ความฝันอันสูงสุด“สุวพันธุ์” จากหัวหน้าข่าวกรองสู่รมต.ยุติธรรม “ปชช.ยังเดือดร้อน เป็นรมต.ไม่มีความสุข”

ชื่อ “สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ” ถูกมองว่ากุมความลับ เดินเกมใต้ดิน-บนดินให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

จากผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ยุคสมัย “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เลื่อนชั้นเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยุคสมัย “รัฐบาลนายพล คสช.”

จนกระทั่งมาเป็นคนที่ “ถูกเลือก” ให้มานั่งเก้าอี้-รับภารกิจในกระทรวงยุติธรรมแทน “พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา” องคมนตรีคนปัจจุบัน ทั้ง “จ๊อบดิสคริปชั่น” จานร้อน-งาน “มอนิเตอร์” คดีความมั่นคงในลิสต์ยาวเป็นหางว่าว

ตลอดจนหมวก “หัวหน้าหน่วยปราบโกง” ในศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) งานที่ต้อง “รับช่วง” ต่อจากอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่บันทึกสถิติ-ผลงานไว้เต็มเพดาน รวมถึงงานด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด-ด้านการพัฒนากฎหมายเป็น “วาระแห่งชาติ”

ขณะเดียวกันงานแก้ปัญหาเฉพาะหน้า-เร่งด่วน ไล่ล่า “พระธัมมชโย” อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ให้มารับโทษทัณฑ์ เป็น “ลูกติดพัน” จากสมัยรับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในทำเนียบรัฐบาล ยังต้องปิดจ๊อบให้สำเร็จ

เขาปฏิเสธเสียงอ่อนๆ ว่า ไม่ได้เป็นคน “กุมความลับ” รัฐบาล-คสช. หรือเดินเกมลับ ที่ผ่านมาทำงานตามเนื้อผ้า ทำงานตามอำนาจ-หน้าที่ที่มี

เหรียญด้านหนึ่งของ “สุวพันธุ์” นอกจากภารกิจร้อน-เร่งด่วน-วาระแห่งชาติแล้ว เหรียญ “อีกด้าน” หนึ่งของเขาในตำแหน่ง “เสนาบดียุติธรรม” คือ งานอำนวยความยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ

เขาแจกแจงว่า ตั้งแต่มารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีงานอยู่สองลักษณะ ลักษณะแรก เป็นงานขับเคลื่อนของกระทรวงยุติธรรม โดยอำนาจหน้าที่คือ การอำนวยความยุติธรรม การบริหารงานยุติธรรม ลักษณะที่สอง เป็นงานการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เร่งด่วน เช่น กรณีวัดพระธรรมกาย

เหรียญอีกด้านของ “สุวพันธุ์” ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงนัก ทว่า เขากลับมองว่าเป็น “งานสำคัญ” และให้ความสำคัญ “สูงสุด” ของกระทรวงยุติธรรม คือ งานที่มีประชาชนเป็น “ศูนย์กลาง”

“ผมอยากทำงานอำนวยความยุติธรรมให้ดี ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างรวดเร็ว เท่าเทียม ประหยัด เสียค่าใช้จ่ายน้อย และได้รับประโยชน์จากงานอำนวยความยุติธรรมตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง”

งานอำนวยความยุติธรรมที่ “ฝัง” อยู่ในหน่วยงานสังกัดของกระทรวงยุติธรรม อาทิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทั้งเรื่องหนี้นอกระบบ เรื่องการรุกล้ำที่ดิน เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เรื่องการไม่ได้รับการดูแลเรื่องสิทธิเสรีภาพ โดยคลินิกยุติธรรมทำงานร่วมกับสภาทนายความแห่งประเทศไทย

“การให้ความช่วยเหลือ ให้คำแนะนำประชาชนในเรื่องความรู้ด้านกฎหมาย เรื่องสิ่งที่ประชาชนต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เช่น ถูกตำรวจเชิญตัว เรื่องขัดแย้ง ทะเลาะกัน ทำอย่างไรที่เราจะเข้าไปไกล่เกลี่ย ไม่ให้ต้องเป็นคดีความ ให้กรมคุ้มครองสิทธิฯ เข้าไปทำ ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้าไปทำ หลังจากมีคดีความแล้ว เรื่องใดที่ไกล่เกลี่ยได้ ยุติความขัดแย้งนั้นได้ เรื่องเหล่านี้จะอยู่กลางทาง กระทรวงยุติธรรมจะเข้าไปดูแล หรืองานที่อยู่ปลายทาง เช่น งานของกรมราชทัณฑ์ กรมพินิจเด็กและเยาวชน กรมคุมประพฤติ มาดูแลคนที่ต้องโทษแล้ว เยาวชน เด็กที่ต้องโทษ หรือคนที่พักโทษ คนที่รอลงอาญา ซึ่งเป็นงานของกรมคุมประพฤติต้องเข้าไปดูแล”

“สิ่งที่คิดอยู่ในขณะนี้และได้เริ่มทำไปแล้วตั้งแต่ก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่ง คือ เรื่องการอำนวยความยุติธรรมลงไปในพื้นที่ให้กว้างขวางและมีกลไกทั่วประเทศ ในฐานะกรรมการคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ทั้งระบบของประเทศ เป็นกลไกหลักในการตั้งคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมจังหวัด ลงไปในจังหวัด

โดยกระทรวงยุติธรรมต้องคิดต่อว่าจะขับเคลื่อนต่อไปอย่างไร เพื่อให้เกิดการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมของประเทศให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และลงไปอยู่ในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ทำให้กฎหมายที่เปรียบเสมือนยาสามัญประจำบ้านที่ชาวบ้านควรรู้ว่ามีอะไร”

“เมื่อประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จะไปหาใคร จะมีใครช่วยเหลือได้บ้าง โดยประสานกับศูนย์ดำรงธรรมกับกองทุนอำนวยความยุติธรรม”

งานต่อไปของกระทรวงยุติธรรมคือการหว่าน “เมล็ดพันธุ์” แห่งความยุติธรรม ผ่านการตั้ง “ศูนย์อำนวยการความยุติธรรม” ระดับรากหญ้า ทั้งในระดับชาติ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ โดยทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กรรมการหมู่บ้าน โดยมีกระทรวงยุติธรรมเป็น “ข้อต่อ”

อาทิ การมีฝ่ายกิจการยุติธรรมอยู่ในคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของคณะกรรมการพัฒนาบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพอช.) คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานจังหวัด (กพอจ.) โดยศูนย์อำนวยการที่จะมีขึ้นในอนาคตเป็น “ตัวช่วย” ในการขับเคลื่อน เพื่อทำให้งานอำนวยความยุติธรรมทั้งหมดกระจายลงไปในพื้นที่อย่างทั่วถึง

สำหรับ “เครื่องมือ” ทางกฎหมายที่จะ “อำนวยความยุติธรรม” ให้ “คดีการเมือง” เพื่อสนองปีแห่ง “ความปรองดอง” ตามนโยบายของรัฐบาล-คสช. ที่มี “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการเตรียมการสร้างความปรองดองนั้น

“สุวพันธุ์” ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นกรรมการคณะกรรมการเตรียมการปรองดองโดยตำแหน่ง พร้อมที่จะ “ช่วยคิด-ช่วยทำ” เพื่อสนับสนุน “แผนปรองดอง” ที่จะเกิดขึ้นอย่างเต็มความสามารถ

จากชะตาสู่ภารกิจ ตั้งแต่ “คนเสิร์ฟข่าว” ในสำนักข่าวกรอง ไต่ระดับมาจนถึงเก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนจะมาถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม “สุวพันธุ์” ตอบแบบไม่คิดเลยว่า ไม่เคยคาดฝันว่าจะมายืนอยู่จุดนี้

“(หัวเราะ) ใครจะคาดฝันไว้ล่วงหน้า ผมยึดหลักทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ไม่เคยคิดว่าอยู่ในตำแหน่งนี้แล้ว ต้องไปอยู่ในตำแหน่งนั้นต่อ ให้ทำอะไรก็ทำไปตามอำนาจหน้าที่ เต็มกำลังความสามารถ เต็มกำลังสติปัญญา มีกำลังแค่ไหนก็ทำเต็มที่”

ขณะที่คำถามเบสิกที่รัฐมนตรีทุกคนต้องตอบ คือ เคยคิดย้อนกลับไปหรือไม่ว่า ทำไมถึงได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จากผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติในสมัย “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ให้มานั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขับเคลื่อนงานสำคัญ-เร่งด่วนของรัฐบาล ก่อนจะมาทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแทน พล.อ.ไพบูลย์ ผู้ที่ไปเป็นองคมนตรีในขณะนี้

“ผมไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้หรอก ต้องไปถามคนที่แต่งตั้งผมมา เป็นคำถามที่ผมไม่สามารถบอกได้ เพราะผมยึดหลักว่า ให้ทำอะไรก็ทำ”

เมื่อรู้ว่าต้องมารับตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรม ตำแหน่งที่ต้องแบก-รับของร้อน มีเรื่องต้องให้แก้ไขปัญหาชนิดไม่ขาดสาย เขาไม่ได้รู้สึกตระหนก-ประหม่าที่ต้องมาทำหน้าที่นี้ สมกับเป็น “อดีต ผอ.ข่าวกรอง” ผู้กุมข่าวลับ-ข่าวลวงในทุกมิติ

“มันขึ้นอยู่กับห้วงเวลา การเป็นรัฐมนตรียุติธรรม ถ้าตราบใดก็ตามประชาชนยังมีเรื่องเดือดร้อน มีเรื่องต้องมาร้องทุกข์ เกี่ยวกับเรื่องความยุติธรรมที่เขาไม่ได้รับ ตราบนั้น เป็นรัฐมนตรีก็ไม่มีความสุขหรอก ก็ต้องทำ ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกถึงสิ่งที่เขาควรได้รับ คือ ความเท่าเทียมกันในเรื่องความยุติธรรม สิ่งที่กระทรวงยุติธรรมต้องทำให้ประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด แต่ถ้าประชาชนไม่ได้รับก็ถือว่างานของเรายังไม่เสร็จสมบูรณ์”

ถึงแม้ว่าโชคชะตาและวาสนา “ขีดเส้น” ให้คนชื่อ “สุวพันธุ์” พุ่งกระฉูดแบบไม่คิด-ไม่ฝันไว้ล่วงหน้า ในวันนี้เขาจึงมี “ฝันอันสูงสุด” คือ การเป็นเพียง “คนธรรมดา” เพราะอย่างที่เขาว่า “ตราบใดประชาชนยังมีความทุกข์ เป็นรัฐมนตรีก็ไม่มีความสุข”