การศึกษา / ยกเครื่อง ‘องค์การค้าฯ’ หวังฟื้นองค์กรให้มีกำไร??

การศึกษา

 

ยกเครื่อง ‘องค์การค้าฯ’

หวังฟื้นองค์กรให้มีกำไร??

 

และแล้วถึงเวลาที่องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ต้องเฉือนเนื้อตัวเองเพื่อรักษาและต่อลมหายใจของตัวเองไว้ เมื่อองค์การค้าฯ ออกคำสั่งที่ 85-2563 เรื่องเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. 961 ราย เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 สิงหาคม 2563

จากพนักงานทั้งหมด 1,035 คน ทำให้เหลือคนทำงานเพียง 74 คน ทั้งนี้ ยังพบข้อมูลว่าพนักงานเหล่านี้กว่า 50 คน จะเกษียณอายุในเดือนกันยายน และมีพนักงานกว่า 10 คน ที่กำลังจะหมดสัญญาจ้างในปีนี้

เท่ากับว่าในปีถัดไปองค์การค้าฯ จะไม่เหลือพนักงานในการขับเคลื่อนงานเลย!!!

 

สาเหตุการเลิกจ้างครั้งนี้ ด้วยเหตุผลว่าประสบภาวะขาดทุนมาตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี หนี้กว่า 7,000 ล้านบาท

แม้เพิ่งจะเซ็นสัญญาจ้างนายอดุลย์ บุสสา ขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ตัวจริง หลังส่งข้าราชการไปปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการองค์การค้าฯ นานกว่า 6 ปี ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ยุบคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ คณะกรรมการ สกสค. และคณะกรรมการคุรุสภา

เค้าลางการเลิกจ้าง เริ่มจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 องค์การค้าฯ ออกคำสั่งที่ 75/2563 เรื่อง ขยายระยะเวลาให้เจ้าหน้าที่หยุดงานต่อเนื่อง โดยให้เหตุผลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงกำหนดให้มีการขยายระยะเวลาการหยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลา ซึ่งพนักงานที่หยุดงานไปให้รับค่าจ้างในอัตรา 75% ของเงินเดือนปัจจุบันจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563

วันที่ 19 มิถุนายน กลับมีหนังสือจากผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ให้งดการจ่ายเงินค่าจ้างในเดือนมิถุนายน 2563 ต่อมาองค์การค้าฯ ออกคำสั่งที่ 84/2563 เรื่องให้พนักงานเจ้าหน้าที่หยุดงาน โดยในคำสั่งระบุว่า ให้พนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าฯ ของ สกสค.หยุดงาน และให้ใช้สิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน กับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ทั้งนี้ ให้เริ่มหยุดงานตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นไป

จนมาถึงคำสั่งเลิกจ้างที่ประกาศในวันที่ 29 มิถุนายน ในที่สุด

 

ส่งผลให้สหภาพแรงงานองค์การค้าฯ จัดประชุมใหญ่วิสามัญสหภาพแรงงานฯ เพื่อหาทางออกเรื่องนี้

โดยนายนิวัติชัย แจ้งไพร ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา ระบุว่า สหภาพไม่เห็นด้วยกับคำสั่งเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และสหภาพจะดำเนินการฟ้องตามข้อกฎหมายแรงงานและศาลปกครอง

รวมถึงจะขอมติที่ประชุมวิสามัญสหภาพแรงงานฯ มอบอำนาจให้สหภาพเป็นผู้แทนสมาชิกไปดำเนินการเตรียมฟ้องศาลแรงงานและศาลปกครอง

ทั้งนี้ ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยกเลิกคำสั่งที่ไม่ชอบธรรมครั้งนี้ โดยสหภาพจะดำเนินการคัดค้านเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่พนักงานองค์การค้าฯ ทุกคน

“จากการที่ผู้บริหารชี้แจงบอกว่าการเลิกจ้างไม่ใช่ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น แต่ทุกคำสั่งที่ออกมา อ้างผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งหมด ทำให้เห็นว่าคำสั่งที่ออกมานั้น ย้อนแย้งกับคำพูด ซึ่งการเลิกจ้างนั้น ได้ให้เหตุผลว่าแบกรับภาระไม่ไหว เนื่องจากองค์การค้าฯ มีหนี้สินสะสมจำนวนมาก แต่ผมมองว่าองค์การค้าฯ ก็มีทรัพย์สิน หากเอาทรัพย์สินมารวมกันจะมีมูลค่าเกินกว่าหนี้ที่สะสมหรือไม่”

นายนิวัติชัยกล่าว

 

ขณะที่นายณัฏฐพลเปิดเผยการตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานองค์การค้าของ สกสค.ครั้งนี้ว่า ไม่ได้มาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เป็นการประเมินถึงความเหมาะสมในการทำธุรกิจ องค์การค้าฯ เป็นองค์กรที่ขาดทุนอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาร่วมตัดสินใจ เพื่อหาโอกาสที่จะพลิกธรุกิจนี้กลับขึ้นมา เรื่องนี้ได้เรียนนายกรัฐมนตรีให้ทราบแล้ว และยืนยันว่าการเลิกจ้างก็จะมีการชดเชยตามกฎหมาย คาดว่าจะได้รับเงิน 1-4 ล้านบาท

“การตัดสินใจครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เสียใจกับผู้ได้รับผลกระทบ แต่ผมมั่นใจว่าในการเดินไปข้างหน้า ศธ.ต้องรักษาองค์กรใหญ่ไว้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกระเทือนในวงกว้าง หากมีการฟ้องร้อง ถือเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล” นายณัฏฐพลกล่าว

นอกจากนี้ นายณัฏฐพลเรียกประชุมบอร์ดองค์การค้าฯ โดยด่วนเร่งช่วยเหลือพนักงาน ทั้งนี้ นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะโฆษก ศธ. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาหาแนวทางเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าชดเชยบางส่วน เป็นจำนวนเงินคนละ 100,000 บาท ให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ถูกเลิกจ้างทุกคนโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ การรับเงินนั้น หากพนักงานรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม สามารถดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมายต่อไปได้ นอกจากนี้ ที่ประชุมมอบภารกิจเร่งด่วนให้นายอดุลย์จัดทำแผนฟื้นฟูการบริหารจัดการ และแผนการดำเนินธุรกิจขององค์การค้าฯ และให้เสนอคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ ภายใน 30 วัน

“สำหรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง 961 รายนั้น มีอายุงานโดยเฉลี่ย 25 ปี 5 เดือน และมีเงินเดือนโดยเฉลี่ยเดือนละ 31,287 บาท การพิจารณาจ่ายเงินต่างๆ ทาง สกสค.อนุมัติให้ยืมเงิน ดังนี้ ค่าชดเชยต้องใช้เงินกว่า 423 ล้านบาท และค่าบำเหน็จของเจ้าหน้าที่ จำนวนกว่า 861 ล้านบาท รวมแล้วต้องใช้จำนวนเงินกว่า 1,285 ล้านบาท ทั้งนี้ จะไม่มีการยุบองค์การค้าฯ แน่นอน”

นายประเสริฐกล่าว

 

ด้านนายธนพร สมครี รองเลขาธิการ สกสค. กล่าวว่า ช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ ได้พิจารณาถึงผลการดำเนินงานขององค์การค้าฯ ที่ขาดทุนต่อเนื่องกว่า 15 ปี จึงได้พิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหา เพราะถ้าไม่แก้ไของค์กรแม่อย่าง สกสค.อาจจะล้มไปด้วย

“โดยมีแนวทางเลือกไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ 1.การหยุดกิจการ 2.ดำเนินกิจการเช่นเดิมต่อไป และ 3.การปรับองค์กรด้วยการลดจำนวนพนักงาน ซึ่งเห็นตรงกันว่าแนวทางที่ 3 นั้น เพื่อให้องค์กรยังคงอยู่ต่อไปได้ ซึ่งในเวลานี้ องค์การค้าฯ ได้ยืมเงิน สกสค.มากว่า 3,400 ล้านบาท และจะต้องยืมอีกกว่า 1,200 ล้านบาทเพื่อนำมาจ่ายค่าชดเชยและค่าบำเหน็จให้พนักงานอีก”

นายธนพรกล่าว

 

ในส่วนของนายอดุลย์ ผู้มารับตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน เปิดใจการมารับตำแหน่งครั้งนี้ว่า ถือว่างานนี้เป็นงานยาก เพราะดูทั้งบุคลากรและเครื่องมือ รวมถึงยังมีหนี้กว่า 7 พันล้านบาทที่ต้องหาทางแก้ไข เดิมนั้นองค์การค้าฯ ผูกขาดการพิมพ์ตำรา ทำให้กิจการใหญ่โต เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง เปิดการค้าเสรี มีการแบ่งสัดส่วนการตลาด จากที่เคยได้ 100% ลดลงมา 50% แต่ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง

ต้องจับตาดูว่าภายใน 1-2 เดือนนี้ อนาคตขององค์การค้าฯ จะเป็นอย่างไร ภายใต้การนำของ “นายอดุลย์ บุสสา” จะสามารถพลิกฟื้นองค์การค้าฯ  จากองค์กรที่ขาดทุนมาเป็นกำไรได้หรือไม่ ทั้งนี้ อย่าลืมว่า “องค์การค้าฯ” ไม่ได้มีปัญหาเรื่องขาดสภาพคล่องเท่านั้น ยังมีปัญหาทุจริต ฟ้องร้องกับบุคคลและบริษัทเอกชนอีกหลายเรื่องด้วย

ฉะนั้น ภายใต้การนำของผู้อำนวยการองค์การค้าฯ คนใหม่จะจัดการรับมือปัญหาที่เข้ามาอย่างไร??