มุกดา สุวรรณชาติ : ทำไม…ย้ายเลขาธิการ สมช.กันจัง ขุดเรื่องเก่ามาทำไม

มุกดา สุวรรณชาติ

ข่าวที่ไม่คิดว่าจะมีในวันนี้ คือ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจโอนถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โดยมิชอบ พร้อมส่งหลักฐานให้อัยการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เรื่องนี้ที่จริงควรจะเงียบไปนานแล้ว และศาลก็ได้ตัดสินไปแล้ว ปัจจุบันนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็อยู่ในสภาพของการลี้ภัยข่าวการเมือง

เมื่อเรื่องถูกคุ้ยขึ้นมาอีก ก็ต้องวิจารณ์อีก

เด็กรุ่นใหม่บางคนโตไม่ทันข่าวนี้เพราะการย้ายคุณถวิล เปลี่ยนศรี เกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2554 มันไม่ใช่เรื่องที่มีการเซ็นคำสั่งย้ายในวันอาทิตย์หรือเป็นการย้ายแบบลุกลี้ลุกลน

แต่เป็นการตั้งใจย้ายแบบเร่งด่วนที่สุดเพราะไม่ไว้ใจกลัวโดนเล่นงานแบบรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร

ซึ่งเหตุผลก็คงไม่น่ามีอะไรมากกว่าความจำเป็นเพื่อความปลอดภัย เพื่อความมั่นคงของรัฐบาล ที่ไม่ยอมให้ฝ่ายตรงข้ามมานั่งในตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงฯ ได้

3 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยได้ผู้แทนราษฎร 265 ที่นั่ง นับเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ไทยที่พรรคการเมืองพรรคเดียวครองเสียงข้างมากในสภา จากนั้น ยิ่งลักษณ์ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2554 ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2556 และรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากการรักษาการในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2557 เนื่องจากการย้ายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

แต่ทำไมจึงเสนอให้เป็นเรื่องเป็นราวกันอีก มีบางคนคิดว่านี่เป็นการกวนน้ำให้ขุ่น ไม่รู้ว่าน้ำขุ่นแล้วจะได้ประโยชน์อะไร

 

สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

ปัจจุบันสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีอายุ 110 ปี ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 แต่ใช้ชื่อว่าสภาป้องกันพระราชอาณาจักร และมาเปลี่ยนเป็นสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในปี 2502 มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแก่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์เกี่ยวกับความมั่นคง ส่วนการบริหารงานเป็นรูปแบบคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย

นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นรองประธาน

รมว.กลาโหม รมว.การต่างประเทศ รมว.การคลัง รมว.มหาดไทย รมว.คมนาคม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการ

ในทางปฏิบัติ ฝ่ายการเมืองที่จะมาดูแลงานนี้คือรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง การปฏิบัติจริงเป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการ

หลังรัฐประหาร 2557 ในเดือนกันยายน 2559 ได้เพิ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาเป็นสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ดังนั้น สมช.ควรจะเป็นเครื่องมือในการป้องกันประเทศและรัฐบาล เป็นทั้งโล่และหอก แต่สภาพความเป็นจริงทางการเมือง บางครั้งก็เป็นหอกข้างแคร่ที่ตกไปอยู่ในมือคนอื่น หรือบางทีก็ไร้ประโยชน์

ยุค พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา ซึ่งมาดำรงตำแหน่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ช่วงนั้นมีการปราบขบวนการนักศึกษาอย่างหนัก จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็เกิดการรัฐประหารรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช แต่ สมช.ไม่ได้ช่วยอะไรรัฐบาล รมต.บางคนยังไม่ได้ทำงานเลย เพราะวันที่ 5 ตุลาคม นายกฯ เสนีย์เพิ่งปรับ ครม.เพียงวันเดียวก็ถูกรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินขึ้นมาเป็นรัฐบาล

แต่ สมช.ก็ยังคงอยู่ และเลขาฯ สมช.ก็ยังเป็นคนเดิม ทำงานให้รัฐบาลเผด็จการต่อไปอีกหลายปี

 

ตำแหน่งเลขาฯ สมช.
ต้องได้รับความไว้วางใจจากนายกรัฐมนตรี
ต้องไม่เป็นหอกข้างแคร่

ถ้ามองย้อนหลังไปในรัฐบาลทุกยุคก็จะพบว่า สภาความมั่นคงฯ ที่มีนายกฯ เป็นประธานและบริหารงานในรูปคณะกรรมการมักจะตั้งเลขาธิการมาจากคนซึ่งนายกรัฐมนตรีไว้ใจ เมื่อเปลี่ยนนายกฯ ก็มักจะเปลี่ยนเลขาธิการ สมช.

ยุค น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ได้ตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ในปี 2523 เป็นผู้ดูแลความมั่นคงให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ เลขาฯ สมช.ทำงานเข้ากับนายกฯ ที่มาจากทหารได้ดี ฝีมือการทำงานของคุณประสงค์เป็นที่เลื่องลือ ได้ฉายาว่าเป็น CIA เมืองไทย มีทหารบางกลุ่มพยายามรัฐประหาร พล.อ.เปรมหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ เขาลาออกมารับตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีให้ พล.อ.เปรมในปี 2529

หลังรัฐประหาร 2549 ในปี 2550 เมื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ ก็ตั้ง พล.ท.ศิรพงศ์ บุญพัฒน์ ขึ้นเป็นเลขาธิการ สมช.

ในปี 2551 เมื่อนายสมัคร สุนทรเวช ขึ้นเป็นนายกฯ การเมืองเปลี่ยนขั้ว มีการโยกย้ายและตั้ง พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา ขึ้นเป็นเลขาธิการ สมช.แทน

ในปี 2552 หลังจากมีการตุลาการภิวัฒน์ สลับขั้วรัฐบาลและจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารสำเร็จ นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เปลี่ยนเลขาฯ สมช. เป็นนายถวิล เปลี่ยนศรี

การไว้วางใจและทำงานเข้าขาของหัวหน้ารัฐบาล กับเลขาฯ สมช. จึงเป็นเรื่องจำเป็น และเป็นอย่างนี้ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจหรือประเทศเล็ก

นายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นเลขาฯ สมช.ที่เติบโตมาด้วยการสนับสนุนของ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล หลังการรัฐประหารกันยายน 2549 ก็ได้รับตำแหน่งเป็นรองเลขาฯ ของ สมช. และเมื่อประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นรัฐบาล ก็ได้ย้าย พล.ท.สุรพลออกไปเพราะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ประชาธิปัตย์ไว้ใจถวิลมากกว่า ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ

คนที่เข้าใจธรรมเนียมแห่งอำนาจของ สมช.ดีที่สุดคือคุณถวิลเพราะได้เข้าทำงานมาตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับ 3 ได้เห็นการรัฐประหารรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ได้ศึกษาการทำงานของคุณประสงค์ เรียนรู้งานจนมาถึงการรัฐประหารนายกฯ ทักษิณ ก็ได้เป็นรองเลขาธิการและเป็นเลขาธิการในยุคนายกฯ อภิสิทธิ์

 

ทำไมต้องรีบย้ายเลขาธิการ สมช.

1.สรุปบทเรียนสมัยนายกฯ ทักษิณ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เข้ามารับตำแหน่งเลขาฯ สมช.ในปี 2545 และอยู่ในตำแหน่งจนถึงปี 2549 วันที่เกิดการรัฐประหาร ก็ยังเป็นเลขาฯ สมช. การรัฐประหารครั้งนั้น สมช.ไม่ได้มีบทบาทช่วยนายกฯ ทักษิณเลยแม้แต่น้อย ในที่สุดความจริงก็ปรากฏว่า พล.อ.วินัยมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการของคณะรัฐประหาร แม้แต่ชื่อ คณะรัฐประหาร (คปค.) ก็เป็นคนตั้ง งานนี้ต้องถือว่ารัฐบาลโดนหอกข้างแคร่แทงทะลุหลัง

2. สถานการณ์ช่วงนั้น รัฐบาลต้องย้ายคนที่เป็นคู่ปรับทางการเมือง เพราะในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เพราะถวิล เปลี่ยนศรี ก็นั่งอยู่ในตำแหน่งกรรมการ และเลขาฯ ของ ศอฉ. ซึ่งรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้อำนวยการ ได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดและควรร่วมรับผิดชอบในกรณีที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน

เมื่อฝ่ายที่ถูกทำรัฐประหารในปี 2549 และถูกปราบในปี 2553 แต่กลับมาชนะเลือกตั้งในปี 2554 จะเอาศัตรูทางการเมืองมานั่งอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงฯ ก็เป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติ ฝืนความรู้สึกประชาชน

3. เพื่อให้การทำงานแบบคณะกรรมการของสภาความมั่นคงฯ เดินไปได้ เพราะถ้าประธาน สมช.คือนายกรัฐมนตรี เป็นศัตรูทางการเมืองกับเลขาฯ สมช.จะทำงานกันได้อย่างไร

การที่นายกฯ ถูกฟ้องและต้องถูกล้มด้วยข้อหาย้ายเลขาฯ สมช. จึงเป็นเรื่องตลกมาก ที่รัฐบาลมีความผิดเพราะไม่ยอมเอาศัตรูทางการเมืองมานั่งอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงฯ

 

ไม่ย้าย…รัฐบาลรู้สึกอันตราย
แต่ย้าย…โดนฟ้อง

วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2554 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้ถวิลไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2557 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ แก่ถวิล เปลี่ยนศรี ภายใน 45 วัน ตอนนั้นม็อบ กปปส.กำลังแรง ปิดกรุงเทพฯ ไปแล้ว ล้อมหน่วยเลือกตั้ง จนโมฆะ แต่รัฐบาลดึงต่อไม่ได้ ต้องคืนตำแหน่งให้เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2557

การที่รัฐบาลแต่งตั้งถวิลกลับมาเป็นเลขาฯ สมช. เท่ากับตั้งคนที่ไปขึ้นเวทีขับไล่รัฐบาล และสนับสนุน กปปส.ที่ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล มาเป็นหอกข้างแคร่อีกครั้ง

19 มีนาคม 2557 นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ขึ้นมาคุมสถานการณ์

แม้ถวิล เปลี่ยนศรี ได้กลับเข้าดำรงตำแหน่งเลขาฯ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2557 แต่เมื่อไม่ไว้ใจ ก็ต้องกันออกไป ซึ่งโดยปกติ ถวิล เปลี่ยนศรี ต้องเป็นกรรมการในศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย แต่สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ประธานที่ปรึกษา ศอ.รส. ไม่ยอมให้เขาเป็นกรรมการในศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย

4 เมษายน 2557 กปปส.รู้ว่าจะใช้ตุลาการภิวัฒน์จัดการนายกฯ รักษาการเร็วๆ นี้ สุเทพประกาศบนเวทีว่า กปปส.จะเป็นผู้มีอำนาจที่สุด และจะประกาศความเป็น รัฏฐาธิปัตย์ได้อย่างเหมาะสม และคำสั่งของคนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ก็จะถือเป็นกฎหมาย…

…เราจะออกคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เป็นของประชาชน จากนั้นจะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ได้รัฐบาลของประชาชน โดยตนจะเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง พร้อมยกตัวอย่างอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังรัฐประหาร

7 พฤษภาคม 2557 สิ่งที่คาดไว้เกิดขึ้นจริง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์พ้นจากการรักษาการ เนื่องจากการย้ายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาฯ สมช. แต่ในช่วงบ่าย ที่ประชุม ครม.ได้มีมติให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี

14 พฤษภาคม 2557 นายสุเทพ เลขาธิการ กปปส. กล่าวปราศรัยบนเวทีชุมนุมถนนราชดำเนินนอก ถ้า 16 พฤษภาคม ประธานวุฒิสภาหาตัวนายกฯ คนกลางไม่ได้ วันที่ 19 พฤษภาคม เรียกข้าราชการมารายงานตัวต่อประชาชนที่ตึกสันติไมตรี…แต่ไม่มีใครมารายงานตัว

22 พฤษภาคม 2557 เป็นจริงดังที่คาด เกิดการยึดอำนาจจากรัฐบาล แต่ถวิลยังเป็นเลขาฯ สมช.ไปตามปกติถึง 30 กันยายน 2557 ตามอายุ

เวลาผ่านไป 6 ปีจนแทบจะลืมเรื่องนี้ไปแล้ว ทำไมจึงมีคนยกขึ้นมา

มีผู้วิจารณ์ว่า ขณะนี้ทางค่ายทักษิณลดบทบาทลงไปเยอะ มีอนาคตใหม่ออกหน้า แต่ความนิยมต่อกลุ่มอำนาจเก่าทุกกลุ่มสั่นคลอน ทั้งยังทะเลาะกัน แย่งอำนาจ ไร้ผลงาน ชาวบ้านเดือดร้อน จึงจะต้องสร้างกระแสความน่ากลัวของศัตรูร่วมขึ้นมาอีก ซึ่งคงจะมีฝ่ายประชาธิปไตยถูกขุดขึ้นมาสร้างภาพหลอนอีกหลายคน

แต่ถึงอย่างไรแผ่นดินไหวจากเศรษฐกิจตกต่ำก็ยังแรงที่สุด และจะกลายเป็น…สึนามิทางการเมือง ในอีกไม่นานนี้