เกษียร เตชะพีระ | ลัทธิเหยียดเชื้อชาติเชิงสถาบันในวงวิชาการอเมริกัน

เกษียร เตชะพีระ

กรณีตำรวจผิวขาววิสามัญฆาตกรรมจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำมือเปล่าวัย 46 ปีด้วยการกดเข่าทับคอเขานาน 8 นาที 46 วินาทีจนขาดใจตายที่เมืองมินนีแอโปลิส สหรัฐอเมริกา เมื่อ 25 พฤษภาคมศกนี้ (www.nytimes.com/2020/05/31/us/george-floyd-investigation.html) ส่งผลสะเทือนกว้างไกลจนมวลชนหลากเชื้อชาติ-สีผิวลุกฮือประท้วงในเมือง 140 แห่งทั่วสหรัฐ และแผ่กระจายไปอีกบางประเทศที่มีปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ-สีผิวและทารุณกรรมโดยตำรวจคล้ายกัน เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นต้น (www.aljazeera.com/news/2020/06/timeline-george-floyd-protests-200610194807385.html)

ผลสะเทือนทางการเมืองวัฒนธรรมอย่างหนึ่งคือประเด็นที่ว่าการเหยียดและเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติโดยเฉพาะของคนผิวขาวต่อคนผิวดำและผิวสีอื่นๆ ในอเมริกานั้นไม่ใช่เป็นแค่เรื่องอคติส่วนบุคคล (personal prejudice) ของคนผิวขาวบางคน หากเป็นระบบ (systemic) ในลักษณะแฝงฝังอยู่ในเนื้อในของสถาบันต่างๆ (institutional racism) ชนิดที่รื้อถอนกวาดล้างทำลายได้ยากยิ่ง ไม่เว้นแม้แต่วงวิชาการที่อ้างว่ายึดหลักความจริงแบบวิทยาศาสตร์เป็นที่ตั้ง

ดังกรณีตัวอย่างสองรายต่อไปนี้ :

นิยามคำว่า racism ในดิกชันนารี

เคนเนดี้ มิตชัม เป็นบัณฑิตหญิงผิวดำวัย 22 ปี ชาวเมืองเซนต์หลุยส์ มลรัฐมิสซูรี เธอเรียนจบด้านกฎหมาย การเมืองและสังคมจากมหาวิทยาลัยเดรก เมืองดิมอยน์ มลรัฐไอโอวา กรณีตำรวจวิสามัญฆาตกรรมจอร์จ ฟลอยด์ และการลุกฮือประท้วงที่ตามมาทำให้เธอหันมาย้อนคิดและตั้งคำถามต่อความเข้าใจเรื่อง racism (คตินิยมเชื้อชาติ, ลัทธิเหยียดเชื้อชาติ) ในสังคมอเมริกัน

มิตชัมพบว่า คนอเมริกันไม่น้อยมองปัญหานี้เป็นแค่เรื่องการ “ไม่ชอบใครบางคนเพราะเชื้อชาติของเขา” อันเป็นอคติระดับบุคคล

ขณะที่การถกเถียงสาธารณะสืบเนื่องจากกรณีจอร์จ ฟลอยด์ ได้เดินหน้าไปถึงขั้นที่คำว่า racism กำลังถูกใช้ในความหมาย “การกดขี่/ผลักไสคนผิวดำและคนผิวสีอื่นๆ ไปอยู่ชายขอบอย่างเป็นระบบ” แล้ว กล่าวคือ ลัทธิเหยียดเชื้อชาติเป็นเรื่องของระบบสถาบันด้วย

และแหล่งที่มาทางการหนึ่งของความเข้าใจตื้นเขินแบบเดิมได้แก่ดิกชันนารี Merriam-Webster ฉบับออนไลน์ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงกันกว้างขวางในสังคมอเมริกัน โดย Merriam-Webster นิยามความหมายหลัก (ความหมายอันดับ 1) ของ racism ไว้ว่า :

“ความเชื่อว่าเชื้อชาติเป็นตัวหลักในการกำหนดลักษณะกับสมรรถภาพของมนุษย์ และความแตกต่างทางเชื้อชาติสร้างความเหนือกว่าโดยเนื้อในของเชื้อชาติเฉพาะหนึ่งๆ” (https://www.merriam-webster.com/dictionary/racism)

มิตชัมจึงเริ่มเปิดฉากเขียนอีเมลเสนอแนะและโต้แย้งเรื่องดังกล่าวกับกองบรรณาธิการดิกชันนารี Merriam-Webster ไป-มาร่วมสัปดาห์

จนในที่สุดทางกองบรรณาธิการก็ยอมรับเหตุผลของเธอและตกลงที่จะเปลี่ยนคำนิยาม racism ในดิกชันนารีให้สะท้อนและเพิ่มน้ำหนักแก่ความหมายที่ขยับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงไปตามการใช้จริงปัจจุบันของสังคมอเมริกันมากขึ้น

(www.abc.net.au/news/2020-06-11/racism-definition-revised-by-us-dictionary-merriam-webster/12342596)

บทความวิจัยนานเก้าปีกว่าจะได้ตีพิมพ์

ทว่าเทียบกันแล้ว ลัทธิเหยียดเชื้อชาติที่ลิซ่า คุก ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยมลรัฐมิชิแกนต้องเผชิญและฝ่าฟันในสถาบันวิชาชีพเศรษฐศาสตร์ออกจะดักดานและยาวนาน (ถึงเก้าปี) กว่าที่เคนเนดี้ มิตชัม เจอมาก

ตอนนั้นเป็นต้นคริสต์ทศวรรษ 2000 ลิซ่า คุก เริ่มเข้าทำงานตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมลรัฐมิชิแกน ในระบบมหาวิทยาลัยอเมริกันนั้น เพื่อให้ได้เลื่อนตำแหน่งวิชาการสูงขึ้น (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ -> รองศาสตราจารย์ -> ศาสตราจารย์) และครอบครองตำแหน่งนั้นมั่นคงถาวร (tenure) การทำวิจัยและตีพิมพ์ผลงานวิชาการออกมาในวารสารวิชาชีพชั้นนำสังกัดสาขาวิชาของตนเป็นเรื่องสำคัญขาดเสียมิได้ชนิดคอขาดบาดตาย

หลังคิดใคร่ครวญดูแล้ว เธออยากทดลองค้นคว้าโครงการวิจัยในหัวข้อผลกระทบของความรุนแรงทางเชื้อชาติต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแง่การประดิษฐ์สิ่งใหม่ของคนผิวดำในอเมริกา โดยดูจากหลักฐานการจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ของคนอเมริกันผิวดำและของผู้หญิงระหว่างปี ค.ศ.1870-1940

ปรากฏว่าเมื่อเธอลองเอาหัวข้อวิจัยนี้ไปหยั่งเสียงเพื่อนอาจารย์ร่วมคณะดู พวกเขาต่างพากันยับยั้งห้ามปราม เตือนเธอว่าถ้าศึกษาวิจัยเรื่องคนผิวดำหรือผู้หญิงแล้ว เธอจะไม่มีวันได้ตำแหน่งอาจารย์เศรษฐศาสตร์ถาวรหรอก

ไม่มีใครอยากรู้เรื่องผู้หญิง หรือแย่กว่านั้นคือเรื่องคนผิวดำ

ถ้าเธอขืนรวมศูนย์ศึกษาสิทธิบัตรของคนผิวดำกับผู้หญิงละก็ มีหวังอด tenure แน่ๆ

เสียงสะท้อนของเพื่อนร่วมงานชวนหดหู่ท้อถอย และเธออาจวางมือเลิกราเปลี่ยนหัวข้อไปแล้ว ถ้าไม่เป็นเพราะนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสโดดเด่นหลายคนรวมทั้งที่เคยได้รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ 3 คนพากันสนับสนุนให้กำลังใจเธอทำวิจัยหัวข้อนี้ต่อไป

ระหว่างค้นคว้าวิจัย ลิซ่า คุก พบว่าความรุนแรงต่อคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันส่งผลกดปรามกิจกรรมประดิษฐ์สร้างสิ่งใหม่ของพวกเขาลงไป ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลเพิกเฉยละทิ้งพวกเขา ทำให้พวกเขาเห็นว่ากฎหมายไม่ได้คุ้มครองมาถึง สิทธิบัตรของพวกเขาอาจถูกขโมยได้ ซึ่งบั่นทอนแรงจูงใจในการประดิษฐ์ของพวกเขาลง

ฉะนั้น สิทธิบัตรของนักประดิษฐ์ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันเมื่อเทียบสัดส่วนกับประชากรอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันโดยรวมจึงขึ้นถึงจุดสูงสุดในปี ค.ศ.1899 จากนั้นมันก็ตกต่ำลงกว่านั้นตลอดมากว่าร้อยปีเข้านี่แล้ว

เธอเขียนงานวิจัยชิ้นนี้เสร็จปี ค.ศ.2005 และเริ่มส่งต้นฉบับไปให้วารสารวิชาการเศรษฐศาสตร์ชั้นนำพิจารณา (http://econ.msu.edu/papers/Violence_and_Economic_Activity.pdf) ซึ่งหากบรรณาธิการรับไว้ ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการซึ่งเป็นนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ผู้ขึ้นชื่อว่ารอบรู้ในหัวข้อเรื่องของบทความวิจัยชิ้นนั้นสองสามคนช่วยอ่านตรวจและเสนอความเห็นกลับมาว่าจะรับไว้ลงพิมพ์หรือไม่

หากรับไว้ จะมีข้อแม้เงื่อนไขให้แก้ไขปรับปรุงบทความมากน้อยตรงไหนอย่างไรบ้าง โดยกรรมการ (ปิดบังชื่อสกุลตัวตนเพื่อความเที่ยงธรรม) เจรจาต่อรองประสานกับผู้เขียนผ่านบรรณาธิการเป็นตัวกลางอีกที

เป็นที่รู้กันในวงวิชาการว่ากระบวนการ peer review (ประเมินผลงานของเพื่อนร่วมสาขาวิชาตามหลักวิชาชีพ) นี้ค่อนข้างกินเวลาและกดดันความคิดจิตใจของผู้เขียนพอควร

ในกรณีงานวิจัยชิ้นนี้ของลิซ่า คุก มันถูกปฏิเสธการตีพิมพ์หลังผ่านกระบวนการตั้งกรรมการพิจารณาโดยวารสารเศรษฐศาสตร์ถึง 5 ฉบับต่อกัน

กว่าจะได้รับการตีพิมพ์ในที่สุดเก้าปีต่อมาโดยวารสาร Journal of Economic Growth ฉบับปี ค.ศ.2014 (https://link.springer.com/article/10.1007/s10887-014-9102-z)

ในแง่กระบวนการ สิ่งที่คุกพบเจออาจจะไม่แปลก แต่มันแปลกตรงคำถามที่กรรมการของวารสารฉบับต่างๆ ถามกลับมายังผู้เขียน ซึ่งรวมศูนย์อยู่ 2 ประเด็นคือ

1) อดีตทาสคืออะไร? (ผลของสงครามกลางเมืองในสหรัฐฯทำให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 13 ยกเลิกระบบทาสทั่วประเทศไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1865)

และ 2) ทำไมผู้เขียนถึงคิดว่าความรุนแรงที่เกิดกับคนผิวดำในมลรัฐหนึ่ง เช่น ถูกรุมประชาทัณฑ์ จะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของคนผิวดำในอีกมลรัฐหนึ่งเล่า?

คุกงงงันมากและบ่อยครั้งไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไรดี เช่น จะให้หาหลักฐานเอกสารหรือภาพถ่ายมายืนยันว่าผู้คนในที่อื่นเดือดเนื้อร้อนใจกับการที่คนผิวดำในที่หนึ่งโดนเล่นงานด้วยความรุนแรงกระนั้นหรือ?

เธอคิดว่าคำถามข้างต้นสะท้อน 2 อย่างในแวดวงสถาบันวิชาชีพเศรษฐศาสตร์อเมริกัน ได้แก่ การขาดความร่วมรู้สึก (empathy) หรือขาดความฉลาดทางอารมณ์ ในทำนองสามารถเอาใจเขา (คนผิวดำ) มาใส่ใจเรา (คนผิวขาวหรือผิวสีอื่นๆ)

และการขาดความเข้าใจประวัติศาสตร์ของคนผิวดำและคนที่ถูกกีดกันไปอยู่ชายขอบกลุ่มอื่นๆ ในอเมริกา

สรุปรวมความในทรรศนะของคุกก็คือ เรื่องหลักที่เธอเห็นต่างกับกรรมการวารสารที่ปฏิเสธงานวิจัยของเธอทั้งหลายอยู่ตรงพวกเขาไม่คิดว่าข้อค้นพบของเธอเกี่ยวกับคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันมีบทเรียนที่กว้างขวางออกไปอันใดจะประยุกต์ใช้ได้

พวกกรรมการคิดว่าบทความของเธอเป็นแค่ข้อค้นพบเฉพาะจุดเฉพาะกลุ่มเฉพาะกาลเท่านั้น

ข้อเห็นต่างนี้ทำให้บ่อยครั้งเธอห่อเหี่ยวหมดกำลังใจ จนกลายเป็นวิถีปฏิบัติส่วนตัวว่าเวลาเธอได้คอมเมนต์ของกรรมการวารสารเกี่ยวกับบทความของเธอมา เธอจะรีบอ่านเร็วๆ แล้วพับมันเก็บทิ้งไว้สักสัปดาห์ ให้ความยัวะในใจพอเย็นลงก่อน แล้วค่อยมาจัดการเขียนตอบอีกที

ลิซ่ายังตั้งข้อสังเกตว่าปฏิกิริยาของผู้ฟังเวลาเธอนำเสนองานวิจัยชิ้นนี้ในเวทีสัมมนาวิชาการนานาชาตินั้นแตกต่างกับนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันทั่วไปราวฟ้ากับเหว เธอพบว่านักเศรษฐศาสตร์ชาติอื่นและคนต่างชาติไม่ว่าจีน รัสเซีย ยูเครน อิสราเอล ปาเลสไตน์ พากันสนใจไต่ถามประเด็นต่างๆ สืบเนื่องจากบทความของเธอกันท่วมท้นจนตอบไม่หวาดไม่ไหวคำที่พวกเขารู้สึกว่ามันตรงเป้าเข้าประเด็นกับสภาพความเป็นจริงและประสบการณ์ในประเทศบ้านเกิดของตน

เรื่องนี้ทำให้เธอมั่นใจว่างานวิจัยของเธอยังเข้าเรื่องและใช้การได้ทุกวันนี้ และกรรมการอ่านตรวจของวารสารเหล่านั้นต่างหากที่ผิด ผิดเพราะความไม่รู้ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอเมริกันเอง และเพราะไม่สำนึกรู้เท่าทันบริบทของการศึกษาวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ในสังคมอเมริกันปัจจุบัน

กรณีวิสามัญฆาตกรรมจอร์จ ฟลอยด์ จึงเป็นตัวบ่งชี้ความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติในระบบเศรษฐกิจและอาการเหยียดเชื้อชาติที่แฝงฝังอยู่ในสถาบันต่างๆ ของสังคมอเมริกันอีกมาก รวมทั้งสถาบันวิชาชีพเศรษฐศาสตร์เองด้วย ดังการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ของสมาคมเศรษฐศาสตร์อเมริกัน (American Economic Association – AEA) พบว่ามีนักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน 3% เท่านั้นที่เป็นคนผิวดำ ขณะสัดส่วนคนผิวดำในประชากรอเมริกันโดยรวมอยู่ที่ 13%

และในจำนวนนักเศรษฐศาสตร์ผิวดำเหล่านี้ เกือบครึ่งระบุว่าตัวเองถูกกีดกัน/เลือกปฏิบัติ และมีแค่ 17% ที่เห็นว่าคนผิวดำเป็นที่ยอมรับนับถือในแวดวงวิชาการเศรษฐศาสตร์

ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ลิซ่า คุก ฝากบอกส่งท้ายว่า :

“ดิฉันอยากให้ตัวเองสามารถให้ความหวังกับนักวิชาการชั้นผู้น้อยทั้งหลายได้ว่ามันไม่ถึงกับต้องย้ายภูเขาทั้งลูกหรอกนะ กล่าวโดยทั่วไปคุณต้องหนังหนาหน่อยล่ะถึงจะอยู่ในแวดวงเศรษฐศาสตร์ได้ แต่ดิฉันไม่มั่นใจว่าเราควรต้องมีหนังหนาเป็นสองหรือสามเท่าของนักเศรษฐศาสตร์ระดับปานกลางในวิชาชีพของเราด้วยกระนั้นหรือ

“ความเห็นของดิฉันก็คือ อันที่จริงเรากำลังพยายามเปลี่ยนแปลงเรื่องที่ว่าการเป็นนักเศรษฐศาสตร์หมายถึงอะไร นักเศรษฐศาสตร์มีรูปลักษณ์ยังไง ใครบ้างสามารถเข้าร่วมในวิชาชีพนี้ได้ ทั้งนี้เพราะเรากำลังปล่อยให้พรสวรรค์จำนวนมาก ความคิดใหม่ๆ จำนวนมากหลุดมือไป ซึ่งความคิดใหม่ๆ ที่ว่าอาจตรงเป้าเข้าเรื่องก็เป็นได้” (https://www.npr.org/2020/06/11/875445743/story-of-a-paper)