จัตวา กลิ่นสุนทร : เส้นทางมิตรภาพกับ “วีระกานต์ มุสิกพงศ์”

ผมมีเพื่อนร่วมงานจากรั้วแม่โดม โดยเฉพาะจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลายคนทีเดียว ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้เป็นศิษย์เก่าเหลือง-แดง

สำหรับผู้สูงอายุย่อมมักย้อนความหลังยามเมื่อยังหนุ่มแน่นอย่างมีความสุข หนนี้คงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่จะเรียกความทรงจำอันยาวนานกลับคืนมาร้อยเรียงอีก

กลับไปยังวันวานไม่นานสักเท่าไร ราวๆ 5 ทศวรรษเท่านั้นเอง พวกเราเพิ่งสลัดคราบนักศึกษาออกมาแสวงหาเส้นทางสู่อนาคต แต่ยังไม่รู้อนาคต ได้แต่ทำงานพร้อมใช้ชีวิตสนุกสนานไปวันๆ ตามแบบของวัยรุ่น

แต่มีคนที่ได้วางเส้นทางชีวิตไว้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัณฑิตหมาดๆ หลายคน หลายรุ่นจากรั้วธรรมศาสตร์ เดินเข้าสู่สำนักงานหนังสือพิมพ์สยามรัฐอย่างมีเป้าหมาย บางคนเข้ามาพักพิงระหว่างรอเวลาการสอบเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ และ ฯลฯ

แต่อีกหลายคนต้องการยึดอาชีพหนังสือพิมพ์

 

เนื่องจากเจ้าของผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ (พ.ศ.2493) คือ ท่านศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (ถึงแก่อสัญกรรม) ขณะที่ท่านเบื่อหน่ายสิ้นหวังกับการเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 รวมทั้งทิ้งพรรคประชาธิปัตย์แบบมีเรื่องค้างคาใจ เมื่อได้รับการชักชวนจากนักหนังสือพิมพ์อาชีพ จึงก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐขึ้น เพื่อเป็นสนามสำหรับการต่อสู้กับการปกครองของเผด็จการทหาร เป็นที่ระบายอารมณ์ของนักการเมือง และนักคิดนักเขียนระดับปัญญา

ปี พ.ศ.2513 สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่เดินเข้าไปสมัครทำงานกับหนังสือพิมพ์สยามรัฐ หลังจากผมเข้าไปทำงาน 1 อาทิตย์ เขาบอกว่าเพื่อเป็นการเรียนรู้ และทดสอบบางสิ่งบางอย่างในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะผันตัวเองบินตามความฝันสู่สหรัฐอเมริกา

สลับสับเปลี่ยนเพื่อนรักหนึ่งในกุมารสยาม ขรรค์ชัย บุนปาน ละจากงานของเครือเซ็นทรัล กรุ๊ปเมื่อเกือบ 5 ทศวรรษก่อนมานั่งแทนที่ช่วยบรรณาธิการอยู่ราว 1 ปีเช่นกัน แล้วจึงบินโฉบเฉี่ยวสู่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างไทยรัฐ

เป็นการศึกษาตระเตรียมงานเพื่อก้าวเดินบนถนนหนังสืออันเป็นเป้าหมายอาชีพสื่อมวลชน เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์

 

วีระกานต์ (วีระ) มุสิกพงศ์ สอดแทรกเข้ามาทำงานหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ประมาณราวๆ ปี 2515-2516 คิดว่าคงไม่ผิดพลาดเรื่องเวลามากนัก เพราะเหตุว่าขณะที่อาจารย์คึกฤทธิ์ ซึ่งได้รับรายงานเพี้ยนๆ ใส่ไข่ระบายสีแบบผิดพลาดจากบรรณาธิการ ว่า

สุจิตต์+ขรรค์ชัย ซึ่งรวมเอาเสถียร จันทิมาธร ด้วยอีกคนหนึ่งจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงยกเครื่องสยามรัฐตามประสาคนรุ่นใหม่ แต่บรรณาธิการคงไม่เห็นด้วยจึงต้องการปลดออก

จำได้ว่าตอนนั้นอาจารย์คึกฤทธิ์ท่านกำลังจะออกเดินทางไปต่างประเทศ ผมแอบได้ยินท่านปรารภว่า ถ้าเครื่องบินดีเลย์ กลับมาจะไล่วีระออกอีกคน

วีระกานต์ (วีระ) มุสิกพงศ์ เป็นรุ่นเยาว์กว่าพวกเราสักหน่อยราว 3-4 ปีเห็นจะได้ ขณะที่เดินเข้ามาสมัครงานที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ เขายังเหลือติดอีกนิดหน่อยในบางวิชาจึงจะจบการศึกษาได้เป็นบัณฑิตทางกฎหมาย ด้วยอุปนิสัยที่ยิ้มแย้มแจ่มใสร่าเริง มีแต่รอยยิ้มแบบมิตรภาพมากกว่าอารมณ์อื่น จึงไม่ได้เป็นเรื่องยากในการได้ร่วมสังสรรค์เสวนา

วีระมาสมัครงานกับหนังสือพิมพ์สยามรัฐ โดยมีเพื่อนพ้องตั้งแต่เรียนหนังสือที่จังหวัดสงขลา พัทลุง ตามมาด้วยจนกระทั่งเขาได้ลาจากไปแล้ว เพื่อนเก่ายังติดหล่มอยู่กับอาชีพหนังสือพิมพ์อีกยาวนาน

เขามีความสามารถ และชอบพอเรื่องศิลปะไม่แพ้ด้านการเมือง และยังเป็นศิษย์โขนคนหนึ่งของสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นผู้ก่อตั้งโดยนำเอาครูโขนระดับฝีมือชั้นสูงจากกรมศิลปากรมาฝึกสอน

นอกจากนั้น ยังเขียนโคลงกลอนได้ในขั้นดีไม่แพ้การเขียนคอลัมน์ ทั้งการเมือง และบันเทิง กระทั่งกีฬาหมัดมวย เขาเป็นนักพูดนักเจรจาด้วยสำบัดสำนวนชวนติดตาม จึงไม่แปลกที่จะเป็นนักโต้วาทีขณะศึกษาอยู่ที่ธรรมศาสตร์

 

เรามีช่วงเวลาสร้างมิตรภาพผูกพันกันอยู่หลายปีระหว่างอยู่กับหนังสือพิมพ์สยามรัฐด้วยกัน มีอะไรๆ ผูกพันกันไม่น้อย ดังที่ทราบกันแล้วว่า ผมเป็นศิษย์เก่าคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนจบการศึกษาต้องทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งนอกจากจะขีดเขียนหนังสือแล้ว จะต้องเพนต์ผลงานขนาดใหญ่พอสมควรอีก 2 ชิ้นด้วย

ผมไม่มีบ้านอยู่อาศัยในกรุงเทพฯ นอกจากห้องเช่าเล็กๆ พาหนะอะไรก็ไม่มีสำหรับจะขนภาพเขียนขนาดค่อนข้างใหญ่ จึงไม่สามารถขนผลงานที่สร้างไว้ไปเก็บรักษาได้ ผลงานใน 2 ชิ้นขนาดเกือบ 2 เมตรจึงยกให้กับวีระเดินแบกไปยังบ้านเช่าแถวฝั่งธนบุรีชิ้นหนึ่ง โดยผมเก็บรักษาไว้อีกภาพ ซึ่งยังแขวนอยู่ที่บ้านจนถึงทุกวันนี้

หลังจากนั้นเป็นสิบๆ ปี เขาเจริญก้าวหน้าเติบโตทางการเมืองเป็นถึงเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งต้องโทษจำคุกเพราะวาจาปราศรัยติดลมพาดพิงถึงเบื้องบนขณะช่วยนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ หาเสียงที่จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อได้พบกันเคยถามถึงงานเพนต์ชิ้นนั้น แต่วีระกลับจำไม่ได้

สงสัยจะผุพังกลายเป็นฝาบ้านเช่าไปแล้ว

 

นอกจากจะเป็นเพื่อนคบหาร่วมวงสุราอาหารกันที่สยามรัฐ เรายังเคยร่วมเดินทางไปกับคณะโขนธรรมศาสตร์ยังจังหวัดต่างๆ ด้วยกัน เพราะวีระแสดงเป็นพญาลิง แต่เพราะกิจกรรม (การเมือง) ของเขามากมายจึงค่อนข้างจะขาดซ้อมบ่อยๆ บางครั้งจึงต้องเล่นเป็นตลกโขน แต่เพราะความที่มีลีลาวาจา และปฏิภาณโวหารไหวพริบว่องไว บางครั้งเรียกตัวเองว่าเป็นหมอเพื่อแก้ไขสถานการณ์ผ่านไปได้เรียบร้อย

ผมไม่ได้เป็นโขน ไม่เคยหัดจึงเล่นโขนไม่เป็น แต่ได้ติดตามนายโรงโขนไปเกือบทุกที่ทุกครั้ง เมื่อนักแสดงรัดเครื่องเตรียมขึ้นเวที ผมจึงต้องมานั่งดูอยู่ด้านหน้าเวทีกับนายโรงโขน บางทีร่วมวงกับคณะปี่พาทย์ ผู้พากย์โขน และครูโขนทั้งหลาย จนถูกวีระหยอกล้อว่าเป็น–ครู

ขณะที่ผมเรียกเขาว่า หมอ (ตลก) เป็นอย่างนี้ทุกครั้งที่พบเจอกันหลังจากแยกย้ายกันไปนานหลายปี

 

พวกเราเคยขัดแย้งกับ (อดีต) นายกรัฐมนตรี (คนที่ 25) สมัคร สุนทรเวช (เสียชีวิต) จึงช่วยกันค้นหารวบรวมพฤติกรรมของท่านมาช่วยกันเขียนแล้วพิมพ์เป็นหนังสือ ชื่อ “สันดานรัฐมนตรี” เพื่อตอบโต้หนังสือชื่อ “สันดานนักหนังสือพิมพ์” ที่ท่านเขียน สุดท้ายต้องตกเป็นจำเลยกันทั้งทีม เพราะอดีตนายกฯ สมัครฟ้องหมิ่นประมาท ต้องต่อสู้แก้ต่างกันอยู่นาน โดยมีท่านบัณฑิต ศิริพันธุ์ (อดีตสมาชิกวุฒิสภา) ทนายใหญ่ รับเป็นทนายสู้คดีให้

สำหรับคอการเมืองจากภาคใต้ปลายด้ามขวาน เมื่อจะเข้าสู่สนามการเมือง ต้องการสมัคร ส.ส. ส่วนมากจะเข้าสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ พวกเขามีพรรคเก่าแก่นี้อยู่ในดวงใจ การหาเส้นทางขึ้นสะพานการเมืองย่อมต้องเริ่มต้นที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งค่อนข้างทรงอิทธิพลทางการเมืองด้วยชื่อชั้น และเจ้าของผู้ก่อตั้ง

วีระกานต์ (วีระ) ก็อยู่ในแนวทางนี้ เพียงแต่ไม่ได้บอก หากเป็นที่เข้าใจกันได้ไม่ยากอะไร และความใกล้ชิดกับอาจารย์คึกฤทธิ์พอสมควร ผมจึงพออ่านออกว่าเขาเข้าสู่สยามรัฐได้ง่ายๆ สบายๆ นอกจากเขาจะมีฝีมือพอตัวแล้ว ท่านอาจารย์ซึ่งเวลานั้นกำลังจะก่อตั้งพรรคกิจสังคม

จึงวาดหวังไว้พอสมควรว่าอาจได้วีระมาลงสมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ ในสีเสื้อกิจสังคม

 

อาจารย์คึกฤทธิ์ลาออกจากประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (พ.ศ.2517) หลังรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2517 ผ่านเรียบร้อย เพื่อเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม ที่ท่านก่อตั้งขึ้น ก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมกราคม พ.ศ.2518 และดูเหมือนว่าท่านจะผิดหวังอยู่พอสมควรเมื่อทราบว่า วีระกานต์ (วีระ) มุสิกพงศ์ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรของกรุงเทพฯ ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

นานๆ เราจึงจะได้พบกันครั้งหนึ่งเมื่อเขาได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎร เข้าสู่การเมืองระดับชาติอย่างเต็มตัว แต่ความรู้สึกมันไม่ได้ห่างไกลเหมือนได้พบเจอกันอยู่เสมอๆ ในสังคมการเมืองบ้านเรา จากการที่ผมมีอาชีพสื่อมวลชน

เรื่องราวชีวิตทางการเมืองของวีระกานต์ (วีระ) มุสิกพงศ์ โลดโผนโจนทะยานผ่านอะไรต่อมิอะไรมากมายกว่าจะถึงวันนี้ วันที่เขาต้องสิ้นอิสรภาพอีกครั้ง–จนมีบางคนเปรียบเปรยว่า บ้านสี่เสาเทเวศร์ สำคัญมากกว่าทำเนียบรัฐบาล?

ต้องระลึกถึงเพื่อนเก่าต่อไปอีก