หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘ครึ่งทาง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
หมาไน - หมาไนมีระบบการทำงานเป็นทีม แต่ก็มีตัวที่ทำหน้าที่แนวหน้า เมื่อได้กลิ่นเหยื่อ มันจะไล่ตามอย่างไม่ลดละ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ครึ่งทาง’

ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก วสันต์ ผู้ชายวัยกลางคน ได้รับการเรียกว่า “อาจารย์ด้วง”

ด้วงคือชื่อเล่น ส่วนอาจารย์เป็นคล้ายตำแหน่งที่คนในป่ายกย่อง หรือยอมรับว่าคนคนนี้ “โชกโชน” พอสมควร

สำหรับวสันต์ การถูกเรียกว่าอาจารย์ เหมาะสมเพราะเขาทำงานในป่ามานาน ผ่านการปะทะมาหลายครั้ง รู้จักภูมิประเทศดีราวกับรู้จักลายมือตัวเอง

ปีนั้นเขาทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าเซซาโว

วันหนึ่ง วสันต์เดินขึ้นมาบนสำนักงานเขต ขอพบหัวหน้า แจ้งความประสงค์ว่า ขอให้ย้ายลูกทีมคนหนึ่งไปจากหน่วย

“ให้มันไปสว่างที่อื่นเถอะครับ” เหตุผลของวสันต์

เขาหมายถึงลูกทีมที่มีชื่อว่า ชัยสว่าง

หัวหน้าเข้าใจเหตุผลดี ชัยสว่างเรียนจบปริญญาตรีจากในเมือง เขาคงไม่อยากอยู่ใต้บังคับบัญชาของวสันต์ ซึ่งเป็นคนรุ่นเก่า เรียนหนังสือไม่มาก ใช้จีพีเอสไม่คล่อง อ่านแผนที่ไม่กระจ่าง ใช้ทักษะเก่าๆ เดินป่า โดยรู้จักภูเขา, ลำห้วย และเส้นทางด่านต่างๆ เป็นอย่างดี

“ดูแต่จีพีเอส แผนที่น่ะอดน้ำตายได้ง่ายๆ นะโว้ย” วสันต์พูดบ่อยๆ

ถึงวันนี้ การเดินป่าสะดวกสบาย เรามีจีพีเอสบอกเส้นทางเดิน บอกระยะทาง มีข้อมูลมากมาย

กระนั้นก็เถอะ หลายครั้งที่เรามุ่งหน้าไปตามแผน จะพักแรมริมห้วย หาน้ำกินที่นั่น ปรากฏว่า เราพบแต่ห้วยแห้งๆ หรือไม่ก็ต้องขุดหลุม รอให้น้ำซึมไหลออกมาใช้ได้ พอดื่มและหุงข้าว

วสันต์จะรู้ดีว่า ช่วงเวลาไหน ที่ใดมีน้ำ ไม่มีน้ำ รวมทั้งด่านไหนเดินสะดวก

จีพีเอสนำไปถึงสุดหน้าผา ต้องใช้วิธีไต่ลงมาก็เคย

ชัยสว่างมีท่าทีไม่ค่อยยอมรับความโชกโชนของวสันต์อย่างเปิดเผย

จึงไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาจะอยู่ร่วมกันอย่างไม่มีความสุขนัก…

 

ชัยสว่างอายุ 30 ต้นๆ เป็นคนหมู่บ้านจะแก มีลูกสองคน ตอนพบกันเขาทำงานในป่าทุ่งใหญ่มาแล้ว 5 ปี มีทักษะด้านศิลปะตามที่ได้เรียนมา ถูกเรียกมาช่วยงานในเขตบ่อยๆ

ชัยสว่างมีบุคลิกคล้ายกับหนุ่มๆ บ้านจะแกคนอื่น ร่างสันทัด แกร่ง ใบหน้าคมสัน พูดน้อย ดูภายนอกทั้งทรงผม เสื้อผ้า ใช้ภาษาไทยชัดเจน ดูไม่ออกหรอกว่า เขามาจากชุมชนกลางป่าลึก อีกนั่นแหละ อาการพูดน้อย จะเปลี่ยนไปบ้างเมื่อดีกรีถึง

ผมคุ้นเคยกับเขา แม้จะไม่ได้เดินป่าและร่วมบนเส้นทางทุรกันดาร

อาจเป็นเพราะความชอบอ่านหนังสือของเขา เรียกได้ว่า เขาเป็นหนอนหนังสือคนหนึ่ง

“ผมชอบอ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์ ยิ่งเรื่องทางเอเชียยิ่งชอบครับ”

ผมติดหนังสือไปฝากเขาเสมอ เพราะรู้ดีว่าคนชอบอ่าน เวลาไม่มีหนังสืออ่านจะตกอยู่ในสภาพใด

ชัยสว่างอยู่ในกลุ่ม “คนรุ่นใหม่” เหมือนชาวจะแกรุ่นใหม่จำนวนมาก ซึ่งออกไปเรียนหนังสือในเมือง

“เป็นครูหลายคนนะครับ กลับมาสอนที่หมู่บ้านด้วย” ชัยสว่างพูดถึงเพื่อนๆ

แต่ก็มีจำนวนหนึ่งไม่กลับบ้าน หางานทำและมีครอบครัวอยู่ในเมือง

“คิดในแง่ดี คนจะได้ไม่ต้องใช้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น” เขาพูดสั้นๆ

แม้ว่าการอยู่ในเมืองของคนที่เกิดในป่าต้องปรับตัว และไม่ง่ายนักก็ตาม

การยึดถืออยู่กับวัฒนธรรม ประเพณี ซึ่งได้รับการบอกเล่าต่อๆ กันมาจากบรรพบุรุษนั้น ทำให้พวกเขาอยู่ร่วมกับป่าได้

การทำไร่หมุนเวียน ไม่ทำไร่บริเวณต้นน้ำ ไม่กินเนื้อสัตว์ใหญ่ และอื่นๆ เหล่านี้ คือวิถีปกติ ไม่ได้เลือนหาย

ชัยสว่างเป็นกำลังเข้มแข็งของชุดลาดตระเวนเขา ได้รับการฝึกการลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาอย่างดี

เมื่อพบกัน เรามักมีเรื่องคุยกันมาก เวลาว่างงาน ชัยสว่างอยู่ในชุดเดิมๆ ของเขา นุ่งโสร่งสีมอๆ นั่งยองๆ มวนยาเส้นด้วยใบกระโดนพ่นควันโขมง

 

“ลุงผมนี่แหละครับ เคยเห็นกระซู่ เคยตามและบอกว่า ตอนนี้ที่นี่ก็น่าจะมีอยู่” เหล้าขาวหมดไปครึ่งขวด ชัยสว่างเริ่มมีเรื่องคุย

สถานภาพของกระซู่ หรือแรดขนาดเล็กนั้น คือ อาจสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย

แต่ร่องรอยที่นักวิจัยพบล่าสุดในป่าทางตอนใต้ คือเรื่องน่ายินดี

ผมตั้งใจไปพบลุงของชัยสว่างในหมู่บ้าน การได้ฟังเรื่องเล่าในป่าแห่งนี้ในยุค 30-40 ปีก่อนหน้า เป็นเรื่องสร้างแรงบันดาลใจ

บางสิ่งบางอย่างบนเส้นทางที่กำลังตามหา

ต้องเชื่อด้วยว่า สิ่งนั้นมีอยู่จริง

 

นอกจากทักษะในการทำแบบจำลองพื้นที่ ชัยสว่างในสมัยเรียนหนังสือ เขาอยู่ในโครงการดาวรุ่งมุ่งเอเชี่ยนเกมส์ ในฐานะนักกีฬายกน้ำหนัก

เวลาได้ที่ ชัยสว่างจะทำท่ายกน้ำหนักให้ดู ไม่ว่าจะท่าคลีนแอนด์เจิร์ก หรือสแนซ เขาทำได้สวยงาม

“ผมได้แชมป์กีฬาเขตรุ่น 48 กิโลกรัมครับ เลยได้รับคัดเลือกไปอยู่ในโครงการ” ชัยสว่างเล่า

“คัดเลือกรอบสุดท้ายไม่ผ่านครับ” เขาไปไม่ถึงเอเชี่ยนเกมส์

ทุกครั้งที่พบกัน ชัยสว่างช่วยสอนภาษากะเหรี่ยงให้ผม

หัวหน้าย้ายเขามาช่วยงานในสำนักงานเขต

“ให้ไปสว่างอยู่ที่เขตนั่นแหละดี” วสันต์พูดกับผม

 

ช่วงฤดูฝน สิ่งอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ในป่าทุ่งใหญ่ คือการสัญจรบนทางที่กลายเป็นแอ่งโคลน ลื่นไถล

การเดินทางด้วยรถคันเดียวไม่ใช่ความคิดที่ดี และทำได้เหมือนช่วงฤดูแล้ง

สัตว์ป่าเดินทางจากทุ่งหญ้าที่สูงท่วมหลังเก้ง สู่ป่าไผ่ที่หน่อไม้กำลังโผล่พ้นดิน

ในป่าไผ่และในโป่งคึกคัก ซากกระทิงในป่าไผ่บอกให้รู้ว่า เสือโคร่งทำงานอย่างได้ผล

รวมทั้งซากกวางและเก้ง ก็ยืนยันความเป็นมืออาชีพ ซึ่งทำงานอย่างได้ผลของหมาไน

 

ในสำนักงาน ชัยสว่างดูเหมือนหนุ่มสำนักงาน สวมแว่นสายตา ก้มหน้าอยู่กับคอมพิวเตอร์

ผมคิดถึงวสันต์ที่กำลังเดินเลาะไปตามด่าน

ถ้าชัยสว่างยังอยู่เป็นลูกทีม และใช้อุปกรณ์ร่วมกับความโชกโชนของเขา

บางทีเส้นทางที่พวกเขาเดิน คงไม่วกวนเท่าใด

 

ในความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นในความสัมพันธ์ใด

ระหว่างคนกับคน, ระหว่างวัย, ระหว่างคนกับสัตว์ป่า

เพื่อไปถึงจุดหมายที่ตั้งใจ

ดูเหมือนคำว่า “ครึ่งทาง” คือสิ่งที่ต้องยึดถือและลงมือทำ