มองบ้านมองเมือง/ ปริญญา ตรีน้อยใส / เรือนไม้สักที่แพร่

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

เรือนไม้สักที่แพร่

 

ฉบับที่แล้ว พาไปมองเรือนไม้สีเขียวที่อยู่ไกลถึงเมืองแพร่ แต่ว่าเป็นข่าวฮือฮาในสังคมออนไลน์ แล้วกระจายผ่านสื่ออะนาล็อกไปทั่วประเทศ

เรื่องมีอยู่ว่า ช่างบริษัทรับเหมาเอกชนไปรื้อถอนอาคารราชการ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างใหม่ให้แข็งแรงตามที่ได้รับงบประมาณ แต่ชาวบ้านไม่รู้เรื่อง และไม่เชื่อ เพราะดูจากวิธีทำงาน เหมือนจะรื้อทิ้งมากกว่า

เลยเป็นภาระให้นักวิชาการ หัวหน้างาน ผู้ว่าราชการ ต้องออกมาชี้แจงกันทั่วหน้า ส่งผลให้เรือนไม้หลังเล็กนี้ เป็นพริกขี้หนูที่สร้างรสเผ็ดสะท้านไปทั่วบ้านทั่วเมือง

คงจะเหมือนกรณีอาคารชุดพักอาศัยเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ที่เป็นอาคารสูงหลังเดียว แต่ทำให้ผู้คนเข้าใจคำว่าทัศนอุจาด

ส่งผลให้มีกฎระเบียบควบคุมความสูงอาคารในบริเวณใกล้เคียง และขยายไปทั่วทั้งบริเวณเขตเมืองเก่ากรุงเทพฯ ที่รู้จักว่าเกาะรัตนโกสินทร์ อัญมณีเลอค่าไทย

 

ต้องขอบคุณชาวเมืองแพร่ที่ส่งเสียง ชาวเมืองอื่นที่สร้างกระแส จนข้าราชการ หัวหน้างาน จนถึงผู้ว่าราชการต้องออกมาชี้แจง และสั่งการให้ดำเนินงานให้เหมาะสม โดยให้ถือว่าเรือนไม้หลังนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ที่จะต้องดูแลรักษา ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองแพร่

เลยขออนุญาตใช้พื้นที่นี้ รายงานผลการวิจัยของสภาวิจัยแห่งชาติ เรื่อง มรดกวัฒนธรรมไทย-ลาว สองฝั่งโขง : สถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่เชียงราย ฝั่งไทย และบ่อแก้ว ฝั่งลาว ไปจนถึงอุบลราชธานี ฝั่งไทย จำปาศักดิ์ ฝั่งลาว โดยคณะผู้วิจัยช่วยกันสำรวจอาคารที่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตก กว่าสามร้อยหลัง ที่มีคุณค่า เป็นอาคารประวัติศาสตร์ และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมชุมชน

อาคารทั้งหมดกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ที่สำรวจ ทั้งในเขตชุมชนและชนบท

บางหลังอาจมีความสำคัญ แต่ส่วนใหญ่เป็นอาคารธรรมดา แต่ชาวบ้านล้วนผูกพันและคุ้นเคย คล้ายเรือนไม้สีเขียวที่แพร่

อาจด้อยค่าในสายตานักวิชาการโดยเฉพาะข้าราชการ เมื่อเทียบกับอาคารหรือเรือนไม้สวยๆ ในกรุงเทพฯ

แต่ข่าวเรือนไม้ที่แพร่นี้ คงจะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลตระหนักมากขึ้น ว่าชาวบ้านเขารู้ เขาเห็น เขาหวงแหนอาคารของเขาอย่างไร

 

ในรายงานวิจัยเรื่องนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองแพร่ พบว่ามีสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าอีกหลายหลังที่สวยงาม ใหญ่โต มีลวดลายวิจิตรพิสดาร

ทั้งนี้เป็นเพราะในช่วงเวลาที่เมืองแพร่และเมืองอื่นทางภาคเหนือยังอุดมสมบูรณ์ด้วยไม้สักล้ำค่า บริษัทข้ามชาติอย่างบอมเบย์เบอร์มา บอร์เนียว หลุยส์ ที. ลีโอโนเวนส์ อีสต์เอเชียติก หรือเฟรนช์เอเชียติก พากันเข้ามาหาผลประโยชน์ ตัดไม้ส่งไปขายทั่วโลก ด้วยเป็นที่ต้องการอย่างมาก ในการก่อสร้าง ทำเฟอร์นิเจอร์ และต่อเรือ

บรรดาผู้จัดการและช่างฝรั่งเลยแข็งขันกันสร้างบ้านเรือน สำนักงาน อย่างใหญ่โตและสวยงาม รวมทั้งสร้างคุ้ม หรือบ้านพักให้เจ้าเมืองและครอบครัว รวมไปถึงขุนนางผู้คุมกำลัง หรือกุมอำนาจ

เนื่องจากในยุโรปเวลานั้นกำลังนิยมอาคารไม้หลังใหญ่ ตกแต่งลายฉลุตามเชิงชาย ค้ำยัน ราวระเบียง หน้าจั่ว และกรอบหน้าต่าง ประตู และช่องลม ที่เรียกขานว่าเรือนขนมปังขิง ตามชื่อขนมที่ทำจากขิง ใช้ตกแต่งในเทศกาลงานคริสต์มาส และรู้จักในนามสถาปัตยกรรมวิกตอเรียน ตามพระนามของมหาราชินีของสหราชอาณาจักร ด้วยรูปแบบนี้เป็นที่นิยมมากในอังกฤษ

อาจถือได้ว่านอกจากพระราชฐานบางหลังในพระนคร อย่างพระที่นั่งอภิเษกดุสิตและพระที่นั่งวิมานเมฆ ในสวนดุสิตและพระราชนิเวศน์มฤคทายวันที่ชะอำแล้ว คงจะเป็นหมู่เรือนไม้ที่แพร่เท่านั้น ที่งดงาม และมีคุณค่า

ที่สำคัญไม่เหลือแล้วในเมืองอื่น ไม่ว่าจะเป็นลำปาง หรือเชียงใหม่ จะมีอีกแห่งที่พบจากการสำรวจ คือที่ว่าการอำเภอเวียงป่าเป้า แม้จะมีขนาดใหญ่ แต่ลวดลายการตกแต่งน้อยมาก

 

ไหนๆ คนเมืองแป้ออกมาแสดงความห่วงใยเรือนไม้เขียวสำเร็จ ทำให้เกิดความสนใจ เจ้าหน้าที่รู้แล้วว่าต้องทำอย่างไร จึงอยากขอแรงให้ช่วยขยายกิจกรรมไปยังเรือนไม้สวยงามหลังอื่น ได้แก่ คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ และอาคารน้ำเพชรในโรงเรียน ซึ่งเป็นของทางราชการ ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดเรื่องแบบเดียวกันอีก

แต่สำหรับอาคารส่วนใหญ่ที่เป็นของเอกชนได้แก่ คุ้มวิชัยราชา บ้านวงศ์บุรี บ้านหลวงศรีนครานุกุล บ้านเจ้าหนานไชยวงศ์ บ้านวงศ์พระถาง และบ้านขัติยะวรา อาจยากหน่อย คงต้องเป็นความร่วมมือภาครัฐและเอกชน โดยประชาชนคอยชื่นชม สนับสนุน ผ่านผู้บริหารท้องถิ่น ช่วยเหลือผู้ครอบครองอาคาร

เช่น ไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือน ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาซ่อมแซม นำมาลดหย่อนภาษีได้เต็มที่ หรือมากกว่า จนถึงขั้นจัดสรรงบประมาณสนับสนุน ถ้าเปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้บ้าง รวมทั้งเชิดชูเกียรติ ให้รางวัล ยกย่อง

หลังกระแสคราวนี้ คนเมืองแป้คงต้องช่วยกันหาวิธีเก็บรักษาเรือนไม้สัก รูปแบบวิกตอเรียน ไว้ให้เป็นศรีแก่ชุมชน เสริมสร้างภูมิทัศน์บ้านเมือง เป็นประจักษ์พยานแห่งความเก่าแก่ของเมืองแพร่ต่อไป