เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์ / พลังของสังคม

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

พลังของสังคม

 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มีข่าวข่าวหนึ่งที่เกิดเป็นกระแสขึ้นมาในพื้นที่สื่อต่างๆ ทั้งทีวี สื่อออนไลน์ และสิ่งพิมพ์ คือข่าวของไลฟ์โค้ชที่ชื่อ “ฌอน บูรณะหิรัญ”

หะแรกของจุดกำเนิดของข่าวนี้ ก็ไม่นึกว่าเรื่องราวจะลากไปไกลถึงเพียงนี้ จนเจ้าของประเด็นได้รับผลกระทบอย่างมาก แบบพลิกผันชั่วข้ามคืนก็ว่าได้

รายละเอียดของข่าวและประเด็นต่างๆ ผมคงจะไม่ลงลึก เพราะหลายท่านคงทราบดีอยู่แล้ว และที่นำมาเขียนถึงนี้ก็ไม่ได้จะบอกว่าใครถูกใครผิด แต่มีประเด็นที่ชวนสังเกตและศึกษาจากกรณีนี้ได้

เมื่อฌอนได้ไปร่วมงานปลูกป่าที่ จ.เชียงใหม่ และได้เขียนถึง “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ในเชิงชื่นชม เท่านั้นเองก็มีปฏิกิริยาสะท้อนกลับมาทันที หรือที่ผู้คนให้นิยามว่า “ทัวร์ลง”

ถามว่า ถ้าฌอนแค่ไปร่วมงานแต่ไม่ได้เขียนถึงก็คงไม่มีอะไรเกิดขึ้นใช่ไหม….ตอบว่า ใช่

หรือถ้าเขาแค่เขียนว่าได้ร่วมปลูกป่ากับบิ๊กป้อม เป็นแค่ประโยคบอกเล่าธรรมดาๆ ก็คงจะไม่เป็นไร

หรือเขียนถึงแต่เขียนไปในทาง “เนกาทีฟ” ก็สมควรอยู่แล้วที่จะ “ทัวร์ลง” ได้เช่นกัน แต่อาจจะเป็นทัวร์คนละขบวน

แต่นี่เขียนถึง และเขียนในทาง “โพสิทีฟ” ทัวร์ก็ลงได้เช่นกัน ลงไม่ลงเปล่า แต่ลากฌอนให้ถูลู่ถูกังไปกับพื้นถนนจนถลอกปอกเปิกเลือดไหลซิบๆ ตามที่ปรากฏในข่าวคราว

ลามไปถึงเรื่องเรี่ยไรนั่น

 

บอกก่อนว่าไม่ได้จะมาว่าใครผิดใครถูกนะครับ

ประเด็นชวนสังเกตคือ ถ้าเราชมใครว่าดีแล้วมีผลเป็นลบ ผมว่า “คนที่เราไปชม” นี่แหละต้องคิดหนักอย่างมากถึงมากที่สุดทีเดียว

ดูหนอ เขาอุตส่าห์มาร่วมงาน แถมเขียนถึงเราแบบชื่นชมด้วย แต่เขาโดนสังคมส่วนหนึ่งเล่นงานแบบกัดไม่ปล่อยเช่นนี้… เออ หนอ ตัวตูนี้เป็นอย่างไรหรือ

ทำไม แค่คนเขียนชื่นชมตัวตู เขาต้องมา “ซวย” ขนาดนี้เลยหรือ

ผมว่าท่านคงจะคิดหนักไม่น้อย หรืออย่างน้อยคนรอบข้างก็คงจะชวนให้คิดบ้างละ

และที่เกิดเรื่องนี้ขึ้นมาได้ มันมาจาก “พลังของสังคม” โดยแท้ ถ้ามีแค่คนสองคนพูดถึง เขียนถึง เรื่องราวคงจะไม่เปิดกว้างและไปไกลมากเช่นนี้

และเมื่อสังคมแสดงพลัง ก็ย่อมจะต้องเกิดการตอบสนองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และหากพลังนั้นเข้มแข็งและอิงกับความถูกต้อง เป็นพลังเชิงบวกที่มีเหตุและผล ก็จะยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้น และสามารถพลิกชีวิตคนได้เลยทีเดียว

ดังที่ฌอนเจอมากับตัว ก่อนโพสต์ข้อความที่เขียนถึง มีคนติดตามเพจของเขาหลายล้าน พอเขียนถึงเท่านั้น จำนวนคนที่ติดตามหายไปเป็นหลักล้านเลย

 

เหมือนกรณีของ “จอร์จ ฟลอยด์” ที่เคยเขียนถึงไปแล้ว หากการที่นายตำรวจคนนั้นเอาเข่ากดลำคอจนจอร์จ ฟลอยด์ หายใจไม่ออก และจบชีวิตลงในเวลาต่อมา เป็นเพียงข่าวข่าวหนึ่ง เรื่องราวก็คงจะไม่ลุกลามใหญ่โตเช่นนี้

แต่มันมีประเด็นที่เรียกให้ “สังคม” ลุกขึ้นมาส่งเสียงแสดงความเห็นและความรู้สึก นั่นคือเรื่องของการเหยียดผิวและการแบ่งแยกทางสังคม และเมื่อเสียงนั้นดังยิ่งขึ้นๆ ดังมาจากคนหมู่มาก จากเมืองนี้ไปเมืองอื่น และข้ามประเทศไปยังสังคมที่ไกลจากจุดเกิดเหตุ มันจึงเป็นพลังมวลมหึมาที่ส่งผลแรงกล้าตามที่เราทราบกัน

นายตำรวจคนนั้นโดนเมียหย่า เขาและเพื่อนตำรวจที่ร่วมเหตุการณ์ ถูกพิจารณาโทษ และดำเนินคดี

จากกรณีนี้เกิดกระแส “Black Lives Matter” ตามมาในหลายวงสังคม

นักกีฬาอาชีพหลายคนพากันแสดงออกในการสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง นักฟุตบอลของศึกพรีเมียร์ลีกในทุกสโมสร สวมเสื้อที่พิมพ์ “Black Lives Matter” ลงแข่งแทนชื่อตัวเอง

แบรนด์สินค้าหลายรายร่วมกันรณรงค์กระแสนี้แบบทันท่วงที เช่น ผลิตภัณฑ์กีฬาชื่อดัง “ไนกี้” ที่เดิมมีแคมเปญที่ใช้มานานคือ “Just Do It” ก็ได้เปลี่ยนมาใช้ “Don’t Do It” หมายถึง “อย่าได้ทำมัน” เพื่อบอกกับสังคมถึงเรื่องการเหยียดผิวนี้

เหล่านี้คือพลังของสังคมที่ว่า

 

มีอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงเรื่องนี้ได้อย่างดี ในช่วงที่ผ่านมามีการพูดถึง Hate Speech กันมากว่าเป็นผู้ร้ายที่ทำลายสังคม สร้างความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความแตกแยก ซึ่งพื้นที่ที่แสดงออกถึง Hate Speech ก็คือสื่อออนไลน์ทั้งหลายทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม

โดยผู้ที่ก่อให้เกิดกระแสนี้ตามมาก็คือ ผู้นำสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่โพสต์คำพูดในสื่อโซเชียลมีเดียถึงกรณี “Black Lives Matter” ว่า “When the looting starts, the shooting starts” ถ้ามีการปล้นเมื่อไหร่ จะมีการยิงเมื่อนั้น

จากคำพูดนี้ได้สร้างความไม่พอใจกับสังคมอย่างมาก เพราะเท่ากับเป็นการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ตอกย้ำความแตกแยกทางสังคมมากขึ้นไปอีก ยิ่งผู้พูดเป็นระดับผู้นำของประเทศด้วย ยิ่งส่งผลกระทบตามมาอย่างมาก

และผู้ที่ถูกโจมตีจากสังคมก็คือเฟซบุ๊ก เพราะไม่มีการแสดงความรับผิดชอบต่อการควบคุม คัดกรอง Hate Speech ทั้งหลายเหล่านี้เลย ต่างจากสื่อออนไลน์อื่น

ผลคือ สปอนเซอร์ที่เป็นแบรนด์ใหญ่ๆ หลายตัวพากันถอนการลงโฆษณากับเฟซบุ๊ก ทำให้เฟซบุ๊กสูญรายได้จำนวนมาก และมูลค่าในตลาดหุ้นลดลง

นั่นเป็นพลังของสังคมที่ลุกขึ้นมาใช้ “อำนาจ” ที่มีเพื่อตอบสนองต่อผู้ที่ตกเป็นจำเลย แม้ต่อมาผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กอย่างมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จะลุกออกมาพูดถึงมาตรการที่เฟซบุ๊กจะทำเพื่อแก้ไขกรณีนี้ แต่มันก็สายเกินไปเสียแล้ว

 

ในเมื่อพลังของสังคมมีอำนาจมากขนาดนี้ จึงมีผู้ที่ต้องการอำนาจได้แสวงหาวิธีที่จะเป็นผู้ควบคุมชี้นำสังคมอีกทีหนึ่ง ไม่ว่าวิธีนั้นจะมาจากกระบวนการที่เป็นปกติ หรือประหลาดพิสดารเพียงใดก็ตาม

อย่างกรณีของการชนะศึกเลือกตั้งในครั้งแรกของทรัมป์เป็นต้น เป็นตัวอย่างของการแสวงหาอำนาจในโลกประชาธิปไตย

หรืออย่างกรณีการยึดกุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จของนายคิม จอง อึน แห่งเกาหลีเหนือ เป็นตัวอย่างของการแสวงหาอำนาจของโลกเผด็จการ

ซึ่งไม่ว่าจะโลกแบบไหน การปกครองใด จริงๆ แล้วผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดก็คือ “ประชาชน” ประชาชนที่รวมตัวกันเป็นสังคม สังคมที่รวมพลังกันเป็นอำนาจ

หากประเทศไทยมีกระบวนการที่รวบรวม ส่งเสริมสังคมให้รวมตัวกันอย่างถูกวิธี ตามครรลองที่เหมาะที่ควร ภายใต้ผู้นำที่มีคุณธรรม มีวิสัยทัศน์ ย่อมต้องเกิดพลังที่ยิ่งใหญ่และยั่งยืนแน่นอน

บทความตอนนี้เริ่มจากพลังสังคมที่มีผลต่อบุคคล

จบลงด้วยพลังสังคมที่สามารถส่งผลระดับประเทศชาติ

อยู่ที่ว่าระหว่างทางมาถึงจุดจบที่ว่า ใครจะเป็นคนนำ และนำด้วยวิธีอย่างไรให้ได้ผลนี่สิ…น่าคิดเสียจริงๆ คิดสิ คิดสิ