แมลงวันในไร่ส้ม / ปชป.คึกคะแนนนำ ทุกพรรคเกาะติดพื้นที่ การเมืองยุคโควิด-ระอุ

แมลงวันในไร่ส้ม

ปชป.คึกคะแนนนำ

ทุกพรรคเกาะติดพื้นที่

การเมืองยุคโควิด-ระอุ

 

หลังจากรัฐบาลแก้ปัญหาการแพร่ระบาดได้สำเร็จ แต่ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจกำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ทางการเมืองมีการเคลื่อนไหวทวงตำแหน่งจากภายในพรรคพลังประชารัฐปะทุถึงขั้นปรับโครงสร้างเปลี่ยนหัวหน้าและเลขาธิการพรรค

ทีมบริหารใหม่ของ พปชร. นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และเป็นพี่ใหญ่ของ คสช. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีความเกรงใจเป็นพิเศษ

ทีมใหม่ผลักดันนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ซึ่งเข้าสู่การเมืองในฝั่งของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ก่อนจะข้ามฟากมาอยู่อีกขั้วอำนาจ เป็นหัวหน้าทีมจัดทำนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อนำเสนอต่อนายกฯ

ทำให้เกิดการวิจารณ์ถึงประสบการณ์และความเหมาะสม

เกิดมีกระแสข่าวยุบสภา ในจังหวะเดียวกับที่รัฐบาลสิงคโปร์ซึ่งเจอปัญหาการแพร่ระบาดรุมเร้าหนัก ยุบสภา จัดเลือกตั้งใหม่ กลายเป็นโมเดลที่นำประเทศไทยไปเทียบเคียง

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2564 ระหว่างวันที่ 1-3 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีการอภิปรายจาก ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา

แต่มี ส.ส.จากพรรคก้าวไกลเสนอว่า น่าจะยุบสภาเพื่อเลือกตั้ง ให้ประชาชนได้ตัดสินว่า จะไว้วางใจให้นายกฯ คนปัจจุบันได้บริหารประเทศต่อไปหรือไม่

และเร็วๆ นี้ ในเดือนสิงหาคม จะมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.สมุทรปราการ เขต 5 ซึ่งจะมีพรรคก้าวไกลส่งผู้สมัครลงแข่งขันด้วย

วิพากษ์วิจารณ์กันว่า จะเป็นเวทีชี้วัดที่สำคัญมาก

กระแสข่าวเรื่องความนิยมที่มีต่อรัฐบาล จึงร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง

 

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง “ถ้าวันนี้เลือกตั้ง พรรคใดชนะ”

ผลการสำรวจระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2563 จากกลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจ ร้อยละ 47.0 ติดตามข่าวการเมืองบ่อยๆ ถึงบ่อยที่สุด ร้อยละ 34.9 ระบุติดตามน้อย และร้อยละ 18.1 ไม่ได้ติดตามเลย

ประเด็นร้อน คือ ความเชื่อมั่นของประชาชนภายหลังจากที่ พปชร.เปิดเผยคนที่จะให้ดูแลงานด้านเศรษฐกิจ คือนางนฤมล

พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.3 ระบุแย่ลงกว่าทีมเดิม ขณะที่ร้อยละ 32.7 ระบุว่า ดีกว่าทีมเดิม ตามลำดับ

เมื่อสอบถามถึงการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้แก้ปัญหาวิกฤตต่างๆ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.9 สนับสนุน ขณะที่ร้อยละ 43.1 ไม่สนับสนุน

การสำรวจครั้งนี้ ยังพบว่าผู้ตอบคำถามที่เคยเลือกในการเลือกตั้ง 2562 ร้อยละ 18.9 เลือกพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 16.6 เลือกพรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 15.1 พรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 11.7 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 7.2 พรรคภูมิใจไทย และร้อยละ 2.6 พรรคชาติไทยพัฒนา

แต่เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่จะเลือก ถ้าวันนี้เลือกตั้ง พบว่า ร้อยละ 16.7 จะเลือกพรรคก้าวไกล เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากพรรคอนาคตใหม่ชื่อเดิม

รองลงมาคือร้อยละ 15.7 ระบุ พรรคเพื่อไทย ลดลงเล็กน้อย

ขณะที่ร้อยละ 8.7 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และร้อยละ 8.3 ระบุพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งทั้งสองพรรคได้รับความนิยมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่พรรคภูมิใจไทยได้ร้อยละ 6.0 อย่างไรก็ตาม จำนวนมากหรือร้อยละ 41.2 ระบุอื่นๆ เช่น ต้องการเลือกพรรคการเมืองที่ทำ “การเมืองใหม่” และบางส่วนจะเลือกพรรคการเมืองอื่นๆ ตามลำดับ

ดร.นพดลระบุว่า โพลชี้ให้เห็นว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใดๆ กลับกลายเป็นผลดีที่ทำให้สามารถเลือกใช้บริการพรรคการเมืองต่างๆ ได้

ถ้าถึงเวลานั้น นายกรัฐมนตรียังเป็นที่นิยมอยู่ คงต้องเปลี่ยนการใช้บริการพรรคการเมืองที่เป็นฐานวิถีชีวิตการเมืองใหม่ (New Normal) ที่ไม่วุ่นวาย ไม่แย่งตำแหน่ง ไม่ทรยศ ไม่เสร็จนาฆ่าโคถึก

แต่ตั้งใจทำงานจริง ตอบโจทย์ตรงเป้าความต้องการของประชาชนได้แท้จริงที่ไม่ใช่พรรคการเมืองกลุ่มเดิมนี้แล้ว และตอนนั้น 3 ป.จะเหลือใครบ้างน่าติดตามจริง

 

โพลดังกล่าวยังสร้างความคึกคักให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งโพลระบุว่ามีคะแนนนิยมสูงกว่าบรรดาพรรครัฐบาลด้วยกัน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ว่า อย่างน้อยที่สุดก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ระดับหนึ่งว่า สิ่งที่ได้ทำมาตลอดช่วงระยะเวลาก่อนหน้านี้เดินไปถูกทาง แม้จะไม่ทั้งหมด

ที่แน่นอนจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขในบางเรื่อง หรือในอีกหลายเรื่องก็ตาม แต่ว่าอย่างน้อยที่สุดก็สะท้อนให้เห็นว่าการมุ่งเน้นตั้งหน้าตั้งตาทำงานเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ต้องการเน้นผลงานมากกว่าคำพูดในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานั้น อย่างน้อยก็เป็นที่รับรู้ของพี่น้องประชาชน

นายจุรินทร์กล่าวว่าจากนี้ไป จะเดินทางไปพบปะกับพี่น้องประชาชนในทุกภาค ในรูปแบบของ “จุรินทร์ออนทัวร์” ที่จะเดินทางไปในทุกภูมิภาคของประเทศ พร้อมกับคนรุ่นใหม่ของพรรค ซึ่งก็มีอยู่หลายท่าน ทั้งที่ได้เริ่มเข้ามาร่วมอุดมการณ์กับพรรค และกำลังจะเดินเข้ามาในอนาคต

สำหรับคนที่อยู่ในพรรค และเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะร่วมเดินทางไปกับผม เช่น ปริญญ์ พานิชภักดิ์ ดร.รัชดา ธนาดิเรก น.ส.จิตภัสต์ กฤดากร และคนรุ่นใหม่อื่นๆ ที่จะได้เดินทางร่วมขบวนกันไป เพื่อพบกับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศในการรับฟังปัญหา

หากคลี่คลายปัญหาอะไรให้ได้ก็จะทำทันที ขณะเดียวกัน อะไรที่ยังไม่ได้ หรือเป็นแนวคิดที่เป็นประโยชน์กับคนไทยทั้งประเทศก็จะได้นำมากำหนดเป็นนโยบายต่อ

 

การเคลื่อนไหวโดยอาศัยผลสำรวจเป็นเงื่อนไขของ ปชป. น่าจะติดตามต่อไปว่าจะส่งผลอย่างไร ทั้งในการเมืองวงกว้าง และภายในพรรค ซึ่งมีกลุ่มผู้นำเก่าเคลื่อนไหวอยู่

ส่วนพรรครัฐบาลด้วยกัน แต่ละพรรค ต่างประเมินสถานการณ์การเมืองล่วงหน้า และมีแนวทางเกาะติดพื้นที่แบบไม่มีใครประมาท

และเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

พรรคแกนนำรัฐบาลเอง อย่าง พปชร.ก็มองการเมืองในแนวทางเดียวกัน ดังที่นายอนุชา นาคาศัย เลขาธิการคนใหม่ของ พปชร. ประกาศว่า มั่นใจว่าจะนำพรรคพลังประชารัฐกลับมาสู่ชัยชนะทางการเมืองได้อีกครั้ง

มั่นใจมาก มั่นใจมากว่าจะเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 ของประเทศ ด้วยผลงานของพรรค ด้วยนโยบาย ด้วยความมุ่งมั่นและจริงใจที่จะทำงาน ตอบโจทย์ของประเทศ ได้เห็นการทำงานของพวกเราแน่

ข่าวการเมืองหลังจากโควิด-19 ร้อนแรง และอ่อนไหวต่อความเปลี่ยนแปลง

และจะเป็นข่าวหลักในพื้นที่สื่อ พร้อมๆ กับความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดรอบ 2