วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ปลายเหตุที่ฮ่องกง

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

หลังจากที่ที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนจีนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ได้มีมติให้ตรากฎหมายว่าด้วยความมั่นคงของฮ่องกงไปแล้ว ในที่สุดคณะกรรมการประจำสภาผู้แทนฯ ซึ่งรับมติดังกล่าวไปร่างเป็นกฎหมายก็ร่างเสร็จสมบูรณ์ในเดือนมิถุนายน และได้ส่งให้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเป็นผู้ลงนามอนุมัติเพื่อประกาศใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม

ระบบรัฐสภาของจีนจะไม่เหมือนกับรัฐสภาของนานาประเทศในประเด็นหนึ่งคือ รัฐสภาของจีนจะมีผู้แทนเข้าประชุมประจำปีปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งโดยมากแล้วมักกำหนดไว้ในเดือนมีนาคมของทุกปี

การประชุมในแต่ละปีจะมีวาระหนึ่งที่สำคัญก็คือการเสนอร่างกฎหมาย ซึ่งเป็นหน้าที่ทางด้านนิติบัญญัติโดยตรง

แต่ที่แตกต่างไปจากนานาประเทศก็คือ กรณีของจีนนั้นเมื่อผ่านมติในที่ประชุมแล้วยังไม่นับว่ากระบวนการจะแล้วเสร็จจนประกาศใช้กฎหมายฉบับนั้นได้ในทันทีทันใด เพราะมีหลายกรณีที่เป็นการลงมติให้ผ่านกฎหมายในแง่หลักการ ส่วนรายละเอียดของกฎหมายจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการประจำสภาผู้แทนฯ เป็นผู้ดำเนินการ

การดำเนินการร่างจนแล้วเสร็จของคณะกรรมการชุดที่ว่าถือเป็นกระบวนการที่สิ้นสุดอยู่ในตัว จนกว่าจะมีประกาศใช้กฎหมายฉบับนั้นอย่างเป็นทางการ และให้ถือว่าเป็นกฎหมายที่ร่างโดยสภาผู้แทนฯ ซึ่งเป็นสภาชุดใหญ่

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะรัฐธรรมนูญของจีนกำหนดไว้ว่า ระหว่างที่สภาชุดใหญ่ไม่ได้อยู่ในสมัยการประชุม (ซึ่งคือเดือนมีนาคม) นั้น ให้คณะกรรมการประจำสภาผู้แทนฯ ทำหน้าที่แทนสภาชุดใหญ่

กล่าวอีกอย่างคือ คณะกรรมการประจำสภาผู้แทนฯ ซึ่งเป็นคณะบุคคลประมาณ 200 คนเป็นผู้มีอำนาจเต็มหรือเป็นผู้ใช้อำนาจแทนสภาชุดใหญ่

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่าเสียงของคณะบุคคลชุดนี้คือเสียงของสภาชุดใหญ่

เหตุฉะนั้น คณะกรรมการประจำสภาผู้แทนฯ จึงเป็นคณะบุคคลที่ทรงอิทธิพลในระบบรัฐสภาของจีน ไม่แตกต่างกับคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งจะว่าไปแล้วรัฐสภาจีนมีโครงสร้างที่ล้อกับโครงสร้างของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั่นเอง

ร่างกฎหมายความมั่นคงของฮ่องกงก็ผ่านกระบวนการดังกล่าว แต่เนื่องจากปีนี้ได้เกิดโรคระบาดโควิด-19 การประชุมสภาผู้แทนฯ ของจีนจึงถูกเลื่อนจากเดือนมีนาคมมาเป็นเดือนพฤษภาคม และเมื่อผ่านมติในเดือนที่ว่าแล้ว กระบวนการก็ถูกส่งผ่านไปที่คณะกรรมการชุดดังกล่าว

แล้วกฎหมายฉบับที่ว่าก็ถูกตราขึ้นเพื่อประกาศใช้ต่อไป

 

หากจะกล่าวถึงสาระของกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว หลักคิดสำคัญที่พึงกล่าวถึงก็คือคำว่าการก่อการร้าย ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงมากที่สุด ทั้งนี้ จีนได้แยกพฤติกรรมของกลุ่มผู้ก่อการร้ายออกเป็นสามกลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มแบ่งแยกดินแดน กลุ่มคลั่งศาสนา และกลุ่มนิยมความรุนแรง (extremist)

จะเห็นได้ว่า กรณีฮ่องกงนั้นการก่อการร้ายในสายตาของจีนจะเพ่งไปที่การแบ่งแยกดินแดน และอาจข้องเกี่ยวกับการนิยมความรุนแรงในบางระดับ

ถ้าเป็นการแบ่งแยกดินแดนจีนจะชี้ว่า เป็นเพราะการชุมนุมประท้วงของชาวฮ่องกงที่ต่อเนื่องยาวนานเมื่อปีที่แล้วนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมได้เรียกร้องถึงอิสรภาพหรือเอกราชของฮ่องกงอยู่ด้วย การเรียกร้องเช่นนี้จึงเท่ากับเป็นการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการก่อการร้ายในสายตาของจีน

ในส่วนที่เกี่ยวกับการนิยมความรุนแรงนั้นจีนชี้ว่า มีหลายครั้งที่กลุ่มผู้ประท้วงได้บุกเข้าทำลายสมบัติของสาธารณะหรือของรัฐ เช่น รถไฟ อาคารรัฐสภา อาคารสนามบิน รถไฟ รถโดยสารสาธารณะ ฯลฯ และมีการใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลในหลายกรณี

กฎหมายความมั่นคงของฮ่องกงจึงมีขึ้นเพื่อหมายมุ่งที่จะกำราบปราบปรามบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของฮ่องกง และด้วยเหตุที่ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีน ความมั่นคงของฮ่องกงย่อมเป็นความมั่นคงของจีนด้วย

 

เมื่อดูจากข้อเท็จจริงจากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าการชุมนุมประท้วงของชาวฮ่องกงมีพฤติกรรมเช่นว่าจริง ถ้าพิจารณาจากแง่นี้ก็จะเห็นได้ว่า การที่จีนประกาศใช้กฎหมายฉบับที่ว่าย่อมอ้างถึงความถูกต้องชอบธรรมได้ เพราะคงไม่มีรัฐบาลใดในโลกที่จะปล่อยผู้คนในประเทศของตัวแยกตนเป็นเอกราช หรือเผาบ้านเผาเมืองของตัวเองโดยไม่ทำอะไรเป็นแน่

แต่สำหรับบทความนี้มิได้มองเช่นนั้นในแบบตรงๆ ด้านเดียว กล่าวคือ แม้จะเป็นความจริงที่กลุ่มผู้ประท้วงจะมีพฤติกรรมเช่นว่า แต่ในอีกด้านหนึ่งของพฤติกรรมนั้นถือเป็นเรื่องปลายเหตุอย่างยิ่ง

กล่าวอีกอย่างคือ หากไม่มีต้นเหตุก็ย่อมไม่มีปลายเหตุ และถ้าเช่นนั้นแล้วต้นเหตุของเหตุการณ์ทั้งหมดมาจากอะไร?

จะตอบคำถามนี้ได้ก็ต้องย้อนกลับไปตั้งคำถามอีกคำถามหนึ่งว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ.1997 ที่ฮ่องกงกลับไปเป็นของจีนจนถึงก่อน ค.ศ.2014 นั้น เหตุใดเราจึงไม่เห็นชาวฮ่องกงออกมาชุมนุมประท้วงจีน จะมีก็แต่การชุมนุมระลึกถึงเหตุการณ์นองเลือดเทียนอันเหมิน (ค.ศ.1989) ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

แต่พอถึง ค.ศ.2014 การประท้วงจีนจึงเกิดขึ้น โดยกลุ่มผู้ประท้วงไม่พอใจที่จีนได้เข้ามาแทรกแซงกระบวนการเลือกผู้บริหารฮ่องกง ทั้งนี้ ก่อนการประท้วงดังกล่าว ชาวฮ่องกงได้แสดงความไม่พอใจที่จีนได้ค่อยๆ เข้ามาก้าวก่ายวิถีชีวิตของชาวฮ่องกงทีละเล็กทีละน้อยอยู่แล้ว

เช่น การแทรกแซงเนื้อหาในตำราเรียน การให้ใช้ภาษาจีนกลาง เป็นต้น

ซึ่งล้วนผิดไปจากข้อตกลง ที่ว่าชาวฮ่องกงสามารถดำรงชีวิตทางเศรษฐกิจการเมืองในแบบที่เคยเป็นนับแต่ ค.ศ.1997 ไปอีก 50 ปี เหตุดังนั้น ก่อนการชุมนุมประท้วง ค.ศ.2014 หรือที่เรียกกันต่อมาว่าการปฏิวัติร่ม (Umbrella Revolution) จะมีขึ้นนั้น เราจึงเห็นชาวฮ่องกงใช้ชีวิตไปตามปกติ แม้จะมีการวิจารณ์ผู้บริหารบ้าง แต่ก็มิใช่เรื่องใหญ่ถึงขนาดต้องออกมาชุมนุมประท้วง

แต่นับแต่ ค.ศ.2014 เป็นต้นมา การแทรกแซงหรือก้าวก่ายดังกล่าวของจีนก็ลึกเข้าไปถึงระดับโครงสร้าง และไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับชาวฮ่องกง พอถึง ค.ศ.2019 ผู้บริหารฮ่องกงได้เสนอร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน (ไปยังจีน) ขึ้นมา

จนทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อยาวนานหลายเดือน

และขยายตัวใหญ่โตไปสู่การเรียกร้องอิสรภาพกับเอกราช ซึ่งเป็นเรื่องที่จีนยอมรับไม่ได้อย่างยิ่ง ยิ่งผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้ชาติตะวันตกช่วยเหลือและชาติตะวันตกก็ขานรับด้วยแล้ว สถานการณ์ก็ยิ่งสร้างความชอบธรรมให้แก่จีนมากขึ้น

นั่นคือ จีนได้ข้ออ้างที่จะออกกฎหมายความมั่นคงมากำราบชาวฮ่องกง

 

การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเช่นนี้ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หรือที่จีนเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงฮ่องกงนั้นเป็นแผนที่ได้วางเอาไว้เพื่อนำไปสู่จุดดังกล่าว?

และหากไม่ใช่เช่นนั้น คำถามก็มีต่อไปว่า เหตุใดจีนจึงไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือสัญญาที่ให้ไว้กับชาวฮ่องกง ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรเมื่อครบ 50 ปีแล้ว จีนจะบริหารจัดการฮ่องกงอย่างไรนั้น ชาวฮ่องกงก็ไม่อาจปริปากบ่นได้อีกต่อไป

และประชาคมโลกก็คงไม่ต้องออกมาแสดงความวิตกกังวล จนลามไปเป็นความขัดแย้งกับจีนให้เสียเวลา เสียประโยชน์ และเสียสุขภาพจิตไปโดยใช่เหตุ

เหตุฉะนั้น การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงเข้าจัดการฮ่องกงจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และต้นเหตุที่มาจากการแทรกแซงก้าวก่ายของจีนก็มิอาจเข้าใจได้ว่า จีนทำเช่นนั้นไปทำไม ซึ่งผิดวิสัยแต่เดิมของจีนที่จะให้ความสำคัญกับคำมั่นสัญญา อันถือเป็นคุณธรรมของผู้เป็นบัณฑิต

 

ในขณะที่เราซึ่งเป็นคนนอกมองปัญหาดังกล่าวด้วยความสงสัยและไม่เข้าใจอยู่นั้น แต่เราก็มีสิ่งที่สังเกตได้เช่นกันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เกิดในสมัยที่สีจิ้นผิงเป็นผู้นำ และนับแต่นั้นมาเราก็เห็นอะไรอีกหลายอย่างที่ยากจะเข้าใจ ใช่แต่กรณีฮ่องกงเพียงเรื่องเดียว

เช่น ไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงปล่อยให้สีเป็นผู้นำไปจนสิ้นชีพ ทั้งๆ ที่การดำรงตำแหน่งโดยมีวาระเป็นที่ยอมรับกันว่าดีอยู่แล้ว

หรือไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงต้องมีการรณรงค์หรือผลักดันข้อริเริ่มแถบและทาง (Belt and Road Initiative, BRI) ของสีให้นานาชาติขานรับจนดูราวกับเป็นวาระของโลก ที่หากไม่ขานรับแล้วโลกจะต้องมีอันเป็นไป เป็นต้น

ข้อสงสัยนี้จะยังคงอยู่ต่อไป และชาวฮ่องกงก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องก้มหน้ารับชะตากรรมต่อไปโดยที่ไม่ต้องรอให้ครบ 50 ปีใน ค.ศ.2047