รายงานพิเศษ / โชคชัย บุณยะกลัมพ/ผนึกกำลัง แชร์ความรู้ สร้าง ‘หุ่นยนต์แบ่งปัน’ ส่งเวชภัณฑ์-เทเลคอนเฟอเรนซ์ ลดความเสี่ยง

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

 

ผนึกกำลัง แชร์ความรู้

สร้าง ‘หุ่นยนต์แบ่งปัน’

ส่งเวชภัณฑ์-เทเลคอนเฟอเรนซ์

ลดความเสี่ยง

 

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่เป็นภาวะความเสี่ยงทั่วโลก

ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสหรัฐเพิ่มขึ้นสูงทะลุ 40,000 กว่าคนต่อวัน อาจไม่แปลกใจเลยหากจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึง 100,000 คนต่อวันในอนาคต

จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในสหรัฐที่เพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ทุกวัน

ทำให้ผู้คนเกิดความวิตกกังวลไปทั่วโลก มีการปิดเมือง ปิดประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค สนามบินเงียบเหงา สถานที่ท่องเที่ยวแทบร้างผู้คน หลายธุรกิจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม จนต้องลดพนักงาน เลิกจ้าง หรือปิดตัวเองลง ผู้คนไม่จำเป็นก็ไม่ออกนอกบ้าน ไม่กล้าอยู่ในที่ที่คนพลุกพล่าน

ขณะที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยจำนวนมากวางแผนรับมือเปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง ควบคู่กับการกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อไม่ให้กลายเป็นทางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยกำหนดให้มีการเว้นระยะห่างด้วยการทำสัญลักษณ์เท้าให้นักเรียนยืนตามระยะที่กำหนด

มีการฆ่าเชื้อบนพื้นรองเท้าด้วยอ่างน้ำยา การสแกนวัดไข้ และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อก่อนขึ้นอาคารเรียน

ที่ในห้องก็จัดให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะด้วยการสลับวันเรียนของนักเรียนตามเลขประจำตัว เลขคี่เรียนวันคี่ และเลขคู่จะมาเรียนสลับวันกันเพื่อลดความแออัดและเพิ่มระยะห่างตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรค

จากการระบาดในวงกว้างของ COVID-19 ผู้คนทั่วโลกได้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคภัยต่างๆ มากขึ้น

รวมถึงในภาครัฐและภาคธุรกิจก็ตระหนักถึงการต้องปรับเปลี่ยน และปรับตัว

มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการ โดยใช้ฐานข้อมูลประกันสุขภาพของประเทศ รวมเข้ากับฐานข้อมูลการตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร เพื่อสร้าง Big Data ในการวิเคราะห์ แจ้งเตือน และป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ถึงแม้การแพร่กระจายของ COVID-19 ไปในวงกว้างอย่างรวดเร็วทั่วโลก ทำให้เกิดความหวาดระแวง ธุรกิจหลายอย่างชะลอตัว ไปจนถึงขั้นหยุดชะงัก

แต่ในทางกลับกันก็กระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนเพื่อเป็นทางเลือกสู่ทางรอดมากขึ้น

องค์กรต่างๆ จึงผนึกกำลัง แชร์ความรู้และทรัพยากร สร้าง “หุ่นยนต์” ให้เป็นพระรองมาช่วยพระเอกชุดกาวน์

อย่างเช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ “จีซี” และกลุ่มบริษัทโปลิโฟม จึงร่วมมือกันพัฒนาหุ่นยนต์ IRAPs SHaRE-aGIVeR (ไอ-ราฟ แชร์-อะ-กิฟ-เวอร์) หรือ “หุ่นยนต์แบ่งปัน” จนสำเร็จ

จากนั้นส่งมอบให้คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ นำ “หุ่นยนต์แบ่งปัน” ไปปฏิบัติภารกิจช่วยเว้นระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing) ลดการสัมผัส ป้องกันการติดเชื้อโรค

คุณสมบัติของ “หุ่นยนต์แบ่งปัน” เป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติขับเคลื่อนด้วยระบบล้อแบบเมคคานัม เคลื่อนที่ได้แบบอิสระไม่ว่าจะหมุนรอบตัวเอง หรือเคลื่อนที่แนวทแยงมุม

มีเซ็นเซอร์ที่ประกอบด้วยกล้อง lidar และ ultrasonic สามารถสร้างแผนที่ได้ทั้งแบบ 2 มิติและ 3 มิติ ทำให้แผนที่มีรายละเอียด สิ่งของต่างๆ ที่อยู่ภายในพื้นที่การทำงาน มีระบบการหลบหลีกสิ่งกีดขวางที่อยู่นิ่ง หรือสิ่งกีดขวางที่เคลื่อนที่ได้

นอกจากจะใช้นำส่งเวชภัณฑ์ ยา อาหาร หรืออื่นๆ ให้ผู้ป่วยแล้ว ยังมีระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ ให้บุคลากรทางการแพทย์พูดคุยสื่อสารกับผู้ป่วยได้

หรือจะเปิดเพลง-วิดีโอช่วยลดความเครียดให้ผู้ป่วยด้วยก็ได้

ผู้ใช้สามารถควบคุมหุ่นยนต์ผ่านคอมพิวเตอร์ มือถือหรือแท็บเล็ต เป็นการควบคุมแบบอัตโนมัติ หรือแบบใช้คนบังคับก็ได้

 

ศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มจพ. ให้ข้อมูลว่า เป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบความแม่นยำขั้นสูง หรือศูนย์ IRAPs ของ มจพ. และพันธมิตร หุ่นยนต์มีความสามารถในการสร้างแผนที่และจดจำตำแหน่งที่ต้องปฏิบัติงาน เมื่อได้รับคำสั่งจะเคลื่อนที่แบบอัตโนมัติ พร้อมความสามารถในการหลบหลีกสิ่งกีดขวางในระหว่างการเคลื่อนที่ได้

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท “จีซี” เสริมว่า บริษัทพยายามคิดค้นและนำศักยภาพของบริษัท ทั้งบุคลากร เคมีภัณฑ์ขององค์กรเข้ามาสนับสนุน ช่วยเหลือ และแก้ไขวิกฤตโควิด-19

“หุ่นยนต์แบ่งปัน” นี้เป็นความร่วมมือระหว่าง “จีซี, KMUTNB (ทีมแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย 8 สมัย) สถาบันวิทยสิริเมธี และกลุ่มบริษัทโปลิโฟม ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์

นอกจาก “จีซี” สนับสนุนงบประมาณจัดทำหุ่นยนต์แล้ว ยังร่วมหาข้อควรปรับปรุงตัวต้นแบบ หาทางแก้ไขและพัฒนา เพื่อตอบโจทย์ให้ตรงตามความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์

มีการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ ด้วยเม็ดพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพเกรดพิเศษ (PLA) เป็นส่วนประกอบของถาดวางเครื่องมือและอาหารของหุ่นยนต์

 

ส่วนสถาบันวิทยสิริเมธี สนับสนุนซอฟต์แวร์ สร้างระบบเว็บเพจ บันทึกข้อมูลของคนไข้ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สื่อสารกันได้ชัดเจน ไม่ผิดพลาดในการรักษา

ขณะที่กลุ่มบริษัทโปลิโฟมร่วมออกแบบและสนับสนุนวัสดุในการจัดทำโครงหุ่นยนต์ แม้จะเป็นหุ่นยนต์

แต่ภารกิจที่รับมอบหมาย เพื่อลดภาระและความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ ที่จะช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้ด้วยดี