ฟ้า พูลวรลักษณ์ | ระหว่าง “วิทยาศาสตร์” และ “การเมือง”ศิลปะของสิ่งที่เป็นไปได้

ฟ้า พูลวรลักษณ์

หนังสือเรียนสำหรับเด็ก เล่มใหม่ (๖๕)

กล่าวกันว่า

๑ การเมือง คือศิลปะของสิ่งที่เป็นไปได้

๒ วิทยาศาสตร์ คือการพยายามต่อสู้กับศิลปะของสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

วิทยาศาสตร์จึงเป็นการต่อสู้กับการเดินทางให้เร็วยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนไปสู่ความเร็วแสง หรือการพัฒนาชีวิตมนุษย์ให้มีอายุยืนมากขึ้นเรื่อยๆ จนมนุษย์สามารถมีอายุยืนนานได้เป็นหลายร้อยปี

มันเป็นการต่อสู้ การดิ้นรน

มันมีทิศทาง มีการรุก การถอย มันมีชีวิตของมันเอง

น่าประหลาด ฉันชอบอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ชอบ Fantasy ทั้งที่สองกลุ่มนี้ใกล้เคียงกันมาก เหมือนพี่น้องกัน แต่ทำไมกลุ่มหนึ่งฉันชอบ แต่อีกกลุ่มหนึ่งฉันกลับไม่ชอบ

หรือเหมือนพี่น้องสองสาวนี้ มี DNA ที่ใกล้กัน เพราะอยู่บ้านเดียวกัน หน้าตาก็มีส่วนคล้าย หากมองเพียงผิวเผิน แต่ทว่าที่จริงแล้วสองพี่น้องนี้แตกต่างกัน และยิ่งมองลึกลงไป ก็เกิดความรู้สึกที่แตกต่าง

สองภาคนี้ใกล้เคียงกัน จนกระทั่งว่า บางครั้งพวกมันถูกรวมกัน ในร้านหนังสือหลายแห่ง เราจะพบส่วนที่ถูกเรียกรวมกันว่า Science Fiction and Fantasy มันถูกเรียกรวมกันง่ายๆ อย่างนี้ เพราะแยกแยะกันไม่ออก ไม่รู้ว่าส่วนไหนควรเรียกว่า SF หรือส่วนไหนคือ Fantasy

แต่หากเราแยกแยะมันจริงๆ เราก็แยกแยะได้ เราแยกแยะพวกมันด้วย คลื่นแห่งความน่าจะเป็น

กล่าวคือ SF มีความน่าจะเป็นไปได้ อย่างน้อย ๑% ขึ้นไป

ในขณะที่ Fantasy มีความน่าจะเป็น อย่างมากที่สุด ๐.๐๐๐๑% เท่านั้น

Hard SF คือนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีรายละเอียดทางเทคโนโลยีมากมาย ทำให้ความเป็นไปได้ อยู่ที่อย่างน้อย ๑% ซึ่งหมายถึงบางครั้งมันก็ไปไกลกว่า อาจจะมีความเป็นไปได้สูงขึ้นกว่านั้นอีก แต่ด้วยความเป็นนิยาย สูงถึง ๑๐% ก็คือสูงมากแล้ว

ปัญหาคืออะไรที่อยู่ตรงกลาง สิ่งที่อยู่ระหว่างสองกลุ่มนี้ กลุ่มเหล่านี้ต่างหากที่รบกวนจิตใจของฉัน เพราะพวกมันไม่ใช่ SF แท้ และก็ไม่ใช่ Fantasy แท้ มันคือลูกผสม มันคือการแตก DNA ออกไป มันคือการท่องไปยังอีกพรมแดนหนึ่ง มันเป็นปัญหา เพราะแม้แต่ฉันที่แน่ชัดว่าชอบ SF และไม่ชอบ Fantasy ก็ไม่แน่ใจตัวเองเช่นกัน ว่าจะชอบดีหรือไม่ชอบดี ฉันก็ท่องไปในแดนสนธยา อยู่ในความลังเล

เราไม่มีชื่อเรียกกลุ่มพวกนี้ เพราะการมีชื่อเรียกมากมาย ก็ยิ่งสร้างความสับสน ที่จริง ก็มีชื่อเรียก เพียงแต่ชื่อเหล่านั้น ไม่สามารถติดตรึงตาได้นาน

แน่ละ เราอาจเรียกมันว่า New SF หรือ Modern SF หรือ Alternative SF หรืออื่นใดก็ตาม แล้วแต่เราจะคิด แต่ยิ่งคิด ก็ยิ่งสับสน

ต้องถอยกลับมาที่พื้นฐาน นั่นคือการกลับมาดูที่คลื่นแห่งความน่าจะเป็น ซึ่งเป็นตัวกำหนด

การที่ฉันต้องท่องอยู่ในแดนสนธยานี้ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนี้คือชีวิต

ฉันจำเป็นต้องอยู่ในความสับสน ลังเล ว่าจะชอบดีไหมนะ นิยายกลุ่มพวกนี้ ทำนองว่าจะไม่ชอบก็เสียดาย เพราะบางครั้งมีบางเรื่องก็ดีงาม ฉันอดชอบไม่ได้ และบางครั้งก็ชอบมาก ชนิดโดดเด่นออกมา

เวลาฉันเจอ Fantasy แท้ๆ หรือสิ่งที่มีความเป็นไปได้น้อยกว่าน้อย มันช่างเลื่อนลอย ไร้สาระ แต่สิ่งนี้ก็สมชื่อของมัน ที่เรียกตัวเองว่า Fantasy หรือความเพ้อฝัน

อย่าง Game of Thrones ก็ไม่ใช่ Fantasy ล้วนๆ ด้วยเพราะแม้มันจะมีมังกร หรือแม้แต่ปรากฏการณ์อย่างตายแล้วฟื้น หรือความเพ้อฝันมากมาย แต่ทว่ามันก็มีรายละเอียดที่หนักหน่วง เช่น การยกเอายุโรปยุคกลางเข้ามาเกือบจะเต็มตัว ยกทัศนียภาพของ Ireland เข้ามาเกือบจะทั้งหมด การผสมผสานเหล่านี้คือเสน่ห์

และแน่ละคือจิตวิทยาของตัวละครแต่ละตัว ที่ดูจะมีตัวตน มีชีวิตจริงๆ มีความเป็นไปได้ ท่ามกลางความโบยบินของมังกร

เวลาอ่าน Game of Thrones ผู้อ่านจึงกลับไปกลับมา ในโลกแห่งความเป็นไปได้ และโลกแห่งความเป็นไปไม่ได้

ในกรณีอย่างนี้ ฉันก็ยอมรับนิยายเรื่องนี้ได้ อย่างน้อย มันไม่ได้บาดหมางฉันจนเกินไป มันไม่ได้ทิ่มแทงฉันจนทะลุ

แต่ฉันเคยอ่าน นิยาย Fantasy แท้ๆ ที่มันทิ่มแทงใจของฉันจนทะลุ การท่องไปในโลกของความเป็นไปไม่ได้ มันคงมีค่าในระดับหนึ่ง ไม่เช่นนั้น คงไม่มีคนเขียนขึ้นมา หรือคงไม่มีคนตีพิมพ์ออกมา เพียงแต่จิตของฉัน รับไม่ได้ต่างหาก

ชีวิตคนเรานี้ซับซ้อน เช่น มีผู้ชายคนหนึ่ง ความคิดในทางการเมืองของเขา เขาเป็นประชาธิปไตยจ๋า เป็นซ้ายจัด แต่กับคนในครอบครัว เมียของเขากลัวเขายังกะหนูกลัวแมว เขาเป็นเผด็จการในบ้าน แบบนี้ก็มี หรือในทางตรงกันข้าม ผู้ชายคนหนึ่ง ความคิดในทางการเมืองของเขาเป็นขวา เขาน่าจะเป็นเผด็จการ แต่กับคนในครอบครัว เขากลับอ่อนโยน ไม่เคยบังคับใจใครเลย ในฐานะพ่อ เขาเป็นพ่อที่โอบอ้อมอารี และเปิดกว้าง สิ่งนี้ก็เป็นไปได้ มันย้อนแย้งกัน แต่นี้คือชีวิต

คนที่สนใจการเมืองมาก อาจไม่สามารถคิดสิ่งเหล่านี้ได้ ด้วยมองไม่เห็น หรือไม่อยากมอง แต่มันมีอยู่ตรงหน้า ด้วยเพราะมันผิดเหตุผลทั่วไป มันจึงถูกมองข้าม ทั้งที่มันมีอยู่เยอะแยะ

อะไรคือความจริง และอะไรคือ Fantasy หากเรามองความย้อนแย้งอย่างลึกซึ้ง ก็เหมือนกับว่า เรากำลังคิดถึงปัญหาปรัชญา เรากำลังกลายเป็นนักปราชญ์ไป ทั้งที่จริง มันคือชีวิต และเป็นชีวิตปกติด้วย ไม่ใช่ข้อยกเว้นอะไร มันมีอยู่โดยทั่วไป แต่มันไม่ใช่กฎ มันแค่มีอยู่ เราหาสถิติกับมันไม่ได้ คิดค่าความเป็นไปได้ก็ไม่ได้ มันแค่มีอยู่

เคยมีคนบอกว่า ชีวิตคือละคร ฉันก็เห็นด้วยอยู่แล้ว แต่หากคิดลึกลงไปในคำว่าละคร ก็เท่ากับว่า เรากำลังเดินทางสู่ Fantasy ทั้งที่มันก็คือเรื่องจริง เราจะแยกแยะสองสิ่งนี้ไม่ออก เพราะอะไรหนอ

สิ่งที่จริงที่สุด ทำไมมันกลับกลายเป็น clich? และหากมันเป็น clich? มันก็กลายเป็นนิยายน้ำเน่า แต่หากเราลงลึกเข้าไป เราจะพบว่า มันไม่ใช่น้ำเน่า หากเราเจอกันตัวเอง มันไม่ใช่น้ำเน่าแน่ เช่น รักแรกพบ หากเกิดกับใคร มันจริงยิ่งนัก และประทับใจสูงสุด มันมหัศจรรย์ยิ่งใหญ่ แต่เพราะอะไรหนอ มันก็กลายเป็นนิยายน้ำเน่า เหมือนกับว่าจิตมนุษย์จะต่อต้านมัน ไม่ต้องการมัน

ทำไมจากจริงที่สุด กลับกลายเป็นความไม่จริง

ญาติคนหนึ่งของฉันเสียชีวิต เธอฆ่าตัวตายในต่างแดน ช่างเป็นชีวิตที่รันทด เงียบเหงาเหลือเกิน เพราะในช่วงหลังแห่งชีวิต เธอแทบจะไม่ติดต่อใครเลย ตัดขาดออกจากคนอื่นๆ

ฉันเองก็รับรู้เรื่องราวของเธอเพียงผิวเผิน แต่จำวัยเด็กของเราได้ เพราะพวกเราหลายคนไปเรียนหนังสือในประเทศอังกฤษ เราเคยทำกับข้าวกินด้วยกัน และเธอเป็นใครคนหนึ่งที่เรียนหนังสือเก่งที่สุด

แต่ไม่รู้ความชอกช้ำใดมากระทบจิตของเธอ อาการบาดเจ็บนี้มาจากไหน

การฆ่าตัวตาย เป็นความจริงอย่างที่สุด และลึกซึ้งเกินคำนวณ แต่ทว่ามันก็เป็นความเพ้อฝันด้วย