จาก “โคตรระเบิด” ถึง “นิวเคลียร์ท่านคิม” สูตรสงครามโลกครั้งที่ 3 !

องค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งใน “คลังยุทธวิธี” ด้านการต่างประเทศของฝ่ายบริหารชุดใหม่ของสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ คือการสร้าง “เซอร์ไพรส์” ให้กับฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างเช่น ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่า ทรัมป์จะเลือกใช้โทมาฮอว์ค 59 ลูก เป็นเครื่องมือในการแสดง “ปฏิกิริยา” ของสหรัฐอเมริกา ต่อเหตุการณ์การโจมตีเมือง ข่าน ชีคฮูน ในจังหวัดอิดลิบโดยกองกำลังทหารรัฐบาลซีเรียด้วยอาวุธเคมี

หรือการที่จู่ๆ ก็สั่งการให้ “กองเรือประจัญบาน” อย่างกองเรือโจมตีคาร์ล วินสัน ที่นำโดย “ซุปเปอร์แคร์ริเออร์” เรือบรรทุกเครื่องบินระดับสุดยอดที่สหรัฐอเมริกามีอยู่ พร้อมเรือรบอารักขาอีกอย่างน้อย 6 ลำ และเรือดำน้ำติดจรวดนำวิถีอีก 2 ลำ เปลี่ยนเส้นทางมุ่งหน้าไปประจำอยู่ในพื้นที่แปซิฟิกตะวันตก เข้าประจำการในระยะโจมตีเกาหลีเหนือ

ทำนองเดียวกันกับกรณีที่ จู่ๆ สหรัฐอเมริกาก็ส่ง เอ็มซี-130 ขน “โคตรระเบิด” น้ำหนัก 9,500 กิโลกรัม ไปหย่อนใส่พื้นที่เทือกเขารกร้างทางตะวันออกเฉียงใต้ของอัฟกานิสถานติดต่อกับปากีสถาน ที่เชื่อกันว่าเป็นแหล่งที่ซ่อนตัวสำคัญของ ขบวนการก่อการร้ายกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) ก็ทำให้หลายคนเลิกคิ้วด้วยความประหลาดใจ

คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นตามมาก็คือเซอร์ไพรส์ทั้งหลายเหล่านั้น เป็นไปตาม “อารมณ์ความรู้สึก” หรือเกิดขึ้นโดย “เจตนา” ที่ผ่านการไตร่ตรองมาก่อนอย่างถี่ถ้วนดีแล้วกันแน่?

AFP PHOTO / EPA POOL / JIM LO SCALZO

นักสังเกตการณ์ส่วนใหญ่ แทบทั้งหมดก็ว่าได้ ไม่เชื่อว่าทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นจากอารมณ์ “คะนอง” ประสาเด็ก “ได้ของเล่นใหม่” ของ โดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะในประเด็นของการใช้ “จีบียู-43/บี” โคตรของระเบิดที่ถือกันว่าทรงอานุภาพที่สุดในบรรดา “ระเบิดในรูปแบบ” ด้วยกันซึ่งสหรัฐอเมริกามีอยู่ในครอบครอง

หากแต่เป็นการประกาศท่าทีแข็งกร้าวตามแบบฉบับของทรัมป์เอง เป็นการอวดอานุภาพว่ากองทัพอเมริกัน “มีของ” อะไรอยู่ในมือบ้าง แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือสหรัฐอเมริกา “ไม่ลังเล” ที่จะใช้มัน

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือ ด้วยการแสดง “เซอร์ไพรส์” ทั้งหลายเหล่านี้ ทรัมป์จำเป็นต้องพลิกผันนโยบายที่เคยหาเสียงเอาไว้แบบ “กลับหลังหัน 180 องศา” ตั้งแต่การพลิกท่าทีหันมาเผชิญหน้ากับรัสเซียในซีเรีย เรื่อยไปจนถึงการกลับลำเรื่องความเป็นองค์กร “ล้าสมัย” ของนาโต้-องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ เป็นอาทิ

หากเล็งเห็นว่าไม่จำเป็น ทรัมป์คงไม่ต้องลงทุนมากมายถึงขนาดนั้น

AFP PHOTO / NOORULLAH SHIRZADA

ข้อเท็จจริงอีกประการก็คือ “จีบียู-43/บี” ไม่ใช่ระเบิดธรรมดา แต่เป็นระเบิดทางยุทธวิธีราคาแพงระยับ สหรัฐอเมริกาใช้เงิน 320 ล้านดอลลาร์พัฒนาขึ้นมานำเข้าประจำการได้เพียง 20 ลูก ตกราคาลูกละ 16 ล้านดอลลาร์ ไม่ใช่เรื่องที่จะมาโยนทิ้งกันเล่นๆ

ทางการอัฟกานิสถาน แถลงหลังเหตุระเบิดว่า มีผู้ก่อการร้ายไอเอสเสียชีวิตไปเพราะโคตรระเบิดครั้งนี้ 94 คน มีคนคำนวณออกมาเล่นๆ ว่า ตกลงแล้วสหรัฐอเมริกาต้องใช้ต้นทุนในการฆ่าไอเอสครั้งนี้ถึงรายละ 5.8 ล้านบาท (170,213 ดอลลาร์) คิดสะระตะยังไงๆ ก็ไม่คุ้ม

แน่นอน ถ้าไปถามนักการทหารอย่าง พลเอกจอห์น ฟรานซิส แคมป์เบล ผู้บัญชาการกองทัพอเมริกันในอัฟกานิสถาน ก็ย่อมได้รับเหตุผลในเชิงการทหารว่าทำไมถึงต้องใช้ระเบิดมหึมาเช่นนั้นกับพื้นที่เป้าหมาย ที่เอ่ยชื่อขึ้นมาเป็นที่รู้จักกันดี เพราะที่นั่นคือ “โทรา โบรา” ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเป้าหมายสำคัญของหน่วยปฏิบัติการพิเศษอเมริกัน เมื่อครั้งไล่ล่า โอซามา บินลาเดน มาจนมุมอยู่ในซอกหลืบถ้ำบริเวณนี้

AFP PHOTO / NOORULLAH SHIRZADA

จีบียู-43/บี เหมาะมากกับการใช้สังหารเป้าหมายในสภาพพื้นที่แบบนั้น เนื่องเพราะมันเป็นระเบิดประเภท “เทอร์โมบาริค” หรือเรียกอีกอย่างว่า “ระเบิดสุญญากาศ” ที่ดูดเอาออกซิเจนในบริเวณโดยรอบเข้ามาช่วยในการระเบิด ดินระเบิดเป็น”ไทรโทนัล” ซึ่งได้จากการผสมดินระเบิดทีเอ็นที 4 ส่วนเข้ากับผงอะลูมินั่มอีก 1 ส่วน เพื่อเพิ่มอานุภาพระเบิดจากทีเอ็นทีทั่วไปขึ้นอีก 20 เปอร์เซ็นต์ และก่อให้เกิด “ลูกไฟ” ขนาดใหญ่ครอบคลุมไปทั่วบริเวณ

อิทธิฤทธิ์ของมันเทียบเท่ากับการระเบิดของทีเอ็นที 11 ตัน สร้าง “คลื่นกระแทก” หรือ ช็อกเวฟที่ทำให้ไม้ยืนต้นล้มระนาวในรัศมี 150 เมตร

มันเหมาะกับการทำลายเป้าหมายในถ้ำมากเป็นพิเศษเพราะดูดเอาออกซิเจนที่มีน้อยอยู่แล้วในถ้ำออกมาจนหมด เหยื่อถ้าไม่ตายเพราะขาดออกซิเจนชั่วขณะในตอนแรก ก็จะตายเพราะสูดเอา “ละอองอะลูมินั่มติดไฟ” เข้าไปในระบบหายใจ หรือไม่ก็จากคลื่นกระแทกที่เป็นแรงระเบิดโดยตรง

ปัญหาก็คือ มันเป็นระเบิดที่ถูกออกแบบมาให้ระเบิดเหนือพื้นดิน (โดยปกติคือ 1.8 เมตร) ทำให้ประสิทธิภาพในการทำลายโครงสร้างของถ้ำหรือภูเขามีน้อยมาก ไม่นานโทราโบราก็กลายเป็นแหล่งซ่องสุมใหม่ได้อีก

AFP PHOTO / NOORULLAH SHIRZADA

แต่ด้วยข้อเท็จจริงอีกประการที่ว่า นี่คือระเบิดที่มีอานุภาพร้ายแรงที่สุดในบรรดาระเบิดธรรมดาทั่วไป หรือที่ศัพท์ทางทหารเรียกว่า “ระเบิดในรูปแบบ” ถ้าต้องการให้ “แรง” กว่านี้อีกขั้นก็ต้องหันไปหาระเบิด “นิวเคลียร์” ทำให้นักสังเกตการณ์ทุกคนรู้สึกว่า วัตถุประสงค์ของการทิ้งระเบิดครั้งนี้คือการ “ส่งสาร” มากกว่าอย่างอื่น

ส่งสารไปยังรัฐบาลในมอสโกและเปียงยางว่า สหรัฐอเมริกาไม่ยอมรับในสิ่งที่ทั้งรัสเซียและเกาหลีเหนือกำลังกระทำอยู่ และจะไม่นิ่งดูอยู่เฉยๆ อีกต่อไป

รัสเซียกำลังจัดการประชุมสันติภาพในอัฟกานิสถาน เพื่อหาทางยุติสงครามที่นั่น โดยไม่มีสหรัฐและพันธมิตรนาโต้ที่มีทหารจำนวนมากปฏิบัติการอยู่ที่นั่น เป็นเรื่องที่สหรัฐอเมริกายอมให้เกิดขึ้นไม่ได้

AFP PHOTO / KCNA VIA KNS / STR / – South Korea OUT / REPUBLIC OF KOREA OUT

ทํานองเดียวกันกับการเตรียมการที่กำลังดำเนินไปในบริเวณสถานที่ทดสอบนิวเคลียร์ใต้ดิน บริเวณเทือกเขาตอนเหนือของเกาหลีเหนือ ซึ่งเห็นได้ชัดจากภาพถ่ายผ่านดาวเทียมว่า มีการเปิดอุโมงค์ขึ้นมาใหม่ ที่น่าจะเป็นการเตรียมการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 ตามคำสั่งของผู้นำสูงสุดอย่าง คิม จอง อึน ที่อาจเป็นไปได้ว่า ครั้งนี้อาจเป็นการทดลอง “เทอร์โมนิวเคลียร์” หรือ “เอชบอมบ์” หรือไม่ก็อาจเป็นการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ที่มากกว่า 1 ลูกขึ้นไป

AFP PHOTO / JUNG Yeon-Je

นี่ยิ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้เข้าไปใหญ่ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาไม่มีวันยอมให้เกาหลีเหนือพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์ที่มีขนาดเล็กพอที่จะบรรจุไว้ในหัวรบของขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป เพื่อให้คนที่ “ไม่อยู่กับร่องกับรอย” ใช้ในการข่มขู่คุกคามว่าจะโจมตีถึงดินแดนของสหรัฐอเมริกาได้เด็ดขาด

ที่เป็นข้อกังขาคาอยู่ในใจของนักสังเกตการณ์และผู้คนทั่วโลกก็คือ รัสเซียอาจเข้าใจ “สาร” ที่สหรัฐอเมริกาส่งไปถึงได้ และพร้อมที่จะเล่นเกมเกทับบลัฟใส่กันต่อไปตามครรลอง

ปัญหาอยู่ที่คิม จอง อึน ผู้นำวัย 32 ปีของเกาหลีเหนือ ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเข้าใจกฎกติกามารยาทของ “เกม” ที่กำลังเล่นกันอยู่หรือไม่

เกิดคิดผิด คำนวณท่าทีกันพลาดเพียงนิดเดียว ไม่เพียงสงครามโลกครั้งที่ 3 จะมาเยือนเท่านั้น หายนะนิวเคลียร์อาจตามมาสมทบด้วยอีกต่างหาก!