็คือส่วนที่เพิ่มขึ้นมา

อันนี้ก็ว่ากันไปเอง อย่างคนที่ไม่ได้ศึกษา

 

ปาติโมกข์ 8 หมวดของภิกษุนั้น มีเพียงปาราชิกหมวดเดียวที่ภิกษุมีเบ็ดเสร็จ 4 ข้อ เมื่อภิกษุณีเกิดขึ้น ก็มีปาราชิกเพิ่มขึ้นมาอีกในส่วนของภิกษุณีอีก 4 ข้อ ภิกษุณีจึงมีปาราชิก 8 ข้อ

หมวดถัดมาจากนั้น ภิกษุณีเกิดขึ้นแล้ว และการบัญญัติพระวินัยยังไม่คงที่ นับแต่หมวดที่สองเป็นต้นมา จะมีผสมกัน คละกัน คือบางข้อปฏิบัติร่วมกัน เรียกว่า สาธารณะ บางข้อเฉพาะภิกษุ หรือเฉพาะภิกษุณีเรียกว่า อสาธารณะ

ผู้เขียนเองเชื่อต่อไปด้วยว่า แม้เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน การจัดหมวดหมู่ของปาติโมกข์ก็ยังไม่แล้วเสร็จดังที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน

แต่นั่นเป็นประเด็นทางวิชาการ อาจจะไม่เหมาะกับพื้นที่ของคอลัมน์นี้ ที่เปิดให้ท่านผู้อ่านทั่วไปเข้ามาทำความเข้าใจในระดับหนึ่งก่อน

เมื่อเมืองไทยไม่เคยมีภิกษุณีสงฆ์ในสายเถรวาท การสวดปาติโมกข์จึงไม่เคยเกิดขึ้น เราจึงถือว่า พรรษาใน พ.ศ.2546 เป็นพรรษาแรกที่มีการสวดภิกษุณีปาติโมกข์ในประเทศไทย

นี้เป็นหมุดหมายสำคัญทางพระวินัย ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

 

การสอนสวดปาติโมกข์นั้น เดิมพระภิกษุเป็นผู้สอนภิกษุณี เมื่อภิกษุณีสามารถสวดเองเป็นแล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้สวดกันเอง เพราะฉะนั้น การลงสวดปาติโมกข์ก็จะทำแยกกันระหว่างฝ่ายภิกษุและภิกษุณีสงฆ์

ก่อนที่ภิกษุณีสงฆ์จะลงสวดปาติโมกข์ ก็ต้องรับโอวาทจากภิกษุเสียก่อน พระภิกษุที่จะมาสอนภิกษุณีนี้ นอกจากจะต้องเป็นพระผู้ใหญ่ คือมีพรรษา 20 แล้ว ต้องทรงธรรมวินัย และรอบรู้ในพระธรรมวินัย และมีเมตตาต่อภิกษุณีสงฆ์ด้วย

ในการรับโอวาทนี้ ก็จะมีการตรวจสอบความเข้าใจว่า ที่จะสวดปาติโมกข์นี้ เป็นอุโบสถที่เท่าไร จะได้ถือปฏิบัติตามกัน

การสวดปาติโมกข์ เดือนหนึ่งมีสองครั้ง คือ ขึ้น 15 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ หรือแรม 14 ค่ำ ในกรณีที่เดือนนั้นเป็นเดือนขาด

ส่วนใหญ่ในสมัยใหม่นี้ก็จะอาศัยดูจากปฏิทิน แต่เมื่อวันแรม 14 ค่ำที่ผ่านมาที่ตรงกับวันที่ 19 มิถุนายนนั้น มีความแตกต่างว่าจะเป็นแรม 14 ค่ำ หรือแรม 15 ค่ะ เพราะตามตำรา เดือน 7 จะเป็นแรม 14 ค่ำ ปฏิทินสากลเป็นวันที่ 20 ในขณะที่ปฏิทินโหรจะเป็นวันที่ 19

ภิกษุณีสงฆ์ก็ถือปฏิบัติตามพระภิกษุอาจารย์ผู้มาให้โอวาท ท่านถือวันที่ 19 ทางภิกษุณีสงฆ์ก็ปฏิบัติตามนั้น

 

ในบทที่เป็นอารัมภบทของการสวดปาติโมกข์ของพระภิกษุสงฆ์นั้น ก็จะมีการระบุด้วยว่า ได้ให้โอวาทแก่ภิกษุณีแล้วหรือไม่ ในเมืองเรา สมัยที่ยังไม่มีภิกษุณี พระท่านก็จะสวดว่า ไม่ได้ให้โอวาทเพราะไม่มีภิกษุณี แต่ตอนนี้ สำหรับหลวงพ่อที่ให้โอวาทแก่ภิกษุณีแล้ว เมื่อท่านกลับไปสวดปาติโมกข์ของฝ่ายภิกษุ ท่านก็จะสวดว่า ได้ให้โอวาทแก่ภิกษุณีแล้ว

การสวดปาติโมกข์ต้องทำในวันขึ้น 15 ค่ำ แรม 14 หรือ 15 ค่ำ สอดคล้องกับพระภิกษุสงฆ์ และต้องทำในวันเดียวกัน ไม่ใช่รับโอวาทจากพระภิกษุวันหนึ่ง และไปสวดปาติโมกข์ในวันรุ่งขึ้น

ในการเรียนสวดปาติโมกข์นั้น ต้องฝึกอ่านภาษาบาลีให้คล่องลิ้น คราวแรกที่ท่านธัมมนันทาท่านเรียนกับปวัตตินีของท่านที่เป็นชาวศรีลังกา ท่านสอนสวดแบบศรีลังกา เพราะมาก แต่ก็ยาวมาก กินเวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง

ตอนนี้มาฝึกสวดกันเอง ถ้าพูดถึงเร็วที่สุด เป็นภิกษุณีชาวอินเดีย ท่านอยู่รูปเดียวที่มุมไบ บางทีท่านก็มาอาศัยเข้าพรรษาที่เมืองไทย ท่านสวดได้ภายใน 1 ชั่วโมง แต่สำหรับภิกษุณีไทยของเราเองที่สวดได้เร็วที่สุด 1 ชั่วโมง 10 นาที

การสวดพระปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นภาษาบาลี หากสวดโดยขาดความเข้าใจก็เสียเปล่า ในพรรษานี้ จึงมีการทบทวนศึกษาในความหมายด้วยกำกับกันไป

 

ภิกษุณีหลายรูปที่กระจายกันอยู่ตามลำพัง ไม่ครบองค์สงฆ์ ท่านก็พยายามไปรวมกลุ่มกันกับภิกษุณีสงฆ์ที่อยู่กันเป็นสังฆะเพื่อจะได้ร่วมฟังการสวดปาติโมกข์ด้วย

เรื่องการสวดปาติโมกข์นี้ ต้องถือเป็นหมายสำคัญของการประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์ เพราะจะสวดได้ก็ต่อเมื่ออยู่กันเป็นสงฆ์

ญาติโยมจึงถือว่า การถวายน้ำปานะแก่พระที่ท่านเพิ่งออกมาจากพระอุโบสถหลังจากที่สวดปาติโมกข์ได้บุญสูง

เพราะพระเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีถือว่าบริสุทธิ์ เพราะก่อนสวดปาติโมกข์ก็จะมีการปลงอาบัติ เป็นสงฆ์ที่บริสุทธิ์แล้ว ดังนี้