ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : เผด็จการแบบไทยๆ ในอำนาจผ่านทรงผมของนักเรียน

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ถึงแม้ในราชกิจจานุเบกษา ระเบียบกระทรวงการศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 จะมีข้อความระบุเอาไว้ชัดเจนว่า

“(1) นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาวไม่เกินตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย

(2) นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย”

และถึงแม้จะมีกฎหมายระบุเอาไว้ทนโท่ขนาดนี้แล้ว แต่สุดท้ายเมื่อต้องเปิดเทอมการศึกษาแรกหลังยุคโควิดปิดเมืองก็ยังอุตส่าห์มีดราม่าเรื่องคุณครูจับเด็กนักเรียนกร้อนผม หรือเรื่องราวอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ทั้ง “โรงเรียน” และ “ครูไทย” ส่วนใหญ่นั้นยังไม่พร้อมที่จะให้นักเรียนไว้ผมทรงทรมานใจคุณครูกันสักเท่าไหร่นัก

 

ว่ากันว่าทรงผมของนักเรียน ไม่ว่าจะชายหรือหญิง ตามแบบมาตรฐานในใจของคอนเซอร์เวทีฟไทย ทั้งการที่เด็กนักเรียนชายไทยเต็มขั้นนั้นต้องไถผมจนเลี่ยน เตียน และโล่ง และนักเรียนหญิงต้องตัดผมสั้นเสมอติ่งหูนั้น เป็นนวัตกรรมที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เท่านั้นนะครับ

แต่กลับไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเลยว่า จอมพลที่ชื่อแปลกท่านนี้ เป็นผู้ให้กำเนิดทรงผมทรมานใจนักเรียน แถมยังไม่เคยมีหลักฐานที่แสดงให้รู้ถึงเหตุผลอย่างชัดเจนเลยสักครั้งว่า ทำไมจอมพล ป.จึงต้องให้นักเรียนตัดผมทรงอย่างนี้ด้วย?

บางเหตุผลระบุว่า เป็นเพราะเหาระบาดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านผู้นำอย่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็เลยไม่อยากให้เหาไประบาดในโรงเรียนของเด็กๆ

แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ตอนนี้ก็ไม่ได้มีวิกฤตการณ์เหาระบาดเมือง แถมเรื่องมันก็ผ่านมาเนิ่นนานระดับที่ผ่านมา 80 ปีเศษเข้าไปแล้ว จากทรงผมที่ตัดเพื่อบรรเทาวิกฤตเหาระบาด ทำไมถึงได้กลายมาเป็นระเบียบศักดิ์สิทธิ์อันแตะต้องมิได้มันเสียอย่างนั้น?

 

คําอธิบายที่น่าสนใจยิ่งกว่าจึงมาจากการที่ท่านผู้นำแปลกคนดีและคนเดิม ไปเอาทรงผมเกรียนนี่มาพร้อมๆ กับเครื่องแบบของทหารญี่ปุ่น แล้วจับยัดให้เป็นเครื่องแบบนักเรียนของไทย เพื่อกล่อมเกลาให้เด็กๆ มีจิตใจแบบทหาร

แน่นอนว่า ท่านผู้นำก็เป็นทหารนะครับ แถมยังเป็นทหารยศสูงระดับ “จอมพล” ที่กุมอำนาจทั้งกองทัพเอาไว้ใต้รองเท้าบู๊ตของท่าน ซ้ำร้ายในยุคสมัยนั้นยังเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 กับสงครามโลกครั้งที่ 2

กลิ่นตุๆ ที่กำลังเริ่มคุกรุ่นขึ้นมาของสงครามโลกครั้งที่ 2 (ซึ่งเริ่มเมื่อ พ.ศ.2482) นี่แหละทำให้รัฐสยาม (ที่จะต่อเนื่องมาเป็นประเทศไทยในสมัยจอมพล ป.) เตรียมพร้อมสำหรับสงคราม ดังปรากฏข้อความในระเบียบทหารบก ที่ 1/7742 ดังนี้

“ด้วยทางราชการทหารได้พิจารณาความผันแปรเหตุการณ์ของโลกปัจจุบัน (พ.ศ.2478) รู้สึกเป็นที่แน่ใจว่าอย่างไรเสียก็ต้องเกิดสงครามขึ้นอีก รูปของสงครามคราวต่อไปจะร้ายแรงกว่าที่แล้วๆ มาเป็นอันมาก เพราะด้วยความเจริญแห่งอาวุธและวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการประหัตประหารกัน จะมิใช่ทหารรบกันเท่านั้น จะต้องเป็นชาติต่อชาติรบกัน คือผู้คนในชาติหนึ่ง ทั้งผู้หญิง คนแก่ เด็ก จะต้องอยู่ในสนามรบพร้อมกัน เพราะเมื่อเกิดสงครามขึ้น เครื่องบินรบอีกฝ่ายหนึ่งจะพยายามเอาลูกระเบิดต่างๆ มาทิ้งไว้ในที่ทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้น จึงมีความจำเป็นโดยแท้ที่เราทั้งหลายทุกคนต้องเตรียมตัวหัดการรบไว้ให้พร้อม ถ้าชาติใดข่มเหง เราทุกคนในชาติจักได้ช่วยกันสู้รบอย่างเต็มที่ คือพวกเราต้องเป็นทหารของชาติ ทุกคนทั้งแผ่นดินนั่นเอง”

ข้อความในระเบียบทหารบกที่ 1/7742 ที่ผมยกมาข้างต้น คือระเบียบว่าด้วยนักเรียนที่เข้ารับการฝึกทหาร ซึ่งเริ่มใช้เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2478 โดยความในระเบียบข้อนี้ที่ระบุว่า “ชาติต่อชาติรบกัน คือผู้คนในชาติหนึ่ง ทั้งผู้หญิง คนแก่ เด็ก จะต้องอยู่ในสนามรบพร้อมกัน”

จึงทำให้ไม่แปลกอะไรที่รัฐจะเห็นว่า การนำใครที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะมาฝึกทหารนั้นเป็นสิ่งอันสมเหตุสมผล เพราะถ้ามีสงครามเกิดขึ้น ใครทุกคนในชาติก็ต้องตกอยู่ในภาวะสงครามร่วมกันหมดอยู่แล้ว

ด้วยแนวคิดแบบนี้ การฝึกเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะไว้จึงไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรเลย แถมยังเป็นเรื่องดีเสียอีก เพราะเป็นการเตรียมความพร้อมเอาไว้ล่วงหน้า หากว่าโลกจะเกิดสงครามขึ้นมาจริงๆ

แน่นอนว่า “ทหาร” ในที่นี้ไม่ใช่นายทหารอาชีพ เพราะในสมัยโน้นเขาเรียกอะไรทำนองนี้ว่า “ยุวชนทหาร” ต่างหาก ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกอะไรเลยสักนิด ถ้าท่านผู้นำแปลกจะอยากกล่อมเกลาให้เด็กๆ มีจิตใจแบบทหาร โดยเฉพาะเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในช่วงที่จอมพลแปลกขึ้นมาดำรงตำแหน่งท่านผู้นำของประเทศอย่างพอดิบพอดี

 

เอาเข้าจริงแล้ว ทั้ง “ระเบียบ” และ “วินัย” ของเด็กนักเรียนไทย จึงตั้งอยู่บนฐานของสถานการณ์ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 (แน่นอนว่าเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับยุคเรืองอำนาจของจอมพล ป. แต่ก็เป็นเรื่องที่มีพื้นฐานมาก่อนที่จอมพลท่านนี้จะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ) มาตั้งแต่ครั้งนั้น จนกระทั่งถึงในปัจจุบันนี้ เด็กไทยจึงยังต้องถูกคาดหวังให้ตัดผมทรงพร้อมไปรบอยู่ ทั้งๆ ที่ไม่ได้จะไปรบกับใครเขาเสียหน่อย

อันที่จริงแล้ว ถึงจะไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงระเบียบและเหตุผลในการตัดผมเกรียนและสั้นเสมอติ่งหูของนักเรียนชายและหญิง แต่เรายังมีภาพถ่ายเก่าๆ ของนักเรียนไทยในยุค

ตัวอย่างที่สำคัญชิ้นหนึ่งคือ รูปของ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ขณะที่เป็นนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งไม่ได้ตัดผมเกรียน (แน่นอนว่า ยังต้องมีภาพของนักเรียนคนอื่นๆ อีกเช่นกันที่ผมไม่ได้เอ่ยถึง เพราะไม่เคยเห็น หรือเห็นแล้วแต่จำไม่ได้) จึงเป็นได้ว่ายังไม่มีระเบียบที่ชัดเจนถึงการตัดผมสั้นเกรียน แต่เป็นไปในทางจารีตปฏิบัติ

ลายลักษณ์อักษรฉบับแรกที่พูดถึงการตัดผมสั้นเกรียนของนักเรียนไทยเป็นผลมาจากประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 132 เมื่อปี พ.ศ.2515 ที่จอมพลถนอม กิตติขจร ทำรัฐประหารตนเอง ที่มีข้อความว่า

“นักเรียนและนักศึกษาควรจะได้รับการอบรมใกล้ชิดจากบิดา-มารดา ผู้ปกครองและครูอาจารย์ เพื่อเป็นบุตรที่ดีของบิดา-มารดา เป็นศิษย์ที่ดีของครู อยู่ในโอวาทคำสั่งสอนรวมทั้งอยู่ในระเบียบประเพณีและกฎหมายของบ้านเมือง เป็นการสมควรที่จะส่งเสริมและคุ้มครองความประพฤติ การแต่งกาย และจรรยามารยาทให้รัดกุมยิ่งขึ้น”

จากประกาศฉบับนี้แหละครับที่ทำให้เกิด กฎกระทรวงฉบับที่ 1 ในปี พ.ศ.เดียวกัน ที่ลงรายละเอียดไปว่า นักเรียนจะต้องตัดผมข้างเกรียน และมีผมข้างหน้าและกลางศีรษะยาวได้ 5 เซนติเมตร

ทั้งทรงผมเกรียนและทรงผมสั้นเสมอติ่งหูของนักเรียนไทย นอกเหนือจากจะได้รับแบบอย่างมาจากทหาร เพื่อแสดงถึงความเตรียมพร้อมที่จะออกรบแล้ว จึงยังเป็นสัญลักษณ์ของความสยบยอมและเชื่องเชื่อต่ออำนาจ โดยเฉพาะอำนาจของเผด็จการที่ตกค้างมาถึงปัจจุบัน ดังนั้น จึงไม่ต้องประหลาดใจอะไรเลยว่า ทำไมลึกๆ แล้ว อำนาจในสังคมไทยจึงไม่อยากให้เด็กนักเรียนไว้ผมยาวกันสักเท่าไหร่นัก