โฟกัสพระเครื่อง /พระเครื่องพิมพ์ทรงสัตว์ หลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค จ.อยุธยา

หลวงพ่อปาน โสนันโท

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ[email protected]

พระเครื่องพิมพ์ทรงสัตว์

หลวงพ่อปาน โสนันโท

วัดบางนมโค จ.อยุธยา

 

 

‘หลวงพ่อปาน โสนันโท’ วัดบางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา พระเกจิอาจารย์ เจ้าตำรับพระเครื่องทรงพาหนะสัตว์ และยันต์เกราะเพชร

แม้จะมรณภาพไปแล้วเกือบ 80 ปี แต่นามยังเป็นที่กล่าวขวัญ โดยเฉพาะชาวเมืองกรุงเก่า ต่างรักและหวงแหนในมงคลวัตถุ และแทบทุกครัวเรือนต้องมีภาพถ่ายไว้บูชา

เป็นศิษย์ของหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ พระเกจิดังแห่งพระนครศรีอยุธยา และหลวงพ่อเนียม วัดน้อย จ.สุพรรณบุรี

สร้างพระเครื่องวัตถุมงคลเป็นครั้งแรกประมาณปี พ.ศ.2450 มีด้วยกันหลายพิมพ์ วงการพระเรียกกันว่า พิมพ์โบราณ

ต่อมา พ.ศ.2460 จึงสร้างรุ่น 2 ให้มีรูปแบบสวยงามกว่าครั้งแรก แบ่งเป็น 6 พิมพ์หลัก คือ ทรงไก่, ทรงครุฑ, ทรงหนุมาน, ทรงปลา, ทรงเม่น และทรงนก แต่ละพิมพ์ยังแยกย่อยออกไปอีกหลายพิมพ์ พิมพ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ พิมพ์ทรงไก่

พระหลวงพ่อปาน พิมพ์ทรงไก่หางพวง

 

พระหลวงพ่อปานมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ผงวิเศษ 3 สูตรที่บรรจุในองค์พระ คือ ผงวิเศษหัวใจสัตว์ ผงวิเศษจากยันต์เกราะเพชร และผงวิเศษ 5 ประการ อันประกอบด้วย ผงอิทธิเจ ผงปถมัง ผงมหาราช ผงตรีนิสิงเห และผงพระพุทธคุณ ทำให้มีพุทธคุณอเนกอนันต์ ใช้งานสารพัดอย่างเป็นเลิศ

ลักษณะเป็นพระเนื้อดินเผาทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เจียนมุมทั้งสี่ด้าน เนื้อดินเป็นดินขุยปูและดินนวลตามทุ่งนา มีความละเอียดปานกลาง จึงมีเม็ดทรายเล็กปรากฏทั่วองค์พระ และบางส่วนจมอยู่ใต้ผิวกลายเป็นแง่มุม ดันเนื้อขององค์พระให้นูนเป็นตุ่มแหลมเล็กอยู่ทั่วองค์พระ

และเนื่องจากการเผานั้นใช้แกลบมาสุมไฟ ทำให้สภาพเนื้อขององค์พระจะมีร่องรอยแกลบ สีขององค์พระจะเป็นสีอิฐหรือสีหม้อใหม่ เหมือนพระเนื้อดินทั่วไป

พุทธลักษณะ พิมพ์ทรงไก่หางพวง ด้านหน้า เป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง ปางสมาธิ อยู่เหนือฐานบัลลังก์ ด้านข้างพระพุทธประธานทั้งสองข้าง มีอักขระขอมตัวนูนข้างละ 2 ตัว คือ มะ อะ อุ อุ อันเป็นยอดพระคาถาหัวใจพระไตรปิฎก ส่วนด้านล่าง ใต้ฐานองค์พระ จะเป็นรูปไก่หางพวง ในลักษณะแบกฐานองค์พระปฏิมา ด้านหลังเรียบ

พุทธคุณและทัศนคติความเชื่อ พิมพ์ทรงไก่ เด่นการทำมาค้าขาย เมตตามหานิยม

กลายเป็นพิมพ์นิยมในวงการพระเครื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

มีชื่อเดิมว่า ปาน สุทธาวงศ์ เกิดวันที่ 16 กรกฎาคม 2418 ที่ ต.บางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ครอบครัวมีอาชีพทำนา

เหตุที่ได้ชื่อว่าปาน เพราะมีตำหนิ คือ ปานแดงที่นิ้วก้อยมือซ้าย ลักษณะเหมือนสวมปลอกนิ้วตั้งแต่โคนถึงปลายนิ้วมาแต่กำเนิด เมื่อยังเล็กเริ่มศึกษาอักขระจากพระในวัดบางนมโค

จนเมื่ออายุ 21 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดบางนมโค เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2438 โดยมีหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์จ้อย วัดบ้านแพน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์อุ่ม วัดสุทธาโภชน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ตั้งใจศึกษาวัตรปฏิบัติด้วยความขยันหมั่นเพียร สามารถท่องพระปาติโมกข์จนจบด้วยความคล่องแคล่ว ศึกษาวิทยาคมจากหลวงพ่อสุ่นเป็นเวลา 2 ปี แล้วไปขอเรียนบาลีไวยากรณ์ที่วัดเจ้าเจ็ดในกับท่านอาจารย์จีน ก่อนจะเข้ามาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ

พักอยู่กับพระอาจารย์เจิ่น วัดสระเกศ ร่ำเรียนทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระ รวมทั้งความรู้ทางแพทย์แผนโบราณ จากนั้นกลับมาจำพรรษาที่วัดบางนมโค ในปี พ.ศ.2442

หลวงพ่อคล้าย เจ้าอาวาสวัดบางนมโคขณะนั้น มอบหน้าที่ให้เป็นครูสอนหนังสือ โดยริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนสอนพระภิกษุ-สามเณรและเด็กวัด ตลอดจนลูกชาวบ้าน และรับหน้าที่ปกครองดูแลทั้งหมด

ใฝ่ใจศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐาน พร้อมทั้งยังไปขอศึกษาด้านกัมมัฏฐานเพิ่มเติมจากหลวงพ่อเนียม วัดน้อย พระเกจิชื่อดังเมืองสุพรรณ

นอกจากนี้ ยังเป็นพระนักเทศน์ฝีปากเอก ที่ผู้ฟังจะเกิดศรัทธาเลื่อมใส ด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะ การเทศน์ของท่านจะมีเหตุมีผล มีตัวอย่างยกมาเทียบเคียงให้เห็นผลดีผลเสีย ให้เห็นถึงบาปบุญคุณโทษ และชี้ทางสว่างได้อย่างเข้าใจได้ง่าย

กิจนิมนต์มีแทบไม่ว่างเว้น และทุกครั้งที่ได้อดิเรกลาภเป็นสิ่งของหรือปัจจัย จะนำมาถวายพระลูกวัด โดยไม่เก็บไว้

นอกจากความมีมานะ พูดจริงทำจริง อดทนต่อความยากลำบาก และมีจิตใจเข้มแข็ง กล้าหาญเด็ดขาด ทั้งเปี่ยมด้วยเมตตากรุณา ท่านยังชอบแสวงหาความรู้อยู่เสมอแล้ว

เป็นนักก่อสร้าง นักพัฒนา หมอแผนโบราณ ฯลฯ

 

อายุ 61 ปี เริ่มอาพาธและแจ้งให้บรรดาศิษย์ทราบว่าอีก 3 ปี ท่านจะมรณภาพในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 8 เวลา 6 โมงเย็น กระทั่งครบปีที่ 3 ย่างเข้าเดือน 8 ท่านเกิดอุบัติเหตุหกล้มแล้วเริ่มอาพาธ ครั้นพอเวลา 6 โมงเย็น วันแรม 14 ค่ำ เดือน 8 ถึงกาลมรณภาพโดยสงบด้วยวัย 64 ปี

มรณภาพวันที่ 26 กรกฎาคม 2481 สิริอายุ 63 ปี พรรษา 43

เสียงกำชับเตือนใจที่ให้แก่ศิษย์เป็นครั้งสุดท้าย ท่านขอ 2 อย่าง คือ “อย่าดื่มสุรา และอย่าลักขโมย ประพฤติเป็นโจร”