การศึกษา / จับตา…ระเบียบใหม่ทรงผม ‘น.ร.’ ละเมิดสิทธิหรือให้อิสระ?

การศึกษา

 

จับตา…ระเบียบใหม่ทรงผม ‘น.ร.’

ละเมิดสิทธิหรือให้อิสระ?

 

เป็นเรื่องขึ้นมาอีกจนได้ หลังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศใช้ระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า มีความคลุมเครือ…

เพราะสุดท้ายให้เป็นอำนาจของผู้บริหารในการตัดสินใจ กำหนดระเบียบทรงผม แม้จะให้มีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา แต่ก็ดูเหมือนไม่มีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้จากทางโรงเรียน

โดยหลังเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม เกิดข้อร้องเรียน กรณีนักเรียนถูกลงโทษบังคับตัดผมหลายราย จน “ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว” แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ มีการ “ตัดผม” ตนเอง ในแคมเปญเลิกบังคับหรือจับตัด พร้อมทั้งยื่นหนังสือถึงนายประเสริฐ บุญเรือง ปลัด ศธ. เพื่อขอความชัดเจนในการบังคับใช้ระเบียบทรงผม

เรียกร้องให้ผู้ใหญ่ใน ศธ.รับรู้เรื่องนักเรียนจำนวนมากถูกโรงเรียนบังคับตัดผม โดยไม่เป็นไปตามระเบียบใหม่!!

 

กระทั่งนายประเสริฐต้องส่งหนังสือซักซ้อมความเข้าใจแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับระเบียบทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ไปยังหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด ศธ.เพื่อให้ปฏิบัติ และแจ้งไปยังสถานศึกษาให้ยกเลิกการบังคับใช้ระเบียบสถานศึกษาเดิม เกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2518 โดยให้ยึดหลักความเหมาะสม โดยการมีส่วนร่วมของนักเรียน สถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนท้องถิ่น พร้อมต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียน ก่อนประกาศใช้…

ย้ำด้วยว่า กรณีการลงโทษนักเรียนตามระเบียบมีอยู่ 4 ข้อด้วยกัน คือ ตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนน และให้ทำกิจกรรมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

ดังนั้น การที่โรงเรียนลงโทษนักเรียนโดยการตัดผม ถือว่าไม่ปฏิบัติตามระเบียบ แต่ถ้าการลงโทษในลักษณะนี้ เป็นข้อตกลงร่วมกันของประชาคมในโรงเรียน ก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง…

ล่าสุดเกิดการปะทะอารมณ์ทางโซเชียล กรณีครูรายหนึ่งในโรงเรียนใน จ.พิจิตร ทวีตตอบข้อความเกี่ยวกับเรื่องทรงผมนักเรียนว่า “ใครรับไม่ได้ ก็ฆ่าตัวตายไป” ทำให้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นอย่างดุเดือด

อาทิ ครูในอุดมคติ : ให้เหตุผลที่ทำให้นักเรียนเข้าใจถึงสิ่งที่ทำ ครูในโลกความเป็นจริง : ไล่ไปตาย, ครูไล่นักเรียนไปตายได้ด้วยเหรอครับ, นี่ครู? หรือขยะสังคมหรอออออ?, งั้นถ้าครูรับไม่ได้ที่เด็กอยากไว้ผมยาว ครูก็ไปตายเองสิคะ เป็นต้น

มีการขุดโพสต์ย้อนหลัง ซึ่งคิดว่าเป็นของครูรายเดิม มารีทวิต ‘เปิดเทอม…ต้องเจอเด็กเห่อxxxx’ พร้อมทั้งระบุว่า ไม่แปลกใจทำไมถึงโพสต์ข้อความแบบนี้ อีกทั้ง ได้นำรูปภาพของครูคนดังกล่าวมาโพสต์ด้วย เผื่อให้คนที่ไม่รู้ว่าเป็นครูคนไหน แต่ภายหลังตรวจสอบพบว่า ทวีตทั้งสองข้อความมาจากครูคนละคนกัน

แม้สุดท้ายครูจะสำนึกผิด ออกมาขอโทษ แต่ก็ทำให้เห็นว่า หากโรงเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้องไม่เร่งแก้ไขให้ชัดเจน เรื่องนี้ส่อเค้าบานปลายแน่นอน

 

โดยนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ย้ำว่า กรณีนี้ถือว่าครูทำไม่เหมาะสม ตักเตือน สพฐ.ย้ำมาตลอดเรื่องระเบียบทรงผม ให้เปิดกว้าง โดยรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษา ออกเป็นมติร่วมกัน

“ผมขอกำชับครูทุกคนให้ระมัดระวังในการใช้โซเชียลอย่างมีสติ เพราะคนเป็นครู ถูกกำกับด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพ จะทำหรือจะโพสต์ข้อความอะไร ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะหากเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมแล้ว จะเกิดผลกระทบในวงกว้าง” นายอำนาจกล่าว

ด้าน น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ออกโรงขอให้ ศธ.ดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับครูที่ละเมิดสิทธิ ทำร้าย ล่วงละเมิดทางเพศ กล้อนผมเด็ก

มีข้อเสนอดังนี้

  1. ดำเนินการทางวินัยขั้นเด็ดขาดต่อครูที่มีพฤติกรรมละเมิดสิทธิ ทำร้ายร่างกายและจิตใจของเด็กในทุกกรณี
  2. ในกรณีที่มีความผิดตามกฎหมายอาญา ให้ ศธ.จัดการให้มีผู้ช่วยแจ้งความหรือฟ้องร้องดำเนินคดีตามความประสงค์ของผู้ถูกละเมิด
  3. ประชาสัมพันธ์สายด่วน 1579 เพื่อให้นักเรียนทุกคนทราบว่ามีช่องทางที่สะดวกปลอดภัยในการร้องเรียนการละเมิดต่อ ศธ.โดยตรง

และ 4. ปรับปรุงระเบียบของกระทรวงในส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้มีบทลงโทษต่อครูและผู้บริหารโรงเรียนที่ดำเนินการผิดระเบียบ

 

ขณะที่กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เสนอให้ยกเลิกระเบียบทรงผม ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของนักเรียน เพราะการไว้ผมสั้นหรือผมยาวไม่ได้การันตีว่า เด็กจะเรียนเก่งขึ้น ในช่วงเปิดภาคเรียนที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้รับเรื่องร้องเรียนจากเด็กที่ถูกกล้อนผมมาต่อเนื่อง ดังนั้น นอกจากจะขอให้ยกเลิกระเบียบทรงผมดังกล่าว ขอให้มีการออกกฎลงโทษผู้ที่กระทำรุนแรงกับเด็กด้วย หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ทางกลุ่มซึ่งถือเป็นผู้เสียหาย จะไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้

ทั้งนี้ เมื่อมาดูรายละเอียดระเบียบทรงผมใหม่ ปี 2563 เทียบกับปี 2518 ถือว่าไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก

ข้อกำหนดเรื่องการไว้ผมสั้นหรือยาว ระบุไว้ในข้อ 4 หลักการเดียวกับระเบียบปี 2518 คือ

“นักเรียนต้องปฏิบัติตนเกี่ยวกับการไว้ทรงผม ดังนี้ นักเรียนชายจะไว้ผมสั้น หรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาว ด้านข้าง ด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสม และมีความเรียบร้อย นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้น หรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาว ให้เป็นไปตามความเหมาะสม และรวบให้เรียบร้อย”

ที่เพิ่มเติมขึ้นมาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คือ ข้อ 5 “นักเรียนต้องห้าม ดัดผม ย้อมสีผมให้ผิดไปจากเดิม ไว้หนวด หรือเครา การกระทำอื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน เช่น การตัดแต่งทรงผม เป็นรูปทรงสัญลักษณ์ หรือเป็นลวดลาย”

ข้อ 6 และข้อ 7 คือปัญหา ตรงที่ข้อ 6 กำหนดผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาต และข้อ 7 กำหนดการมีส่วนร่วมของนักเรียน สถานศึกษา และชุมชน!!

ทำให้เกิดความกังวลว่า จะมีการใช้อำนาจแฝงบังคับเด็กอีก…

 

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ถือเป็นเรื่องดีที่ ศธ.ออกระเบียบทรงผมใหม่ออกมา แม้จะมีปัญหาเรื่องการตีความ แต่ล่าสุดปลัด ศธ.และรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ย้ำไปแล้วให้โรงเรียนปฏิบัติตามระเบียบใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดการตีความที่คลุมเครือ เชื่อว่าผู้ใหญ่กว่า 90% ยังติดกับกรอบความคิดเดิม ขณะที่เด็กมีอีกชุดความคิดหนึ่ง ในฐานะผู้ถูกกระทำ มีการลงไม้ลงมือ ตัดผมเด็ก ทั้งที่ตามกฎหมายปัจจุบันแล้วครูไม่สามารถกระทำรุนแรงต่อเด็กได้ ทางออกที่ดีที่สุด โรงเรียนที่มีปัญหา ต้องจัดประชุมนักเรียน ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษาที่มีความเป็นกลางกำหนดกฎระเบียบร่วมกัน

ส่วนเรื่องการใช้อำนาจแฝงนั้น ถึงจะมีจริง แต่ทุกวันนี้เด็กมีเครื่องมือต่อสู้แล้ว ทั้งระเบียบใหม่ที่ออกมาและสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ เป็นต้น

   เชื่อว่าเรื่องนี้คงยังไม่จบลงง่ายๆ หากไม่พบกันคนละครึ่งทาง เพราะสุดท้ายแล้วไม่มีใครได้รับสิ่งที่เรียกร้อง 100%