เพ็ญสุภา สุขคตะ / ชาวแพร่ ฮอมแฮง แป๋งบ้าน แป๋งเมือง : อาคารบอมเบย์เบอร์มา

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่

วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่ หรือ ANPAT (Associated Network Phrae Ancient Town) ได้จัดกิจกรรมเสวนาล้อมวงหัวข้อ “ฮอมแฮง แป๋งบ้าน แป๋งเมือง : อาคารบอมเบย์เบอร์มา” ณ ลานท่าน้ำเชตวัน ริมแม่น้ำยม ตรงจุดที่มีการรื้ออาคารบอมเบย์เบอร์มา มีผู้เข้าร่วมฟังการเสวนามากกว่า 150 คน

นายธีรวุฒิ กล่อมแล้ว สถาปนิก เจ้าของร้าน Gingerbread ประธานภาคีฯ ได้กล่าวเปิดนำเสวนาว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้และการก่อตั้งภาคีฯ ขึ้นมา มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อหลักๆ คือ

ประเด็นแรก ต้องการเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนเป็นระยะๆ ในการติดตามความคืบหน้าของคดี หลังจากที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) ได้รื้อถอนทำลายอาคารบอมเบย์เบอร์มาลงเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 จนเป็นข่าวครึกโครมแล้วนั้น

ทางจังหวัดแพร่ได้เชิญภาคีฯ และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมประชุมหารือเป็นการด่วนที่ศาลากลางจังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 19 และ 20 มิถุนายน 2563 เพื่อหาทางออกร่วมกัน จนนำไปสู่

การที่อธิบดีกรมศิลปากรได้มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อผู้กระทำผิด (ไม่ได้ระบุหน่วยงานองค์กรใดเป็นการเจาะจง แต่หมายรวมถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ปล่อยปละละเลยให้เกิดการรื้อทำลายอาคารอันเป็นโบราณสถานสำคัญ) ซึ่งนับจากนี้เป็นหน้าที่ของฝ่ายตำรวจที่ต้องเร่งสืบสวนสอบสวนค้นหาข้อเท็จจริงอย่างเที่ยงธรรมต่อไป

ประเด็นที่สอง ภาคีฯ ต้องการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส คือใช้กรณีศึกษาของการสูญเสียอาคารบอมเบย์เบอร์มา มาเป็นต้นแบบปลุกจิตสำนึกคนในทุกหลืบซอกของสังคมไทยที่ประสบชะตากรรมเดียวกันให้ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิในการเป็นเจ้าเข้าเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษของตนได้สร้างไว้ในท้องถิ่นแต่ละชุมชน ว่านับต่อแต่นี้ประชาชนไม่ควรเป็นฝ่ายถูกกระทำจากผู้มีอำนาจส่วนกลางอีกต่อไป ชุมชนควรได้รับการเคารพจากภาครัฐ

คือต้องยืนหยัดอย่างอาจหาญในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม อาจเรียกว่าเป็น “แพร่โมเดล” ก็ว่าได้

และประเด็นที่สาม เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนเมืองแพร่ร่วมคิด ร่วมฝัน ร่วมตรวจสอบ ร่วมวางแผน ร่วมทำงาน ร่วมมองอนาคตว่าวันข้างหน้า พวกเขาต้องการเห็นอะไรหลังจากที่จะมีการฟื้นคืนชีพอาคารบอมเบย์เบอร์มาขึ้นมาอีกครั้ง

และคงไม่ใช่แค่เฉพาะอาคารบอมเบย์เบอร์มาเท่านั้น ทว่าบรรยากาศแห่งการอนุรักษ์บ้านเก่าวัดร้างกำแพงร้าวที่ใกล้สิ้นลมหายใจ ควรได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงทั่วทุกหย่อมหญ้า

 

กรมศิลปากรกับงานวิชาการเชิงรุก

นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดี ตัวแทนจากสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้กล่าวถึงวิธีการดำเนินงานเชิงรุกของกรมศิลปากรที่กำลังจะทำคู่ขนานไปกับการแจ้งความเอาผิดผู้รื้ออาคารก็คืองานด้านวิชาการ

โดยกรมศิลปากรจะทำการขุดค้นทางโบราณคดีในชั้นดินเพื่อหาหลักฐานพื้นล่างสุดว่าอาคารบอมเบย์เบอร์มามีการสร้างมาแล้วทั้งหมดกี่ยุคกี่สมัย เพราะจากภาพถ่ายเก่าพบว่ามีการซ่อมแซมต่อเติมขยายอาคารและเปลี่ยนวัสดุใหม่มาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง

ภาพอาคารบอมเบย์เบอร์มาที่เราเห็นกันก่อนรื้อถอนนั้น มีการใช้วัสดุประเภทก่ออิฐถือปูนเข้ามาผสมหลายส่วน แต่จากเวทีเสวนา คนเฒ่าคนแก่ยืนยันว่าอาคารยุคแรกสร้างนั้นเคยใช้วัสดุเป็นไม้สักทองล้วนๆ เพิ่งจะมีการปรับเปลี่ยนวัสดุเป็นโครงสร้างไม้ผสมปูนในภายหลัง

นายสายกลางเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่เมืองแพร่จะได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีจนถึงชั้นดินที่ลึกที่สุด เพราะนอกจากจะได้เห็นร่องรอยของผังอาคารบอมเบย์เบอร์มาในแต่ละยุคว่ามีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างแล้ว

ยังอาจได้พบหลักฐานที่เก่าแก่กว่านั้นเป็นของแถม เช่น พบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานชุมชนในสมัยล้านนา หริภุญไชย หรืออาจเก่าไปถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อย่าลืมว่าเมืองแพร่แทบไม่เคยมีการขุดค้นทางโบราณคดีมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 30 ปีแล้ว

ระยะเวลาที่กรมศิลปากรจะดำเนินการขุดตรวจ ขุดค้นทางโบราณคดีนี้ ตั้งใจจะให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด

เมื่อกรมศิลปากรจัดทำข้อมูลทางวิชาการเสร็จสมบูรณ์ เชื่อว่าน่าจะได้โมเดล 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบเก่าสุดสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งผังอาคารอาจจะยังไม่ได้ต่อปีกให้กว้างก็เป็นได้ กับรูปแบบยุคที่มีการซ่อมแซมครั้งแรก ราวสมัยรัชกาลที่ 7-8 และรูปแบบล่าสุดก่อนถูกรื้อ คือมีเครื่องปูนผสมเครื่องไม้

จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการประชาพิจารณ์ โดยนำเสนอรูปแบบอาคารให้ประชาชนชาวแพร่ได้พิจารณาซาวเสียงกันว่าประสงค์จะให้สร้างขึ้นมาใหม่ (reconstruction) ด้วยรูปแบบใด เก่า กลาง หรือล่าสุด?

เรื่องการอนุรักษ์นั้นก็เป็นอีกประเด็นที่ชาวแพร่มีความกังวล ว่าการสร้างขึ้นมาใหม่นั้นย่อมไม่เหมือนเดิม เนื่องมาจากวัสดุจำนวนมากถูกรื้อแบบไม่ปรานีปราศรัยไปแล้ว

นายสายกลางอธิบายว่า แม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องไม้ที่ถูกรื้อถอน คือไม่สามารถใช้วัสดุดั้งเดิมได้ทั้งหมด แม้กระนั้น การอนุรักษ์ตามหลักการของกรมศิลปากรนั้น จะพยายามทำให้เหมือนเดิมมากที่สุด โดยคำนึงถึงหลัก 4 ประการดังนี้

1 อนุรักษ์ด้านรูปแบบอาคารให้คงไว้ตามศิลปสถาปัตยกรรมดุจเดิม (ในกรณีนี้มีการบูรณะต่อเติมมาแล้วหลายครั้ง จะให้ชาวแพร่ใช้สิทธิ์ตัดสินใจเลือกกันเองว่าต้องการได้รูปแบบอาคารในช่วงไหน)

2 อนุรักษ์ด้านช่างฝีมือ ต้องหาช่างที่มีความประณีตละเอียดอ่อน มีความเข้าใจในการเข้าไม้แบบช่างโบราณ

3 อนุรักษ์ด้านวัสดุ สีสัน พื้นผิว ให้ละม้ายของเดิมให้มากที่สุด

4 อนุรักษ์ด้านภูมิทัศน์สิ่งแวดล้อม บรรยากาศ และสถานที่ที่ปลูกสร้างอาคาร

ตามข้ออ้างของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) ได้กล่าวว่า การตัดสินใจรื้ออาคารบอมเบย์เบอร์มาโดยไม่อนุรักษ์อาคารบนสถานที่เดิมนั้น ก็เนื่องมาจากต้องการเขยิบพื้นที่สิ่งปลูกสร้างให้ห่างออกมาจากชายฝั่งแม่น้ำยมอีกสักช่วงเพื่อป้องกันน้ำท่วม

แต่ในที่ประชุมลงความเห็นว่า อยากให้สร้างทับบนพื้นที่เดิม ไม่จำเป็นต้องเขยิบเลื่อนออกไป

ในขณะเดียวกันมีบางท่านเสนอว่า หากกลัวน้ำท่วม อาจใช้วิธียกพื้นใต้ถุนให้สูงขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้ ซึ่งเรื่องเทคนิควิธีการเหล่านี้ต้องมีการหารืออย่างละเอียดต่อไปหลังจากมีการประชาพิจารณ์

 

ฟื้นป่าไม้สัก เชื่อมมิชชันนารี

ผู้เข้าร่วมเสวนาต่างเพศ ต่างวัย ต่างสาขาอาชีพ นับแต่เจ้านายฝ่ายเหนือ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ อดีตคนที่เคยทำงานป่าไม้ นักการเมือง ศิลปิน ครูบาอาจารย์ ปราชญ์ชาวบ้าน กลุ่มแม่บ้าน สื่อมวลชน เยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้ผลัดกันแสดงความเห็นในหลายๆ ด้าน เชิงหารือว่า

ในระหว่างที่ชาวแพร่ต้องรอการทำงานด้านวิชาการของกรมศิลปากรกว่าจะเสร็จสิ้นนั้น พวกเขาสามารถขับเคลื่อนอะไรได้บ้าง

ในเมื่อจุดเด่นของเมืองแพร่คือ เป็นจังหวัดแรกในประเทศไทยที่เปิดการเรียนการสอนด้านป่าไม้ และเมื่อคราวบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์วัดสุทัศนเทพวรารามครั้งล่าสุดเมื่อทศวรรษก่อน ยังต้องเอาไม้สักทองจากเมืองแพร่ไปใช้ในการบูรณะ

ประมวลข้อสรุปได้ว่า

1 ชาวแพร่ต้องการให้มีการชำระสะสางข้อมูลด้านประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการทำสัมปทานป่าไม้ในล้านนาทั้งหมด ไม่จำเพาะเมืองแพร่หรือบริษัทบอมเบย์เบอร์มาเท่านั้น แต่ควรรวมไปถึงเมืองลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ ตาก กำแพงเพชร แม่ฮ่องสอน ฯลฯ และครอบคลุมไปถึงบริษัทอีสต์เอเชียติก บอร์เนียวเบอร์มา กับบริษัทย่อยๆ รายอื่นอีกด้วย

2 ควรศึกษาเชื่อมโยงไปถึงเรื่องบทบาทของหมอศาสนาชาวคริสเตียน เนื่องจากยุคทองของการทำสัมปทานป่าไม้เมืองแพร่นี้มีระยะเวลาไล่เลี่ยกับการเข้ามาของมิชชันนารีคณะเพรสไบทีเรียน ทั้งชาวอเมริกัน อังกฤษ สก๊อต และแคนาเดียน

ซึ่งบุคคลทั้งสองกลุ่มต่างพึ่งพาอาศัยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ดังจะเห็นได้ว่าเมืองแพร่ยังมีบ้านโบราณของมิชชันนารีหลงเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง มีทั้งที่ได้รับการบูรณะแล้ว (ปัจจุบัน กศน. ดูแล) และยังไม่ได้รับการบูรณะ (อยู่ในเขตโรงพยาบาลแพร่มิชชั่น) เรือนเหล่านี้มีการก่อสร้างด้วยไม้สักอย่างอลังการ

อนึ่ง การศึกษาวิจัยเรื่อง “การค้าไม้” กับ “บทบาทของคณะมิชชันนารี” ในล้านนานี้ นอกจากจะค้นคว้าด้านเอกสารลายลักษณ์เชิงประวัติศาสตร์ด้วยการรวบรวมภาพถ่ายเก่าจดหมายเหตุแล้ว

ควรกระทำควบคู่ไปกับการลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้รู้ การสำรวจเรือนมิชชันนารี สถาปัตยกรรมบ้านไม้โบราณ เรือนขนมปังขิง เรือนยุคโคโลเนียล เรือนแบบอาร์ตเดคโค ตึกแถวลูกกรงปูนหล่อ ฯลฯ ทุกหลัง

รวมทั้งโบราณสถานที่ถูกละเลยตามวัดวาอารามต่างๆ เช่น กุฏิ หอไตร วิหาร อุโบสถ เจดีย์ ในลักษณะการจัดทำ “แผนที่ทางวัฒนธรรม” อย่างละเอียด

อาจมีการตั้งโรงเรียนการช่างแกะสลักไม้เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน

เพื่อยกระดับให้เมืองแพร่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านป่าไม้สักอย่างครบวงจร ให้สมกับที่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ไม้สักเคยเป็นพืชเศรษฐกิจหลักช่วยสร้างรายได้หล่อเลี้ยงปากท้องประเทศไทยเป็นอันดับสองรองจากข้าวมาอย่างยาวนาน

วันนี้ชาวแพร่พร้อมแล้วที่จะลุกขึ้นมา “ฮอมแฮง แป๋งบ้าน แป๋งเมือง” จัดการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมด้วยกำลังสมองและสองมือของพวกเขาเอง

หวังใจว่าภาครัฐคงตระหนักถึงคุณค่าสิ่งที่เมืองแพร่มีอย่างถ่องแท้ และควรที่จะให้การสนับสนุนงบประมาณแก่ภาคีฯ ปราชญ์ท้องถิ่น ชุมชน ฯลฯ ในการขับเคลื่อนงานที่พวกเขาฝันทั้งหมดทั้งมวลให้เดินไปข้างหน้า

คู่ขนานไปกับงบประมาณอีกก้อนหนึ่งที่ใช้ในการสร้างอาคารบอมเบย์เบอร์มาให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่โดยกรมศิลปากร