ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 กรกฎาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | หน้า8 |
เผยแพร่ |
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้
ไม่รู้ว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ-นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย “กำนัน” และ “ผู้ใหญ่บ้าน” ของม็อบ กปปส.
รวมทั้งแกนนำพรรคประชาธิปัตย์จะยังคิดและทำเหมือนเดิมไหม
ตั้งแต่การชุมนุมใหญ่ไล่รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์”
ไม่ยอมรับการยุบสภา
เรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งแบบลมๆ แล้งๆ
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็คว่ำบาตรการเลือกตั้ง ไม่ส่งผู้สมัคร เพื่อให้การเลือกตั้งใหม่หลังยุบสภาล้มเหลว
ทุกกระบวนการ คือการเปิด “ไฟเขียว” ทางการเมือง
เปิดทางให้มีการรัฐประหารเมื่อปี 2557
วันนั้น แกนนำพรรคประชาธิปัตย์คงคิดว่า คสช.จะอยู่ในอำนาจไม่นาน
และไม่มีการสืบทอดอำนาจ
แต่ทุกอย่างไม่เป็นไปอย่างที่คิด
คสช.อยู่ในอำนาจยาวนานถึง 5 ปี
และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อสืบทอดอำนาจ
พร้อมกับตั้งพรรคพลังประชารัฐขึ้นมา
ก่อนเลือกตั้ง “ประชาธิปัตย์” แตกออกเป็น 3 ส่วนทันที
ส่วนแรก ยังปักหลักอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์
ส่วนที่สอง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” แกนนำ กปปส. เชื่อมั่นในพลังมวลมหาประชาชน แยกออกไปตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย
และส่วนที่ 3 “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ
หลังการเลือกตั้ง ดูเหมือนจะมีเพียงแต่กลุ่มที่ไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐเท่านั้นที่ “กำไร”
เพราะได้เป็นรัฐมนตรีแบบ “เรียนลัด”
แต่ “สุเทพ” และ “ประชาธิปัตย์” ขาดทุนยับเยิน
“สุเทพ” เดินคารวะแผ่นดินทั่วประเทศ ตั้งเป้าหมาย ส.ส. 50 คน คะแนนทั่วประเทศ 3.5 ล้านคะแนน
แต่ได้ ส.ส.เพียง 5 คน และ 390,000 คะแนน
ไม่มีแล้วมวลมหาประชาชน
ส่วน “ประชาธิปัตย์” จาก 159 คนในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554
ได้ ส.ส.เพียง 53 คน
ภาคใต้ และ กทม. โดนพรรคพลังประชารัฐตีแตกกระจุย
“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรค
เกิดความแตกแยกในพรรคอย่างรุนแรง มีแกนนำหลายคนลาออก
บางคนออกไปตั้งพรรคใหม่
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากเหตุผลเพียงเรื่องเดียวคือ ไม่ยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอย่างที่เคยประกาศไว้
เพียงคิดแค่เอาชนะ
คิดถึง “ผล” โดยไม่สนใจ “วิธีการ”
เมื่อ “หลัก” ไม่แน่น
“ชิพ” แห่งอุดมการณ์ที่ฝังแน่นในพรรคก็ “หาย”
สภาพ “ชิพไม่อยู่” จึงบังเกิดขึ้น
…แค่นั้นเอง