การ์ตูนที่รัก / นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์/นึกว่าชีวิตเรากลายเป็นเกมจีบสาว?? ไปซะแล้ว กลับเป็นเกมเอาชีวิตรอดไปซะอย่างงั้น เล่ม 1

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นึกว่าชีวิตเรากลายเป็นเกมจีบสาว?? ไปซะแล้ว

กลับเป็นเกมเอาชีวิตรอดไปซะอย่างงั้น เล่ม 1

ข้างบนคือชื่อหนังสือ เพิ่งวางแผงได้ 1 เล่ม ซื้อมาเพราะชื่อยาวดีมากกว่ารูปหน้าปก

เปิดภายในมีรูปวาบหวามจำนวนมาก เปลือยท่อนบน ไม่ถึงกับเปลือยท่อนล่าง

เนื้อเรื่องเล่มหนึ่งนี้วนเวียนอยู่กับเรื่องส่องสาว ซึ่งหนังสือใช้คำเรียกว่าสเก๊าเตอร์(scouter) ส่องหาสาวๆ เพื่อเคลียร์เกม

เนื้อหามิใช่เรื่องส่องสาวเพื่อหลับนอน มีเรื่องลึกลับซับซ้อนกว่านั้น และเชื่อได้ว่าเมื่อวางแผงเล่มต่อไปจะลึกลับและซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามมาตรฐานการ์ตูนญี่ปุ่น

นอกเหนือจากคำศัพท์สเก๊าต์แล้ว อีกคำหนึ่งที่เห็นตั้งแต่หน้าแรกคือคำว่า NEET หนังสือกำหนดให้พระเอกของเราเป็นนี้ต

ดังนั้น อย่าถามมาก

 

คํานี้มีมาพักหนึ่ง เริ่มเป็นที่พูดกันหนาหูขึ้น แต่ถ้าสืบค้นงานวิจัยทางจิตวิทยาหรือจิตเวชศาสตร์ยังมีไม่มาก บทความส่วนมากหนักไปทางทัศนะเสียมากกว่า เป็นทัศนะที่อิงอยู่กับบริบทและวัฒนธรรมมากกว่าอย่างอื่น

ทบทวนเล็กน้อยสำหรับท่านที่ยังไม่คุ้นเคย นี้ต หรือ NEET ย่อมาจาก Not in Education Employment or Training แปลว่าไม่เรียน ไม่ทำงาน ไม่ฝึกฝน แล้วทำอะไร ก็นอนอยู่บ้านไปวันๆ ออกนอกบ้านไปทำธุระส่วนตัว กินเงินสวัสดิการไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เล่นเกม ดูซีรี่ส์ และนอน ว่ากันว่าพบมากขึ้นเรื่อยๆ ในคนรุ่นใหม่

บางคนสรุปสั้นๆ “ขี้เกียจ”

แต่บางคนบอกว่า คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการทำงานเพราะไม่ต้องการเป็นทาสของระบบ คือทุนนิยมที่ฉ้อฉล พูดง่ายๆ ว่า “จะไปทำให้เจ้าสัวรวยมากขึ้นอีกทำไม”

ดังที่บอกว่ายังไม่พบงานวิชาการที่น่าพอใจ จึงขอเล่าสั้นๆ ตามที่อ่านมา และไม่สามารถลงความเห็นได้ว่าที่จริงแล้วนี้ตเป็นอะไรมากหรือเปล่า รายงานจากประเทศต่างๆ ว่ามีจำนวนประชากรนี้ตมากขึ้นเรื่อยๆ มีข่าวหนึ่งรายงานว่าในออสเตรเลียมีเป็นแสนๆ คนและกินเงินสวัสดิการ

สำหรับประเทศไทย หลายคนสรุปว่าบ้านเรากินเงินพ่อ-แม่

นี้ตดูจะคล้ายๆ ฮิโคโมริ แต่ฮิโคโมริทำงาน

 

กลับมาที่การ์ตูนของเราก่อนครับ พระเอกของเราชื่อฮาเซกาว่า เรียว เป็นนี้ต จากภาพเขาดูดี สะอาดสะอ้าน เป็นคนรุ่นใหม่ เขาลืมตาตื่นตอนเช้าวันหนึ่งพบโฟลเดอร์สีเหลืองที่คุ้นเคยลอยอยู่กลางอากาศตรงหน้า

หยุดตรงฉากแรกนี้ สำหรับนักอ่านเก่าแก่ย่อมคิดถึงย่อหน้าแรกของหนังสือ Metamorphosis ของฟรันซ์ คัฟคา ที่ตัวเอกตื่นมาพบว่าตัวเองเป็นแมลงปีกแข็ง เป็นย่อหน้าแรกที่ดีที่สุดในโลกชิ้นหนึ่ง มีอิทธิพลต่อการเปิดฉากด้วยการตื่นนอนเรื่อยมา ไม่เราก็โลกที่เปลี่ยนไป และถ้าสาเหตุมาจากการที่เพราะเราเป็นสิ่งแปลกปลอมของโลกหรือโลกไม่ต้อนรับเราหรือเราเองที่ไม่ต้อนรับโลกเส็งเคร็งใบนี้ การเปิดฉากแบบนี้จะอย่างไรก็เป็น Kafkaesque หรือฝันร้ายแบบคัฟคา

คล้ายๆ คนที่ไม่ชอบรัฐบาลวันนี้เป็นทุกเช้า

แต่เรียวมิได้ฝันร้าย เพราะเขาเป็นนี้ต เขาหลีกหนีจากโลกอยู่ก่อนแล้ว การได้หนีอีกครั้งเข้าสู่โลกของเกมเป็นเรื่องน่าพึงใจ เขาปรับตัวเข้าหากติกาของเกมได้ไม่ยากเพราะเป็นคนรุ่นใหม่

นี่ถ้าเป็นผู้เขียนอยู่ในสถานการณ์แบบเขาคงใช้เวลางมกับปุ่มต่างๆ และคำศัพท์ใหม่ๆ อยู่นาน

หยุดตรงนี้อีกเช่นกัน จะว่านี้ตไม่ใส่ใจโลกเลยนั้นมิใช่ ที่จริงแล้วเขาต้องการความพึงใจบางประการ

ดังนั้น ถ้าเรียวเป็นนี้ต (นี้ตที่แท้อาจจะออกมาเถียงว่าเรียวมิใช่นี้ต คนเขียนเรื่อง Waruiotoko เขียนผิดแน่ๆ) แสดงว่านี้ตมิได้ตัดขาดจากทฤษฎีความต้องการพื้นฐานของมาสโลว์ ให้สังเกตการเล่นคำนี้ตและนีดส์ Maslow’s Hierarchy of Needs

เรียวแสวงหาความสุข ความสนุก และความตื่นเต้นเหมือนมนุษย์ทั่วไป นี่เป็นอีกข้อที่นี้ตไม่เหมือนฮิโคโมริ อย่างหลังนี้แยกตัวของจริง ทั้งกายและใจ

เรียวพยายามศึกษาวิธีเล่นเกมและ “เคลียร์” ตัวเองออกจากเกมอย่างเร็ว แต่เนื่องจากเกมไม่บอกว่าเขาต้องทำอะไรจึงจะเคลียร์ได้ นอกจากบอกว่าเขาต้องตายถ้าเคลียร์ไม่สำเร็จใน 8,000 กว่าชั่วโมง เขาจึงต้องลองผิดลองถูกเอง

โดยที่เกมเลเวลหนึ่งจะให้เป้าหมายง่ายๆ เงินก้อนหนึ่ง และไอเทมไม่กี่ชิ้น เช่น กุญแจผี สเปรย์ยาสลบ เป็นต้น เรียวต้องใช้ไอเทมเหล่านี้เผด็จศึกเป้าหมายไปทีละเลเวล

เป้าหมายคือหญิงสาว อวบอั๋น ใจง่าย แต่วิธีเผด็จศึกยังไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เป็นภารกิจของเรียวต้องทดลอง และนักอ่านต้องเดา ว่า “มนุษย์” ที่แท้ควรทำตัวอย่างไรเวลาพบสาวๆ พวกนี้เข้ามาหาอย่างง่ายๆ

 

มีเรื่องพื้นฐานของเกมที่เราพูดกันมาแล้วหลายครั้งคือการเซฟและโหลด เพราะนี่คือเกม เรียวจึงสามารถกดบันทึกหรือเซฟได้ทีละระยะๆ เพื่อพักการเล่น หยุดคิดวิเคราะห์ พักผ่อนนอนหลับ (แต่เวลา 8,000 ชั่วโมงยังคงนับถอยหลัง) พร้อมเมื่อไรก็เริ่มเล่นใหม่ด้วยการโหลดใหม่ เป็นเช่นนี้เรื่อยไป

นี่คือจุดที่นักจิตวิทยาโจมตีเกมเสมอมา กล่าวคือ ชีวิตจริงของคนเรามิใช่จะเซฟง่ายๆ หรือโหลดใหม่ได้ตามอำเภอใจ หลายครั้งที่เราพลาดคือตาย หรือสร้างความเสียหายต่อชีวิตที่มิอาจหวนคืน

ช่วงหลังๆ จึงมีเกมตายจริงๆ ออกมาแก้ปัญหาให้

เรียวเล่นเกมส่องสาว เขาปล่อยสาวบางคนเดินผ่านไปแล้วมาหยุดที่ซากุราอิ อามิ อายุ 30 ปี โปรไฟล์ว่าระหองระแหงกับสามี แอบรับจ๊อบที่สามีไม่รู้ และเปลี่ยนคู่นอนไม่ซ้ำหน้า เขาใช้เงินซื้อไอเทมกุญแจผีและสเปรย์ยาสลบแล้วเดินไปที่แฟลตของอามิเพื่อ “เคลียร์ ใช้กุญแจผีเปิดประตูเข้าไปอย่างง่ายดาย พบอามิในชุดชั้นในลายลูกไม้อย่างเซ็กซ์นั่งอยู่บนโซฟา เธอโวยวาย เรียวฉีดยาสลบ

มีตัวเลือกป๊อปอัพขึ้นตรงหน้า จะปลุกปล้ำหรือตรวจสอบภายในบ้าน

เรียวเลือกข้อแรกแล้วนั่งลงแยกขาของอามิออก ทันใดนั้นตำรวจสองนายพุ่งเข้ามาจับเขาใส่กุญแจมือพาไปที่รถตำรวจทันที

เมื่อเดินถึงรถตำรวจจึงมีตัวเลือกป๊อปอัพขึ้นมาอีกว่าจะโหลดใหม่หรือไม่

เรียวเลือกโหลดใหม่พร้อมบทเรียนบทที่หนึ่ง “นึกว่าชีวิตเรากลายเป็นเกมจีบสาว?? ไปซะแล้ว”

 

เรียวแก้ตัวอีกครั้งและอีกครั้ง จนถึงรอบที่จะเข้าด้ายเข้าเข็มกับสาวเซ็กซ์อามิอยู่แล้วปรากฏว่าตัวเองพลาดท่าเสียทีดื่มยาพิษที่หล่อนผสมไว้ในเครื่องดื่ม คราวนี้เขาต้องตายแน่ถ้าไม่โหลดใหม่อีกที เขาพบศพของชายหนุ่มที่หล่อนควงเข้ามาเมื่อวันก่อนในบ้าน และพบศพสามีของหล่อนในตู้เย็น ตอนนี้เขาได้บทเรียนที่ชัดเจนแล้วว่า “กลับเป็นเกมเอาชีวิตรอดไปซะอย่างงั้น”

ทั้งหมดที่เล่ามาอยู่ในตอนที่ได้ชื่อว่า “สาวข้างบ้าน” ความยาวสามตอนจบ

หากสนใจก็หาอ่านดูครับว่าเขาจะเคลียร์ตัวเองออกจากสาวโรคจิตนี้ได้อย่างไร

 

นี้ตในญี่ปุ่นมีหลายแสนคนขึ้นกับนิยามและอายุ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบการหางานของญี่ปุ่นเองที่มีช่องว่างที่ไม่มีใครทำอะไรได้นอกจากรอ คนญี่ปุ่นยุคเบบี้บูมเมอร์ยอมรับไม่ได้กับการปรากฏตัวของประชากรกลุ่มนี้ ถ้าเรียวเป็นนี้ตจริงๆ พูดตรงๆ ว่าสมควรตาย

ในงานเวชปฏิบัติที่ผู้เขียนทำ เราพบว่ามีบัณฑิตไทยจบแล้วไม่ทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ จริง มากกว่ามาก พบว่าแต่ละคนขาดแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่น

ช่วงแรกๆ อธิบายว่าเพราะความผิดพลาดของระบบการศึกษาไทยที่สร้างบัณฑิตที่ “เฉื่อย” ได้มากมายขนาดนี้ออกมา

ต่อมาเราเริ่มพบว่าคำอธิบายที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ความรู้ด้านสมองและพัฒนาการเด็กสมัยใหม่พบว่าสมองส่วนหน้าของมนุษย์รับผิดชอบสิ่งที่เรียกว่า EF หรือ Executive Function ซึ่งทำหน้าที่กำหนดเป้าหมายแล้วฝ่าฟันไปให้ถึง เด็กไทยจำนวนมากดูเหมือนว่า EF จะบกพร่อง

เกิดจากความผิดพลาดในการเลี้ยงดูตั้งแต่สามขวบปีแรก แล้วซ้ำเติมด้วยระบบการศึกษา

แต่ดูเหมือนคำอธิบายเหล่านี้จะไม่พออีก เพราะจำนวนนี้ตทวีเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศโดยอธิบายไม่ได้ กลับไปที่คำอธิบายทางสังคมวิทยาข้างต้น “จะทำงานรับใช้เจ้าสัวไปทำไม” หรือ “จะส่งเสริมระบบเฮงซวยที่เป็นอยู่ไปทำไม” ประโยคนี้เริ่มเข้าเค้าไม่ว่าคนพูดจะ “ฉลาด” พอจะพูดหรือไม่ก็ตาม

ก.เป็นการพูดที่ชาญฉลาดและถูกต้อง หรือ ข. เป็นแค่ข้ออ้างของการเกาะแม่กิน

คิดว่าอย่างไรครับ?