สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง/ว่านน้ำ สมุนไพรจากอดีตถึงปัจจุบัน (1)

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

ว่านน้ำ

สมุนไพรจากอดีตถึงปัจจุบัน (1)

 

เข้าพรรษาฝนมาแล้ว แต่ยังไม่มาจุใจเพียงพอกับการกักเก็บน้ำในเขื่อนใหญ่ๆ ก็รอลุ้นกันต่อไปอีก 2-3 เดือน

หน้าฝนเช่นนี้ ขอนำเรื่องสมุนไพรที่ชอบน้ำหรือขึ้นในที่ชื้นแฉะ และเป็นพืชสมุนไพรที่มีความน่าสนใจมากในระดับโลกชนิดหนึ่ง คือ ว่านน้ำ

หรือที่รู้จักกันดีในภาษาอังกฤษในนามว่า calamus และ sweet flag

ในทางวิชาการ พันธุ์พืชว่านน้ำอยู่ในสกุล Acorus ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตอนกลางและยุโรปตะวันออก แต่ก็มีหลักฐานบางชิ้นอ้างว่าถิ่นกำเนิดอยู่ในจีนและอินเดีย

แต่จะกำเนิดในถิ่นไหนก็คงศึกษากันต่อไป

แต่ที่แน่ๆ อย่างไม่น่าเชื่อก็คือ มีการใช้ประโยชน์สมุนไพรว่านน้ำมาตั้งแต่ยุคสมัยอียิปต์ กรีกและโรมัน

ซึ่งถือว่าว่านน้ำเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งแต่โบราณที่มีความสำคัญทางการค้าด้วย และเพราะว่านน้ำสามารถขยายพันธุ์ด้วยเหง้า ทั้งการค้าและธรรมชาติที่ช่วยให้มีการกระจายว่านน้ำอย่างกว้างขวาง

ต่อมาก็แพร่พันธุ์เข้าสู่ยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 16

ในเอเชียมีการพบเห็นตามธรรมชาติในแถบภูมิภาคมาเลเซีย แต่เข้าใจว่าเป็นการกระจายพันธุ์เข้ามาโดยไม่ใช่สายพันธุ์ป่าหรือจากพื้นที่ดั้งเดิม แต่เป็นสายพันธุ์ที่มีการนำมาปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ แต่ก็อยู่มานานจนคุ้นชินจนเป็นพืชพื้นถิ่น

นอกจากนี้ ยังพบในหลายพื้นที่ของอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และปาปัวนิวกินี

 

ตามประวัติศาสตร์พบว่า มนุษย์รู้จักใช้ว่านน้ำทั้งการใช้ประโยชน์ด้านอาหารและยาในชีวิตประจำวัน รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีกรรมของคนทั่วโลกมาเป็นเวลานานกว่า 3,000 ปี ชื่อเรียกที่เขียนว่า “acorus” มาจากคำว่า ‘acoron” ในภาษากรีก

โดยผู้ที่เรียกนามเช่นนี้เป็นคนแรก คือ นายแพทย์ไดออสคอริดีส ซึ่งแปลงชื่อมาจากคำว่า “coreon” ที่มีความหมายว่า “รูม่านตา” เนื่องจากมีการใช้ว่านน้ำตั้งแต่อดีตแล้วในการรักษาการอักเสบของลูกตา

และในการกำหนดชื่อสกุลของพืช ซึ่งแต่เดิมว่านน้ำจัดอยู่ในสกุล Acorus และถูกจัดให้อยู่ในวงศ์พืชบอน หรือ Araceae แต่ต่อมาทางวิชาการได้แยกออกมาให้อยู่ในวงศ์ของตัวเอง คือวงศ์ว่านน้ำหรือ Acoraceae ซึ่งจัดว่าว่านน้ำเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งเข้าใจว่าภาพในพีระมิดที่อียิปต์ก็มีรูปต้นว่านน้ำด้วย ว่านน้ำเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในที่ชื้นแฉะหรือบริเวณที่มีน้ำท่วมขังเป็นครั้งคราว เมล็ดที่สะสมในดิน ถ้าอยู่ในที่อุณหภูมิสม่ำเสมอจะมีอัตราการงอกต่ำและใช้เวลานาน

แต่ถ้าอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิขึ้นๆ ลงๆ จะมีอัตราการงอกสูงและใช้เวลาในการงอกไม่นาน

ซึ่งเหมือนเป็นกลไกธรรมชาติให้อยู่รอดในสภาวะแปรปรวนได้ดี

 

การใช้ประโยชน์ของว่านน้ำนั้น เรียกได้ว่าเป็นสมุนไพรที่มีการใช้ประโยชน์อย่างอเนกอนันต์มาตั้งแต่อดีต และใช้กันอย่างแพร่หลาย

แต่หลังจากเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้วได้มีการศึกษาความเป็นพิษ พบว่าว่านน้ำมีสารพิษที่เรียกว่า B-asarone ทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาจึงห้ามใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มาจากว่านน้ำมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1968 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม ในแถบเอเชียส่วนใหญ่มีการใช้ว่านน้ำเป็นยาสมุนไพรกันอย่างแพร่หลายในหลายรูปแบบ และยังไม่เคยมีรายงานว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งหรือตับถูกทำลาย

แต่เพื่อความไม่ประมาท การใช้ว่านน้ำก็ควรอยู่บนหลักการใช้ตามตำรา ตามตำรับของประสบการณ์ที่มีผู้ใช้ มิใช่นำมาใช้อย่างอุตริผิดเพี้ยน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพได้

มาดูการใช้ประโยชน์ของประเทศเพื่อนบ้านกันก่อน

 

ว่านน้ำมีการบันทึกไว้ในตำรายาจีนที่ชื่อว่า Shennong’s classic of materia medica ซึ่งได้เขียนไว้ในช่วง 200 ปีก่อนคริสตกาล ถึงปี ค.ศ.200 พูดง่ายๆ บันทึกเก่าประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว ได้กล่าวไว้ว่าว่านน้ำใช้ในการรักษาอาการหูหนวก ตาบอด ตะคริวและความผิดปกติในระบบย่อยอาหาร ในประเทศเนปาลใช้เหง้าว่านน้ำเคี้ยวกินแก้เจ็บคอ

ในประเทศอินเดียมีการใช้ว่านน้ำเป็นยารักษาโรคหลายชนิด ทั้งที่บันทึกในตำรายาอายุรเวทและในประสบการณ์การใช้ของชาวบ้านอินเดียจนถึงปัจจุบันก็ยังมีการใช้กันอยู่ เช่น โรคลมชัก การเจ็บป่วยทางจิต ท้องร่วงเรื้อรัง โรคบิด ไข้ เนื้องอกในช่องท้อง ไตและตับมีปัญหา โรคไขข้ออักเสบ

และในรัฐอัสสัมซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียนั้น คนท้องถิ่นเชื่อว่า “ว่านน้ำ” เป็นพืชวิเศษที่วิญญาณหรือปีศาจไม่สามารถเข้ามาทำลายผู้ที่มีว่านน้ำติดตัว จึงพกพาว่านน้ำไว้ป้องกันสิ่งไม่ดีด้วย โดยเชื่อว่ากลิ่นที่มีอยู่ในว่านน้ำช่วยขับไล่ และยังมีการนำเอาว่านน้ำวางไว้บนแท่นบูชาทั้ง 4 ทิศ หรือที่ประตูทางเข้าเหมือนคอยปกปักรักษา

ในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีและอินเดีย ชาวบ้านที่ยังคุ้นเคยวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมจะนำชิ้นส่วนของเหง้าว่านน้ำซ่อนไว้ในผม เชื่อว่าช่วยทำให้มีสุขภาพดี เหง้าของว่านน้ำมีกลิ่นหอม เป็นกลิ่นเฉพาะ ซึ่งอาจมีส่วนคล้ายหลักการกลิ่นบำบัด หรือ aromatherapy

ในประเทศโปแลนด์ มีการนำเอาไส้ในของลำต้นว่านน้ำที่ยังอ่อนอยู่มาทำเป็นขนมขบเคี้ยวให้เด็กกินในช่วงเทศกาล “เพ็นเทคอสต์” (เทศกาลขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับการเก็บพืชผล) และมีการนำเอาว่านน้ำมาประดับตกต่งในบ้าน

ในอดีตขนมที่ทำจากว่านน้ำเป็นที่นิยมมากในประเทศโปแลนด์ แต่ปัจจุบันพบเห็นน้อยลง

และในประเทศจีน เทศกาลที่สำคัญ เช่น เทศกาลแข่งเรือมังกร ประชาชนทุกครัวเรือนนำเอาริบบิ้นสีสวยงามมาผูกกับว่านน้ำแล้วแขวนไว้ที่ประตูบ้าน เทศกาลนี้มีมานานกว่า 4,000-5,000 ปี เข้าใจว่าเป็นสัญลักษณ์ของการมีสุขภาพดีและอายุยืนยาว

ว่านน้ำเป็นสมุนไพรรักษาโรคและยังเป็นสัญลักษณ์ของการมีสุขภาพดี ที่น่าดีใจคือ ในทางวิชาการจำแนกได้ว่า ว่านน้ำในโลกนี้มี 2 ชนิด แล้วประเทศไทยซึ่งมีความอุดสมบูรณ์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เรามีว่านน้ำทั้ง 2 ชนิด

ติดตามรายละเอียดในฉบับต่อไป