วิกฤติศตวรรษที่21 | การลุกขึ้นสู้ของคนอเมริกันผิวสีปี 2020 และปี 1968

วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (12)

การลุกขึ้นสู้ของคนอเมริกันผิวดำปี 2020 และปี 1968

การลุกขึ้นสู้ของคนอเมริกันผิวดำในปี 2020 มีขนาดใหญ่โต ลามทั่วประเทศและทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งต่อเศรษฐกิจ-การเมืองสหรัฐ ในยามที่ประเทศต้องเผชิญวิกฤติโควิด-19

ทำให้มีการนำไปเปรียบเทียบกับการลุกขึ้นสู้เมื่อครั้งปี 1968 ที่กระทบต่อสถาบันและกลุ่มผู้ทรงอำนาจของสหรัฐรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

อันที่จริงการลุกขึ้นสู้ปี 2020 เป็นการต่อเนื่องจากการลุกขึ้นสู้ปี 1968 ในรากเหง้าของปัญหาเดิมคือ ลัทธิเหยียดผิว ลัทธิคนขาวสูงส่ง ลัทธิจักรวรรดิ และอเมริกันมีความพิเศษเหนือชาติใด

ในสถานการณ์แวดล้อมใหม่ ที่มีบางด้านคล้ายเดิมคือสงครามเย็น แต่ครั้งนี้เป็นสงครามเย็น 2.0 ระหว่างสหรัฐกับจีนเป็นสำคัญ ดังนั้น การมองในลักษณะต่อเนื่อง น่าจะให้ภาพใหญ่เกี่ยวกับการลุกขึ้นสู้ปี 2020 ได้ดีขึ้น

มีนักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญในด้านสิทธิพลเมือง เชื้อชาติ การเมือง วิกฤติในเมืองสหรัฐในศตวรรษที่ 20 คือ โทมัส เจ. ซากรู เขาชี้ว่ามูลรากของการต่อสู้ของคนผิวดำปี 2020 สามารถย้อนไปได้ถึงเมื่อ 100 ปีที่แล้ว เมื่อมีการลุกขึ้นสู้ใหญ่ครั้งแรกในปี 1919 ที่เรียกว่า “ฤดูร้อนสีแดงปี 1919”

เมื่อฝูงชนผิวขาวที่ถือลัทธิคนขาวสูงส่ง ก่อเหตุรุนแรงในเมืองต่างๆ ทั่วสหรัฐกว่า 25 แห่ง โดยเข้าทำร้ายคนผิวดำที่พำนักอยู่อย่างกระจัดกระจาย เกิดการปะทะอย่างดุเดือดทางเชื้อชาติหลายสิบครั้ง

โดยเกือบทั้งหมดเป็นกรณีที่คนผิวขาวเข้าทำร้ายคนผิวดำที่อยู่อย่างกระจัดกระจาย และมีคนผิวดำที่ต่อสู้กลับในบางพื้นที่

การปะทะกันนี้ทำให้ชาวอเมริกันผิวดำราว 5 แสนคนอพยพขึ้นไปทางเหนือ เรียกว่า “การอพยพใหญ่” เพื่อหางานทำ และหนีจากการกดขี่และความรุนแรงจากพวกสมาพันธรัฐฝ่ายใต้

ในปี 1921 ยังเกิดเหตุทำนองฤดูร้อนสีแดงอีก เมื่อฝูงชนคนขาวด้วยการช่วยเหลือจากตำรวจท้องถิ่น ก่อเหตุเผาย่านธุรกิจของคนดำในเมืองทัลซา รัฐโอกลาโฮมา เรียก “วอลล์สตรีตคนดำ” ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 300 คน และทำให้ประชากรผิวดำเกือบทั้งเมืองกลายเป็นผู้ไร้บ้านโดยตำรวจเมินเฉยต่อการสังหารหมู่และการเผาเมืองของคนขาว

แต่กลับจับกุมคนผิวดำที่พยายามต่อสู้ป้องกันตนเอง

สาเหตุที่คนผิวขาวก่อการร้าย น่าจะเกิดจากความตึงเครียดทางการงาน เนื่องจากมีทหารกลับประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดปัญหาการว่างงานในหมู่คนขาว นอกจากนี้ ยังมีภัยพิบัติใหญ่จากการระบาดของไข้หวัดสเปน ขณะที่คนผิวดำที่ค่าแรงถูกกว่าค่อยๆ ยกฐานะของตนขึ้น

A man gets on his knees in front of police officers during a protest against the death in Minneapolis police custody of African-American man George Floyd, in St Louis, Missouri, U.S. June 1, 2020. Picture taken June 1,2020 REUTERS/Lawrence Bryant TPX IMAGES OF THE DAY

เพื่อต่อสู้กับความป่าเถื่อนนี้ คนอเมริกันผิวดำขยายการจัดตั้งเพื่อรักษาสิทธิผลประโยชน์ของคนผิวดำในขอบเขตทั่วประเทศ ทั้งในตอนใต้และภาคเหนือของสหรัฐ (ในปี 1945 มีสมาชิกถึง 500,000 คน) องค์กรที่มีอิทธิพลสูง ได้แก่ “สมาคมปรับปรุงชาวนิโกรสากล” (Universal Negro Improvement Association – UNIA ผู้ก่อตั้งคือมาร์คัส การ์วีย์ เกิด 1887) โดยชาวนิโกรต้องเริ่มต้นด้วยการปรับปรุงตนเองก่อน มีความเชื่อในศักดิ์ศรีและความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมของคนนิโกร ไม่ต้องคอยคิดจะกลมกลืนไปกับคนผิวขาว องค์กรนี้เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งที่ชาวนิโกรถูกปฏิเสธในทางปฏิบัติโดยเฉพาะในภาคใต้

การลุกขึ้นสู้ของชาวผิวดำครั้งที่สองเกิดขึ้นปี 1941 ท่ามกลางความยากลำบากจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การขาดรายได้และการว่างงาน และภาวะสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ต้องการงานใหม่ทางทหารจำนวนมาก มีผู้นำชาวผิวดำเคลื่อนไหว เพื่อให้ยอมรับคนดำเข้าทำงานในกิจการด้านทหาร ซึ่งประธานาธิบดีโรสเวลต์ขณะนั้นยอมตาม

ในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดการอพยพใหญ่ครั้งที่ 2 มีคนงานผิวดำเรือนแสนอพยพไปทางเหนือและทางตะวันตก ในระหว่างสงครามเพื่อหางานทำในโรงงานผลิตเครื่องบินและอู่ต่อเรือรบ เกิดหนังสือพิมพ์สำหรับคนดำขึ้น ที่ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและความรุนแรง

และชูคำขวัญ “สองชนะ” ได้แก่ เอาชนะพวกฟาสซิสต์นอกประเทศ และเอาชนะลัทธิคนขาวสูงส่งในประเทศ

ในปี 1943 คนขาวที่หวาดกลัวพลังคนผิวดำที่รวมตัวเป็นปึกแผ่นและเข้ามาแย่งตำแหน่งงานมากขึ้น ได้เปิดปฏิบัติการคล้าย “ฤดูร้อนสีแดง 1919” แต่ครั้งนี้มีการตอบโต้อย่างหนักจากคนดำ

เกิดการจลาจลทางเชื้อชาติกว่า 240 ครั้งทั่วประเทศในปีนี้

การลุกขึ้นสู้ใหญ่ครั้งที่สามเกิดระหว่างปี 1963-1968 ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศต่างๆ พยายามฟื้นฟูบูรณะเศรษฐกิจ สังคม มีเพียงสหรัฐที่ได้รับความบอบช้ำน้อยกว่าใคร ยังคงนโยบายทำสงครามเพื่อขยายอิทธิพลทางการเมือง-การทหาร ความเป็นใหญ่ทางเศรษฐกิจและอุดมการณ์ของตน โดยใช้ข้ออ้างสงครามเย็นที่ต้านอิทธิพลของสหภาพโซเวียต

การเดินนโยบายลัทธิจักรวรรดิและลัทธิทหารของชนชั้นนำสหรัฐนี้ ก่อความผิดพลาด และเป็นการเสียโอกาสครั้งใหญ่ในการแก้ไขปัญหาลัทธิเหยียดผิว ลัทธิคนขาวสูงส่ง ปัญหาสิทธิพลเมืองและปัญหาอื่น เหมือนการกวาดฝุ่นไว้ใต้พรม เมื่อถึงทศวรรษ 1960 ฝุ่นปัญหาทั้งหลายได้ก่อตัวเป็นกลุ่มก้อน ประกอบด้วยขบวนการใหญ่ดังนี้คือ

ก) ขบวนการสิทธิพลเมือง/มนุษยชน มีขบวนการคนผิวดำ ขบวนการสิทธิสตรี สิทธิชนชาติส่วนน้อยอื่น และสิทธิทางเพศ

ข) ขบวนการสิ่งแวดล้อม

ค) ขบวนการต่อต้านสงคราม

ง) ขบวนการนักศึกษา-ปัญญาชน

จ) ขบวนการบุปผาชน ปฏิเสธลัทธิอุตสาหกรรมและลัทธิตลาด นอกจากนี้ ยังมีขบวนการฟื้นฟูศาสนาที่เป็นฝ่ายขวา ขบวนการเหล่านี้บ้างทำงานเป็นอิสระ บ้างประสานกับขบวนการอื่น ได้ลุกขึ้นมาโยกคลอนสถาบันสังคมและกลุ่มผู้มีอำนาจในสหรัฐและยุโรปอย่างรุนแรง ในที่นี้จะกล่าวแต่ขบวนการที่ต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองของคนผิวดำ

ในขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองคนผิวดำ มีผู้นำโดดเด่นที่ควรกล่าวถึง 2 คน ดังนี้คือ

1)ดร.มาร์ตินลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เป็นนักเทศน์และผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวอเมริกัน เกิดปี 1929 เรียนจบปริญญาเอกทางด้านเทววิทยาที่มหาวิทยาลัยบอสตัน นำขบวนลุกขึ้นสู้ของชาวผิวดำตั้งแต่ปี 1955 ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปี 1964

การต่อสู้ของ ดร.คิงมีพัฒนาการเริ่มจากการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง สู่สิทธิมนุษยชน ในช่วงปลายชีวิตก่อนถูกลอบสังหารปี 1968 ได้มุ่งความสนใจไปในเรื่องแก้ไขปัญหาความยากจนของคนผิวสี และสนับสนุนการปฏิวัติเชิงคุณค่า

เขาได้กล่าวความเห็น ความฝัน แนวทางการต่อสู้ และอนาคตของอเมริกัน ความตอนหนึ่งว่า

“เราจะต้องเห็นให้ชัดว่าความชั่วร้ายของลัทธิเชื้อชาติ การขูดรีดทางเศรษฐกิจ และลัทธิทหารล้วนเกี่ยวเนื่องเป็นหนึ่งเดียวกัน และพวกคุณไม่สามารถขจัดสิ่งหนึ่งไปโดยไม่ขจัดอีกสิ่งหนึ่ง …จะต้องมีบางคนบอกแก่ประเทศเรา ว่าดังนี้ อเมริกา ถ้าคุณยังมีความดูหมิ่นต่อชีวิต ถ้าคุณยังขูดรีดมนุษย์ด้วยการเห็นว่าพวกเขาต่ำกว่าความเป็นมนุษย์ ถ้าคุณยังปฏิบัติต่อมนุษย์ในฐานะที่เป็นเครื่องมือสู่จุดประสงค์ นั่นหมายถึงว่าคุณได้ทำให้มนุษย์กลายเป็นสิ่งของ เมื่อคุณทำให้มนุษย์กลายเป็นสิ่งของ คุณก็จะขูดรีดพวกเขาทางเศรษฐกิจ เมื่อคุณได้ขูดรีดพวกเขาทางเศรษฐกิจ คุณจะใช้อำนาจทางทหารในทางที่ผิดเพื่อปกป้องการลงทุนและการขูดรีดทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ประเทศอเมริกาจะต้องถูกบอกว่า ประเทศนี้จะต้องเกิดใหม่อีกครั้ง โครงสร้างทั้งหมดของชีวิตอเมริกันจะต้องเปลี่ยนไป”

(ดูหัวข้อ Quotes from Rev. Dr. King”s Last Years : “A Revolution of Value” ใน kairoscenter.org)

2)มัลคอล์ม เอ๊กซ์ (เกิด 1925) เดิมเขาชื่อมัลคอล์ม ลิตเติล เปลี่ยนชื่อสกุล “ลิตเติล” เป็นเอ๊กซ์ หลังจากเข้าร่วมขบวนการชาติอิสลาม ภายหลังได้แยกจากขบวนการนี้ แต่ยังคงเป็นชาวมุสลิมที่เคร่ง

มัลคอล์ม เอ๊กซ์ พร้อมต่อสู้ทุกรูปแบบ โดยยึดหลักว่า “เราจะไม่ใช้ความรุนแรงแก่ผู้ที่ไม่ใช้ความรุนแรงกับเรา”

และพูดจาตรงไปตรงมามีลักษณะแตกหักกว่า ดร.คิง ว่า “แม่ไก่ไม่เคยออกไข่เป็นไข่เป็ด ระบบในประเทศนี้ไม่มีวันจะสร้างอิสรภาพให้แก่ชาวอเมริกัน-แอฟริกัน” และ “เป้าหมายร่วมกันของชาวอเมริกัน-แอฟริกัน 22 ล้านคนคือการได้รับยอมรับนับถือในฐานะเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิทธิที่พระเจ้าประทานให้ในการเป็นมนุษย์ เป้าประสงค์ของเราคือการได้มาซึ่งสิทธิมนุษยชนที่อเมริกาปฏิเสธที่จะให้ เราไม่มีวันที่จะได้สิทธิพลเมืองในอเมริกาจนกว่าจะฟื้นสิทธิมนุษยชนขึ้นมาได้เป็นอันดับแรก เราไม่มีวันที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นพลเมืองจนกว่าเราจะได้รับการยอมรับว่าเราเป็นมนุษย์”

เขาถูกลอบสังหารในปี 1965

รวมความได้ว่าขบวนการสิทธิพลเมืองของคนผิวดำ ได้บรรลุนิติภาวะ มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความคิดชี้นำเป็นของตนเอง ดร.โทมัส ซากรู เห็นว่าการต่อสู้ของคนผิวดำในปี 1968 ต่างกับการลุกขึ้นสู้ในปี 1919 และ 1941 โดยการต่อสู้สองครั้งแรกการตอบโต้ต่อการกระทำรุนแรงของม็อบคนผิวขาวที่กระทำต่อคนผิวดำ แต่การประท้วงปี 1968 มีลักษณะเชิงรุกเพื่อทวงสิทธิความเป็นคนผิวดำและความเป็นมนุษย์คืนมา

แต่การประท้วงเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในย่านคนผิวดำ ผู้ที่ได้รับผลจากการประท้วงส่วนใหญ่เป็นคนดำและธุรกิจท้องถิ่นของคนผิวดำ จากการต่อสู้ใหญ่แห่งทศวรรษที่ 1960 ทำให้ชนชั้นนำสหรัฐจำต้องเปิดพื้นที่ทั้งทางภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจ-สังคมแก่คนผิวดำมากขึ้น แต่ไม่ได้ขจัดมูลรากของปัญหาออกไป

ถึงสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ทำให้ปัญหาเหล่านี้ร้ายแรงขึ้น โดยการสนับสนุนลัทธิคนขาวสูงส่ง ผลประโยชน์ของสหรัฐเหนือชาติใด และทำให้สหรัฐกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

จนกระทั่งระเบิดเป็นการประท้วงใหญ่ เมื่อจอร์จ ฟลอยด์ ที่เป็นคนผิวดำธรรมดาถูกตำรวจผิวขาวฆ่าขณะเข้าทำการจับกุม

ดร.ซากรูบรรยายว่าผู้เข้าร่วมการต่อสู้มีหลากเชื้อชาติทั้งอเมริกัน-แอฟริกัน อเมริกัน-เอเชียน ละตินและคนขาว สวมหน้าการอนามัยเพื่อป้องกันโควิด-19 ชุมนุมประท้วงใจกลางเมือง ปิดสะพานและทางหลวง จนถึงชุมนุมหน้าทำเนียบขาว สะท้อนขั้นใหม่ของการต่อต้านที่จะขยายไปยังเชื้อชาติต่างๆ ในประวัติศาสตร์อเมริกา

เดิมการฉกชิงสิ่งของเครื่องใช้จำกัดอยู่ในละแวกคนดำ ขณะนี้มันได้ลามเข้าสู่เขตใจกลางเมืองที่มั่งคั่ง และช้อปปิ้งมอลล์ย่านชานเมือง

ความทรงพลังของการต่อสู้ปี 2020 ได้ก้าวล่วงเรื่องความแตกต่างทางเชื้อชาติที่หลั่งเลือดในอดีต จะนำมาสู่การปฏิรูปครั้งใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหรัฐและทั่วโลก

(ดูบทวิเคราะห์ของ Thomas J. Sugrue ชื่อ 2020 is not 1968 : To understand today”s protests, you must look further back ใน nationalgeographic.com 11/06/2020 เป็นต้น)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงเค้าความล้มเหลวของลัทธิทรัมป์