จิตรกรรม “ฉากบังเพลิง” ศิลปะชั้นสูง รัชกาลที่ 9

การถ่ายทอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นเรื่องราวจิตรกรรมลงบนฉากบังเพลิงที่ใช้สำหรับกั้นลมในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นหนึ่งในไฮไลต์ที่น่าจับตามอง

ด้วยว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีกว่า 4,000 โครงการ จึงน่าสนใจว่ากรมศิลปากรคัดเลือกโครงการใดบ้างมาถ่ายทอดเป็นเรื่องราวจิตรกรรม

นายมณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรเชี่ยวชาญ สํานักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ผู้รับผิดชอบงานเขียนจิตรกรรมบนฉากบังเพลิง เล่าว่า ฉากบังเพลิงสูง 4.4 เมตร กว้าง 5.35 เมตร มี 2 ด้าน คือ ด้านหน้าและด้านหลัง โดยด้านหน้า ประกอบด้วย 4 ช่อง ช่องละ 2 ส่วน ช่องบนประกอบด้วยพระนารายณ์อวตาร จำนวนทั้งหมด 8 ปาง

โดยในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงประทับอยู่ในพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด เปรียบเป็นพระนารายณ์ปางที่ 9

นอกจากนี้ บนฉากบังเพลิงยังมีเรื่องราวโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 24 โครงการ แยกตามหมวด ดิน น้ำ ลม ไฟ

ดังนี้

ด้านทิศเหนือ หมวดน้ำ ช่องด้านบน แสดงเรื่องราวพระนารายณ์อวตาร ฉบับพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 6 ในปางที่ 1 มัสยาอวตาร ทรงอวตารเป็นปลากรายทอง

ช่องกลางด้านขวาบน ปางที่ 2 กูรมาวตาร ทรงอวตารเป็นเต่า

ช่องกลางด้านซ้ายบน ขนาบซ้ายขวาพระนารายณ์อวตาร ด้วยกลุ่มเทวดาที่ลงมาแสดงความสักการะแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 และรับกลับขึ้นสู่สรวงสวรรค์

ส่วนช่องด้านล่างของทั้ง 4 ช่อง รวมถึงช่องด้านล่างของบริเวณทางขึ้นบันได 2 ด้าน จะมีภาพจิตรกรรมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งหมด 6 โครงการ

ดังนี้

ฝนหลวงแก้ปัญหาความแห้งแล้ง ภาคอีสานโดยเลือกพื้นที่วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ฝายต้นน้ำ เพื่อชะลอน้ำ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

อ่างเก็บน้ำเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ในช่วงเวลาที่ขาดแคลนน้ำ

โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

กังหันน้ำชัยพัฒนา เครื่องกลเติมอากาศ บำบัดน้ำเสีย

 

ด้านทิศตะวันออก หมวดดิน ประกอบด้วยช่องด้านบน พระนารายณ์อวตาร ปางที่ 3 วราหาวตาร ทรงอวตารเป็นหมูป่า

ปางที่ 4 นรสิงหาวตาร ทรงอวตารเป็นนรสิงห์ มีกลุ่มเทวดาขนาบข้างพระนารายณ์ทั้งซ้ายและขวา

ช่องด้านล่างรวมถึงบริเวณทางขึ้นบันได ประกอบด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 โครงการ ได้แก่ ดินกรวด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ดินเค็ม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ดินทราย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน และโครงการหุบกะพง-ดอนห้วยขุน ดินดานลูกรัง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย ดินพรุ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง

และดินเปรี้ยว ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง

 

ด้านทิศใต้ หมวดไฟ ประกอบด้วยช่องด้านบน พระนารายณ์อวตาร ปางที่ 6 ปรศุรามาวตาร ทรงอวตารเป็นพราหมณ์ปรศุราม ผู้ใช้ขวานเป็นอาวุธ

ปางที่ 7 รามาวตาร ทรงอวตารเป็นพระรามในรามเกียรติ์ มีกลุ่มเทวดาขนาบข้างพระนารายณ์ทั้งซ้ายและขวา

ส่วนด้านล่างรวมถึงทางขึ้นบันไดจะเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 โครงการ ประกอบด้วยสบู่ดำ ปลูกเพื่อสกัดน้ำมัน สามารถใช้แทนน้ำมันดีเซล ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน โรงงานผลิตไบโอดีเซล ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง เชื้อเพลิงอัดแท่ง แกลบอัดแท่ง โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ก๊าซชีวภาพ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ ผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้ไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์รับส่งสัญญาณดาวเทียม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้

และกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าที่ประตูน้ำคลองลัดโพธิ์

 

ทิศตะวันตก หมวดลม ประกอบด้วยช่องด้านบน พระนารายณ์อวตาร

ปางที่ 8 กฤษณาวตาร ทรงอวตารเป็นพระกฤษณะ

ปางที่ 10 กัลกยาวตาร ทรงอวตารเป็นมนุษย์ขี่ม้าขาว มีกลุ่มเทวดาขนาบข้างพระนารายณ์ทั้งซ้ายและขวา

ส่วนช่องด้านล่าง ประกอบด้วยกังหันลม โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ บ้านหนองคอไก่ จ.เพชรบุรี เพื่อการผันน้ำจากที่ต่ำชักน้ำขึ้นที่สูง กังหันลม โครงการสถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยม่อนล้าน จ.เชียงใหม่ กังหันลม โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมและกังหันลมสูบน้ำ ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช เป็นที่มาของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์

และบางกระเจ้า ปอดของกรุงเทพฯ พระราชดำริพื้นที่บางกระเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เป็นพื้นที่สีเขียวและเป็นปอดของกรุงเทพฯ เนื่องจากลมมรสุมจากอ่าวไทยจะพัดเอาอากาศบริสุทธิ์ที่ผลิตจากพื้นที่แห่งนี้เข้าฟอกอากาศเสียในกรุงเทพฯ เป็นเวลากว่าปีละ 9 เดือน

 

ส่วนด้านหลังฉากบังเพลิงทั้ง 4 ด้าน จะมีลวดลายเหมือนกันทุกด้าน คือ

ด้านบน จะเป็นพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” โดยมีดอกดาวเรืองซึ่งมีสีเหลืองอันเป็นสีประจำวันพระราชสมภพของพระองค์สอดแทรกอยู่ตรงกลาง ภปร รอบข้างจะเป็นดอกไม้มณฑาทิพย์ที่ร้อยเป็นลายเฟื่องอุบะห้อยอยู่ เป็นดอกไม้แห่งสรวงสวรรค์จะร่วงหล่นในยามเกิดเหตุการณ์สำคัญแก่ชาวโลก เหตุการณ์นี้คือการเสด็จสวรรคตของในหลวง รัชกาลที่ 9

ด้านล่างประกอบด้วยดอกไม้มงคล อาทิ ดอกบัวเงิน ดอกบัวทอง ดอกบัวสวรค์ ผูกด้วยดอกและใบบัวล้อสายน้ำ ลายเมฆและลวดลายไทย โดยมีใบหญ้าแฝกแทรกอยู่ตามดอกบัว ส่วนอีก 2 ช่องที่ขนาบ ภปร คือ พุ่มต้นไม้ทองซึ่งเป็นการนำดอกไม้มณฑาทิพย์มาร้อยเรียงให้เป็นพุ่ม สื่อถึงการนำมาถวายสักการะในหลวง รัชกาลที่ 9

“หลังจากที่กรมศิลปากรได้คัดเลือกโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดจนพระนารายณ์อวตารจากฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 โดยคัดเลือกมา 8 ปางจากทั้งหมด 10 ปาง ยกเว้นปางที่ 5 และปางที่ 9 ที่ไม่ได้คัดเลือกมา จากนั้นได้มีการออกแบบลวดลายหรือร่างแบบจิตรกรรม ตามมาด้วยการสเก๊ตช์สีต้นแบบ แล้วจึงขยายแบบสัดส่วนเหมือนจริง 1 ต่อ 1 เพื่อให้เห็นรายละเอียด เพื่อนำไปคัดลอกลงบนผ้าใบแคนวาสเพื่อลงสีอีกครั้ง โดยขณะนี้การดำเนินการอยู่ในขั้นตอนของการลงสีลงบนผ้าใบแคนวาสตามที่ได้มีการคัดลอกลวดลายลงมา โดยได้ลงสีฉากหลังครบทั้ง 4 ด้านแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บรายละเอียดพระนารายณ์ กลุ่มเทวดาและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยภาพเขียนจิตรกรรมบนผ้าใบแคนวาสทั้ง 4 ด้าน ต้องแล้วเสร็จเพื่อนำไปติดตั้งที่ฉากบังเพลิงที่เป็นไม้ให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้”

นายมณเฑียรกล่าว

 

นอกจากนี้ นายมณเฑียรยังรับผิดชอบการออกแบบและการขยายแบบร่างจิตรกรรมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 46 โครงการ บนฝาผนังพระที่นั่งทรงธรรมทั้ง 3 ด้าน

ส่วนการลงสีจริงบนผ้าใบ จะให้วิทยาลัยช่างศิลปรับผิดชอบผนังด้านที่ 2 วิทยาลัยเพาะช่างรับผิดชอบผนังด้านที่ 3 ส่วนผนังที่ 1 ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสำนักช่างสิบหมู่ รับผิดชอบ

ภาพเขียนจิตรกรรมบนฉากบังเพลิงและพระที่นั่งทรงธรรม เป็นศิลปะชั้นสูง รัชกาลที่ 9 ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่ช่างจิตรกรรม กรมศิลปากร ได้ถวายงานแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9