อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : หนังสือเล่มนั้น

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

หนังสือเล่มนั้นผมหมายถึงหนังสือชื่อ The Room where it happened หรือแปลเป็นไทยว่า ห้องที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น เขียนโดยจอห์น โบลตัน (John Bolton) อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

หนังสือหนา 494 หน้าเล่มนี้ยังไม่วางจำหน่าย แต่เนื่องจากมีการกล่าวขวัญกันมากว่ามีเรื่องข้อมูล ความลับและความคิดเห็นโต้แย้งระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของเขาเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับผู้นำจีน รัสเซีย เวเนซุเอลา อิหร่าน

ผมจึงนำประเด็นที่เผยแพร่แล้วในสื่อมวลชนอเมริกามาวิเคราะห์อีกครั้งหนึ่ง

 

จอห์น โบลตัน

จอห์น โบลตัน อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ตั้งโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เขาเป็นนักต่อสู้ในระบบราชการที่เคยทำงานให้กับประธานาธิบดีพรรครีพับลิกันถึง 4 คน

จอห์น โบลตัน มาทำงานให้กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2018 โดยการเลือกของประธานาธิบดีทรัมป์เอง และทั้งสองชื่นชอบกันเพียงแค่เดือนเดียว

หลังจากนั้นทั้งคู่ก็บาดหมางกัน จอห์น โบลตัน เป็นข้าราชการฝ่ายความมั่นคง “สายเหยี่ยว” ที่แข็งกร้าวกับต่างประเทศ

จอห์น โบลตัน ขัดแย้งกับไมล์ ปอมเปโอ (Mike Pompeo) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีทรัมป์ไล่โบลตันออกเพราะเห็นว่าโบลตันไม่เห็นด้วยกับประธานาธิบดีในนโยบายต่างประเทศ ประเด็นหลักได้แก่ อิหร่าน เกาหลีเหนือ อัฟกานิสถาน และเวเนซุเอลา (1)

หนังสือชื่อ ห้องที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ก่อนพิมพ์ออกจำหน่าย มีการต่อสู้กันทางกฎหมายระหว่างทำเนียบขาวกับจอห์น โบลตัน ทางฝ่ายทำเนียบขาวพยายามยับยั้งการพิมพ์โดยให้เหตุผลว่า หนังสือบรรยายถึงความผิดพลาด สร้างความแตกแยกโดยการนำข้อมูลทางราชการมาเปิดเผยและเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ มีการเปิดเผยข้อมูลชั้นความลับ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทางกฎหมายทำได้น้อยเมื่อมีการรายงานของสื่อมวลชน เช่น CNN และสื่ออื่นๆ เมื่อเรื่องนี้เป็น “สาธารณะ” การยับยั้งไม่ให้พิมพ์ก็ทำได้ยาก ศาลได้พยายามหยุดการพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง มีการเรียกเจ้าหน้าที่รัฐบาลฝ่ายความมั่นคง ได้แก่ ผู้อำนวยการความมั่นคงแห่งชาติ ศูนย์ National Counterintelligence and Security Center มาให้การเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ข้อมูลในหนังสือยังเป็นข้อมูลปกปิด

แต่จอห์น โบลตัน โต้แย้งว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุผลทางการเมืองล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับความลับราชการ

ประธานาธิบดีทรัมป์คู่ขัดแย้งโต้แย้งว่า จอห์น โบลตัน โกหก แล้วประธานาธิบดีทรัมป์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทุกคนในทำเนียบขาวเกลียดจอห์น โบลตัน

ซึ่งเรื่องนี้อาจจะจริงเพราะจอห์น โบลตัน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐอเมริกาที่ถูกประธานาธิบดีทรัมป์ไล่ออกทั้งๆ ที่ตัวเองตั้งมากับมือ

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ยังได้รับการกล่าวขานว่า เขาพอใจที่จะเห็นความขัดแย้งกันเองของเจ้าหน้าที่ระดับสูง

ในขณะที่เขาอยู่ข้างหลังและหยิบฉวยความขัดแย้งนั้นมาเป็นประโยชน์ในการดำเนินนโยบายหลายครั้งหลายหน

 

ผลประโยชน์แห่งชาติหรือส่วนตัว

ในหนังสือเล่มนั้น นอกจากการบรรยายดี ชี้ให้เห็นจุดอ่อนด้านข้อมูลของประธานาธิบดีทรัมป์ มีการวิเคราะห์ข้อผิดพลาดทางนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์แล้ว หนังสือยังอุดมไปด้วยข้อมูลที่น่าสนใจได้แก่

จอห์น โบลตัน ชี้ให้เห็นว่า ประธานาธิบดีทรัมป์คิดถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวของเขาคือ ชัยชนะการเลือกตั้งครั้งที่สอง จอห์น โบลตัน ชี้ว่า (2)

“…ทรัมป์ได้ต่อรองแลกผลประโยชน์ส่วนตัวกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อพบกันปีที่แล้ว ทั้งในเรื่องที่ประธานาธิบสีจิ้นผิง พยายามหว่านล้อมไม่ให้ทรัมป์โจมตีจีนเรื่องค่ายกักกันและการทรมานเปลี่ยนทัศนคติของชาวอุยกูร์ที่ซินเกียงที่รัฐบาลจีนจับไปกว่า 1 ล้านคน…”

มีข้อน่าสังเกตว่า ประธานาธิบดีทรัมป์เซ็นพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของอุยกูร์ (Uyghur human rights bill) ในช่วงนั้นพอดี แล้วมีการต่อรองว่า ให้ทางการจีนมีค่ายกักกันต่อไป

ในกรณีสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกเช่นกัน ประธานาธิบดีทรัมป์ขอให้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ช่วยรับซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐอเมริกา นั่นคือ ซื้อถั่วเหลืองในรัฐมิดเวสต์ (Midwest) ซึ่งเป็นฐานเสียงที่สนับสนุนทรัมป์ให้ชนะการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเมื่อปี 2016 นั่นเอง ทั้งนี้ เป้าหมายของทรัมป์คือเพื่อชนะการเลือกตั้งและกลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2

ในหนังสือของจอห์น โบลตัน เขากล่าวเลยว่า ทรัมป์พูดขอให้ประธานาธิบดีสีช่วยเขาให้กลับมาในรอบที่สอง

ความจริงแล้ว เรื่องสาธารณรัฐประชาชนจีนก่อนเกิดเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 มีประเด็นหลายประการที่สำคัญ นั่นคือ ประเด็นเรื่องอัตราภาษี โทรคมนาคม ประเด็นการประท้วงใหญ่ฮ่องกง ซึ่งทรัมป์โดยส่วนตัวแล้วไม่อยากเข้าไปยุ่งโดยให้เหตุผลว่ามีการประท้วงใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน อีกเรื่องหนึ่งคือ ค่ายกักกันมุสลิมอุยกูร์

หนังสือของโบลตันชี้ให้เห็นว่า การสนทนาระหว่างสองฝ่าย ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีสีสามารถทำให้จีนมีอิทธิพลทางการเมืองสหรัฐอเมริกาได้ (3) ทั้งนี้เพราะเมื่อดูประเด็นเรื่องรัสเซีย ประเด็นนี้ก็ย้ำให้เห็นว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียด้วย

หนังสือเล่มนั้นเสนอว่า ประธานาธิบดีทรัมป์พยายามเหนี่ยวรั้งไม่ให้ฝ่ายความมั่นคงสหรัฐอเมริกาสืบสวนเรื่องการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ทรัมป์ปฏิเสธการยอมรับข้อสรุปของหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐที่สรุปว่า รัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งปี 2016 (4)

ในหนังสือเล่มดังกล่าว จอห์น โบลตัน เห็นว่า ประธานาธิบดีปูตินสง่างาม โบลตันคิดว่า ปูตินเมื่อเจอกับประธานาธิบดีทรัมป์แล้วเขาไม่ได้รู้สึกว่าเผชิญภัยอันตรายร้ายแรง ปูตินไม่มีความกังวลใจต่อประธานาธิบดีทรัมป์เลย

ข้อสังเกตของอดีตที่ปรึกษาความมั่นคงประธานาธิบดีสหรัฐชี้ให้เห็นว่า ผู้นำรัสเซียโดดเด่นและเหนือชั้นกว่าประธานาธิบดีสหรัฐ

ดังนั้น หนังสือจึงชี้ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์พยายามอ่อนข้อให้กับประธานาธิบดีปูติน เพื่อให้รัสเซียช่วยให้ประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง(5)

 

นอกหนังสือ

เราไม่อาจกล่าวว่า หนังสือเล่มใดดีที่สุดและมีอยู่เพียงเล่มเดียว ในเวลาเดียวกัน ความขัดแย้งทางนโยบายระหว่างชนชั้นนำทางนโยบายนับว่าเป็นเรื่องปกติของการเมือง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยู่นอกเหนือคำบรรยายในหนังสือเล่มนั้นได้แก่ อิทธิพลของต่างชาติในการเมืองอเมริกัน ความขัดแย้งและความรุนแรงในเรื่องสีผิว ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งล้วนแต่เกิดขึ้นซ้ำๆ แต่กลับซึมลงในสังคมอเมริกันเข้าไปทุกที

เราได้เห็นนักการเมืองอเมริกันต่อสู้กันเพื่อชนะการเลือกตั้งโดยการใช้กลไกรัฐ ข้อมูลลับ ข้อมูลส่วนตัวกันอยู่ตลอดเวลา

แทบไม่น่าเชื่อ ชาติที่ยิ่งใหญ่สร้างความยิ่งใหญ่จากความเกลียดชังชาติอื่นและเหยียดผิว ทว่าชนชั้นนำต่างร่วมมือซึ่งกันและกันเพื่อประโยชน์ทางการเมืองภายในระยะสั้น

ฉากการต่อสู้กันในสงครามการค้า การประณามเรื่องสิทธิมนุษยชน ทฤษฎีสมคบคิดเรื่องไวรัสโควิดหลุดจากห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการกล่าวหาเจ้าหน้าที่บริษัทเทคโนโลยีในข้อหาจารกรรม ล้วนเป็นละคร ที่ต่างฝ่ายต่างแสดงเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้ง

แล้วชาติที่ยิ่งใหญ่ก็ได้ผู้นำที่อ่อนแอแต่มีอำนาจมากครองเมือง

—————————————————————————————————————-
(1) Carol E.Lee et. al., “John Bolton say trump asked China…” NBC News June 18, 2020.
(2) Carol E. Lee et al. ibid.,
(3) Carol et al. Ibid.,
(4) “Bolton claims Trump asked China for re-election help” CNN June 18 2020.
(5) Ibid.,