คุยกับทูต ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี จากนักกฎหมายธุรกิจสู่การเป็นทูตสหรัฐประจำประเทศไทย (1)

คุยกับทูต ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี จากนักกฎหมายธุรกิจสู่การเป็นทูตสหรัฐประจำประเทศไทย (1)

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีทรัมป์ ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นพันธกิจที่สำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับประชาชนชาวอเมริกัน”

กล่าวโดยเอกอัครราชทูตไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี (His Excellency Mr. Michael George DeSombre) ผู้มีประสบการณ์อย่างกว้างขวางในภูมิภาคเอเชีย ณ ทำเนียบท่านทูต สถาปัตยกรรมเก่าแก่กว่า 100 ปี ที่สร้างขึ้นในช่วงต้นรัชกาลที่ 6 และสวนต้นไม้ยักษ์ ใจกลางถนนวิทยุ

ในที่สุด ประเทศไทยก็ได้ต้อนรับทูตสหรัฐคนใหม่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากตำแหน่งนี้ว่างเว้นมานานกว่า 1 ปี โดยคนก่อนหน้านี้คือ นายกลิน ที. เดวีส์ (Glyn T. Davies) ได้พ้นจากตำแหน่งไปตั้งแต่เดือนกันยายน ปี ค.ศ.2018

หลังจากวุฒิสภาสหรัฐลงมติรับรองนายไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนใหม่ โดยการเสนอชื่อจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ดังนั้น นายดีซอมบรีจึงถือเป็นทูตที่แต่งตั้งจากฝ่ายการเมืองครั้งแรกในรอบ 47 ปี

ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เป็นนักกฎหมายจากรัฐอิลลินอยส์ หนึ่งในผู้บริหารของฮ่องกง ฟอรัม (Hong Kong Forum) ซึ่งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างนักวิชาการและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก รวมทั้งมีบทบาทด้านชุมชนทางปัญญาและการกุศลหลายแห่งในเอเชีย

นายดีซอมบรีเป็นหุ้นส่วนของบริษัทกฎหมายชื่อดัง ซูลลิแวน แอนด์ ครอมเวลล์ (Sullivan & Cromwell, LLP) โดยมีความเชี่ยวชาญกฎหมายด้านการควบรวมและซื้อกิจการ ข้อตกลงภาคเอกชน และการร่วมทุนของภาคธุรกิจ และยังรวมถึงการลงทุนทางตรงในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

นอกจากนี้ ยังเป็นประธานบริหารขององค์กรการกุศล เซฟ เดอะ ชิลเดร้น (Safe the Children) ประจำฮ่องกง ตั้งแต่ปี ค.ศ.2015 และอยู่ในเอเชียมานานกว่าสองทศวรรษ

จึงไม่น่าแปลกใจที่นายดีซอมบรีมีทักษะด้านภาษาที่หลากหลาย โดยสามารถพูดภาษาจีนกลางได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งยังสื่อสารด้วยภาษาญี่ปุ่นและภาษาเกาหลีได้บ้าง

อดีตนักกฎหมายในการเจรจาธุรกิจผู้นี้กล่าวว่า จุดเน้นคือการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

“ผมคิดว่า การที่ผมมาจากภาคเอกชนนั้นเป็นโอกาสดี เพราะสามารถนำประสบการณ์ที่ได้จากภาคเอกชนมาใช้ในการเชื่อมต่อกับนักธุรกิจอเมริกัน นักธุรกิจไทย และรัฐบาล เพื่อปรับปรุงและเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศไทย”

“ดังนั้น การได้รับมอบหมายงานที่ทรงคุณค่านี้ ผมจึงรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูง เพราะได้มีโอกาสมาปฏิบัติหน้าที่เพื่อรับใช้ประเทศชาติ”

“ยิ่งไปกว่านั้น การแต่งตั้งครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับไทยนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการให้ความสำคัญกับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเป็นพิเศษในอันดับแรก”

ก่อนมาประจำประเทศไทย นายดีซอมบรีใช้เวลากว่าสองทศวรรษในการช่วยบริษัทสหรัฐ และชาติอื่นๆ ขยายการดำเนินงานและการลงทุนในเอเชียและที่อื่นๆ ทั่วโลก

รายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมปีที่ผ่านมา กล่าวถึงความเหมาะสมว่า นายไมเคิล ดีซอมบรี มีความสามารถในการเจรจาต่อรองกับประเทศจีนและประเทศในเอเชีย รวมถึงการที่เขารู้จักผู้คนมากมายในภูมิภาคนี้ และการมีทักษะด้านกฎหมาย ด้านการเงิน และด้านนโยบายระดับประเทศ จึงทำให้นายไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี มีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการเข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

ตอนหนึ่งจากคำกล่าวของนายดีซอมบรี ในพิธีสาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย มีว่า

พิธีสาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

“หนึ่งในหลักการสำคัญในการเจรจาต่อรองคือ ใช้ไม้แข็งกับเรื่องงาน แต่ใช้ไม้อ่อนกับเรื่องคน (Hard on the Issues but Soft on the People)”

ซึ่งหมายความว่า ในฐานะเอกอัครราชทูตประจำราชอาณาจักรไทย ท่านทูตจะมุ่งทำหน้าที่สร้างประโยชน์เพื่อประชาชนชาวอเมริกันด้วยความเข้มแข็งไปพร้อมๆ กับรักษาและส่งเสริมสัมพันธไมตรีที่สั่งสมมายาวนานกับรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย

ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกามีประวัติศาสตร์แห่งมิตรภาพที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ เริ่มจาก “Great and Good Friends” ที่เป็นคำขึ้นต้นในจดหมายซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐนายอับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) เขียนกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี ค.ศ.1862 (พ.ศ.2405) ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ที่พระองค์ได้พระราชทาน “ของขวัญอันล้ำค่า…ที่เป็นเครื่องแสดงพระราชไมตรีและมิตรภาพของพระองค์ต่อประชาชนอเมริกัน”

คำขึ้นต้นที่เรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยความหมายนี้ เป็นจุดเริ่มต้นมิตรภาพที่ยืนยาวมาจนถึงทุกวันนี้ ผ่านความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างสองชาติ

“ผมชื่นชอบเมืองไทยมาโดยตลอดเพราะเคยมาเยือนตั้งแต่ปี ค.ศ.1997 ดังนั้น คราวนี้จึงไม่ใช่ครั้งแรก หากแต่เป็นครั้งแรกของการมาประจำที่นี่ อันเป็นเรื่องราวที่น่ายินดีและน่าสนใจมาก เพราะไทยเป็นประเทศที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในอาเซียน (ASEAN) และอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific)”

จะเห็นได้ว่า อินโด-แปซิฟิก กลายเป็นยุทธศาสตร์หลักของประเทศมหาอำนาจ ทุกคนอยากเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่แห่งเดียว ที่ยังมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ภายใต้วิสัยทัศน์ “อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” (Free and Open Indo-Pacific : FOIP) ที่มั่นคงและยั่งยืน โดยแสวงหาความร่วมมือ มิใช่การควบคุมในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก วิสัยทัศน์นี้ตั้งอยู่บนเสาหลักสามประการ

เริ่มต้นจากความเจริญมั่งคั่ง สหรัฐจะเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับประเทศในภูมิภาค (deeply engaged) และสัมพันธ์กับภูมิภาคนี้ในทุกด้าน

เสาหลักที่สอง คือความมั่นคง ซึ่งเป็นรากฐานของความมั่งคั่ง สหรัฐจะยังคงร่วมมือกับประเทศที่มีหลักการคล้ายกัน เพื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามเร่งด่วนที่สุดของภูมิภาคนี้ นับจากการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ไปจนถึงคตินิยมสุดโต่งและการก่อการร้าย

และสุดท้าย สหรัฐจะสนับสนุนรัฐบาลที่โปร่งใสและตอบสนองต่อกฎหมาย ให้การคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงเสรีภาพทางศาสนา ให้อำนาจแก่พลเมือง ดูแลประชาคม ต่อสู้กับเรื่องทุจริต ปกป้องอำนาจอธิปไตย เป็นบ้านที่แข็งแรงสำหรับประชาชน และเป็นพันธมิตรที่ดีต่อสหรัฐอเมริกา

ส่วนในทางตรงข้าม ประเทศที่กดขี่ประชาชน ละเมิดอำนาจอธิปไตยของเพื่อนบ้าน เป็นเผด็จการและเป็นผู้รุกราน จะไม่มีพื้นที่ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

รายงานของกระทรวงกลาโหมที่เผยแพร่ในวันที่ 1 มิถุนายนปี ค.ศ.2019 ก็ได้นำเอาวิสัยทัศน์ Free and Open Indo-Pacific: FOIP นี้มาขยายต่อเป็นหลักการ 4 ข้อ ได้แก่ เคารพในอำนาจอธิปไตยและความเป็นอิสระของทุกประเทศ, การระงับข้อพิพาทอย่างสันติ, การค้าเสรี ยุติธรรมและต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน (Reciprocal) บนพื้นฐานของการลงทุนที่เปิดกว้าง ภายใต้ข้อตกลงที่โปร่งใส

และมีการเชื่อมโยง หลักการข้อสุดท้ายคือ ยึดมั่นในกฎและปทัฏฐาน (แบบแผนสำหรับยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ) ที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะประเด็นเสรีภาพในการเดินเรือและการบิน

ท่านทูตกล่าวถึงความสัมพันธ์กับอาเซียน (ASEAN) ว่า

“อาเซียนเป็นจุดศูนย์กลางที่สำคัญมากของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ดังนั้น สหรัฐจึงมุ่งเน้นที่จะทำงานร่วมกับอาเซียน”

“ประเทศไทยเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์เดียวของสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรายังเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่เก่าแก่กว่า 65 ปี และประเทศไทยก็มีบทบาทสำคัญในอาเซียน”

กองกำลังสหรัฐภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 100 ล้านตารางไมล์ (260 ล้านตารางกิโลเมตร) โดยเริ่มต้นจากชายฝั่งสหรัฐจนถึงฝั่งตะวันตกของประเทศอินเดีย และขั้วโลกเหนือ ถึงยังมหาสมุทรแอตแลนติก กองกำลังนี้มีศูนย์ปฏิบัติการใหญ่อยู่ที่ค่ายสมิธ (Camp H. M. Smith) มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา

อาเซียนมีส่วนเกี่ยวข้องกับกองกำลังสหรัฐภาคพื้นอินโด-แปซิฟิกอย่างมากและอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอาเซียนตั้งอยู่ระหว่างสองมหาสมุทรได้รับผลกระทบโดยตรง และต้องเผชิญกับภูมิภาคที่มีบริเวณกว้างใหญ่ ซึ่งขยายไปถึงแอฟริกาตะวันออก อันจะนำไปสู่ความร่วมมือทางทะเลที่เข้มข้น

ท่านทูตกล่าวว่า การทำหน้าที่ทูตสหรัฐประจำประเทศไทย มีแนวทางในการดำเนินนโยบายในด้านเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์และส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐ รวมทั้งการส่งเสริมธรรมาภิบาลและความโปร่งใส

สำหรับแผนงานสำคัญของสถานทูตสหรัฐต่อจากนี้ ท่านทูตชี้แจงว่า

“โชคไม่ดีที่เรายังไม่มีกิจกรรมใดๆ เพราะเกิดการระบาดของ Covid-19 กิจกรรมเดียวที่เรามีในตอนนี้คือ วันชาติ 4 กรกฎาคม (Fourth of July) ซึ่งปกติงานเฉลิมฉลองวันชาติของเราจัดเป็นประจำทุกปีที่โรงแรมในกรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก แต่เมื่อพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงดำเนินต่อไป การจัดงานเฉลิมฉลองวันชาติสหรัฐปีนี้จึงเป็นเพียงงานกลุ่มเล็กที่ทำเนียบทูต ถนนวิทยุ โดยเราหวังว่าจะมีโอกาสได้ต้อนรับบุคคลสำคัญตลอดจนเพื่อนสนิทมิตรสหายในเครือข่ายของเราในโอกาสต่อไป เมื่อสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ”

สำหรับก้าวแรกของสหรัฐอเมริกา ในฐานะประเทศที่เป็นอิสระจากอาณานิคมอังกฤษ ผ่านคำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา (Declaration of Independence) ในวันที่ 4 กรกฎาคม คริสต์ศักราช 1776 เริ่มมีงานเลี้ยงเฉลิมฉลองที่ประชาชนจัดขึ้นกันเองโดยมิได้วางแผนหรือนัดหมายกันมาก่อนเป็นครั้งแรก ในวันครบรอบของปีถัดมา ในเมืองฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) หรือที่เรียกกันว่า Philly หรือ The City of Brotherly Love เมืองหลวงแห่งแรกของอเมริกาและเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) ซึ่งคนอเมริกันเฉลิมฉลองวันสำคัญนี้ด้วยการปิกนิก บาร์บีคิว ดอกไม้ไฟ และขบวนพาเหรด

“แต่เราอาจจะจัดงานใหญ่ที่นี่ในช่วงของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เดือนพฤศจิกายนนี้ โดยหวังว่า Covid-19 จะยุติการแพร่ระบาดแล้ว”

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ปีนี้กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน และจะเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งที่ 59 ซึ่งจัดทุกสี่ปี

อย่างไรก็ตาม ท่านทูตเปิดเผยว่า

“ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของ Covid-19 ผมคิดไว้ว่าอยากจะจัดงานที่เน้นด้านเศรษฐกิจ โดยอาจร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อช่วยกระตุ้นให้บริษัทอเมริกันมีความสนใจที่จะลงทุนในประเทศไทย และการจัดงานเกี่ยวกับการส่งเสริมบริษัทไทยสู่ตลาดโลกและลงทุนในสหรัฐ”

“ตอนนี้ธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และผมคิดว่าประเทศไทยก็เช่นเดียวกับอีกหลายๆ ประเทศที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวและพยายามนำกลับไปสู่จุดเดิมโดยหวังจะให้เติบโตต่อไป ถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกของรัฐบาลไทย และเนื่องจากสหรัฐเป็นหุ้นส่วนกับรัฐบาลไทย การช่วยให้เข้าใจถึงวิธีการที่ดีที่สุดที่จะนำเศรษฐกิจกลับคืนสู่ที่ที่เคยเป็นมาเพื่อให้เติบโตต่อไป คือหนึ่งในลำดับความสำคัญสูงสุดของผม”

“ดังที่แคลวิน คูลิดจ์ (Calvin Coolidge) ประธานาธิบดีคนที่ 30 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวว่า ภารกิจของอเมริกาคือ ธุรกิจ! (The business of America is business!)”