ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 17-23 กรกฎาคม 2563

ขอแสดงความนับถือ

 

ยุทธบทความ ของสุรชาติ บำรุงสุข ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

นำเสนอซีรี่ส์ว่าด้วย

“88 ปีระบอบทหารไทย จาก 2475-2488”

โดยเกริ่นนำไว้ว่า

 

“…หากย้อนอดีตกลับไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศให้เป็นประชาธิปไตยในปี 2475 แล้ว

คงต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีอายุยาวนานมาถึง 88 ปี

และขณะเดียวกันก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะที่ ‘ล้มลุกคลุกคลาน’ ของการพัฒนาการเมืองไทย

ที่มีความมุ่งหวังว่าการเปลี่ยนแปลงในปี 2475 จะเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘กระบวนการสร้างประชาธิปไตยไทย’ ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นพื้นฐานของการสร้างระบอบการเมืองใหม่ของประเทศ

แต่ผ่านไป 88 ปีแล้ว ความมุ่งหวังดังกล่าวไม่ประสบความสําเร็จเท่าที่ควร

และอาการล้มลุกคลุกคลานของการเมืองจากปี 2475 จนถึงปัจจุบัน กลับเป็นความจริงของสถานะการเมืองไทยอย่างเห็นได้ชัด

จนต้องยอมรับปัญหาสำคัญว่าอุปสรรคใหญ่ของการพัฒนาประชาธิปไตยไทยในรอบ 88 ปี คือ การรัฐประหารและการคงอยู่ของระบอบทหารในการเมืองไทย… ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ทหารกลายเป็น ‘ตัวแสดงหลัก’

เช่นเดียวกับที่รัฐประหารก็เป็น ‘กฎ’ มากกว่า ‘ข้อยกเว้น’ ในการเมืองไทย

ดังนั้น บทความนี้จะทดลองสำรวจ 88 ปีของทหารในการเมืองไทยอย่างสังเขป…”

–น่าสนใจไหมเล่า

 

มีเกร็ดที่น่าสนใจของซีรี่ส์ตอนที่ 1 นี้

นั่นคือ แม้ทหารในยุคปัจจุบันจะรู้สึกอย่างไรต่อคณะราษฎร โดยเฉพาะสายพลเรือน ที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ก็ตาม

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า คณะสายพลเรือน ซึ่งเป็นปีกที่นิยมสัมพันธมิตร อันได้นำไปสู่การจัดตั้ง “ขบวนการเสรีไทย” ในเวลาต่อมา

ได้มีส่วนปกป้องกองทัพไทยเอาไว้อย่างปฏิเสธไม่ได้

กล่าวคือ หากปล่อยให้รัฐบาลจอมพล ป. (อ่าน 123 ปี จอมพล.ป. พิบูลสงครามฯ ที่หน้า 14) ขับเคลื่อนประเทศไปภายใต้ธงลัทธิฟาสซิสต์และกองทัพญี่ปุ่น

โดยปราศจากการถ่วงดุลของขบวนการเสรีไทย

ประเทศไทยน่าจะถูกปฏิบัติในฐานะ “รัฐผู้แพ้สงคราม”

และถูกควบคุมโดยกองทัพสัมพันธมิตร ไม่ต่างกับเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น

ผู้นำไทยอาจจะจบชีวิตลงด้วยคำตัดสินของศาลอาชญากรสงคราม

กองทัพไทยจะถูกปลดอาวุธ (ความหมายคือการยุบกองทัพเดิม)

และสัมพันธมิตรจะเข้ามาจัดตั้ง “กองทัพไทยใหม่”

ซึ่งไม่รู้ว่า กองทัพไทยใหม่นั้นจะเป็นอย่างไร

จะดำรงเกียรติยศ และศักดิ์ศรี ที่สืบเนื่องมายาวนานของกองทัพไทยได้หรือไม่

แต่เมื่อประเทศไม่เป็นผู้แพ้สงคราม

อันเป็นผลจากการดำเนินงานของขบวนการเสรีไทย

โดยเฉพาะต้องให้เครดิตกับนายปรีดีที่เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร จนพาประเทศไทยรอดพ้นจากสงครามมาได้

 

สุรชาติ บำรุงสุข ทิ้งท้ายไว้ให้คิด ว่า

“ผู้นำทหารไทยในยุคหลังอาจจะหลงลืมว่า

หากปราศจากบทบาทของอาจารย์ปรีดีในความสัมพันธ์กับฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว

กองทัพไทยแบบเดิมอาจจะสิ้นสภาพไปแล้วกับการสิ้นสุดของสงคราม

แต่ก็น่าสนใจว่าถ้าสัมพันธมิตรตัดสินใจเข้าควบคุมประเทศในยุคหลังสงครามแล้ว

กองทัพไทยใหม่จะมีรูปลักษณ์เช่นไร

แล้วทหารจะยังสามารถก่อรัฐประหารได้อีกหรือไม่?”

 

เป็นโชคร้ายหรือโชคดีของประเทศไม่ทราบ ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ได้เข้ามา

อันนี้ สุรชาติ บำรุงสุข ไม่ได้ถาม

แต่ “มติชนสุดสัปดาห์” ปล่อยคำถามไปตามสายลม