จรัญ พงษ์จีน : มองเห็นอะไรใน “ประชาธิปัตย์” จากโพลความนิยม

จรัญ พงษ์จีน

ใครเป็นแฟนคลับ-กองเชียร์ “พรรคประชาธิปัตย์” คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ชั่วโมงนี้ พรรคขวัญใจตกที่นั่ง “โคตรเหนื่อย” กับ “เหนื่อยโคตร” กระแสนิยมด่ำดิ่ง ชนิด “ตกเหว” ภาษาวัยรุ่นเรียกว่า “สลัมบอมเบย์” หมายถึงต่ำสุด ถอดมาเป็นคำพูด บรรยายสรรพคุณไม่ถูก

ล่าสุด “สะท้อนผ่าน” ผลสำรวจภาคสนาม

1. จาก “ซูเปอร์โพล” ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม ตั้งกระทู้ถามว่า “ส.ส.ของพรรคการเมืองที่ท่านจะเลือก ถ้าวันนี้เลือกตั้ง”

ปรากฏว่า “พรรคก้าวไกล” หรืออนาคตใหม่ นำร้อยละ 16.7 ตามด้วย “เพื่อไทย” ร้อยละ 15.7 “ประชาธิปัตย์” รั้งอันดับ 3 ร้อยละ 8.7 และ “พลังประชารัฐ” ร้อยละ 8.3 แต่ระยะห่างกระแสนิยมของพรรคที่ 3 กับที่ 4 ห่างกับพรรคที่ 1 และ 2 ครึ่งช่วงตัว

2. ก่อนหน้านี้ “นิด้าโพล” สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “คะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 2” ระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายน 2563

ตั้งคำถาม “บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้” ร้อยละ 44 ยังหาคนเหมาะสมไม่ได้ ตามด้วย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นอนมาร้อยละ 25.47 “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ร้อยละ 8.07 “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” ร้อยละ 4.57 และ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ร้อยละ 3.93

ขณะที่ “พรรคการเมือง” สำนักโพล แบรนด์เนม ยี่ห้อ “ประชาธิปัตย์” หลุดขอบจอยกยวงทั้ง “พรรค-ตัวบุคคล”

หุ้นจะตก จะร่วงหล่น ต้องมีเหตุผล มีที่ไปที่มาว่าเกิดจากปัจจัยอันใด

“พรรคประชาธิปัตย์” เป็นไอดอลของคนการเมือง มีจุดยืนแน่วแน่มั่นคงในการปกป้องประชาธิปไตย “เปี่ยมไปด้วยหลักการ” ชัดเจนตั้งแต่ก่อตั้งพรรคมาเมื่อ 74 ปีที่แล้ว จึงเป็นแหล่งผลิตบุคลากรทางการเมืองให้งอกงามขึ้นมาใหม่ประดับวงการมากมาย คนแล้วคนเล่า นับไม่ถ้วน

ด้วยเอกลักษณ์ดังกล่าว ทุกครั้งที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน “ประชาชน” เจ้าของอำนาจอธิปไตย ได้สิทธิเสรีภาพ มีการเลือกตั้งเมื่อใด “ประชาธิปัตย์” จึงยึดหัวหาดที่ 1 หรือที่ 2 สลับฟันปลา กลับไปกลับมา เป็น “รัฐบาล” กับ “ผู้นำฝ่ายค้าน” แกร่งทั้งแผง แรงทุกสมัย

ยิ่งระยะหลังๆ ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา ถึงเลือกตั้งใหญ่ปี 2554 “ประชาธิปัตย์” ได้ที่นั่ง ส.ส.หลัก 100 อัพมาตลอด เช่นปี 2539 ได้ 123 เสียง ปี 2544 ได้ 128 ที่นั่ง ปี 2550 ได้ 165 ที่นั่ง และปี 2554 ได้ 159 ที่นั่ง

เพิ่งจะศึกเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุดปี 2562 ที่พรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนสถานะจาก “ราชสีห์” เป็น “ลูกแกะ” ได้ ส.ส.เพียง “ครึ่งร้อย” ทั้งบัญชีรายชื่อ และเขตเลือกตั้งจำนวน 51 ที่นั่ง แพ้ “พรรคเพื่อไทย-พลังประชารัฐ-อนาคตใหม่” และ “ภูมิใจไทย”

“เสียสถิติ” อย่างน่าตกตะลึงเกือบจะทุกด้าน สนามเลือกตั้งที่เคยพื้นที่เข้มแข็งดุจกำแพงเมืองจีน คือ “กรุงเทพมหานคร” กับ “14 จังหวัดภาคใต้” พลิกล็อกวินาศสันตะโร

โดย “สนาม กทม.” ที่ครองแชมป์อยู่ “สูญพันธุ์” ไม่เหลือที่นั่งเอาไว้ทำยาเลยแม้แต่เก้าอี้เดียว ขณะที่ “ปักษ์ใต้บ้านเรา” ที่ยึดหัวหาดเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์มาตลอด จากจำนวนเต็ม 14 จังหวัดด้ามขวานทอง เคยยึดครองมา 50-52 ที่นั่ง เกิดปรากฏการณ์ “เสาไฟฟ้าล้ม” ระเนระนาด “แมลงสาบ” ตายเกลื่อน

 

หัสเดิม “พรรคประชาธิปัตย์” จุดที่เข้มแข็งเหนือพรรคการเมืองอื่น คือโครงสร้างพรรค กลุ่มบุคคลที่ได้รับฉันทานุมัติให้มาเป็นผู้บริหารพรรค มาจาก “องค์ประกอบ” 1.ส.ส.ทุกคน 2.ประธานสาขาพรรค 3.นักการเมืองท้องถิ่นอีกร้อยละ 10 ที่พรรคส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นผู้เลือก “หัวหน้าพรรค” 1 คน

หัวหน้าพรรคเป็นคนเลือกเลขาธิการพรรค พร้อมโควต้ารองหัวหน้าพรรค โดยใช้บริการฟลอร์ใหญ่เลือกภาคละคน

“องค์ประกอบ” ดังกล่าว เป็น “พลังจารีต” ที่โดดเด่น ต้องยืนเข้าแถว เดินตามไลน์ เข้าตามช่อง “คนนอก” ที่มีชื่อเสียง จะแหกด่านมะขามเตี้ยมาแซงคิว หยิบชิ้นปลามันไม่ง่ายเหมือนพรรคการเมืองทั่วไป

แต่ล่าสุด “ประชาธิปัตย์” ยกเครื่องโครงสร้างการบริหารใหม่ ปรับเปลี่ยน “องค์ประกอบ” รู้และเห็นหนังตัวอย่างว่า กำลังจะออกทะเลที่เต็มไปด้วยฉลามร้าย

โดยมีการเคลื่อนไหว กดดัน ให้กรรมการบริหารพรรคไขก๊อกออกจากตำแหน่งเกินครึ่งจาก 39 คน เข้าสูตร “เกินกึ่งหนึ่ง” ทำให้ กก.บห.พรรคต้องพ้นจากตำแหน่งโดยอัตโนมัติ

คงจะสะกดคำว่า “ฆ่าตัวตาย” ไม่ถูก จึงเสียสติริไปลอกเลียนแบบ “พรรคพลังประชารัฐ” เอากิเลสมาเป็นตัวผลักดัน

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ “แพ้เลือกตั้ง 2562” เสาไฟฟ้าล้ม แมลงสาบดับเป็นฝูง พรรคการเมืองที่ถูกยกย่องให้เป็น “สถาบันหลัก” ของเวทีการเมือง “โงหัวไม่ขึ้น” เกิดสภาพ “เลือดไหล” ไม่หยุด มะพร้าวเฒ่ามะละกอ คนหนุ่มคนสาวไม่สนใจไยดี ตบเท้าลาออก โบยบินเหมือนนกจากสมาชิกพรรคกันเป็นว่าเล่น

โอกาสที่จะกลับมาทวงแชมป์ก็มืดมนอนธการ เพราะไม่มี “คนรุ่นใหม่” ฉายแววว่าจะมารับไม้เป็นผู้นำพรรคจากรุ่นสู่รุ่นต่อจาก “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์”

พูดถึงมหากาพย์ “ประชาธิปัตย์” ตอนที่โชติช่วงชัชวาลมากที่สุด คงจะยุค “นายชวน หลีกภัย” ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพราะสามารถยึดหัวหาดเบอร์ 1 ตึกไทยคู่ฟ้า

นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 20 ได้ 2 สมัย ระหว่างปี 2535-2538 และสมัยที่ 2 พ.ศ.2540-2544

“นายหัวชวน” แม้จะมีบุคลิกหนักไปทางพระเอก “หนังไทย” แต่กระนั้นยุคที่นำพาพรรคชนะเลือกตั้ง เสียงเกินร้อยมาตลอด

แม้ดูปูมหลัง ภูมิปัญญาน่าจะถนัดงาน “นิติบัญญัติ” มากกว่า “บริหาร”

แต่ช่วงดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 1 “คนใต้” เมาธ์กันปากต่อปาก กระจายมาตราบทุกวันนี้ว่า “นายกฯ ชวน” เป็นผู้ผลักดันคนสำคัญ สร้าง “ถนนสี่เลน สายเอเชีย” ล่องใต้ได้จนเป็นผลสำเร็จ

เรื่องมันมีอยู่ว่า ระหว่างที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศ ขณะนั้น “พุทธทาส” เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม หรือวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร เกิดมรณภาพ

ก่อนละสังขารในวันที่ 8 กรกฎาคม 2536 “พุทธทาส” ในฐานะแก่นแท้พุทธศาสน์ พระผู้มีชื่อเสียงของจังหวัดปักษ์ใต้

“นายชวน” นายกฯ คนปักษ์ใต้รสแท้ดั้งเดิมเหมือนกัน ได้เข้ามนัสการก่อนละสังขาร และได้ยินคำสั่งสอนเป็นคนสุดท้าย

“ท่านพุทธทาส” คงให้ศีลให้พร สอนพุทธธรรม คำว่า “สีเลนะ” แต่ยังไม่ทันจบประโยค “สุคะติง ยันติ” ที่หมายถึง “ศีลเป็นเหตุให้ถึงสุคติ”

แต่ “นายหัวชวน” ได้ยินไม่ถนัด ออกมาแปลความว่า “สี่เลนนะ”

หลังจากนั้นได้ออกมาเดินหน้าลุยสร้าง “ถนนสี่เลน” สายเอเชีย จะจริงเท็จอย่างไรไม่รู้

รู้แต่ว่า ไม่เยี่ยงนั้นแล้วคนใต้บ้านเรายังต้องใช้ถนนลูกรังดินแดงอยู่เลยในวันนี้

สรุป “การจับงู จะจับที่หัวหรือจับที่หาง ขอให้จับได้ก็พอ”