เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์ / การปกครองไทย

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

การปกครองไทย

 

ชื่อตอนของเครื่องเคียงฯ ตอนนี้ดูเป็นวิชาการหรือหลักสูตรทางการศึกษาสักหน่อยนะครับ

แต่จริงๆ ไม่ได้ “สาระจ๋า” ขนาดนั้น เพียงแต่ย้อนรำลึกไปถึงวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นวันครบ 88 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ในวันนั้น วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่บ้านเมืองเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางการปกครองครั้งใหญ่ นำโดยกลุ่มคนที่เรียกว่า “คณะราษฎร” ทำการใหญ่ในระหว่างที่พระองค์เสด็จประทับที่พระราชวังไกลกังวล ตัวแทนได้ทูลเชิญให้ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงรับข้อเสนอของคณะราษฎร โดยมีบันทึกความว่า

“คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ก็เพื่อที่จะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกลับคืนสู่พระนคร ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน”

พระองค์ได้เสด็จฯ กลับมายังพระนครโดยรถไฟพระที่นั่ง มิใช่กลับโดยพาหนะที่คณะราษฎรจัดเตรียมไปรับ เป็นสัญลักษณ์ของการไม่ใช่ถูกควบคุมตัว แต่เป็นโดยสมัครใจ

และวันรุ่งขึ้นวันที่ 25 มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร มีความตอนหนึ่งว่า

“…คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพเจ้ากลับพระนครเป็นกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกัน ทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละมัยไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิดเพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวกฯ”

นั่นก็เพราะช่วงแรกของการยึดอำนาจเกิดมีการปะทะของทหาร 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายคณะราษฎร และอีกฝ่ายเป็นฝ่ายที่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ เป็นสงครามที่คนไทยประหัตประหารกันเอง ยังความไม่สบายพระทัยแก่พระองค์อย่างยิ่ง

พระองค์ท่านไม่ประสงค์ให้เกิดความสูญเสียมากไปกว่านี้ จึงได้ยอมทำตามคำขอของคณะราษฎร โดยการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้ ข้อความในรัฐธรรมนูญเริ่มต้นมาตรา 1 ความว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย”

ซึ่งนั่นเป็นหัวใจของหลักการประชาธิปไตย

 

จากนั้นแผ่นดินสยามก็ได้เปลี่ยนการปกครองสู่ระบบใหม่ หากยุคนี้คงเรียกว่าเป็น New Normal ซึ่งประชาชนคนไทยต้องทำการเรียนรู้ เข้าใจ ปรับตัว ในวิถีใหม่กันพอสมควร ซึ่งแน่นอนที่ยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ จึงเกิดปัญหาตามมามากมาย

และท้ายที่สุดในหลวงรัชกาลที่ 7 ก็ทรงประกาศสละราชสมบัติ โดยก่อนหน้านั้นระหว่างการเสด็จประพาสยุโรป พระองค์ทรงมีโทรเลขมาถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ เป็นเหตุให้กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงทำหนังสือไปถึงพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีถ้อยคำบางส่วนว่า

“…รัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยมากรู้สึกแน่ใจว่าไม่จำเป็นจะต้องประนีประนอมต่อพระองค์ไม่ว่าในเรื่องใดๆ พอใจที่จะขัดพระราชดำริเสียทุกอย่าง ถ้าหากรัฐบาลมีประสงค์จะประสานงานต่อพระองค์ด้วยดีแล้ว คงจะกราบบังคมทูลปรึกษาก่อนที่จะดำเนินการอันสำคัญไป ถ้าได้ทำดั่งนั้นความยุ่งยากอย่างหนึ่งอย่างใดก็จะไม่เกิดขึ้นได้ แต่รัฐบาลมิได้ทำดั่งนั้น การใดๆ รัฐบาลทำไปจนถึงที่สุดเสร็จเสียแล้วจึงกราบบังคมทูลพระกรุณา ไม่มีทางที่จะทรงทักท้วงให้แก้ไขโดยกระแสพระราชดำริอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะมีอะไรเหลือนอกจากความขึ้งเคียดแก่กัน…”

“…ตามพฤติการณ์เช่นนี้ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระองค์ไม่ควรจะดำรงราชสมบัติอยู่สืบไป เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะช่วยปกปักรักษาผู้ใดได้เลยแล้ว …จึงสมัครพระราชหฤทัยที่จะทรงสละราชสมบัติ…จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชหัตถเลขามาภายหลังโดยไปรษณีย์”

และวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 ก็ทรงมีพระราชหัตถเลขาของพระองค์ไปยังผู้แทนราษฎรความว่า

“…ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร

บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิ์ออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิ์ของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าในฐานที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิ์ทั้งปวงอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมมาก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์…”

 

และแผ่นดินสยามก็มีอันต้องเปลี่ยนแผ่นดินใหม่อีกครั้ง จนถึงบัดนี้เป็นแผ่นดินที่ 10 ของราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ โดยฉบับล่าสุดคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นฉบับที่รัฐบาลปัจจุบันใช้อยู่

และได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่พิลึกพิลั่นมากที่สุด มีการแก้ไขและเขียนใหม่เพื่อเป็นดั่งหมากกลของยุทธวิธีในการยึดไว้ซึ่งอำนาจให้มากที่สุด จนยากที่จะเกิดการแก้ไขใหม่ได้โดยง่าย

โดยที่แท้นั้น หัวใจของรัฐธรรมนูญก็คือ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย”

ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ราษฎรทั้งหลายที่ว่า ก็ยังไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดอยู่ดี แม้จะเหมือนว่ามี คือการมีสิทธิ์ไปออกเสียงเลือกตั้ง เพื่อแสดงออกซึ่งอำนาจที่ตนมีก็ตาม

แต่หลังจากนั้น เจ้าของอำนาจตัวจริงก็ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ของนักการเมือง หรือของผู้ที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติมาโดยตลอด จนเกิดคำถามว่า แล้วจริงๆ เราควรจะปกครองกันด้วยระบบใด วิถีใดดี

 

ประเทศเสรีภาพจ๋าอย่างสหรัฐอเมริกาที่ชูระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอดก็ยังมีปัญหาทั้งภายในและภายนอกประเทศ ยิ่งมาตอกย้ำชัดๆ กับผู้นำอย่างทรัมป์ที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย ไม่มีศักดิ์ศรีของผู้นำประเทศเพียงพอ เอาแต่ประโยชน์ของตนและของประเทศ โดยเอาเปรียบและลิดรอนประเทศอื่นที่เห็นเป็นศัตรู ก็ไม่อาจบอกได้ว่าระบอบนี้ดีที่สุด

หรือฟากตรงข้ามอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่นำโดยสีจิ้นผิง ที่ปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์กลายพันธุ์ ที่ได้ออกแบบการปกครองของตนขึ้นมาให้เข้ากับยุคสมัย และเรียกว่าเป็น “ประชาธิปไตยสังคมนิยม” หรือในวาทกรรมบางครั้งบอกว่าเป็น “เผด็จการประชาธิปไตยของประชาชน”

หากจะถามประชาชนคนธรรมดาทั่วๆ ไปซึ่งเป็น “เจ้าของอำนาจตัวจริง” ทั้งแบบตาสีตาสาและแบบคนมีความรู้ ว่าอยากให้ปกครองด้วยระบอบการปกครองแบบไหน? ก็จะตอบแบบเป็นนามธรรมว่า

“ปกครองแบบใดก็ได้ที่พวกเขามีความสุข สงบ ปลอดภัย มีชีวิตที่ดีมากที่สุด”

 

จริงๆ แล้วนั่นเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ทั่วโลก หากระบอบการปกครองใดตอบสนองได้ พวกเขาก็จะเลือกแบบนั้น ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นระบอบใด สำคัญที่สุดคือ “ผู้นำ”

หาก “ผู้นำ” และ “บริวาร” เป็นคนคิดดี ทำดี มุ่งประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัวและพวกพ้อง ก็สามารถนำพาชีวิตที่มีความสุขให้เกิดขึ้นได้ไม่ยาก

และในยุคหลังโควิดแล้ว โลกเรียกร้องให้ผู้นำแต่ละประเทศคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมไกลเกินกว่าแค่ระดับประเทศ แต่เป็นประโยชน์ของโลกใบนี้ร่วมกัน เพราะไม่มีทางที่โลกจะสุข สงบ ปลอดภัยได้เลย หากผู้นำเหล่านั้นคิดแต่ประโยชน์ประเทศตนเป็นใหญ่ ดังเห็นตัวอย่างได้จากความวุ่นวายต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ไม่อย่างนั้นเชื้อโรคที่ว่าร้ายจะเข้ามาจัดการและเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้เสียเอง

ถึงตอนนั้นไม่ว่าจะอยู่ใต้การปกครองใดก็ไม่สำคัญเท่ากับชีวิตและความสุข ความสงบปลอดภัยของ “ผู้มีอำนาจตัวจริง” นั่นเอง