เกม “ปรับ ครม.”

หลังมีการปรับเปลี่ยนคณะผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐ จากที่เคยมีนายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้า นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นเลขาธิการ ไปเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้า นายอนุชา นาคาศัย เป็นเลขาธิการ เสียงเรียกร้องให้ปรับ ครม.กระหึ่มหนาหูขึ้น

นั่นเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อมีภาระที่ต้องบริหารจัดการพรรค ย่อมต้องมีสิทธิที่จะได้รับตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐมนตรี และใครที่หมดหน้าที่ในพรรคแล้วย่อมต้องรู้ตัวเองว่าต้องถอยออกไป เพราะการบริหารจัดการจะทำได้ดีนั้น ผู้มีภาระจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่สร้างบารมีได้

อย่างไรก็ตาม การเมืองในควบคุมบัญชาการของอดีตนายทหารที่ได้รับความไว้วางใจจากกองทัพ ซึ่งมีความพยายามชี้ให้เห็นความเลวร้ายของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมาตลอด เพื่อสร้างความชอบธรรมให้นักการเมืองที่เสพวาสนาได้เป็นใหญ่เป็นโต เข้ามาควบคุมศูนย์กลางอำนาจรัฐในสาย “มาจากการแต่งตั้ง”

ทำให้เกิดอาการยี้ต่อการปรับคณะรัฐมนตรีที่มีรายชื่อของ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” เข้ามาเป็นรัฐมนตรีสายที่รอเสวยอำนาจจาก “การแต่งตั้ง”

ในช่วงรอยต่อ เปลี่ยนผ่านการบริหารจัดการพรรคจาก “สายมาจากกลุ่มอภิสิทธิ์ชน” ไปสู่ “สายที่มาจากประชาชน” ท่ามกลางการสร้างความเลวร้ายให้เกิดขึ้นกับภาพของ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” ดังกล่าว ทำให้กระแสความรู้สึกนึกคิดของประชาชนส่วนหนึ่งยังไหลไปตามการทำลายภาพลักษณ์ของ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” นั้น

ยิ่งมีกระบวนการบริหารจัดการเพื่อก่อกระแสดังกล่าวอย่างเป็นระบบไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม “นักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้ง” ประสานกับ “สื่อมวลชนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนกลุ่มอำนาจ”

การต่อต้านนักการเมืองจากการเลือกตั้งด้วยการชี้ให้เห็นความเลวร้ายจึงเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการยืนหยัดสนับสนุนนักการเมืองกลุ่มรอวาสนาจากการแต่งตั้งซึ่งได้รับการเชิดชูมาก่อนหน้านั้น

ซึ่งสภาพการณ์เช่นนี้ทำให้แม้เสียงเรียกร้องให้ปรับ ครม.จะกระหึ่ม และทั้งที่มีเหตุผลเรื่องการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่หาผลงานที่เด่นชัดไม่ได้ กระทั่งมีแนวโน้มจะเกิดวิกฤตทั้งลึกและกว้างในปัญหาปากท้องของประชาชน แต่เสียงสนับสนุนทีมเศรษฐกิจเดิมที่หมดภาระดูแลพรรคไปแล้วก็ยังสอดแทรกเข้ามา

จนทำให้ไม่อาจตัดสินใจปรับ ครม.ให้เป็นไปตามที่ควรจะเป็นได้ง่ายๆ

ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุด เรื่อง “การปรับ ครม.” สะท้อนบางภาพของความเป็นไปดังกล่าว

เมื่อถามว่า “ได้เวลาปรับ ครม.หรือยัง แบบไหน” ร้อยละ 43.09 ตอบว่า ควรปรับทั้งคณะ, ร้อยละ 39.89 ตอบว่า ควรปรับบางตำแหน่ง, ร้อยละ 16.95 ตอบว่า ไม่ควรปรับ

ในคำถาม “นายอุตตม ควรถูกปรับออกจาก รมว.คลังหรือไม่” ร้อยละ 44.76 ตอบว่า ควร, ร้อยละ 38.61 บอกไม่ควร, ร้อยละ 14.95 ไม่แน่ใจ

สำหรับ “นายสนธิรัตน์ รมว.พลังงาน” ร้อยละ 41.17 ตอบว่า ควรปรับออก, ร้อยละ 36.05 บอกไม่ควรปรับออก, ร้อยละ 19.26 ไม่แน่ใจ

และ “นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ร้อยละ 37.73 ตอบว่า ไม่ควรปรับออก, ร้อยละ 36.45 เห็นว่า ควรปรับออก, ร้อยละ 19.26 ไม่แน่ใจ

จะเห็นได้ว่า คำตอบที่ว่าควรปรับกับไม่ควรปรับนั้น ไม่แตกต่างกันมากนัก กระแสไม่ได้เป็นอย่างที่เหมาะควรกับความจำเป็นของการบริหารจัดการพรรค

ใช่อยู่ ยังมีอีกคำถามใน “นิด้าโพล” ชิ้นนี้คือ “โฆษกรัฐบาล ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหมาะสมกับตำแหน่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ เพื่อสะท้อนนโยบายไปยังรัฐบาล หรือไม่” คำตอบร้อยละ 44.44 บอกว่า ไม่เหมาะสม, ร้อยละ 32.45 บอกเหมาะสม, ร้อยละ 17.11 ไม่แน่ใจ

แม้คำตอบมากที่สุดจะบอกว่าไม่เหมาะสม แต่ชื่อ “ดร.แหม่ม” ได้ติดอยู่ในโพล ในคำตอบว่า “เหมาะสม” มีอยู่ไม่น้อย

ดร.นฤมลเป็นอาจารย์ที่สถาบัณบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มาก่อน

และหากติดตามให้ใกล้ชิดจะสัมผัสได้ว่า ย่างก้าวทางการเมืองของ “ดร.แหม่ม ณ นิด้า” นั้น ไม่ธรรมดาเลยกับชั้นเชิงการทำให้ชื่อติดหู ภาพติดตาอยู่ในกระแสของผู้ที่สมควรถูกเลือกมาตลอด