สมชัย ศรีสุทธิยากร | นี่หรือ ปฏิรูปเลือกตั้ง

สมชัย ศรีสุทธิยากร

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในหมวดที่ 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ก.(1) เขียนไว้เสียดีว่า ให้ดำเนินการปฏิรูปด้านการเมือง โดยให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองรวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รู้จักยอมรับในความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่างกัน และให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติโดยอิสระปราศจากการครอบงำไม่ว่าด้วยทางใด

แต่น่าแปลกที่ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ยิ่งเปลี่ยนแปลงกติกา ยิ่งมีกลไกการควบคุมการจัดการเลือกตั้ง ยิ่งสรรหาคัดเลือกคนที่คิดว่ามีคุณสมบัติสุดยอดมาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง เรื่องราวของการทุจริตการเลือกตั้งก็ยังเป็นที่รับรู้และเล่าขานกันในสังคมไม่จบสิ้น

ปรัชญาของการจัดการเลือกตั้งสากล จะกล่าวถึงการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม (Free and Fair Election) หมายถึงประชาชนมีเสรีในการเลือก ตัดสินใจด้วยตนเองบนเหตุผลที่ตนเห็นว่าเหมาะสม ปราศจากอามิสสินจ้างหรือการใช้อิทธิพลข่มขู่ให้เลือก และกระบวนการจัดการเลือกตั้งนั้นก่อให้เกิดความเท่าเทียมของการแข่งขันระหว่างผู้สมัคร กรรมการมีความเป็นกลาง ไม่มีการใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือการมีอำนาจทางการเมืองเพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งที่เป็นผู้สมัครหรือพรรคการเมืองอื่น

เช่นเดียวกับการจัดการเลือกตั้งของไทยที่จะใช้คำว่า “สุจริตและเที่ยงธรรม” ซึ่งหมายความถึงต้องไม่มีการทุจริตใดๆ ในการเลือกตั้งและต้องอำนวยการการเลือกตั้งให้เกิดความถูกต้องและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

(Photo by BORJA SANCHEZ-TRILLO / AFP)

การเลือกตั้งที่สุจริต

สิ่งที่สะท้อนถึงการเลือกตั้งที่สุจริตคือ ไม่มีการกระทำใดๆ ที่สื่อให้เห็นถึงการทุจริตในเลือกตั้ง หากกฎหมายห้ามกระทำสิ่งใดก็ต้องไม่มีการปฏิบัติสิ่งนั้น เช่น ห้ามซื้อเสียง ห้ามสัญญาว่าจะให้ ห้ามจัดเลี้ยง ห้ามใช้อิทธิพลบังคับข่มขู่ให้คนไปลงคะแนนให้ฝ่ายตน ก็ต้องไม่มีปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหรือหากมีก็ต้องถูกลงโทษอย่างจริงจังเพื่อให้หลาบจำเป็นเยี่ยงอย่างไม่เกิดขึ้นอีก

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 กำหนดข้อห้ามมากมายนับสิบข้อทั้งในหมวดที่ 4 ส่วนที่ 4 เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและวิธีการหาเสียง อีกหลายข้อห้ามในหมวดที่ 5 ส่วนที่ 1 การออกเสียงลงคะแนน แถมยังมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนให้ กกต.ต้องปฏิบัติหากพบการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตเลือกตั้งในหมวดที่ 7

นับว่า มีข้อห้ามและข้อต้องปฏิบัติเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตไม่น้อย

ทั้งยังกำหนดโทษทั้งจำ ทั้งปรับ ทั้งตัดสิทธิทางการเมืองรายบุคคล ไปจนถึงการตัดสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคไปจนถึงการยุบพรรค

แต่แปลกที่การเลือกตั้งยังมีข่าวคราวของการทุจริตเป็นประจำ

ภาพการซื้อเสียงในการเลือกตั้งซ่อมครั้งล่าสุดนั้นกลับพัฒนาไปมากถึงขนาดมีการเดินแจกเงินแบบเปิดเผยกลางวันแสกๆ ในขณะที่สมัยก่อนยังต้องกระมิดกระเมี้ยนหลบๆ ซ่อนๆ กระทำกันในเวลากลางคืนที่เรียกกันว่าคืนหมาหอน

กลไกการแจกเงิน เปลี่ยนจากการใช้คนเดินโพยหวย นักเลงหัวไม้คนสนิทของเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล มาเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาเดินแจกเงินซื้อเสียงเอง

มีการจดชื่อขอสำเนาบัตรประชาชน ทำบัญชีเบิกจ่ายอย่างเป็นระบบ ทำงานเป็นเครือข่ายซื้อเสียงแบบหวังผลไม่มีตกหล่น ไม่มีเม้มหรือชักดาบ เพราะยังมีเงินก้อนเป็นค่าตอบแทนในการทำงานเป็นการเฉพาะ

มีการให้ผู้ใหญ่บ้านสำรวจดูว่าบ้านใดมีลูกบ้านไม่อยู่ ไม่สามารถมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็จดบ้านเลขที่ ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชนไป ไม่ทราบเจตนาเพื่อไปทำอะไร แต่คงไม่ใช่ไปคัดชื่อออกหรือเอาไปใส่ในทะเบียนบ้านกลางเพื่อเพิ่มเปอร์เซ็นต์คนมาใช้สิทธิเพราะทำกันในช่วงใกล้วันเลือกตั้งซึ่งไม่มีผลอะไรกับทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิ

ทำให้ย้อนนึกไปถึงประวัติการเลือกตั้งไทยสมัย พ.ศ.2500 ที่เรียกกันว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรกเนื่องจากฝ่ายรัฐบาลพยายามใช้ทุกวิธีการเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง เกิดคำว่า “พลร่ม” ซึ่งหมายถึงคนชุดเดิมเวียนกันมาใช้สิทธิ และ “ไพ่ไฟ” ซึ่งหมายถึง การใช้บัตรเลือกตั้งที่กาคะแนนฝ่ายตนเองเข้าไปในหีบหลังปิดหีบแล้ว

จำนวนคนมาใช้สิทธิจำนวนมาก จึงไม่แน่นักว่าเป็นเพราะประชาชนมีความตื่นตัว หรือได้รับอามิสสินจ้าง หรือมีคนมาใช้สิทธิแทนกันแน่

การเลือกตั้งที่เที่ยงธรรม

ความเป็นธรรมในการเลือกตั้ง มาจากการที่ผู้แข่งขันในสนามการเมืองแข่งกันด้วยคุณสมบัติความรู้ความสามารถ ผลงานและความเป็นที่นิยมของประชาชนอย่างเท่าเทียมไม่ใช่มีแต้มต่อพิเศษจากการวางตัวไม่เป็นกลางของข้าราชการหรือกรรมการในการสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างออกหน้า

หรือการใช้ความได้เปรียบในฐานะเป็นรัฐบาล เป็นรัฐมนตรีมาตรวจงานเยี่ยมเยียนประชาชนในจังหวะแห่งการเลือกตั้ง เรียกข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในเขตเลือกตั้งมาประชุม แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนแล้วทำทีสั่งการให้ส่วนราชการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ใช้งบประมาณที่มีอยู่ในมือของตนจัดสรรแจกจ่ายมายังประชาชนในเขตที่มีการเลือกตั้งเพื่อหวังผลคะแนนนิยมที่คืนกลับ

กล้าถึงขนาดว่า ส่วนราชการไม่มีเงินงบประมาณตั้งไว้ ยังรับปากว่าจะไปเจียดแบ่งจากเงินกู้ในอนาคตที่ยังไม่มีการจัดสรรมาให้

ทุ่มเทกันหมดหน้าตักเช่นนี้ จะไม่ให้ประชาชนเทใจได้อย่างไร

ความเที่ยงธรรมอีกส่วนหนึ่งมาจากการมีกรรมการที่ตรงไปตรงมา ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งแจกเงินซื้อเสียงกันครึกโครมแต่กลับปิดตามองไม่เห็น แต่พอฝ่ายหนึ่งเพียงแค่ขาดตกบกพร่องในด้านการตีความกฎหมายก็เคร่งครัดเอาเป็นเอาตายดำเนินคดีอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ

ความเที่ยงธรรมที่เวลากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่ก็ทำงานตามระเบียบปฏิบัติ ไม่ใช่ยอมให้คนที่ไม่มีสิทธิแต่รู้กันว่าเป็นคนของพรรคโน้นพรรคนี้เวียนเทียนเข้ามาใช้สิทธิแทนชาวบ้านที่ไม่อยู่ในพื้นที่ ไม่ปล่อยให้หัวคะแนนข่มขู่กำกับชาวบ้านเวลามาใช้สิทธิ ไปจนถึงการนับคะแนนที่ต้องวินิจฉัยบัตรดีบัตรเสียอย่างไม่เอนเอียง

แต่คงไม่เลวร้ายถึงขั้นกรรมการกาบัตรใส่หีบเอง

เหมือนที่กล่าวว่ากันว่า หากแข่งฟุตบอลทีมหนึ่งมี 11 คน ส่วนอีกทีมหนึ่งมีกรรมการและผู้กำกับเส้นรวมเป็น 14 คน ทีมไหนจะแพ้หรือจะชนะคงคาดเดาได้ไม่ยาก

หรือนี่คือการปฏิรูปเลือกตั้ง

ตราบใดที่ผู้มีอำนาจหวังเพียงแค่ชัยชนะในการเลือกตั้งโดยไม่สนใจว่าจะต้องทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม การเลือกตั้งก็เป็นเพียงเกมที่ผู้ลงสนามพร้อมห้ำหั่นใช้เครื่องมือวิชามารสารพัดเพียงแค่มุ่งหวังชัยชนะในการได้มาซึ่งตำแหน่งที่ต้องการโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องใดๆ จนเมื่อปิดหีบนับคะแนนเสร็จและตนเองเป็นฝ่ายชนะก็แถลงข่าวขอบคุณประชาชนที่มาใช้สิทธิและยังศรัทธานิยมชมชอบพรรคเขา ส่วนกรรมการก็ชื่นชมกับตัวเลขที่สูงลิ่วของการมาใช้สิทธิเลือกตั้ง

แล้วป่าวประกาศให้โลกรู้ว่า นี่คือการเลือกตั้งที่ปฏิรูปแล้ว เป็นโมเดลแบบอย่างของการเลือกตั้งต่อๆ ไป