เกษียร เตชะพีระ | ความรู้สู้โควิด (1)

เกษียร เตชะพีระ

โรคระบาดทั่วโควิด-19 เป็น The Big Unknown หรือปริศนาใหญ่ที่โลกเรายังไม่รู้จักมากนักนับแต่มันเริ่มแพร่ระบาดในจีนนับแต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา ดังที่นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือหมอเลี้ยบ สมาชิกเริ่มต้นแห่งกลุ่ม CARE แจกแจงไว้ในงานเปิดตัวกลุ่มเมื่อ 17 มิถุนายนศกนี้ว่า :

“ผมเชื่อว่าประเทศไทยอยู่ในเขาวงกต ยังมึนงงไม่รู้จะไปไหนต่อไป เพราะเรารู้จักโควิดแค่ 8 เดือน เราเรียนรู้ขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีใครรู้แน่ชัด รู้จริง ไม่มีสัจธรรม” เช่น

อัตราการเสียชีวิต : ไม่เท่ากัน ของโลกอยู่ที่ 9% อิตาลีที่ 14% ส่วนไทยอยู่ที่ 1.8%

การแพร่กระจายของเชื้อ : ไม่มีใครรู้ แต่ที่รู้แน่ๆ ถ้าปิดจมูก ตา ปาก ก็จะเป็นหลักประกันป้องกันการรับเชื้อ

การรักษา : ไม่มีใครรู้ กำลังพิสูจน์ว่าเป็นไวรัสไปทำลายปอดหรือทำลายเซลล์ในเม็ดเลือด

วัคซีน : ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

การระบาดรอบ 2 : วันนี้ยังไม่มีประเทศไหนมีการระบาดรอบ 2 อย่างจริงจัง ในความหมายที่ว่าเป็นไวรัสที่ระบาดแล้ว รอบ 2 รุนแรงกว่ารอบแรก ซึ่งถ้าเทียบกับไข้หวัดสเปนเมื่อ 102 ปีก่อนที่มีการระบาดรอบ 2 เพราะคนติดเชื้อรุนแรงถูกเคลื่อนย้ายเนื่องจากอยู่ในภาวะสงคราม แต่ในโควิด คนติดเชื้อรุนแรงถูกเก็บตัวไว้ในโรงพยาบาล”

ก่อนเรียกร้องให้คนไทยก้าวข้าม “ความเศร้า ความกลัว” จากวิกฤต ด้วย “ความหวัง ความเชื่อมั่น และปัญญา”

(www.bbc.com/thai/53032653?fbclid=IwAR0CQWI53tC0kM4zdeWfO3w1xautbhGQS5a9hEeKMaB8eB_kgpRH2SCP2Kw)

เพื่อสมทบส่วนแลกเปลี่ยนค้นคว้าปัญญาความรู้เกี่ยวกับ The Big Unknown นี้

ผมใคร่สรุปสังเขปงานวิจัยล่าสุดที่น่าสนใจ 3 ชิ้นเกี่ยวกับผลกระทบทางการแพทย์และเศรษฐกิจของโควิด-19

ดังนี้ :

1)วารสาร The Lancet Global Health ของอังกฤษฉบับ 15 มิถุนายนศกนี้ (www.thelancet.com/action/showPdf?pii=S2214-109X%2820%2930264-3&fbclid=IwAR2S8Wgx9N5u-sibI1bsTBnbMroQ1T0LHOURcr7kaf0vTw-hNELzBc83WOg) ตีพิมพ์รายงานผลการศึกษาจากตัวแบบ (a modelling study) ของทีมนักวิจัยชาวอังกฤษที่พยายามค้นคว้าจำแนกว่าประชากรใน 188 ประเทศมีอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 แล้วป่วยหนักแตกต่างกันอย่างไรตามเกณฑ์อายุ เพศและสภาพเงื่อนไขสุขภาพ

ผลการศึกษาวิจัยจากตัวแบบจำลองที่สมมุติขึ้นพบว่าประชากรโลก 22% หรือ 1.7 พันล้านคนมีเงื่อนไขรองรับอย่างน้อยหนึ่งปัจจัยซึ่งทำให้เสี่ยงสูงขึ้นที่จะมีอาการป่วยหนักหากติดเชื้อโควิด-19

ทีมนักวิจัยประเมินว่าประชากรโลก 4% หรือ 349 ล้านคนเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนักถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหากติดเชื้อโควิด-19

ประชากรโลกเพศชาย 6% และเพศหญิง 3% เสี่ยงสูงที่จะป่วยหนักหากติดเชื้อโควิด-19

ทั้งนี้ สัดส่วนประชากรที่เสี่ยงสูงว่าจะป่วยหนักหากติดเชื้อโควิด-19 จะขึ้นสูงสุดในบรรดาประเทศที่มีประชากรสูงอายุกว่า, บรรดาประเทศในทวีปแอฟริกันที่โรคเอดส์แพร่กว้าง และในประเทศหมู่เกาะเล็กๆ ที่โรคเบาหวานแพร่หลาย

ในทางกลับกัน ในภูมิภาคที่ประชากรเยาว์วัยกว่า สัดส่วนประชากรที่เสี่ยงสูงว่าจะป่วยโควิด-19 หนักหากติดเชื้อเข้าก็จะต่ำลง ได้แก่ทวีปแอฟริกาที่ซึ่งสัดส่วนประชากรเสี่ยงสูงมีแค่ 16% หรือ 283 ล้านคนจากประชากรทั่วทวีปแอฟริกา 1.3 พันล้านคน เทียบกับยุโรปซึ่งประชากรแก่กว่า สัดส่วนประชากรเสี่ยงสูงที่จะป่วยโควิด-19 หนักหากติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นเป็น 31% หรือ 231 ล้านคนจากประชากรทั่วทวีปยุโรป 747 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโควิด-19 หนักของทวีปแอฟริกาจะมีสัดส่วนตายมากกว่าเนื่องจากความอ่อนด้อยของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสาธารณสุขในทวีปนั้น

ตัวเลขประเมินจำนวนบุคคลที่เสี่ยงสูงจะเพิ่มสูงเป็นพิเศษโดยแปรตามโรคเรื้อรังต่อไปนี้คือโรคไต โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดและหัวใจ และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง

คําอธิบาย : แผนภูมิที่ 3 น.9 ของรายงานการศึกษาแสดงสัดส่วนร้อยละของประชากรที่เสี่ยงเพิ่มขึ้นและเสี่ยงสูงว่าจะป่วยโควิด-19 แล้วมีอาการหนักหากติดเชื้อจำแนกตามประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งไทย

ความยาวของแท่งสีทั้งแท่งแสดงสัดส่วนของประชากรที่เสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงผู้มีสภาพเงื่อนไขที่จะทำให้เสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะป่วยหนักหากติดเชื้อโควิด-19 อย่างน้อยหนึ่งเงื่อนไข ทั้งนี้ โดยไม่นับเกณฑ์อายุ

ส่วนแท่งสีทึบกว่าแสดงสัดส่วนประชากรที่เสี่ยงสูง ซึ่งหมายถึงผู้จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหากติดเชื้อ ส่วนแท่งบางช่วงกลางแสดงสัดส่วนที่ยังไม่แน่ชัด

(ต่อสัปดาห์หน้า)