ประวัติศาสตร์ฉบับนั่งทางใน บนเส้นแบ่งของความรู้-ความจริง-ความเชื่อ กับข้ออ้างแห่งศรัทธาในสังคมอุดมผู้วิเศษ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เวลาเราพูดถึง “ความจริง” คล้ายๆ มันมีหลายระดับ เช่น ระดับ fact คือระดับข้อเท็จจริง หมายถึงสิ่งที่พิสูจน์ได้ในทางประสาทสัมผัสและสามารถโต้แย้งถกเถียงกันได้หากมีหลักฐานที่ถูกต้องหรือดีกว่า

ระดับ reality หรือความจริงที่ไม่เกี่ยวกับมุมมองของเรา เพราะเป็นความจริงนอกตัวเราที่จริงอยู่อย่างนั้น เรื่อยไปจนถึงระดับ truth หรือสัจธรรมอันเป็นความจริงนิรันดร คล้ายๆ ความจริงสูงสุดที่มีลักษณะนามธรรมยิ่งกว่าทุกระดับ

ในชีวิตประจำวันดูเหมือนเราใช้ความจริงระดับ “ข้อเท็จจริง” มากกว่าระดับอื่น ส่วนศาสนาและปรัชญานั้นล่วงล้ำเข้าไปถึงเขตแดนความจริงระดับสัจธรรม ทว่าปรัชญาต่างกับศาสนาตรงที่ไม่ได้อ้างสัจธรรมหนึ่งเดียวโดยอาศัยความเชื่อ แต่ถือว่าแม้แต่การพูดถึงสัจธรรมก็อยู่ในข่ายแห่งการถกเถียงโต้แย้งด้วยเหตุผลได้

เดิมทีนักปรัชญาพยายามหาเส้นแบ่งระหว่าง “ความจริง” กับ “ความเชื่อ” ให้ชัดเจน ต่อมาดูเหมือนจะให้ความสนใจความสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่งนี้มากกว่า เพราะเส้นแบ่งที่ว่านี้พร่าเลือนลงหลังยุคโพสต์โมเดิร์น

ความจริงกับความเชื่อนั้นเกี่ยวพันกับเรื่องคุณค่า หรือมีมิติทางจริยศาสตร์มาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งทำให้มันซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก ที่จริงมีผู้ศึกษาเรื่องนี้ไว้คือผู้ช่วยศาสตราจารย์พิพัฒน์ สุยะ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานของผมเอง ท่านว่ามันเกี่ยวพันโยงใยไปถึงเรื่องการเมืองด้วยซ้ำ เพราะในปรากฏการณ์การเมืองไทย ดูเหมือนคุณค่าที่คนยึดถือจะชี้นำหรือทำให้เข้าใจ “ข้อเท็จจริง” ไปต่างๆ กันได้

ผมจำรายละเอียดของการสนทนาเรื่องนี้ไม่ได้เสียแล้ว แต่อย่างน้อยๆ ก็พอนึกออกเลาๆ ว่า รู้สึกแปลกใจที่ปกติเรามักคิดว่า ข้อเท็จจริงจะเป็นตัวชี้นำระบบคุณค่าที่คนยึดถือ แต่กลับเป็นตรงกันข้าม

 

ร่ายข้างบนมายืดยาวเพื่อจะบอกว่า แม้ในวงวิชาการปรัชญาจะถกเถียงและทำให้ความจริงกับความเชื่อได้เข้ามาสนทนากันแล้ว (โปรดอ่านงานชื่อ “ศรัทธาและปัญญา : บทสนทนาทางปรัชญาว่าด้วยศาสนา” ของท่านอาจารย์สุวรรณา สถาอานันท์) แต่นอกวงวิชาการผมคิดว่าการแยกแยะหาเส้นแบ่งระหว่างความเชื่อกับความจริงยังคงเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ

โดยเฉพาะในสังคมไทยที่ดูเหมือนความเชื่อจะนำความจริงไปซะทุกเรื่อง ถึงขนาดแม้จะมี “ข้อเท็จจริง” ที่ขัดแย้งกับความเชื่อนั้นก็ตาม

ยิ่งหากความเชื่อนั้นถูกตอกย้ำจนกลายเป็นศรัทธาแล้วมีธงความดีหรือ “เจตนาดี” นำไปด้วย คนก็จะยิ่งละเลยทั้งข้อเท็จจริงหรือความจริงออกไปอีก

ช่วงนี้มีกรณีอาจารย์เรนนี่ออกมาพูดถึงประวัติศาสตร์ฉบับนอกตำรา โดยใช้อำนาจวิเศษที่เธออ้างว่ามี รวมทั้งการระบุว่าใครต่อใครเป็นคนสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยจนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันทั้งเมือง

ที่จริงอาจารย์เรนนี่ไม่ใช่ “อาจารย์” คนแรกที่ออกมาพูดถึงประวัติศาสตร์ฉบับนั่งทางในนะครับ ยังมี “ผู้วิเศษ” หรืออาจารย์อีกหลายคนที่ออกมาระบุประวัติศาสตร์นอกตำรา หรือบอกว่าใครเป็นใครในประวัติศาสตร์

รวมทั้งสรรค์สร้างนวัตกรรมพิธีกรรมอีกสารพัด

 

กรณีคุณเรนนี่ น่าสนใจตรงที่มีคนคอมเมนต์ในทางปกป้องหลายอย่าง เป็นต้นว่า เราก็เกิดไม่ทันกันทั้งนั้น อาจารย์เขาพูดแบบนี้อาจถูกก็ได้ ใช่ว่าพวกนักประวัติศาสตร์จะถูกต้องกว่าคนอื่น

ถ้าผมใช้ตรรกกะแบบเดียวกันผมก็อาจบอกว่า ในอดีตบรรพบุรุษของคุณอาจโง่เง่ามากก็ได้ หรือเคยทำสิ่งเลวร้ายต่างๆ เช่น ลักขโมย ฆ่าคนตาย คุณก็เกิดไม่ทันเหมือนผม คุณจะรู้ได้ไงว่าสิ่งที่ผมพูดจริงหรือไม่จริง

ยิ่งผมอ้างว่านั่งทางในแล้วท่านมาบอกเองเลยนะ ทวดของทวดของคุณน่ะ คุณจะยอมรับได้ไหม

มันถึงต้องมี “หลักฐาน” ยังไงล่ะครับ

ประวัติศาสตร์จึงถกเถียงกันด้วย “หลักฐาน” เท่าที่มี แต่แน่นอนว่าหลักฐานอาจไม่สมบูรณ์หรือขัดแย้งกัน มันจึงถูกตีความหรือโต้แย้งได้ ที่จริงการสร้างเรื่องราวขึ้นมาลอยๆ โดยอำนาจวิเศษจึงไม่ควรถูกเรียกว่าประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำ เพราะมันอยู่ในฟากของความเชื่อเต็มๆ

กระนั้น จุดยืนของผมเหมือนเดิมครับ ใครอยากจะเชื่ออะไรก็เชื่อไป เป็นสิทธิของท่าน หากความเชื่อนั้นมันไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น

แต่ท่านเชื่ออะไร คนอื่นก็มีสิทธิที่จะไม่เชื่ออย่างท่าน แล้วก็ไปบังคับเขาไม่ได้

รวมทั้งหากเขาจะโต้แย้งวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นสิทธิของเขาด้วย

 

ผมเรียนปรัชญา จึงไม่ได้ปฏิเสธว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งที่นอกเหนือประสาทสัมผัส หรือมีความรู้ชนิดพิเศษที่เราอาจเข้าถึงได้ แต่ถ้าประสบการณ์เหล่านั้นไม่อาจชี้แจงแสดงให้ยอมรับได้ด้วยเหตุผล มันก็ควรอยู่ในฐานะ “ประสบการณ์ส่วนบุคคล” ไม่ใช่ทั้งข้อเท็จจริงหรือความจริงที่คนอื่นต้องยอมรับ

นอกจากการอ้างว่าเราต่างก็เกิดไม่ทันแล้ว ยังอ้างว่า ผู้พูดมี “เจตนาดี” อยากให้สังคมไทยสร้างบุญกุศล ที่เขาทำก็ช่วยให้คนเกรงกลัวบาป ทำบุญ อะไรทำนองนี้ เขาอยากให้คนมี “ศรัทธา”

การอ้างศรัทธาหรือความดีนี้ เป็น “กับดัก” ที่ทำลายสังคมไทยมายาวนาน เพราะการอ้างศรัทธาหรือความดีย่อมไม่เลือกวิธีการ ขอเพียงให้ความดีหรือการมีศรัทธาเป็นเป้าหมาย คนเราจึงอาจทำลายคนอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย ดังที่เราเห็นในเหตุการณ์ทางการเมืองของเราเองหลายต่อหลายครั้ง

อีกทั้งการเลือกเอาศรัทธาและความดีเป็นข้ออ้าง เราก็ได้สร้างสังคมที่ปฏิเสธความรู้ขึ้นมา แม้ความรู้นั้นอาจสร้างขึ้นจากข้อเท็จจริงและหลักฐานก็ตาม

สังคมเราจะเป็นอย่างไร ผมคิดว่ามันจะไม่กลายเป็นสังคมแห่งความรู้หรือสังคมแห่งปัญญาในความหมายที่ควรเป็น เพราะสุดท้ายความรู้บางอย่างจะถูกปฏิเสธหากมันขัดกับความศรัทธาหรือความดี ในขณะเดียวกัน ความรู้ที่เหลืออยู่จะถูกเอาไว้รับใช้ความเชื่อหรือความดีเท่านั้น

ในวงการบูชาเทพหรือไสยศาสตร์ มักชอบมีคำพูดกันเมื่อจะทำพิธีกรรมว่า ศรัทธาก็ทำไป เอาที่เราสบายใจ ไม่มีผิดมีถูกหรอก ศรัทธาแล้วทำยังไงก็ได้ ฯลฯ อะไรทำนองนี้

ผมคิดว่าในอดีตที่การหาความรู้เป็นไปด้วยความยากลำบาก เช่น หากจะทำพิธีกรรมของพราหมณ์สักอย่างก็ไม่รู้จะหาตำรับตำราหรือความรู้จากไหน ก็ต้องทำไปเท่าที่รู้หรือเท่าที่นึกออก ศรัทธาจึงเป็นตัวนำ

แต่ในยุคปัจจุบันที่เราสามารถเข้าถึงความรู้ได้อย่างมากมายมหาศาล ข้ออ้างดังกล่าวจึงฟังดูคล้ายการปฏิเสธความรู้หรือปฏิเสธความพยายามที่จะหาความรู้แล้วเอาคำว่าศรัทธามาออกหน้า

ทั้งนี้ ผมไม่ได้คิดว่าความถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญที่สุดนะครับ แต่ความรู้ทั้งหลายในทางพิธีกรรม ศาสนา มันมีหลักคิดอะไรบางอย่างอยู่ การศึกษาความรู้เหล่านี้อย่างเต็มที่แล้วจะปรับเปลี่ยนหรือละทิ้งในภายหลังก็ย่อมได้

แต่หากละทิ้งเสียแต่ต้นก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะเหมือนทิ้งไปโดยไม่เข้าใจอะไรเลย

 

นอกจากนี้ ตัวแปรสำคัญอีกอย่างในการก่อรูปสังคมที่ปฏิเสธความรู้คือบรรดาผู้วิเศษนี่แหละครับ

การอ้างคุณวิเศษที่พิสูจน์ไม่ได้เป็นอำนาจอย่างหนึ่งของสังคมที่ถูกฝึกไม่ให้พึ่งตัวเอง

เราต่างถูกฝึกให้พึ่งผู้วิเศษอยู่เสมอโดยไม่รู้ตัว พึ่งในครอบครัว ในระบบการศึกษา ในศาสนา ในการเมือง ไปจนระดับรัฐ

รัฐที่ล้มเหลวในการแก้ปัญหาต่างๆ ของพลเมือง ล้มเหลวในการบริหารจัดการ ทำให้คนไม่อาจคาดหวังถึงชีวิตที่ดีขึ้นโดยกลไกของมันเอง แต่การจะมีชีวิตที่ดีหรือไม่ดี รวยหรือไม่รวย ดูคล้ายต้องมีโชค มันเป็นไปได้สำหรับคนพิเศษบางคนเท่านั้น

สังคมแบบนี้จึงสร้างบรรดาโค้ชชิ่งและอาจารย์ผู้วิเศษทั้งหลายเพื่อช่วยให้เราฝ่าความไม่แน่นอนของชีวิตและปัญหาที่เราก็ไม่รู้จะแก้ยังไงด้วยตัวเราเอง เผื่อเราจะกลายเป็นคนโชคดีคนนั้น

บางคนบอกว่าการแก้ปัญหาให้คนอื่นเป็นเมตตาธรรมก็นับว่าดีแล้ว แต่ผมคิดว่าหลายครั้งมันเป็นการฉวยโอกาส เพราะสังคมกะปลกกะเปลี้ยและคนมีความทุกข์ คุณจึงสร้างชื่อเสียงและมอมเมาเขาไว้ในโลกของความเชื่อต่อไป เหตุแห่งทุกข์ที่แท้ไม่ได้ถูกแก้ มันจึงเป็นเพียงความสบายใจชั่วครั้งชั่วคราว

แถมเราเป็นสังคมที่ความจริงถูกทำให้น่ากลัว อันตรายหรือไร้ค่า เราไม่พูดความจริงกันจนบางทีเราก็ลืมไปแล้วว่าเราควรพูดความจริง

 

สําหรับผมแล้ว สุดท้ายเรื่องนี้มันคงไม่ใช่แค่เรื่องบิดเบือนประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่มันได้สะท้อนอะไรหลายอย่าง

ผมอยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมแห่งความรู้จนมั่นคงดีแล้ว ความเชื่อกับความรู้จะได้มีโอกาสสนทนากันต่อไป

โดยให้ความจริงได้ส่องสว่างไปด้วย