การ์ตูนที่รัก / นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ / Mangasia ตอนที่ 2

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Mangasia ตอนที่ 2

 

เล่าเรื่องหนังสือ Paul Gravett สำนักพิมพ์ Thames&Hudson ลอนดอน ปี 2017 วันนี้พาทัวร์ครึ่งเล่มหลังต่อ

หน้า 253 เริ่มต้นบทที่ว่าด้วยการ์ตูนและมัลติมีเดีย เป็นข้อความสั้นๆ แสดงถึงหลักไมล์ในแต่ละประเทศแถบเอเชีย สำหรับไทยแลนด์เขียนว่า ปี 2009 สมบูรณ์ หอมเทียนทอง (Somboon Homtientong 1949-) ติดต่อราช เลอสรวง (Raj Loesuang 1940-) เพื่อทำงานร่วมกันในการผลิตซ้ำผลงานของราช เลอสรวง ในอดีต

ไปที่หน้า 258 อีกหนึ่งประโยคสำหรับผู้ใหญ่มาและทุ่งหมาเมินของชัย ราชวัตร (Chai Rachawat) เริ่มต้นด้วยการ์ตูนล้อการเมืองสะท้อนถึงคนยากจนในชนบทได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และการ์ตูนสั้นหลังข่าว

ตามด้วยหน้า 259 เขียนเรื่องเอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ (Eakasit Thairaat) กับผลงานการ์ตูน 13 เกมสยอง (13 Game Sayong, 13 : Game of Death) ที่ได้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ไทยเช่นกัน ตามด้วยคำบอกเล่าที่ว่าเขามิได้รับการขึ้นชื่อบนจอและค่าตอบแทนกับการนำไปสร้างเป็นหนังอเมริกันปี 2014 เรื่อง 13 Sins ซึ่งได้รับคำชื่นชมก้ำกึ่ง (received neither on-screen credit nor payment)

หากเราไปค้นคำ 13 Sins ในวิกิพีเดีย เขียนถึงหนังเรื่องนี้ว่าดัดแปลงจากหนังไทยสยองขวัญปี 2006 เรื่อง 13 Beloved

การ์ตูนที่รักเคยเขียนถึงงานของเอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ เมื่อนานมาแล้ว การ์ตูน 13 เกมสยอง มีปรากฏในหนังสือการ์ตูน My Mania 1 รวมเรื่องสั้นจิตหลุด

 

สองหน้าที่ผ่านมาไม่มีรูปประกอบน่าเสียดายแทนเจ้าของผลงาน พลิกมาหน้า 261 จึงพบลายเส้นคุ้นตาอิ่มใจของราช เลอสรวง เป็นเพียงรูปขาว-ดำเล็กๆ ของการ์ตูน 4 ช่องที่คุ้นเคย มีคำบรรยายว่าราช เลอสรวง ได้ตอบรับคำเชิญของสมบูรณ์ หอมเทียนทอง กลับมาจับปากกาและพู่กันเขียนสิงห์ดำ (Black Lion) ใหม่ด้วยความยาว 120 หน้า ตั้งแสดงคู่กับผลงานศิลปะของสมบูรณ์ หอมเทียนทอง ในนิทรรศการ ราช เลอสรวง และ ด.ช.สมบูรณ์ หอมเทียนทอง (Raj Loesuang and the Boy Somboon Homtientong) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2013

จากหน้า 264 เป็นต้นไปจนถึงหน้า 309 รวมทั้งสิ้น 45 หน้า เป็นการประมวลภาพการ์ตูนจากประเทศต่างๆ ในเอเชียก่อนปิดเล่ม แต่ละรูปพิมพ์สี่สีเต็มหน้า พบว่ามีผลงานจากไทยแลนด์สอดแทรกเข้ามา 1 หน้าครึ่ง

รูปแรกจากหน้า 299 เป็นรูปผลงานของ SD Lockhart & Piyabut Narm Preeyawongsakul เรื่อง Star Punch Girl ซึ่งเผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรกเมื่อปี 2013 ก่อนที่ Let’s Comics จะรวมเล่มในปี 2014

อีกครึ่งหน้าปรากฏในหน้าสุดท้ายของหนังสือ Mangasia นี้คือหน้าที่ 309 เป็นรูปบรรยากาศจากนิทรรศการราช เลอสรวง และ ด.ช.สมบูรณ์ หอมเทียนทองนั้นเอง ที่น่าสังเกตคือไม่มีหน้านี้ในดัชนี

บัดนี้ลายเส้นการ์ตูนไทยมาถึงยุคสมัยใหม่อย่างที่คนวิพากษ์ว่าเป็นลายเส้นญี่ปุ่น แต่สำหรับแวดวงแล้วเราเรียกว่าลายเส้นไทยโมเดิร์น

 

หนังสือที่นักเขียนชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งเขียนถึงภาพรวมของการ์ตูนเอเชียด้วยความหนา 320 หน้ารวมหน้าดัชนี พิมพ์ปกแข็งขนาดใหญ่สี่สีสวยงามแจกแจงงานการ์ตูนของทุกประเทศในเอเชีย มีจำนวนหน้าที่เขียนเกี่ยวกับไทยแลนด์รวมทั้งหน้า 309 ด้วยเท่ากับ 13 หน้าครึ่ง โดยมีคำบรรยายยาวหนึ่งประโยคถึงหนึ่งย่อหน้า

หากคำนวณจำนวนหน้าแล้วเท่ากับ 4.2% เห็นตัวเลขแล้วไม่เชื่อสายตา หยิบเครื่องคิดเลขมาคำนวณใหม่อีกสองครั้งได้ผลลัพธ์เท่าเดิม

บ้านเราขาดเสรีภาพในการสร้างงาน ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน นวนิยาย หรือภาพยนตร์ ไม่เว้นแม้แต่งานศิลปะ ทั้งภาพเขียน ภาพวาด และประติมากรรม

เรามีหัวข้อและเนื้อหาให้ทำได้เพียงไม่กี่เรื่อง ในขณะที่เรามีข้อห้ามมากมายทั้งข้อห้ามทางกฎหมายและข้อห้ามทางวัฒนธรรม ไปจนถึงข้อห้ามทางศีลธรรม

หากกวาดสายตาไปเร็วๆ เราจะพบว่ามีผลงานการ์ตูนไทยเพียงไม่กี่ตระกูล ได้แก่ การ์ตูนจักรๆ วงศ์ๆ การ์ตูนแก๊ก การ์ตูนช่องล้อการเมือง จบเท่านี้ จากนั้นกระโจนข้ามมาที่การ์ตูนไทยโมเดิร์นเลย ซึ่งมีสองประเภท ประเภทการ์ตูนเรื่องและการ์ตูนแนว ทั้งสองหมวดไม่สามารถแตะเรื่องศีลธรรมและการเมืองการปกครองได้

อาจจะมีหลุดมาบ้างก็อยู่ในระดับกล้าๆ กลัวๆ เต็มที

 

ไม่มีเสรีภาพ ย่อมไม่มีปัญญา ความข้อนี้เข้าใจยากในบ้านเรา เราเชื่อในวัฒนธรรมหมอบคลานหรือกราบกรานว่าจะเป็นเสาค้ำจุนโลก เสรีภาพเป็นเรื่องน่ากลัวมากเกินไป

มิพักพูดเรื่องการเมืองที่ทำไม่ได้เต็มที่

การพูดถึงสถาบันข้าราชการ ตำรวจ หรือสงฆ์ ก็เป็นเรื่องมิอาจจะทำได้

ห้ามพูดเรื่องบุหรี่ เหล้า และเรื่องเพศด้วยความเชื่อว่าการห้ามสามสิ่งนี้แล้วชาติจะศิวิไลซ์

การปล่อยมัวทุกสิ่งทุกอย่างบนจอแก้วเป็นหลักฐานแสดงถึงอาการขวัญอ่อนอย่างหนักของบ้านเราได้เป็นอย่างดี

มีการประชุมเรื่องการจัดเรตการ์ตูนและภาพยนตร์หลายครั้ง ได้นั่งในที่ประชุมหลายครั้ง เมื่อนึกย้อนหลังจึงตาสว่างว่าเป็นการประชุมที่ใสซื่อบริสุทธิ์เป็นอันมาก

ที่ประชุมฝันหรูถึงความสะอาดของสื่อบันเทิงภายใต้กรอบที่มีเสรีภาพ

แต่ครั้นเวลาผ่านมา 20 ปี ไม่มีอะไรในที่ประชุมส่งผลทางปฏิบัติเลย

องค์กรที่จัดประชุมใช้งบประมาณไปหลายสิบล้านบาทโดยไม่มีผลลัพธ์ นอกจากสถานการณ์การเซ็นเซอร์จะไม่ดีขึ้นกลับเข้มงวดมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

 

หนังสือ Mangasia นี้แบ่งเนื้อหาเป็น 6 บท บทที่ 5 คือ Censorship and Sensibility การเซ็นเซอร์และความอ่อนไหว ตั้งแต่หน้า 208-251 รวม 44 หน้า เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเพศและความรุนแรง รูปประกอบเต็มหน้าจำนวนหลายสิบหน้าแสดงภาพเขียนการ์ตูนจากต่างประเทศที่ไม่อาจจะเผยแพร่ในบ้านเราหรือในคอลัมน์การ์ตูนที่รักนี้ได้อย่างแน่นอน

มีคำถามว่าจะดูรูปลามกและความป่าเถื่อนลักษณะนี้ไปทำไม

คำตอบคือ รูปลามกและความป่าเถื่อนเหล่านี้ ที่แท้แล้วหลายรูปซ่อนข่าวสารที่ว่าด้วยความเลวร้ายของการเมืองการปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเผด็จการเบ็ดเสร็จหรือแม้กระทั่งเผด็จการซ่อนรูป

ความจริงก็คือ หลายประเทศก็อาจจะมีความยากลำบากในการเขียนงานการเมืองเช่นเดียวกัน แต่การเขียนซ่อนไว้ใต้เนื้อหาที่ว่าด้วยเซ็กซ์และการฆ่าฟันเป็นเรื่องทำได้และเปิดโอกาสให้ตีความได้

กลับไปที่หน้า 15 จะเห็นรูปหน้าปกหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นชื่อ Greater East Asia Joint Declaration ตีพิมพ์เมื่อปี 1942 เป็นผลงานชวนเชื่อของรัฐบาลญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่จะรวมมหาเอเชียบูรพาเป็นหนึ่ง และปลดแอกเราออกจากสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา

หน้าปกหนังสือนี้เป็นรูปเยาวชนจากสิบประเทศ หนึ่งในแถวหน้าสุดมีธงไตรรงค์ติดบนเสื้อขนาบข้างด้วยจีนและญี่ปุ่น

ส่วนภาพรองถัดมาเป็นรูปเชอร์ชิลและรูสเวลต์ในตำแหน่งที่เป็นศัตรูกับแผนที่เอเชียบูรพาทั้งหมด