สุจิตต์ วงษ์เทศ / ภาพเขียนมหึมา บนภูผาศักดิ์สิทธิ์ กวางสี

ผาลาย เป็นชื่อในภาษาจ้วงเรียกหน้าผากว้างใหญ่ มีภาพเขียนมหึมาอายุ 2,000 ปีมาแล้ว บนเขาฮวาซาน (ริมแม่น้ำจั่วเจียง) อำเภอหนิงหมิง มณฑลกวางสี จีน [ภาพจากนิตยสาร TAP (Thai-Asean Panorama) SEP 2016 VOL. 3 หน้า 16-17 ด้วยความกรุณาของเรวดี พงศ์ไชยยง บรรณาธิการ]

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ภาพเขียนมหึมา

บนภูผาศักดิ์สิทธิ์ กวางสี

 

มณฑลกวางสีทางภาคใต้ของจีน มีแหล่งภาพเขียนอายุ 2,000 ปีมาแล้ว บนภูเขาฮวาซานบริเวณหน้าผาศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวจ้วงเรียกด้วยภาษาจ้วง (ตระกูลไท-ไต) ว่า “ผาลาย”

ภาพเขียนขนาดมหึมาบนหน้าผา เป็นรูปขวัญบรรพชนที่ตายไปแล้วยังดำรงวิถีเหมือนครั้งมีชีวิต แต่ต่างมิติ ซึ่งจับต้องไม่ได้และมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ภาพเหล่านั้นคาดเดาว่าแสดงพิธีกรรมเกี่ยวกับการส่งขวัญบรรพชนบุคคลสำคัญขึ้นไปรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับผีฟ้าที่อยู่บนฟ้าโดยมีหมานำทางข้ามห้วงน้ำกว้างใหญ่แล้วขึ้นสู่ฟ้า

ผมเคยขึ้นรถลงเรือเดินเลาะชายเขาไปสำรวจเมื่อ พ.ศ.2537 ครั้งนั้นหามุมถ่ายภาพเห็นภูมิประเทศกว้างๆ อย่างรวมๆ ทำไม่ได้ เพราะสถานที่รกชัฏ

ภาพกว้างอย่างที่ต้องการพบนานแล้วพร้อมคำอธิบายในนิตยสารของจีนชื่อ TAP ฉบับ พ.ศ.2559 เลยขอมาพิมพ์แบ่งปัน พร้อมคัดข้อความสำคัญมาด้วย ดังนี้

 

ภาพเขียนเขาฮวาซาน กวางสี

ภาพเขียนเขาฮวาซานแห่งลุ่มน้ำจั่วเจียง มีความยาว 200 กิโลเมตร กระจายตัวอยู่บนหน้าผาบริเวณสองฝั่งของลุ่มแม่น้ำจั่วเจียง และแม่น้ำหมิงเจียง ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำจั่วเจียง ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ และ 1 เขตของเมืองฉงจั่ว มณฑลกวางสี ประเทศจีน ได้แก่ อำเภอหนิงหมิง หงโจว ฝูสุ่ย และเขตเจียงโจว

ภาพเขียนเขาฮวาซานมีทั้งหมด 89 จุด โดยตามแนวชายฝั่งแม่น้ำจั่วเจียง มีจำนวน 65 จุด (“ภาพเขียนเขาฮวาซาน” ในความหมายแคบ หมายถึง ภาพเขียนบนหน้าผาเขาฮวาซาน ในอำเภอหนิงหมิง ส่วนความหมายกว้าง หมายถึง กลุ่มภาพเขียนบนหน้าผาที่กระจายอยู่ตามแนวชายฝั่งแม่น้ำจั่วเจียง)

ภาพเขียนนี้สร้างสรรค์โดยชาวลั่วเยว่บรรพบุรุษของชนเผ่าจ้วง เมื่อช่วง 200-500 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งรวมๆ แล้วภาพเขียนสีนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับ 2,000 ปี ด้วยที่ตั้งที่ห้อมล้อมภูเขา แม่น้ำ และที่ราบสูงดูมีความโอ่อ่า สง่างาม

เมื่อยืนอยู่บริเวณเชิงเขาฮวาซานและมองขึ้นไป จะเห็นภาพคนที่มีลักษณะแตกต่างออกไปกว่า 1,000 รูป จากหน้าผาริมแม่น้ำที่เว้าแหว่ง บางภาพมีลวดลายสวมเครื่องประดับศีรษะ และคาดดาบไว้ที่เอว อีกทั้งมีภาพหน้าตรงที่มีรูปร่างสูงใหญ่ ส่วนภาพหน้าด้านข้างก็มีขนาดไม่เท่ากัน

นอกจากภาพคนแล้ว ยังมีภาพสัตว์อย่างสุนัขและสัตว์ปีก และภาพวัตถุ เช่น ลวดลายกลองทองแดง และแตรที่ทำจากเขาแพะ เป็นต้น

ภาพทั้งหมดถูกเขียนด้วยสีแดงชาด เมื่อปรากฏอยู่บนผนังหน้าผาสีเหลืองอมเทา จึงดูสะดุดตาเป็นพิเศษ รวมไปถึงตำแหน่งของภาพที่ผู้วาดได้เลือกจุดที่เหมาะสมบนหน้าผาหันหน้าเข้าหาบริเวณจุดโค้งของแม่น้ำ ทำให้ภาพโดยส่วนใหญ่อยู่ห่างจากผิวน้ำ 15-100 เมตร เมื่อประกอบเข้ากับหน้าผา แม่น้ำและที่ราบสูงที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ก่อตัวเป็นทัศนียภาพที่โดดเด่น