เปิดเทอม พิษโควิดตกงาน-ไร้เงิน แม่ขโมยชุด น.ร.ให้ลูก ครูแหกกฎกล้อนผมเด็ก

หลังจากต้องเผชิญวิกฤตโรคระบาดโควิดไปร่วม 5 เดือน

ทุกอย่างก็เริ่มที่จะรีสตาร์ตกลับมาอีกครั้ง รวมทั้งการเรียนการสอนของเยาวชน ที่เริ่มเปิดเรียนช้ากว่ากำหนดเดิมร่วม 2 เดือน

ทั้งนี้ การเริ่มต้นใหม่ครั้งนี้ต้องปรับตัวกันยกใหญ่ ทั้งนักเรียนและครู-อาจารย์ เพื่อให้การเปิดเรียน การเรียนในสถานศึกษา ปลอดภัยจากโรคระบาด

ซึ่งส่งผลกระทบต่อครอบครัวในสภาพที่เศรษฐกิจตกต่ำ ต้องแบกภาระค่าหน้ากากอนามัย เฟซชิลด์ และสิ่งป้องกันอื่นๆ ขณะที่โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนมาก ต้องสลับกันมาเรียน เพิ่มภาระการดูแลบุตร-หลานอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

แต่แทนที่จะได้พุ่งความสนใจไปกับเรื่องดังกล่าว กลับต้องเจอกับข่าวคราวที่น่าสลดหดหู่

ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่แม่ต้องขโมยชุดนักเรียนให้ลูกใส่ไปโรงเรียน เพราะขัดสน

หรือกระทั่งการตัดผมนักเรียนหญิง อ้างไม่เป็นไปตามระเบียบของโรงเรียน ทั้งที่กระทรวงศึกษาธิการก็ออกระเบียบห้ามทำโทษในลักษณะดังกล่าว

กลายเป็นข้อสงสัยว่าปัญหาอยู่ที่นักเรียนหรือครูกันแน่

แต่ที่แน่ๆ ปัญหาเหล่านี้ไม่เอื้อให้การเรียนรู้ดีขึ้นอย่างแน่นอน

สลดแม่ขโมยชุด น.ร.ให้ลูก

เหตุการณ์สลดแม่ขโมยชุดนักเรียนให้ลูกครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งใน อ.หลังสวน จ.ชุมพร โดยแม่วัย 26 พร้อมลูกสาววัย 8 ขวบถูก รปภ.ห้างดังกล่าวจับกุมได้ พร้อมของกลางเป็นชุดเสื้อ-กระโปรงนักเรียนระดับมัธยมศึกษา รองเท้านักเรียนหญิง 1 คู่ และรองเท้าผ้าใบนักเรียนชาย 1 คู่

ก่อนแจ้งให้ ร.ต.อ.สุวรรณชาติ ไหมทอง รอง สวป.สภ.หลังสวน ในฐานะหัวหน้าสายตรวจรถยนต์ 20 เข้าตรวจสอบ ขณะที่ผู้ต้องหาอยู่ในการควบคุมตัวภายในห้องฝ่ายจัดการของห้างสรรพสินค้า

โดยแม่วัย 26 ปี ให้การว่า เนื่องจากโรงเรียนที่ลูกเรียนจะเปิดเทอมวันที่ 1 กรกฎาคม ลูกชายและลูกสาวต้องไปเรียนหนังสือ แต่ตนประสบปัญหาทางบ้านยากจน ตนและสามีตกงานจากเหตุการณ์โควิด ไม่มีใครจ้างงานมาหลายเดือน ต้องอยู่กันอย่างอดอยาก และไม่มีเงินซื้อชุดนักเรียนให้ลูกสาวและลูกชาย

จึงตัดสินใจมาขโมยชุดนักเรียนเพื่อให้ลูกได้ใส่ไปเรียนในวันพรุ่งนี้ แต่ก็ถูก รปภ.จับตัวไว้ได้ ยืนยันไม่คิดอยากเป็นขโมย แต่ไม่มีทางอื่นแล้วจริงๆ

ขณะที่ระหว่างเกิดเหตุ มีชาวบ้านที่เป็นลูกค้าเห็นเหตุการณ์ได้จ่ายเงิน 1,200 บาท เป็นค่าสินค้า และเจรจากับผู้จัดการห้างไม่ให้แจ้งความในคดีอาญา ก่อนที่จะตกลงกันได้และตักเตือนไม่ให้ประพฤติเช่นนี้อีก ขณะที่ตำรวจได้บันทึกเหตุการณ์ไว้แล้วปล่อยตัวไป

หลังจากเกิดเหตุ พัฒนาสังคมและความมั่นคง จ.ชุมพร สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ พบว่าผู้ก่อเหตุพักอาศัยอยู่ที่บ้านของนายจ้างใน อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร มีลูกทั้งหมด 4 คน กำลังศึกษาชั้นอนุบาล 2- ป.4 พบว่าแม่วัย 26 ปี และสามีมีอาชีพรับจ้างกรีดยาง มีรายได้รวม 4-5 พันบาท

ที่ผ่านมาเกิดฝนตกจนไม่สามารถไปกรีดยางได้ ทำให้ไม่มีรายได้ วันเกิดเหตุมีเงินติดตัวเพียง 200 บาท แต่ต้องซื้อชุดนักเรียนให้ลูกไปเรียน จึงตัดสินใจขโมยชุดและรองเท้า โดย พม.เยียวยาเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย 3 พันบาท และประสานหน่วยงานฝึกอาชีพให้หารายได้เสริม

เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการกำหนดให้ต้องใส่ชุดนักเรียน เนื่องจากที่เคยให้เหตุผลว่าเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ทุกคนปฏิบัติเหมือนๆ กัน

เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ได้เป็นอย่างที่กล่าวอ้าง แถมยังสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มมากขึ้น และเห็นได้ชัดเจนในขณะที่ประเทศต้องประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ

แม้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะระบุว่า ไม่ได้ห้ามนักเรียนแต่งชุดไปรเวต แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการของสถานศึกษาจะกำหนด

แสดงให้เห็นว่า แม้ระดับนโยบายจะออกมาเช่นนี้ แต่หากระดับปฏิบัติไม่ทำตาม ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้

พัฒนาการศึกษาเมืองไทยถึงชะงักงัน

ฉาว!! กล้อนผม น.ร.หญิง

นอกจากเรื่องชุดนักเรียน เรื่องทรงผมก็มีปัญหา เมื่อ น.ส.จิน (นามสมมุติ) อายุ 33 ปี แม่ค้าขายอาหารบนแพริมแม่น้ำมูล หาดบ้านแก้ง ต.กุดเมืองฮาม อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ แม่ของเด็กนักเรียนชั้น ม.3 อายุ 15 ปี โรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ลูกสาวถูกครูใช้กรรไกรกล้อนผมจนเสียทรง เนื่องจากอ้างว่าทรงผมผิดระเบียบ สร้างความอับอายให้กับเพื่อนๆ เป็นอย่างมาก

เมื่อสอบถามไปที่โรงเรียนก็ไม่มีใครรับสาย ตนต้องการถามว่าครูใช้ระเบียบอะไรมากล้อนผมนักเรียนจนแหว่งขนาดนี้ ทำไมไม่เรียกไปตักเตือนและให้ไปตัดผมแก้ไข ที่สำคัญการตัดผมเช่นนี้ จะทำให้เรียนเก่งมากกว่าเดิมหรือไม่

โดยเด็กนักเรียนที่ถูกตัดผมเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน โรงเรียนนัดประชุมเด็กนักเรียน ม.3 ทุกคน เพื่อเก็บเงินค่าบำรุงโรงเรียน และรับสมุด-หนังสือเรียน โดยครูแจ้งที่ประชุมว่าเด็กนักเรียนหญิง ม.3 ทุกคนต้องตัดผมไม่ให้ยาวเลยคาง

ตนจึงไปตัดผมเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน จนกระทั่งเปิดเรียนวันที่ 1 กรกฎาคม เส้นผมก็ยาวลงมาเล็กน้อย ต่อมาวันที่ 3 กรกฎาคม ขณะเข้าแถวเคารพธงชาติ มีครูผู้ชายเดินมาตรวจผม และเห็นว่าผมยาวเลยคางมาเล็กน้อย จึงใช้กรรไกรตัดผมด้านขวาระดับติ่งหู ซึ่งสูงกว่าคางมาก ทำให้เกิดความอับอายมาก และมีเพื่อนนักเรียนอีก 3-4 คน ถูกปฏิบัติแบบเดียวกันด้วย

“ตั้งแต่ก่อนเปิดเทอม หนูพยายามสอบถามครูหลายคนว่านักเรียนชั้น ม.3 ไว้ผมได้ถึงไหนกันแน่ ติ่งหู หรือคาง แต่ก็ไม่มีใครให้ความชัดเจน เลยไม่รู้ว่าต้องตัดยาวเท่าใด จนกระทั่งถูกครูผู้ชายมาตัดผมหน้าเสาธง ทำให้เกิดความอับอายอย่างมาก”

ขณะที่นางกัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานกรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชน จ.ศรีสะเกษ ระบุว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ อยากให้แม่ของเด็กและโรงเรียนทำเหมือนไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เพราะเด็กได้รับผลกระทบ ดูแล้วทรงผมก็ไม่ได้เสียหายอะไรมาก

ถึงครูจะตัดผมเด็ก แต่ยังเป็นทรงผมอยู่ อยากให้เรื่องนี้เงียบเร็วที่สุด ให้ทั้ง 2 ฝ่ายคุยกันโดยเร็ว

อยากให้โรงเรียนให้อภัยเด็ก เพราะอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์

เด็กที่ถูกกระทำกลายเป็นคนผิดที่ต้องให้อภัย!??

ศธ.รับครูผิด-ไม่ทำตามกฎ

ขณะที่ ผอ.โรงเรียนดังกล่าวระบุว่า ได้คุยกับแม่ของเด็กนักเรียนหญิงคนดังกล่าวแล้ว แม่ของเด็กขอโทษที่โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก เรื่องทรงผมนั้น ระเบียบโรงเรียนกำหนดไว้ชัดเจน ทรงผมจะต้องไม่ยาวเกินกว่าติ่งหู โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเรื่องกฎระเบียบ มีผลงานวิชาการดีเด่น ผลงานด้านการจัดการเรียนการสอนดีเด่นมากมาย

ด้านนายชูชาติ แก้วนอก ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมเขต 28 (สพม.28) ระบุว่า หารือร่วมกับครูและผู้ปกครองแล้ว ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมนักเรียน พ.ศ.2563 ซึ่งกำหนดให้นักเรียนชายและนักเรียนหญิงสามารถไว้ทรงผมสั้นหรือผมยาวก็ได้

กรณีนักเรียนชายที่ไว้ผมยาว ด้านข้างและด้านหลังจะต้องยาวไม่เลยตีนผม ส่วนนักเรียนหญิง ถ้ากรณีไว้ผมยาวต้องรวบผมให้เรียบร้อย เป็นระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการที่เราจะต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัด

การกระทำของครูฝ่ายปกครอง ชี้ให้เห็นว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุไปนิดหน่อย ซึ่งครูก็ได้ออกมายอมรับผิดและขอโทษแม่ของเด็กแล้ว ถือว่าเป็นบทเรียนในการที่จะเอาไปใช้ในการทำงานต่อไป ตนกำชับให้ทุกโรงเรียนไปแล้วว่า ต่อจากนี้ไปจะต้องไม่มีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นเด็ดขาด

นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่าทำหนังสือสั่งการไปยังสถานศึกษาทุกสังกัดให้ปฏิบัติตามระเบียบเรื่องการไว้ทรงผมนักเรียน โดยเฉพาะที่กำหนดขึ้นมาใหม่ในข้อ 5 เรื่องห้ามดัดผม ย้อมสีผม ไว้หนวดหรือเครา และห้ามตัดแต่งผมเป็นลวดลาย

นอกจากนี้ ให้คณะกรรมการสถานศึกษาหรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนต้องทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็น เพื่อวางระเบียบการไว้ทรงผมนักเรียนให้เป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่มาจากผู้อำนวยการโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้

ส่วนการลงโทษนักเรียนที่กระทำผิด มีระเบียบกระทรวงศึกษาฯ ปี 2548 ให้ทำได้ 4 สถานคือ ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ห้ามลงโทษด้วยวิธีรุนแรงหรือกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ ดังนั้น การตัดผม กล้อนผม หรือตี ไม่สามารถทำได้

ระเบียบที่ออกชัดเจนเช่นนี้ จะมีค่าให้ฝ่ายปฏิบัติแยแสทำตามหรือไม่

คงต้องติดตามกันต่อไป