อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : จีน อินเดียและโควิด

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

สื่อมวลชนจำนวนมากลงข่าวความขัดแย้งระหว่างจีน อินเดียในหลายแง่มุม

ล่าสุดคือเรื่องข้อพิพาทบนเทือกเขาหิมาลัย 15 มิถุนายนศกนี้ ราว 40 วันการต่อสู้ระหว่างสองฝ่ายทั้งด้วยอาวุธ หินและท่อนไม้ ทำให้มีการบาดเจ็บล้มตาย

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่าเรื่องนี้มิใช่ข้อพิพาทเรื่องพรมแดนทั่วไป

 

พรมแดน การก่อสร้างและท่าทีศัตรู

จีนและอินเดีย 2 ชาติมหาอำนาจซึ่งมีประชากรรวมกันแล้วเกือบทั้งโลก มีอาวุธนิวเคลียร์ทั้งคู่ ต่อสู้กันจนเกิดวิกฤตการณ์พรมแดน ซึ่งเคยทำสงครามกันในปี 1962

ความขัดแย้งด้านดินแดนตอนนี้อยู่ทางทิศตะวันตกของอินเดียคือ อินเดียควบคุมบริเวณที่เรียกว่า Ladakh ส่วนจีนคุมที่เรียกว่า Aksai Chin

ข้อมูลพื้นฐานคือ จีนและอินเดียมี 3 พื้นที่ชายแดนที่เกี่ยวข้องกันทางตะวันออก 90,000 ตารางกิโลเมตรใน Arunnachal ตรงกลางใกล้เนปาล และตะวันตก 33,000 ตารางกิโลเมตรใน Aksai Chin/Ladakh

ความขัดแย้งเริ่มมาตั้งแต่การเป็นเอกราชของอินเดียปี 1947 และจีนเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีนปี 1949 และด้วยความแตกต่างระหว่างกันมากมาย ทั้งสองประเทศทำสงครามกัน 1 ครั้งในปี 1962

จากรายงานของสำนักข่าว BBC ที่ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมพบว่า จีนได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ใกล้บริเวณแม่น้ำ Galwan มีแคมป์ใหญ่ในกาวาน วาเลย์บริเวณที่เกิดการปะทะกันด้วย

การก่อสร้างและแคมป์ของจีนสร้างความกังวลแก่อินเดีย ทางการอินเดียถูกกล่าวหาว่า

ประธานาธิบดี Narendra Modi ถูกท้าทายด้านนโยบายต่างประเทศครั้งใหญ่ และรัฐบาลอินเดียขาดการเตรียมการและไม่ได้แจ้งอะไรเลยว่าเกิดอะไรขึ้น ยังปฏิเสธว่าไม่มีฝ่ายจีนเข้าไปในดินแดนของอินเดีย1

 

โควิดในมุมมองยุทธศาสตร์ใหม่

ช่วงเวลาและลักษณะของการเผชิญหน้าบนเทือกเขาหิมาลัยของทั้งสองประเทศ นำไปสู่การตั้งคำถามสำคัญต่อจีนทางด้านยุทธศาสตร์และเทคนิคการเมืองระหว่างประเทศ

ในทางเทคนิค จีนดำเนินการให้การเผชิญหน้านำมาสู่การแล้วเสร็จการวางโครงสร้างการแข่งขันด้านอาวุธบริเวณชายแดน

แต่ในเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ จีนไม่รีบร้อนยุติความขัดแย้งกับอินเดีย

ดูแล้วเหมือนจำกัดบทบาทอินเดียในฐานะมหาอำนาจภาคพื้นทวีป

จีนกำลังผลักดันเพื่อยึดครองบริเวณความขัดแย้งในสงครามปี 1962 อันเป็นปฏิกิริยาของการมองอินเดียได้ใช้จุดอ่อนแอของจีนกับปัญหาการแพร่ระบาดโควิด และความเสื่อมถอยของจีนกับสหรัฐอเมริกา

ผู้สังเกตการณ์ภายนอกบางคนมองความขัดแย้งกับอินเดียของจีนเป็นความไม่ฉลาด โดยหลังจากนั้นจีนเผชิญหน้ากับเพื่อนบ้านสำคัญและพื้นที่ต่อกันกว้างมาก

แต่เราก็ต้องคิดว่า จีนเชื่อว่าต้องทำทุกอย่างให้สำเร็จในเรื่องนี้

ประเด็นคือ จีนจะวางน้ำหนักอย่างไรของการเผชิญหน้าทั้งสองฝ่ายอันจะมีผลต่อเสถียรภาพของภูมิภาคและความผูกพันทางภูมิรัฐศาสตร์จีน อินเดียและสหรัฐอเมริกา

นักวิเคราะห์ของจีนเชื่อว่า อินเดียกำลังได้ประโยชน์จากจีน โดยสร้างผลประโยชน์ทางเทคนิคบริเวณชายแดน

ในขณะที่จีนพยายามลดความถดถอยต่ำสุดกับความสัมพันธ์สหรัฐอเมริกาเพราะปัญหาโรคระบาดโควิด ด้วยความจริงที่ว่าในบริเวณชายแดนและพื้นที่ความขัดแย้งมีการก่อสร้างถนน

พอเกิดความขัดแย้งขึ้นมาเท่ากับอินเดียพยายามหยุดจีนท่ามกลางความพยายามของจีนจัดการความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา เท่ากับว่า จีนพยายามแสวงหาความได้เปรียบบนความตกต่ำและอ่อนแอของจีน

ส่วนอินเดียก็ขยายนโยบายต่างประเทศของตนให้กว้างมากขึ้น

นี่เป็นการผลักดันจีนไปสู่ความเสี่ยงระหว่างสองประเด็นใหญ่คือ จีนจะตอบสนองการสร้างถนนของอินเดียบริเวณการเผชิญหน้าอย่างไรและอีกประการหนึ่ง การสูญเสียพรมแดนในช่วงที่จีนอ่อนแอก็ได้

ดังนั้น จีนจึงมองอินเดียกำลังให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อยุทธศาสตร์หลักของตนกับสหรัฐอเมริกาที่เรียกว่า Indo-Pacific Strategy

โดยในระหว่างการเผชิญหน้าระหว่างกันของจีนและอินเดีย ทั้งจีนและอินเดียต่างปฎิเสธข้อเสนอของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการเข้ามาหย่าศึกของทั้งสองฝ่าย

เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่ผู้นำอินเดียได้ต่อสายโทรศัพท์พูดคุยกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากเหตุการณ์เผชิญหน้าเพียง 3 วันหลังจากนั้น แล้วประธานาธิบดีของอินเดียได้รับคำเชิญจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้เข้าร่วมประชุมสุดยอด G-7

เป็นทั้งสัญญาณของความคลุมเครือและความมืดมนในประเด็นการเผชิญหน้ากัน

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการสร้างแต้มต่อการเมืองระหว่างประเทศของอินเดียต่อจีน อีกทั้งยังสานต่อระดับความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์อินเดียกับสหรัฐอเมริกา

ทว่า แสดงว่าอินเดียได้ประโยชน์จากความอ่อนแอของจีน

 

โควิดกับจีนและอินเดีย

เป็นเวลากว่าครึ่งปีแล้วของการระบาดโควิดทั่วโลกซึ่งมีการมองได้หลายแง่มุมเช่น โรคระบาดทำลายซัพพลายเชนระดับโลกอันก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในแง่การผลิตทั่วโลก การตกงานทั่วโลก การปิดกิจการของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

แน่นอนยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกและผู้เสียชีวิตจำนวนมากนับเป็นที่หวั่นวิตกของผู้คนทั่วโลก

รวมทั้งการใช้จ่ายงบประมาณไปเพื่อการรักษาและการป้องกันโรคระบาดโควิดด้วยเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลทั่วโลก

ทว่าเราได้เห็นแง่มุมของการเมืองระหว่างประเทศจากโรคระบาดโควิดอีกด้วย

จีน ประเทศที่ถูกระบุว่าเป็นประเทศต้นทางของโรคระบาดโควิด จีนเผชิญกับข้อกล่าวหาเรื่องโรคระบาดโควิดในเชิงทฤษฎีสมคบคิด

อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้ใช้โอกาสนี้ปรับเป็นนโยบายเชิงรุก จีนแสดงผลงานของความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโลก ประกาศเป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ที่ประสบภัยจากโรคระบาดด้วยการส่งผู้เชี่ยวชาญไปให้คำแนะนำ ส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปช่วยเหลือไม่เพียงประเทศพันธมิตรเท่านั้น แต่ยังให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศซีกโลกตะวันตกด้วย

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนั้น ความขัดแย้งระหว่างจีนและอินเดียบนภูเขาหิมาลัยก็เกิดขึ้น

ทั้งนี้ การเผชิญหน้าระหว่างสองประเทศกลับไม่ใช่ความขัดแย้งเรื่องพรมแดนดั่งเช่นในอดีต

จากข้อมูลข้างต้นที่กล่าวมา จีนมองอินเดียว่า อินเดียฉกฉวยช่วงที่จีนอ่อนแอสุดๆ ด้วยปัญหาการแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิดโจมตีจีนทั้งในเรื่องพรมแดนและการเมืองระหว่างประเทศ

ส่วนจีนเมื่อรู้ถึงยุทธศาสตร์ของอินเดีย จีนชะลอปัญหาการเผชิญหน้าออกไป ไม่ต้องการยุติการเผชิญหน้าโดยเร็วเพราะไม่ต้องการจัดการปัญหาที่ใหญ่มากท่ามกลางความอ่อนแอของตน

อินเดีย ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดยังแผ่วงกว้างและยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังมีจำนวนมากต่อเนื่อง เป็นไปได้ว่า ผู้นำประเทศอย่างประธานาธิบดีโมดีไม่ต้องการแสดงความล้มเหลวในการบริหารประเทศในช่วงโรคระบาด

การเผชิญหน้าทางด้านพรมแดนระหว่างอินเดียและจีนอาจเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

ทว่าการหยิบฉวยเรื่องอดีตแห่งความบาดหมางอาจช่วยให้ประชาชนอินเดียบางส่วนหันความสนใจจากโรคระบาดมาเป็นเรื่องอดีตและศัตรูของพวกเขา

หากไม่ได้เป็นเช่นนั้น อินเดียก็โดดเด่นขึ้นจากยุทธศาสตร์ Indo-Pacific Strategy เพราะสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ให้ความสำคัญกับอินเดีย อย่างน้อยก็การเข้าร่วมประชุมสุดยอด G-7

แม้จีนและอินเดียไม่ใช่ศัตรูถาวรต่อกัน ทว่าการเผชิญหน้าบริเวณชายแดนที่ยาวเหยียดของทั้งสองประเทศย่อมเกิดขึ้นได้ ถึงกระนั้นก็ตาม โรคระบาดโควิดซึ่งก่อให้เกิดความอ่อนแอทั้งต่อจีนและอินเดียก็จริง แต่ทั้งสองประเทศต่างหยิบฉวยโรคระบาดนั้นมาเป็นประโยชน์เพื่อยุทธศาสตร์ของประเทศด้วย

เรื่องนี้ยังไม่จบ

——————————————————————————————————

(1) “Galwan Valley : Satellite images show China Structures on India border” BBC 25 June 2020