ภูริทัต หงษ์วิวัฒน์ นิสิตอักษรฯ จุฬาฯ เจ้าของบทประพันธ์ “เราขอสู้ในนามจามจุรี” ที่ ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ “ปลื้ม”

“ถ้าประเทศไทยเราไม่มีนักวิชาการอย่าง ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผมคิดว่าสภาพของสังคมไทย-ปัญญาชนไทยมันอาจจะมืดมัวกว่านี้เยอะเหมือนกัน เพราะอาจารย์นิธิเป็นคนจุดประกายความคิดใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดการโต้แย้ง และเกิดความคิดสนับสนุน เกิดการต่อยอด จากทั้ง 2 มุม 2 ฝั่ง แล้วมันเป็นความเกื้อหนุนกันอยู่ในตัว ที่ทำให้วงการวิชาการไทยเจริญขึ้นมา”

คำบอกกล่าวจากนายภูริทัต หงษ์วิวัฒน์ นิสิตภาควิชาภาษาไทยชั้นปีที่ 4 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึง ศ.นิธิ ในฐานะ “รุ่นพี่” คนหนึ่งที่เคยเอ่ยชื่นชมบทกลอน “เราขอสู้ในนามจามจุรี” ที่นายภูริทัตเป็นคนแต่ง

ในห้วงที่นิสิตจุฬาฯ ออกมาเคลื่อนไหวแสดงออกทางการเมือง แฟลชม็อบจากนิสิต-นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ย้อนไปก่อนหน้านี้ ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เคยขอพูดบนเวทีเสวนา “ภาระของความรู้ในยุคเสื่อมสามานย์ของไทย” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมาว่า ขออนุญาตพูดเรื่องหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวกับหัวข้อเสวนาในวันนั้นว่า

“ตลอดชีวิตที่ผ่านมาจนใกล้ฝั่ง ไม่เคยมีครั้งไหนที่ผมรู้สึกภาคภูมิใจกับการเป็นนิสิตศิษย์เก่าจุฬาฯ เท่าวันนี้ ไม่เคยรู้สึกภาคภูมิใจในโรงเรียนเก่าตัวเอง จนกระทั่งได้อ่านกลอนที่ชื่อว่า เราขอสู้ในนามจามจุรี”https://youtu.be/jFx0v8n6t80

ความบทแรกว่า “เราขอสู้ในนามจามจุรี ประกาศแก่ธรณีและสรวงสวรรค์ กู้เสาหลักที่แหลกลาญมานานวัน ให้ตั้งมั่นสถิตอยู่คู่แผ่นดิน”

ส่วนบทสุดท้ายมีว่า “เราขอสู้ในนามจามจุรี สู้ในนามประชาชีที่ขื่นขม สู้เพื่อสิทธิที่จะสร้าง-ล้างโสมม หน้าเราก้มมานานเนิ่น นานเกินพอ!”

ภูริทัตเล่าว่า ตอนที่ผมเขียนบทกลอนนั้น ผมก็รู้สึกว่าซาบซึ้ง โดยเขียนมาจากความรู้สึกของตัวเองและอยากจะถ่ายทอดความรู้สึกนี้ออกมาผ่านบทกลอน

พอเห็น อ.นิธิได้อ่านแล้ว ผมมีความรู้สึกเหมือนกันในฐานะที่อาจารย์เปรียบเสมือนรุ่นพี่ของเราคนหนึ่ง ผมก็รู้สึกดีที่อาจารย์ชื่นชอบ

ยิ่งเป็นอาจารย์ที่เรานับถืออยู่แล้วด้วยถึงแม้จะไม่เคยพบเจอตัวจริงก็ตาม ผมก็รู้สึกว่าตื่นเต้นและปลื้มปีติที่อาจารย์ชื่นชอบงานของเรา

หากให้ภูริทัตกล่าวถึงงานของ อ.นิธิ ที่ชื่นชอบและรู้จักเป็นเรื่องแรกๆ คือ ปากไก่และใบเรือ รวมบทความเกี่ยวกับวรรณคดีของอาจารย์ เพราะเหมือนงานที่ได้เปิดโลกทัศน์ แตกต่างจากตอนเด็กๆ ที่เคยได้เรียนวรรณคดีมาแบบหนึ่ง เห็นวิธีการเล่นความการอุปมาอุปไมย อุปลักษณ์ พอมาเจอหนังสือเล่มนี้เข้าแล้วรู้สึกว่าเรามองวรรณคดีไทยไปอีกแบบหนึ่งได้ด้วยหรือ

อย่างบทความของอาจารย์เรื่องสุนทรภู่มหากวี กระฎุมพี อะไรทำนองนี้ ถือว่าเป็นบทความที่เขย่าสมองของเรามากๆ

ทำให้เราได้ฉุกคิดว่าจริงๆ แล้วที่ “สุนทรภู่” เป็นที่นิยมนอกจากฝีมือความสามารถรูปแบบในการแต่งกาพย์กลอนแล้ว ยังมีปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมเข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก

ประเด็นเหล่านี้ทำให้เราได้กลับมาคิด แบบที่ไม่เคยคิดมาก่อน

ความรู้สึกแรกๆ ของการได้ศึกษางานของ อ.นิธิมันเหมือนมีแสงสว่างปุ๊บเข้ามาในหัว วาบเข้ามาอะไรแบบนั้น ซึ่งมีหลายงาน เช่น งานที่เกี่ยวกับมหาชาติคำหลวง บทความเกี่ยวกับปฐมสมโพธิกถา วรรณคดีพุทธประวัติ ปกติเราเคยอ่านเป็นเล่มใหญ่ๆ ที่เป็นตัวบทเดี่ยวๆ ไม่เคยพิจารณาสังคมโดยรอบ

แต่พอเรามาอ่านบทความของอาจารย์นิธิ มันกลับได้เห็นมุมอีกมุมหนึ่ง

งานของอาจารย์หลายครั้งมักก่อให้เกิดกระแสและทำให้มีอีกหลายบทความเกิดขึ้นมาตอบโต้ เราก็ไปไล่ตามอ่าน

แม้ว่าส่วนตัวอาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับอาจารย์ทั้งหมด อาจจะมีบางมุมที่เห็นแย้ง แต่ว่า ณ ตอนนั้นๆ ข้อเสนอของอาจารย์มันเป็นแง่มุมสดใหม่ทางประวัติศาสตร์ ทางวงการวรรณคดี ผมรู้สึกนับถือแล้วก็ทึ่งในความสามารถที่อาจารย์ท่านสามารถดึงมุมอะไรให้เราเห็นได้

เพราะการที่ศึกษาวรรณคดีเพียงอย่างเดียวอาจจะคิดไปไม่ถึงแบบในมุมของอาจารย์

นิยามอาจารย์นิธิสำหรับผมในฐานะผู้สนใจวรรณคดี ก็ถือว่าเป็นผู้พลิกโฉมด้านวรรณคดีเลยก็ได้ แค่บทความของอาจารย์นิธิไม่กี่บท มันทำให้เกิดวิทยานิพนธ์ขึ้นมาตอบโต้ เกิดวิทยานิพนธ์ขึ้นมาสนับสนุน

หรือแม้แต่งานเกี่ยวกับพุทธศาสตร์ศึกษาก็ทำให้เกิดกระแสทำ

ถ้าคนสนใจงานวิชาการจะพบว่างานของอาจารย์นิธินั้นถูกอ้างอิงจำนวนมาก แทบจะเรียกได้ว่าเปิดงานวิจัยในไทยกี่เล่มก็ตาม ก็จะมีงานปากไก่และใบเรือ หรืองานเรื่องพระเจ้าตากถูกยกมาพูดถึง-อ้างอิงอยู่ตลอดเวลา

นอกจากงานด้านที่กล่าวมาแล้ว ก็เคยอ่านงานของอาจารย์ที่เป็นงานแปลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ผมอาจจะจำชื่อเรื่องไม่ได้ แต่ว่าหนังสือเล่มนั้นอาจารย์แปลได้ดีและรู้สึกว่าผมได้เห็นมุมมองของพุทธศาสนาในแง่มุมใหม่ๆ มากขึ้น

สําหรับงานเสวนาวาระพิเศษ 80 ปี นิธิ เอียวศรีวงศ์ #Oldแต่ไม่Out ที่มติชนสุดสัปดาห์จัดขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่มติชนอคาเดมี ผมมองว่าจากชื่องาน ก็เห็นด้วยว่า อ.นิธิ “เก่าแต่เก๋า” ถือว่าเป็นคำที่เหมาะกับอาจารย์มากเลยที่เดียว เพราะไม่ว่าผมอ่านงานของอาจารย์กี่ครั้งก็รู้สึกว่าได้อะไรใหม่ๆ ทุกหน

ถ้าชีวิตนี้ผมมีโอกาสเจอ อ.นิธิสักครั้ง อย่างแรกเลยผมจะขอลายเซ็น (หัวเราะ) ผมก็จะเอาหนังสือของอาจารย์ที่ผมมีอยู่ไปขอลายเซ็นก่อน แล้วก็อยากจะขอบคุณอาจารย์ที่ชื่นชอบกลอนของผม

อยากบอกว่า ที่ผมเขียนออกมาได้ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าได้อ่านงานของปัญญาชนหลายๆ ท่านอย่างอาจารย์เองเป็นต้น ที่เป็นผู้เปิดความคิดใหม่ๆ ให้ผมได้กล้าคิดอะไรมากขึ้น

ซึ่งบรรยากาศของวงวิชาการที่เป็นอย่างทุกวันนี้ได้ ก็เพราะ อ.นิธิได้ทำไว้ ทำให้เกิดการต่อยอด ทั้งการเสนอขัดแย้งและมีการเสนออะไรใหม่ๆ แหวกแนวความคิดใหม่ๆ เรื่อยๆ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก

และผมเองหากมีโอกาสทางวิชาการ ผมก็อยากจะคงบรรยากาศเช่นนี้ต่อไป

สุดท้ายนี้ ถ้าจะให้กล่าวถึงอาจารย์นิธิในฐานะที่ผมเป็นนิสิตรุ่นน้องคนหนึ่ง ส่วนตัวผมมองว่าชื่อของอาจารย์เป็นภาษาบาลีและสันสกฤต แปลว่า ทรัพย์-ขุมทรัพย์

ผมมองว่าท่านอาจารย์หรือขุมทรัพย์แหล่งนี้ เป็นขุมทรัพย์ที่เพิ่มพูนขึ้นมาเรื่อยๆ และปัจจุบันถือว่าเป็นขุมทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่ของวงการประวัติศาสตร์ วงการวรรณคดี วงการพุทธศาสตร์ศึกษาของไทยก็ว่าได้

ผมก็คิดว่าอยากจะให้ขุมทรัพย์นี้ หรือ อ.นิธิอยู่กับพวกเรา อยู่กับพวกเราไปนานๆ จะใช้คำว่าเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรก็อาจจะฟังดูแปลกๆ อยากจะเรียกว่าเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ทางวิชาการที่น่านับถือต่อไปเรื่อยๆ ตราบนานเท่านาน และผลิตงานต่อไปอีกเรื่อยๆ

ผมคิดว่าความคิดของอาจารย์ยังคงสดใหม่อยู่ตลอดเวลา ผมเองก็อยากอ่านงานของอาจารย์เรื่อยๆ เพราะว่าปัจจุบันบทความที่เห็นภายในมติชนสุดสัปดาห์ก็ยังมีการตีพิมพ์อยู่ ผมก็ตามอ่านอยู่เรื่อยๆ

ถือว่า อ.นิธิเป็นไอดอลคนหนึ่งของผมครับ

“เราขอสู้ในนามจามจุรี”

เราขอสู้ในนามจามจุรี

ประกาศแก่ธรณีและสรวงสวรรค์

กู้เสาหลักที่แหลกลาญมานานวัน

ให้ตั้งมั่นสถิตอยู่คู่แผ่นดิน

ขอก้มหัวให้มหาประชาราษฎร์

และพยุงประเทศชาติที่ขาดวิ่น

ปฏิญญาจะไม่ทนกับมลทิน

ที่กัดกินมังสาประชาชน

จามจุรีบาน ณ ลานจามจุรี

จะบานท้าอัปรีย์ทุกแห่งหน

เป็นดอกไม้ที่จะอยู่กับผู้คน

ไม่เปรอปรนสรวงสวรรค์ชั้นใดใด

จามจุรีมาบานในกาลนี้

นับว่าเป็นนาทีที่ยิ่งใหญ่

บานอยู่ใต้ช่อฟ้าเทวาลัย

บานอยู่ในกลียุคทุกข์ระทม

เราขอสู้ในนามจามจุรี

สู้ในนามประชาชีที่ขื่นขม

สู้เพื่อสิทธิ์ที่จะสร้าง-ล้างโสมม

หน้าเราก้มมานานเนิ่น นานเกินพอ!

#เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป

ภูริทัต หงษ์วิวัฒน์

นิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาฯ