สุจิตต์ วงษ์เทศ / ประเพณี ‘ราษฎร์’ ถูกยกย่องเป็น ‘รัฐ’

ชาวบ้านทำพิธีแรกนาขวัญก่อนทำนาจริง (ภาพจาก บ้านโพธิ์สามต้น อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา ราว พ.ศ.2547)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ประเพณี ‘ราษฎร์’

ถูกยกย่องเป็น ‘รัฐ’

 

ประเพณีพิธีกรรมดั้งเดิมมีขึ้นเพื่อความอยู่รอดของคนทั้งชุมชน ต่อมาถูกทำเป็นเครื่องมือทางการเมืองการปกครองของรัฐ ล่าสุดเพิ่มเป็นการตลาดเพื่อรายได้จากการท่องเที่ยว

ก่อนติดต่ออินเดีย ประเพณีพิธีกรรมดั้งเดิมของชุมชนนับถือศาสนาผี มีประจำฤดูกาลเกี่ยวข้องการเพาะปลูก ซึ่งไม่มีทุกเดือน

หลังติดต่ออินเดีย ประเพณีพิธีกรรมรับเข้ามาใหม่จากอินเดียมีเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นทุกเดือน เรียกประเพณี 12 เดือน ทั้งเนื่องในศาสนาผีและเนื่องในศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทั้งเกี่ยวข้องการเพาะปลูก และเกี่ยวข้องการเมืองการปกครองของบ้านเมืองหรือรัฐ (ราชอาณาจักร)

 

ชุมชนเพาะปลูก

คนในไทยหลายเผ่าพันธุ์ สมัยดั้งเดิมเริ่มแรกตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็นชุมชนนับถือศาสนาผี มีวิถีปกติทำไร่ทำนาปลูกข้าว และทำประมงดินแดนภายในกับชายฝั่งทะเล

คนทั้งหลายกินข้าวเป็นอาหารหลักมากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ดังนั้นคนส่วนมากปลูกข้าวในภูมิประเทศต่างกัน (ได้แก่ ที่สูง เรียก “เฮ็ดไฮ่” คือ ทำไร่, ที่ลุ่ม เรียก “เฮ็ดนา” คือ ทำนา) และทำในช่วงเวลาไม่ตรงกันทั้งหมด เพราะรับลมมรสุมในช่วงเวลาไม่ตรงกัน (ภาคเหนือรับลมมรสุมก่อนภาคกลาง จึงลงมือทำนาก่อนภาคกลาง ราว 2 เดือน) ทำให้มีประเพณีพิธีกรรมด้านหลักคล้ายคลึงสอดคล้องกัน แต่ส่วนปลีกย่อยต่างกัน

 

“ทำนาทางฟ้า”

ปลูกข้าวบริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง ตั้งแต่ดั้งเดิมเริ่มแรกจนถึงสมัยหลังๆ ล้วนต้องพึ่งพาธรรมชาติ คือพึ่งพาน้ำฝนที่ตกมาจากฟ้า เรียก “ทำนาทางฟ้า” (ข้อความนี้พบเก่าสุด พ.ศ.2053 สมัยอยุธยาตอนต้น อยู่ในจารึกบนฐานพระอิศวร จ.กำแพงเพชร)

“ทำนาทางฟ้า” พึ่งพาธรรมชาติมีความเสี่ยงสูงมาก เพราะธรรมชาติแปรปรวนโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า เช่น ฝนแล้งต้นข้าวแห้งตาย, ฝนมากจนเกิดน้ำท่วม ต้นข้าวจมน้ำแล้วเน่าตายเสียหายทั้งหมดก็มี

สังคมดั้งเดิมยังล้าหลังทางเทคโนโลยี เมื่อมีสภาพฝนแล้งกับน้ำท่วม รวมถึงสิ่งแปรปรวนต่างๆ ทางธรรมชาติล้วนสร้างความเสียหายแก่ข้าวในนา ปลาในน้ำ แต่หาคำอธิบายไม่ได้ว่าทำไม? อะไร? มาจากไหน? คนทั้งหลายนับถือศาสนาผีเชื่อว่าเป็นการกระทำของผีซึ่งมีอำนาจเหนือธรรมชาติ ดังนั้น จึงมีพิธีเลี้ยงผีแล้ววิงวอนร้องขอขมาต่อปวงผี เพื่อความอุดมสมบูรณ์ในพืชพรรณว่านยาข้าวปลาอาหารเลี้ยงชุมชน

 

เลี้ยงผีขอความอุดมสมบูรณ์

พิธีเลี้ยงผีร่วมกันทำทั้งชุมชน ซึ่งนำโดยหัวหน้าเผ่าพันธุ์หรือผู้นำไม่ว่าหญิงหรือชายหลายพันปีมาแล้ว (ก่อนรู้จักติดต่อค้าขายและรับวัฒนธรรมอินเดีย)

ตลอดช่วงฤดูกาลปลูกข้าวมีพิธีเลี้ยงผีทั้งปี ซึ่งแบ่งกว้างๆ 4 ช่วง ได้แก่ ฤดูทำนา, ฤดูขอขมาน้ำและดิน, ฤดูเก็บเกี่ยว, ฤดูหลังเก็บเกี่ยว

แต่ละฤดูกาล ชาวนาแต่ละชุมชนทำพิธีไม่พร้อมกันในวันเดียว เวลาเดียว เพราะต่างทยอยทำบ้านใครบ้านมัน และทำแล้วทำอีกก็ได้ในช่วงเวลายาวนานราว 1 เดือน หรือ 2 เดือน เช่น ขอขมาดินและน้ำเริ่มทำตั้งแต่เดือน 11 น้ำนอง ต่อเนื่องไปจนถึงเดือน 12 น้ำทรง ไม่กำหนดตายตัวต้องวันนั้นวันนี้ (เหมือนปัจจุบัน)

 

ฤดูทำนา เดือน 6 (ราวพฤษภาคม) ชุมชนดั้งเดิมทำพิธีแรกนาขวัญวิงวอนร้องขอต่อผีจงบันดาลให้พืชพรรณว่านยาข้าวปลาอาหารที่จะปลูกต่อไปให้อุดมสมบูรณ์ เรียกตามคำลาวว่า “นาตาแฮก” คือ “นาตาแรก” หมายถึงนาจำลองก่อนทำนาจริง เป็นพิธีกรรมเก่าแก่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว ที่ยังสืบเนื่องจนปัจจุบัน

ฤดูขอขมาน้ำและดิน มีประเพณีต่อเนื่องในเดือน 11-12 (ราวตุลาคม-พฤศจิกายน) แข่งเรือเสี่ยงทายไล่น้ำเพื่อทำนายผลผลิตว่าร้ายหรือดี การแข่งเรือโดยพายเรือเร็วๆ เสมือนไล่น้ำหรือส่งน้ำให้ลดลงเร็วๆ เพื่อเข้าเก็บเกี่ยว ขณะเดียวกันก็ลอยเครื่องเซ่นใส่ภาชนะลอยน้ำ เช่น กาบกล้วย, กระบอกไผ่ลงน้ำเพื่อขอขมาผีน้ำผีดิน

ฤดูเก็บเกี่ยว มีประเพณีต่อเนื่อง ดังนี้ เกี่ยวข้าว เดือน 1 (เดือนอ้าย ราวธันวาคม) นวดข้าว เดือน 2 (เดือนยี่ ราวมกราคม) ทำขวัญข้าว เดือน 3 (ราวกุมภาพันธ์)

ฤดูหลังเก็บเกี่ยว เป็นหน้าแล้ง มีประเพณีต่อเนื่องเดือน 4-5 (ราวมีนาคม-เมษายน) ทำนาไม่ได้ เพราะไม่มีน้ำ ทุกชุมชนทำพิธีเลี้ยงผีแถนผีฟ้าเพื่อขอฝน แล้วมีการละเล่นต่างๆ เพื่อวิงวอนร้องขอความอุดมสมบูรณ์

 

รับวัฒนธรรมอินเดีย

ไทยและอุษาคเนย์มีการติดต่อแลกเปลี่ยนค้าขายทรัพยากรต่างๆ กับอินเดียและตะวันออกกลางตั้งแต่ต้นพุทธกาล ครั้นหลัง พ.ศ.1000 สมัยเริ่มแรกการค้าโลก บ้านเมืองเหล่านั้นเติบโตมั่งคั่งขึ้นจากการค้าเป็นระดับรัฐ

ผู้นำพื้นเมืองหรือหัวหน้าเผ่าพันธุ์พากันรับวัฒนธรรมอินเดีย แล้วต่างได้รับยกย่องเป็นพระราชาหรือกษัตริย์ จากนั้นเลือกรับประเพณีพิธีกรรมเนื่องในศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเข้ามาประสมกลมกลืนเข้ากับประเพณีพิธีกรรมดั้งเดิมในศาสนาผีซึ่งมีแข็งแรงก่อนแล้ว ทำให้ความขลังและศักดิ์สิทธิ์เพิ่มขึ้น

การติดต่อเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองต่างๆ ทางทะเลสมุทร ทำให้ชุมชนบ้านเมืองขยายตัวมีคนคับคั่งหลากหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ประเพณีพิธีกรรมเลี้ยงผีที่มีมาแต่เดิมถูกปรับเปลี่ยนเป็น “นาฏกรรมแห่งรัฐ” เพื่อความมั่นคงทางอาหารและการเมืองการปกครอง ด้วยการแสดงความมีอำนาจเหนือธรรมชาติของพระราชาหรือกษัตริย์ต่อการควบคุมและบันดาลความอุดมสมบูรณ์ในพืชพรรณว่านยาข้าวปลาอาหารให้เป็นที่รับรู้ของสังคมสมัยนั้น

อยุธยาเป็นแหล่งหลอมรวมประเพณีบริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่สืบเนื่องจากบ้านเมืองก่อนหน้านั้น (ปัจจุบันเรียกสมัยวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งรับมรดกอีกทอดหนึ่งจากชุมชนบ้านเมืองสมัยก่อนวัฒนธรรมทวารวดี ที่เรียกสมัยก่อนประวัติศาสตร์) พบหลักฐานเก่าสุดในกฎมณเฑียรบาล สมัยอยุธยาตอนต้น (ตราขึ้น พ.ศ.1901) เริ่มต้นลำดับประเพณีเดือน 5 (ทางจันทรคติ) ตรงกับเมษายน (ทางสุริยคติ) เพราะเพิ่งรับปฏิทินสุริยคติจากอินเดีย ซึ่งขึ้นราศีใหม่เทียบได้กับปีใหม่ ขึ้นศักราชใหม่ เรียก “สงกรานต์” ซึ่งต่างจากปฏิทินจันทรคติของอุษาคเนย์เริ่มปีใหม่เดือนอ้าย (ราวพฤศจิกายน-ธันวาคม)

ประเพณีพิธีกรรมไม่คงที่ตายตัว ครั้นถึงสมัยอยุธยาตอนปลายได้ปรับเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ-การเมือง ดังพบในเจ้าฟ้ากุ้ง (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์) มีพระราชนิพนธ์พรรณนาประเพณีพิธีกรรมของราชสำนักไว้ในนิราศธารโศก บางพิธีตรงกัน แต่หลายพิธีต่างกับที่พบในกฎมณเฑียรบาล

 

ปรับเปลี่ยนประเพณีราษฎร์เป็นรัฐ

หลังรับวัฒนธรรมอินเดีย ประเพณีราษฎร์ในอุษาคเนย์ถูกทำให้เป็นประเพณีรัฐด้วยการประสมประสานพิธีกรรมดั้งเดิมในศาสนาผีเข้ากับพิธีกรรมรับจากอินเดียในศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีตัวอย่างดังนี้

เมษายน คติพราหมณ์อินเดียมีพิธีขึ้นราศีใหม่และขึ้นศักราชใหม่ เรียก “สงกรานต์” เทียบปัจจุบันคือขึ้นปีใหม่อินเดีย ครั้นรัฐอยุธยารับเข้ามา (สืบเนื่องจากรัฐในวัฒนธรรมทวารวดี) ได้จัดพิธีพราหมณ์ในโบสถ์พราหมณ์ (ซึ่งมีหลายแห่งในเกาะเมืองอยุธยา) แล้วมีพิธีทำบุญในวัดหลวงกลางเมือง มีขนทรายเข้าวัดหลวงในเมืองเตรียมไว้ใช้ก่อสร้างเสนาสนะ โดยไม่เกี่ยวกับประเพณีของไพร่บ้านพลเมือง

ส่วนราษฎรทั่วไปมีพิธีกรรมหลังเก็บเกี่ยวหน้าแล้งเดือน 5 (จันทรคติ) เลี้ยงผีแถนผีฟ้าตามประเพณีที่ทำมาก่อนหลายพันปีมาแล้ว มีการละเล่นเข้าทรงแม่ข้าว (คือเจ้าแม่แห่งข้าวซึ่งเป็นผี)

รัฐปรับเปลี่ยนการละเล่นเข้าทรงเลี้ยงผีในชุมชน เป็นการละเล่นลานกว้างกลางแจ้งในเมือง แล้วเรียกงาน “ออกสนาม” มีพรรณนาในกฎมณเฑียรบาล ได้แก่ ชนวัว, ชนควาย, ชนช้าง, แข่งเกวียน, แข่งวัวควาย, เล่นเพลงโต้ตอบ ฯลฯ พร้อมกันนั้นก็เพิ่มการละเล่นบางอย่างรับจากอินเดียและตะวันออกกลาง

พฤษภาคม พิธีจรดพระนังคัลในนาหลวง หมายถึง ไถนาในนาพระเจ้าแผ่นดินด้วยวัวลากผาลควักคุ้ยดินเป็นแนวเพื่อหว่านพันธุ์ข้าวปลูก โดยมีพราหมณ์เป่าสังข์และไกวบัณเฑาะว์บันลือเสียงถึงเทพเจ้า เหล่านี้เป็นพิธีของรัฐพัฒนาขึ้นจากประเพณี “นาตาแฮก” ของราษฎรไพร่บ้านพลเมืองที่มีก่อนนานแล้ว และทุกเดือน 6 ราษฎรยังทำอยู่ในชุมชนหมู่บ้านของตน (ที่สำคัญต่อมาคือสถาปนาแม่ข้าวของชาวบ้านเป็น “แม่โพสพ” ของรัฐ พบหลักฐานในทวาทศมาสโคลงดั้น)

ตุลาคม-พฤศจิกายน รัฐอยุธยาปรับเปลี่ยนประเพณีแข่งเรือไล่น้ำกับพิธีขมาน้ำและดินของราษฎรเป็น “นาฏกรรมแห่งรัฐ” เรียกพิธีอาสยุช กับ จองเปรียง ชักโคม ลอยโคม ตามคติในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู