คนมองหนัง | “สยามสแควร์” ผีในผี, พลังของเรื่องเล่า และวิกฤตตัวตน

คนมองหนัง

“สยามสแควร์” กับ “The Inerasable”

ระหว่างดู “สยามสแควร์” (ไพรัช คุ้มวัน) ผมนึกถึงหนังผีญี่ปุ่นเรื่อง “The Inerasable” (Yoshihiro Nakamura) อยู่รางๆ

เพราะทั้งสองพยายามเล่นกับ “พื้นที่” “เวลา” และประเด็น “ผีในผี” เหมือนๆ กัน

ในแง่ “พื้นที่” ทั้ง “สยามสแควร์” และ “The Inerasable” คล้ายจะเริ่มต้นด้วยการ “ตรึงผี” ไว้ ณ พื้นที่เฉพาะ พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง อย่างจำกัด แน่นอน และตายตัว

แต่ไปๆ มาๆ หนังทั้งสองเรื่องกลับแสดงให้เห็นว่า “ผี” นั้นมีศักยภาพในการไหลเลื่อนไปหลอกหลอนผู้คนยัง “พื้นที่” อื่นๆ ได้ด้วย

ราวกับว่าเมื่อ “เรื่องเล่าเกี่ยวกับผี” หรือ “อาการหวาดกลัวผี” ตามติดเข้าไปในจิตใจหรือความหมกมุ่นของผู้คน “ผี” ก็ย่อมติดตาม “คน” ไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างน่าทึ่ง

ในแง่ “เวลา” ทั้ง “สยามสแควร์” และ “The Inerasable” พูดถึง “ผี” ที่ดำรงอยู่โดยข้ามผ่านช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์อันยาวนานและบริบททางยุคสมัยอันแตกต่างหลากหลาย

อย่างไรก็ดี ขณะที่หนังไทยพยายามหลอมละลายความต่างของยุคสมัย ด้วยประเด็นความสัมพันธ์ในหมู่วัยรุ่นอันเป็น “สากล” หนังญี่ปุ่นกลับพูดถึงยุคสมัยต่างๆ ผ่านบริบท/เรื่องเล่า “เฉพาะ” ของมัน (ก่อนจะร้อยเรียงความแตกต่างเหล่านั้นด้วย “ผี” อีกทีหนึ่ง)

สุดท้าย หนังสองเรื่องนี้จึงพูดถึงประเด็น “ผีในผี” ทว่า ด้วยท่าทีผิดแผกกัน

เพราะสำหรับ “The Inerasable” การมี “ผีในผี” คือ การมี “ผี” หลายตน ซ้อนเรียงกันเป็นชั้นๆ ตามรอยต่อแห่งยุคสมัย

แต่สำหรับ “สยามสแควร์” การมี “ผีในผี” หรือ “ผีคู่ขนาน” กลับมิได้หมายถึงการมี “ผี” หลายตน แต่ภาวะเช่นนั้นเชื่อมโยงไปถึงคำถามที่มีต่อพลานุภาพของ “เรื่องเล่า” ตลอดจนประเด็นเรื่อง “ตัวตน” ของปัจเจกบุคคล

นี่ทำให้เห็นว่า “ผี” ในหนังสองเรื่องสองสัญชาติมี “หน้าที่” ต่างกัน

“ผี” ใน “The Inerasable” นั้นเป็น “ผีจริงๆ” ที่ทำหน้าที่หลอกหลอนคนเป็นหลัก แม้จะมีประเด็นทางสังคมหรือประเด็นเรื่องการเติบโตเปลี่ยนผ่านมารายล้อม “ผี” แต่ท้ายสุด “ผี” ในหนัง ก็ยังทำ “หน้าที่ดั้งเดิม” ของพวกตนอย่างแน่วแน่ต่อไป

ตรงข้ามกับ “สยามสแควร์” ที่สร้างเส้นเรื่องว่าด้วย “ความสัมพันธ์ฉันมิตรสหายในหมู่วัยรุ่น” ให้กลายเป็นอีกหนึ่ง “เส้นเรื่องหลัก” ซึ่งดำเนินคู่ขนานไปกับ “เรื่องผี”

ดังนั้น หนังไทยเรื่องนี้จึงค่อยๆ คลี่คลายปมของตัวเองลงทีละเปลาะ ด้วยการมัดรวมปัญหาบน “เส้นเรื่องสองเส้น” ให้กลายเป็นปัญหาเดียวกัน

“ผี” ใน “สยามสแควร์” มิได้มี “หน้าที่สำคัญสูงสุด” เป็นการหลอกหลอนคน แต่มันมี “หน้าที่สำคัญไม่แพ้กัน” เป็นการส่องสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นปัญหาอื่นๆ ของ “มนุษย์” ที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งคำถามที่มีต่อ “เรื่องเล่า” “ตัวตน” รวมถึงภาวะผ่านวันพ้นวัยของคนหนุ่มสาว

“เรื่องเล่า” และ “ตัวตน”

ใน “สยามสแควร์” พลานุภาพของ “เรื่องเล่า” และความสลับซับซ้อนของ “ตัวตน/อัตลักษณ์” เป็นประเด็นที่ค่อยๆ ถูกคลี่ขยายออกมา ถัดจากประเด็นเรื่อง “ผี” ก่อนที่ประเด็นเหล่านี้จะห่อคลุมห่มทับเรื่องราว “ผีๆ” อีกที

หนังฉายภาพให้เห็นว่า “เรื่องเล่า” (รวมถึง “เรื่องกอสซิป”) ย่อมมีพลานุภาพสองด้าน หรือเป็น “ดาบสองคม” เสมอ

ด้านหนึ่ง “เรื่องเล่า” สามารถช่วยโหมกระพือความหวาดกลัวที่คน (หลากรายหลายกลุ่ม) มีต่อ “ผี” หรือช่วยขับเน้นให้เห็นถึง “อำนาจเหนือธรรมชาติ” (ที่อาจไม่มีอยู่จริง/เกินจริง) ของ “ผี”

อีกด้านหนึ่ง ก็อย่างที่รู้กันว่า “เรื่องเล่าเชิงนินทาว่าร้าย” นั้นมีส่วนในการทำลายล้างใครคนใดคนหนึ่งหรือผลักไสเขาออกไปจากสังคม

“สยามสแควร์” ไฮไลต์ให้คนดูมองเห็นภาวะ “เหรียญสองด้าน” เช่นนั้นได้อย่างดีเยี่ยม

เช่นเดียวกับประเด็นเรื่อง “ตัวตน” สองด้าน คือ “หนึ่ง เราควรเป็นเราอย่างที่เราเป็น” กับสอง “หรือเราต้องเป็นในสิ่งที่คนอื่นๆ มองว่าเราเป็น?”

ที่หนังนำเอา “ผี” มาใช้เป็น “เครื่องมือ” เพื่อถ่ายทอดสภาวะดังกล่าวได้อย่างชัดเจน

แต่นั่นก็นำไปสู่คำถามอีกชุด/ระนาบหนึ่ง นั่นคือ “ผี” ในหนังมีสถานะเป็น “ผีจริงๆ” หรือสุดท้าย มันไม่เคยมี “ผี” อยู่เลย แต่ “ผี” เป็นเพียงภาพแทนของ “วิกฤตอัตลักษณ์” และอำนาจแห่ง “เรื่องเล่า”?

“ผีในผี”

ดังที่เขียนไปข้างต้นแล้วว่าลักษณะการดำรงอยู่ของ “ผีในผี” ใน “สยามสแควร์” นั้น (อาจ) ไม่ได้หมายถึงการมี “ผี” มากกว่าหนึ่งตน แต่ “ผี” กลายเป็นภาพแทนของ “วิกฤตตัวตน” หรือกลายเป็น “แรงพลัง” หนุนส่ง “เรื่องเล่า”

ทว่า เมื่อ “ผี” ต้องไปแบกรับภาระในการอธิบาย/สื่อแสดงให้เห็นถึงปัญหา-ความขัดแย้งของ “คน”

ตัวตน “ความเป็นผี” ก็เลยพลอยจางหายหรือถูกลดทอนอิทธิพลลงไป กระทั่ง “ผี” ในหนังเรื่องนี้อาจไม่มีอยู่จริงด้วยซ้ำ

ใจหนึ่ง ผมยังอยากให้ “สยามสแควร์” มุ่งมั่นที่จะทำตัวเป็น “หนังผี” ที่พูดเรื่อง “ผี” อย่างจริงจังจริงใจมากกว่านี้

ซึ่งนั่นย่อมให้ผลลัพธ์อันแตกต่างไปจากการตั้งคำถามเรื่อง “อัตลักษณ์/ตัวตน” ที่สับสนคลุมเครือระหว่างวัยรุ่นผู้มีปัญหาชีวิตในยุคต้น 2530 อย่าง “นิด” กับ “ผีด้ายแดง” ในตำนานแห่งสยามสแควร์

แน่นอนว่าสำหรับตัวละครนำอย่าง “นิด” นอกจากเธอจะเผชิญหน้ากับปัญหา “วิกฤตอัตลักษณ์” ที่โอนเอนเพราะพลังของ “เรื่องเล่า” ซึ่งโหมกระพือโดยผู้คน/สังคมรอบข้างแล้ว

สถานภาพในฐานะตัวละครของเธอยังมีความกำกวมอย่างยิ่ง ว่าสรุปแล้วเธอคือ “ผี (แห่งอดีต)” หรือเป็นเพียง “คนหลงยุคข้ามเวลา” ผู้ต้องกลับไปในที่ที่เธอเคยอยู่

เมื่อ “ผี” = “คน”

ความคลุมเครือเกี่ยวกับสถานะของ “นิด” และ/หรือ “ผีด้ายแดง” ยังส่งผลให้ “ผี” ใน “สยามสแควร์” ไม่ได้มีพลังอำนาจเหนือธรรมชาติจนไร้ทางต่อต้านซะทีเดียว

ตรงกันข้าม กลับปรากฏดุลยภาพทางอำนาจระหว่าง “ผี” กับ “คน” ในหนังเรื่องนี้

เพราะแค่พวกเด็กๆ วัยรุ่นปิดตาตัวเอง แสร้งทำเป็นไม่รับรู้ถึงการดำรงอยู่ของ “ผี” “ผี” ก็ทำอะไรพวกเขาและเธอไม่ได้

ตัวละครมนุษย์ในหนังมีโอกาสสั่งสอน/เจรจาต่อรอง/ปลดปล่อย “ผี”

แถม “ผี” ยังมีการมาสารภาพความผิดบาปครั้งอดีตกับ “คน” เสียอีก (ผิดแผกจากหนังผียุคใหม่ๆ ที่มักมีแต่ “คน” มาสารภาพบาป ซึ่งตนเคยกระทำผิดต่อ “ผี”)

ที่แสบกว่านั้น คือ ถ้าเรายึดถือ “นิด” เป็น “ผี” หรืออย่างน้อยก็เป็น “อดีตบาดแผลที่ตามมาหลอกหลอนดุจดังภูตผีปีศาจ”

อดีตเพื่อนซี้ของ “นิด” ซึ่งเป็นคนวัยเกือบครึ่งศตวรรษที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันอย่าง “ดาว” กลับไม่หวาดผวาเกรงกลัว “ผี/อดีต” ดังกล่าวเลย

แถมยังเพิกเฉย ไม่อยากเหลือบแล เหยียดหยาม ปั้นปึ่งใส่ “ผี/อดีต” ที่ว่าเสียด้วย

ความไร้พลังของประวัติศาสตร์

เอาเข้าจริง จุดหนึ่งที่ผมไม่ค่อยชอบใน “สยามสแควร์” ก็คือ หนังตั้งท่าว่าจะนำเอาช่วงเวลายาวนานทางประวัติศาสตร์หรือบริบททางยุคสมัยที่ผันแปรไป มาเป็นองค์ประกอบสำคัญของเรื่องที่หนังกำลังจะเล่า

แต่พอเรื่องราวดำเนินไปเรื่อยๆ พลังของประวัติศาสตร์กลับไม่ถูกนำมาใช้อย่างหนักแน่นจริงจังมากนัก

มิหนำซ้ำ มันกลับถูกกร่อนเซาะลงด้วยการตั้งประเด็นว่า “วัยรุ่นต่างยุค” ล้วนต้องเผชิญ “ปัญหาสากล” บางประการร่วมกัน

พลังอำนาจของ “ประวัติศาสตร์” ยังอาจลดน้อยถดถอยลงไปอีก ถ้าเราเชื่อว่าการส่ง “นิด” กลับเข้า “ห้องน้ำ” ในตอนท้าย คือ ความสามารถในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง “อดีต” ได้

“วิกฤตตัวตน” ของ “สยามสแควร์”

“สยามสแควร์” น่าจะเป็นหนังไทยที่โดดเด่นเรื่องหนึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ซึ่งมีข้อดีตรงการเลือกพูดเลือกเล่าในประเด็นน่าสนใจ (และยังไม่ค่อยมีหนังไทยเรื่องอื่นๆ เลือกเล่าเรื่องราวมุมนี้)

ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่า “สยามสแควร์” อาจประสบปัญหา “วิกฤตตัวตน” เหมือนกับที่ตัวละครนำในหนังต้องเผชิญ

เนื่องจากเราในฐานะคนดูย่อมสามารถตั้งข้อสงสัยได้ว่า ตกลงหนังเรื่องนี้อยากจะเป็น “หนังผี” หรือ “หนัง coming-of-age” ที่ใช้ “ผี” เป็นเครื่องมือ/ตัวหลอกกันแน่?

แต่นี่ก็คือเสน่ห์ของความคลุมเครือในศิลปะภาพยนตร์มิใช่หรือ?