คำ ผกา | อำนาจนิยมในโรงเรียนมีไว้ให้ใคร?

คำ ผกา

มีข่าวอยู่สองสามข่าวที่ฉันอ่านแล้วคิดว่า ปัญหา “สังคม” ของประเทศไทยนั้นช่างซับซ้อน

ข่าวที่ว่าคือ ข่าวแม่ตกงานต้องไปขโมยชุดนักเรียนให้ลูกใส่ไปโรงเรียน

ข่าวผู้ปกครองซักชุดนักเรียนตากเอาไว้ แล้วหายไปในคืนวันก่อนเปิดเทอม สันนิษฐานว่า คงมีพ่อ-แม่ที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจ จนปัญญาจะหาชุดนักเรียนให้ลูกหลานตัวเองใส่ไปโรงเรียนได้

อีกข่าวหนึ่ง (หรือหลายข่าว) เป็นเรื่องของการออกมาเรียกร้องของทั้งนักเรียน และคนไทยฝ่าย “ก้าวหน้า” ที่เห็นว่า ไม่ควรมีทั้งการบังคับแต่งเครื่องแบบ ทรงผม แม้กระทรวงศึกษาธิการออกกฎกระทรวงออกมาใหม่แล้วว่าไม่มีข้อบังคับเกี่ยวกับทรงผมนักเรียน แต่ก็แอบหมกเม็ดด้วยการบอกว่า เป็นดุลพินิจของผู้อำนวยการโรงเรียน ที่จะออกกฎเกี่ยวกับทรงผมอย่างไรก็ได้

การหมกเม็ดเช่นนี้ ก็ทำให้กฎกระทรวงนี้ไร้ความหมาย

เพราะท้ายที่สุด ผู้อำนวยการโรงเรียนส่วนใหญ่ก็ “จอย” กับการได้ควบคุมเสื้อผ้าหน้าผมของเด็กนักเรียนในนามของความเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่ดี

และดูเหมือนว่าผู้อำนวยการโรงเรียนส่วนใหญ่ยังมองว่า หากโรงเรียนตัวเองมีนักเรียนหญิง-ชายที่ดูภายนอกแล้วมีระเบียบเป๊ะ ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม แปลว่าตัวเอง “ประสบความสำเร็จ” ในการทำหน้าที่ของผู้อำนวยการโรงเรียน

เพราะผู้บริหารโรงเรียนส่วนหนึ่งอาจคิดว่าตัวเองมีหน้าที่จับเด็กเข้าคอก และปรับพฤติกรรมให้ว่าง่ายอยู่ในโอวาท

และสิ่งนี้ถูกเข้าใจว่าเป็นความหมายของคำว่า “การศึกษา”


ในระหว่างการอ่านข่าวสอง-สามข่าว ที่สร้างความอึดอัดใจแก่ฉันอย่างบอกไม่ถูก ก็มีเรื่องที่ไม่เป็นข่าวแต่ถูกบอกเล่าให้ฟังผ่านเพื่อนฝูงว่า ลูกสาวของตนที่เรียนอยู่ในโรงเรียนชั้นนำของจังหวัด กระทำการอารยะขัดขืนด้วยการไม่ยอมตัดผม ไว้ผมยาวอย่างเรียบร้อยไปโรงเรียน

และแม้แม่จะสนับสนุนลูกสาวอย่างมาก แต่ก็เป็นห่วงว่าลูกจะเจอความกดดันอะไรหรือไม่

แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ ลูกสามารถจัดการกับสถานการณ์ได้อย่างดี ละมุนละม่อมอ่อนโยน และไม่ถูกทำโทษแต่อย่างใด

ด้านหนึ่ง ฉันก็ต้องแสดงความเคารพ ชื่นชมในความกล้าหาญของเด็กและความ “ก้าวหน้า” ของผู้ปกครอง (แน่นอนว่าพวกเขาคือชนชั้นกลาง มีการศึกษา และมี “ความรู้” และมีความไม่เดือดร้อนทางเศรษฐกิจ มากพอที่จะสั่งสอน อบรม ปลูกฝังให้ลูกรู้จักสิ่งที่เรียกว่า สิทธิและเสรีภาพ) ที่กล้าทำการอารยะขัดขืนต่อกฎ ระเบียบ อำนาจนิยมของโรงเรียนได้

แต่คำถามของฉันคือ

อารยะขัดขืนนี้นำไปสู่การเปลี่ยนกฎว่าด้วยระเบียบทรงผมของโรงเรียนทั้งหมดหรือไม่?

หรือสุดท้ายก็เป็นแค่เรื่องครู และโรงเรียนก็ไม่อยากมี “ประเด็น” กับนักเรียน และผู้ปกครอง “หัวหมอ” เพราะไม่อย่างนั้น หากถูกนำไปเป็น “ข่าว” ในโลกโซเชียล

โรงเรียนต้องมาดีลกับปัญหาที่ complicates โดยไม่จำเป็น

สู้หยวนๆ โรงเรียนก็ได้ใจจากผู้ปกครองว่า ใจกว้าง

ผู้ปกครองก็ฟินว่า ลูกเป็นนักต่อสู้ที่อ่อนโยน ล้ำค่า

สุดท้าย นักต่อสู้ผู้อ่อนโยนคนนั้นก็อาจจะบอกว่า เอาล่ะ ชนะแล้ว เดี๋ยวจะตัดผมตามระเบียบแล้ว ถือว่านี่คือการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ หรือไม่ก็ลงเอยด้วยการพิสูจน์ว่า แม้จะไว้ผมผิดระเบียบ แต่ก็เรื่องอื่นๆ หนู conform หมดนะ ทั้งเรียนดี เรียนเก่ง มารยาทงาม วาจาอ่อนหวาน ไพเราะ

สามารถสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนได้อีก

ย้อนกลับไปที่ข่าวแม่ตกงาน ไปขโมยชุดนักเรียนให้ลูกใส่ไปโรงเรียน ความสะเทือนใจของฉันคือ ความเหลื่อมล้ำที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย ทำไมมันถึงลึกขนาดนี้

สิ่งที่เราเรียกว่า “อำนาจนิยม” นั้น ท้ายที่สุด มันก็ยังมีความเหลื่อมล้ำของภาวะ “อำนาจนิยม” เพราะสุดท้าย คนที่ถูกทำร้ายและทำลายจากอุดมการณ์อำนาจนิยมมากที่สุดคือ คนจน คือคนที่อ่อนแออยู่แล้วทั้งทางเศรษฐกิจ

เมื่ออ่อนแอทางเศรษฐกิจ ชีวิตจึงไม่มีทางเลือกมากนัก ไม่มีเงินซื้อชุดนักเรียนให้ลูกใส่ จะไปบอกลูกว่า

“ไปโรงเรียนเถอะลูก ไม่ต้องใส่หรอกชุดนักเรียนน่ะ ไปบอกครูว่า เสื้อผ้าหน้าผมเป็นสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของลูก แล้วบอกครูว่าตอนนี้แม่ตกงาน ยังไม่มีเงินซื้อชุดนักเรียน ไม่มีเงินพาไปตัดผม จะหาข้าวกินให้ครบมื้อครบวันยังยาก ไปเลย ไปโรงเรียน แล้วไปคุยกับครูอย่างอ่อนโยนแบบนี้นะลูก”

ลองจินตนาการกันเถอะว่า ถ้าเราเป็นผู้อ่อนแอและเป็นผู้ถูกกระทำทางเศรษฐกิจมายาวนานจนกลายเป็นคนที่ไม่มีแม้แต่เงินจะซื้อชุดนักเรียนให้ลูก ด้วยสภาวะเช่นนี้ มันจะพาเราสู่ความเข้มแข็งจนกระทั่งสามารถมีอำนาจในการต่อรองทาง “การเมือง” กับคนที่อำนาจ “เหนือ” กว่าเรา เช่น สถาบัน “โรงเรียน” และบุคคลที่เราเรียกว่า “ครู” หรือไม่?

ฉันอาจจะผิด หรือไม่รอบคอบ แต่ก็อยากจะเขียนออกไปอยู่ดีว่า ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจนำมาซึ่งความอ่อนแอทางการเมือง

ทีนี้ลองมาดูว่า โรงเรียนในเมืองไทยมีกี่ประเภท และโรงเรียนในเมืองไทยเป็นโรงเรียนที่บ้าอำนาจ เผด็จการ และมีความอำนาจนิยมสูงส่งทั้งหมดจริงหรือ?

นั่งลงคิดให้ดี จะพบว่า ในเมืองไทยมีโรงเรียนที่ก้าวหน้าไม่น้อยหน้าโรงเรียนที่ว่าดีๆ ในประเทศโลกที่ 1 เลย

ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนนานาชาติ หลายสัญชาติเหลือเกิน

และฉันคิดว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีธุรกิจโรงเรียนนานาชาติเฟื่องฟู และเป็นธุรกิจในแนวเดียวกับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนแพงๆ ที่มีไว้รองรับผู้มั่งคั่งในประเทศไทย ผู้มั่งคั่งจากประเทศเพื่อนบ้าน (ที่ประชาชนส่วนใหญ่ยากจน)

รวมไปถึงผู้มั่งคั่งจากประเทศที่ไม่อาจเสาะหาการศึกษาหรือสาธารณสุขระดับพรีเมียมขนาดนี้ในประเทศของตนเองได้

และสุดท้ายมีไว้รองรับประชากรกลุ่มที่เราเรียกว่าเป็น expat ทั้งหลาย

ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติไม่เพียงแต่สะท้อนความเหลื่อมล้ำ แต่สะท้อนภาวะ “อาณานิคม” ในประเทศที่อุตสาหกรรมโรงเรียนนานาชาติเฟื่องฟูอย่างที่สุด

ลองหลับตาแล้วนึกดูว่าประเทศอย่างฟินแลนด์ที่เราบอกว่าระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก มีโรงเรียน “นานาชาติ” หรือไม่?

อย่างเลวที่สุด ประเทศที่ค้าขายกับอุตสาหกรรมการศึกษาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน อย่างอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ที่รับนักเรียนจากทั่วโลกไปเรียนระดับมัธยม บางโรงเรียนในประเทศเหล่านั้น แทบจะไม่มีนักเรียน “ผิวขาว” มีแต่นักเรียนจากเอเชีย จีน แอฟริกา ฯลฯ

เขาก็ไม่เรียกโรงเรียนของเขาว่าเป็นโรงเรียน “อินเตอร์” ใช่หรือไม่?

ทีนี้การที่คนมั่งคั่งร่ำรวยหรือคนชั้นกลางที่พอมีอันจะกินได้เลือกให้ลูกหลานเรียนโรงเรียนนานาชาติ พวกเขาต้องการอะไร?

ต้องการให้ลูกเก่งภาษา?

ต้องการให้ลูกมีคอนเน็กชั่นกับคนในชนชั้นเดียวกันหรือสูงกว่า?

ก็ถูกอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ในขณะที่เราคิดว่าคนไทยบ้าเครื่องแบบ บ้าระเบียบวินัย ชอบกดขี่เด็กให้อยู่ในโอวาทแบบเชื่องๆ เหมือนสัตว์เลี้ยงในกรง

โรงเรียนนานาชาติเป็นทุกอย่างที่อยู่ตรงกันข้าม

โรงเรียนนานาชาติไม่ต้องใส่เครื่องแบบเหมือนนักเรียนไทยที่พอใส่ปุ๊บ เหมือนจับคนพื้นเมืองมาใส่ชุดข้าราชการอาณานิคม

โรงเรียนนานาชาติไม่ต้องตัดผมเกรียน ไม่ต้องตัดผมติ่งหู โรงเรียนนานาชาติ (ยกเว้นวิชาภาษาไทย) สอนให้เด็กมี critical thinking มากกว่าโรงเรียนไทย สอนให้เด็กกล้าคิด กล้าถาม กล้าเถียง

พูดโดยรวม ผู้ปกครองรู้ ทุกคนรู้ แฟนคลับรู้ว่า โรงเรียนนานาชาติมีความ “อำนาจนิยม” น้อยกว่าโรงเรียนไทย

ความขำขื่นของเรื่องนี้คือ “ผู้มีอันจะกิน” รวมถึง “ชนชั้นนำ” ไทยที่กดคนอื่นภายใต้อุดมการณ์ “อำนาจนิยม” ก็ไม่ได้อยากให้ลูกหลานตัวเองมีชีวิตที่ถูก “กด” ความเป็นมนุษย์ลงภายใต้ระบอบอำนาจนิยมนั้น

จึงส่งลูกหลานของตนเรียนโรงเรียนนานาชาติ

แต่ขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้ก็ไม่อยากให้ระบอบอำนาจนิยมหมดไปจากประเทศนี้ เพราะเมื่อไหร่ที่มันหมดไปตัวเองจะ “ทำมาหากิน” ยากขึ้น ถ้าอำนาจนิยมหมดไป ประชาธิปไตยบังเกิด เศรษฐกิจดี “ผู้มีอันจะกิน” จะหาข้าทาสบริวารจากไหนมาให้กดขี่เป็นแรงงานราคาถูก

หรือแค่คิดว่า ถ้าคนครึ่งประเทศได้รับโอกาสเท่ากับตน ต่อไปนี้จะทำมาค้าขายก็คงมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น หรืออย่างเลว ตัวเองก็จะไม่ใช่กลุ่มคนอันมลังเมลืองท่ามกลางความมอซอของคนอื่นอีกต่อไป

ท้ายที่สุดแม้แต่ความ “ก้าวหน้า” และ “เท่าทันโลก”

รวมไปถึงจิตสำนึกอย่างสากลก็กลายเป็นทรัพย์สงวนสำหรับลูกหลานชนชั้นนำที่ชนชั้นนำก็ไม่อยากให้แบ่งกับใคร

ไม่เพียงแต่โรงเรียนนานาชาติ เรายังมีโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ว่ากันว่า บางโรงเรียนก็ก้าวหน้ามาก ไม่บังคับทั้งเครื่องแบบ ทรงผม

บางโรงเรียนก็ทำหน้าที่เหมือนโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของรัฐอาณานิคม ปลูกฝังค่านิยม อุดมการณ์ โลกทัศน์ เพื่อเตรียมเด็กไปเป็นข้าราชการที่ดี หรือผู้รับใช้ที่ดีของรัฐอำนาจนิยมสืบไป แต่ที่แน่ๆ มันคือโรงเรียนของอีลีต

ยังไม่พอ ประเทศไทยยังมี “โรงเรียนทางเลือก” สารพัดแบบ ทั้งแนวพุทธ ธรรมะ พอเพียง สายกรีน สิ่งแวดล้อม สายเน้นอิสรภาพแห่งการเรียนรู้ ปฏิเสธการเรียน เน้นการเล่น ส่งเสริมสติปัญญา ทัศนวิสัย อิ่มเอิบเบิกบาน ฯลฯ

ถามว่า แล้วใครส่งลูกไปเรียนโรงเรียนทางเลือก

อ๋อ ก็พวกที่ไม่อยากให้ลูกไปทุกข์ทรมานกับระบอบ “อำนาจนิยม” ในโรงเรียนไง?

แล้วถามว่า แล้วใครคือผู้ที่มีกำลังความสามารถที่ “เลือก” ให้ลูกไม่ต้องอยู่กับระบบอำนาจนิยมในโรงเรียนได้?

อ๋อ ก็คนที่มีทางเลือกในชีวิตไง ฮ่าฮ่าฮ่า

นอกจากโรงเรียน “ทางเลือก” เรายังมีโรงเรียน “พิเศษ” ที่เปิดมาเพื่อรับเด็ก “อัจฉริยะ” เด็กความสามารถพิเศษอีกหลายโมเดลมาก และบางโรงเรียนเหล่านี้ คุณภาพดีกว่าโรงเรียนในโลกที่หนึ่งเสียด้วยซ้ำ ทั้งในแง่คุณภาพการศึกษา ทั้งในแง่ของการบ่มเพาะความกล้าหาญ กล้าคิด กล้าทำ

ปั้นเด็กไทยให้ไปยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนในโลกที่ 1 ได้พูดจาเป็นมนุษย์เหมือนคนอื่น

แต่โรงเรียนเหล่านี้ก็เป็นโรงเรียนของลูกหลานอีลีตอีกกระหยิบมือหนึ่ง

ฉันไม่โทษผู้ปกครองที่ส่งลูกไปเรียนยังโรงเรียนเหล่านั้น เพราะถ้าฉันมีลูก ฉันก็ขวนขวายให้ลูกเรียนอินเตอร์ หรือเรียนโรงเรียนทางเลือกเหมือนกัน

สะสางกันออกมาจะเห็นว่า ในประเทศไทยมีระบบโรงเรียนอยู่ประมาณ 3 ระบบใหญ่ๆ คือ

หนึ่ง โรงเรียนสำหรับคน “จน” ชาวพื้นเมืองที่รู้สึกว่า แค่ได้โรงเรียนอันมีอาหารกลางวันฟรีให้ลูกกินก็ดีพอแล้ว จะไปเรียกร้องเรื่องเสรีภาพ เสื้อผ้า ทรงผมอะไรอีก เขาช่วยสั่งสอนลูกให้เราก็บุญแล้ว

สอง โรงเรียนรัฐบาลเทียร์ หนึ่ง มีระบบอำนาจนิยมในโรงเรียนเคร่งครัด สำหรับผู้ปกครองที่ต้องการปั้นลูกหลานตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำใน “ระบบ” แบบไทยๆ (จบแล้วเข้ามหาวิทยาลัยเทียร์หนึ่งของไทย แล้วไต่เต้าให้ได้ตำแหน่งสูงสุดเท่าที่จะทำได้ในระบบราชการ)

สาม โรงเรียนอินเตอร์ สาธิต โรงเรียนทางเลือก สำหรับชนชั้นนำและผู้มีอันจะกิน ผู้มีทางเลือก ที่ต้องการปั้นลูกไปเป็น “เจ้านาย” หรือไป “บริหาร” คนที่มาจากโรงเรียนกลุ่มที่สองอีกที หรือกลุ่มคนที่ต้องการให้ลูกไปเป็นพลเมืองโลก ไม่ต้องจมปลักอยู่ในเมืองไทย หรือคนที่ต้องการปั้นลูกไปเป็นชนชั้นนำ ฮิปๆ เก๋ๆ กลายป็น “ปัญญาชน” หรือ “ศิลปิน” ที่เก๋จัดๆ อินเตอร์จัดๆ โดดเด่นอยู่ท่ามกลางคนพื้นเมืองผู้โง่เขลา และตื้นเขิน

มันควรต้องเศร้าแค่ไหน ที่เราต้องมาจำนนกับข้อเท็จจริงที่ว่า สังคมที่เราอยู่นี้ แม้แต่ความเป็น “อินเตอร์”, “สากล” และสิ่งที่เรียกว่า คุณค่าแห่งความเป็นเสรีชน ก็ยังเป็นทรัพย์สงวนและเป็นขุมปัญญาอันเป็นสมบัติเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นอภิสิทธิ์ชนเท่านั้น

และมันก็น่าเศร้ามากที่กลุ่มคนที่หล่อเลี้ยงระบอบอำนาจนิยมในสังคมนี้ก็ล้วนแล้วแต่ส่งลูกไปศึกษาหาความรู้ในดินแดนที่ปลอดภัยจาก “ภัยอำนาจนิยม” ทั้งสิ้น

นี่ไม่ใช่แค่ความเหลื่อมล้ำ

แต่คือภาวะอาณานิคมที่เปรียบเสมือนม่านหมอกที่ห่อหุ้มสังคมไทยมายาวนาน

โดยที่เราไม่เคยคิดว่าม่านหมอกนั้นคือปัญหา แต่ไพล่ไปเห็นว่ามันโรแมนติก