เพ็ญสุภา สุขคตะ : ท่าแพ ถนนสายวัฒนธรรมหน้าเวียงเชียงใหม่ ควรมีตึกสูง 13 ชั้นหรือไม่?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ท่าแพ ย่านการค้านานาชาติ

เมืองเชียงใหม่เมื่อย้อนหลังกลับไปประมาณ 150 ปี ภายในคูเมืองเก่าจะเป็นที่ตั้งของคุ้มเจ้าหลวง วงศ์วานว่านเครือ คหบดี ชนชั้นสูง วัดสำคัญ กับสถานที่ราชการ

ส่วนทิศตะวันออกของกําแพงเมืองไปจนถึงน้ำแม่ข่า (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เรียกแม่ข่าด้านทิศตะวันออกว่า “แม่น้ำโทร” หรือ “แม่โท”) จรดน้ำแม่ปิง คือช่วง “ถนนท่าแพ” นั้น ถูกกำหนดให้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวพม่า-ไทใหญ่-มอญ-ต่องสู้ (เรียกโดยรวมว่า “พวกม่าน-เงี้ยว”) ที่เข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ในเชียงใหม่ หรือบางคนเป็นพ่อค้าวัวต่างนำสินค้าทางไกลจากยูนนาน เชียงรุ่ง เชียงตุง มะละแหม่งมาแลกเปลี่ยนค้าขาย

ทำให้ย่านท่าแพนี้เต็มไปด้วยวัดที่ได้รับการอุปถัมภ์จากคหบดีม่าน-เงี้ยวที่มีศรัทธาทำการบูรณะวัดเก่ายุคล้านนาอายุกว่า 500 ปีจํานวนหลายวัดตลอดแนวถนน เริ่มตั้งแต่วัดที่ใกล้น้ำแม่ปิงมากที่สุดคือวัดอุปคุต (วัดอุปคุตม่านรื้อแล้ว ปัจจุบันเหลือแต่วัดอุปคุตคนเมือง) วัดแสนฝาง วัดบุพพาราม วัดมหาวัน และวัดเชตวัน

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนปลาย ชาวจีนที่ตั้งรกรากอยู่ฟากตะวันออกของแม่น้ำปิงย่านวัดเกตการาม ยังชีพด้วยการนําสินค้าจากกรุงเทพฯ มาจําหน่ายในเมืองเชียงใหม่ผ่านการขนส่งทางเรือกันอย่างหนาแน่นนั้น ได้ขยายตัวข้ามถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ฝั่งตะวันตกของน้ำแม่ปิงบริเวณท่าแพ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่รถไฟตัดมาถึงเชียงใหม่ฝั่งตะวันตกตั้งแต่ พ.ศ.2464 ยิ่งทำให้บ้านเรือนในบริเวณสี่แยกอุปคุตมีการขยายตัวครั้งใหญ่ ด้วยชุมชนชาวจีนเข้ามาตั้งหลักแหล่งปะปนกับกลุ่มม่าน-เงี้ยว

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วง พ.ศ.2475 ย่านการค้าสําคัญเมืองเชียงใหม่อยู่ที่บริเวณตลาดวโรรส ย่านวิชยานนท์ ย่านช้างม่อย รวมถึงย่านท่าแพ โดยบริเวณช้างม่อยเป็นย่านของพ่อค้าชาวอินเดีย

ส่วนถนนท่าแพนั้นมีความคึกคักกว่า เพราะเป็นชุมทางกลุ่มพ่อค้าสัญชาติต่างๆ เปิดห้างขายสินค้าต่างถิ่นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ประกอบด้วยพ่อค้าชาวอินเดีย พม่า-มอญ-ไทใหญ่ และชาวจีน

เสน่ห์ของย่านท่าแพด้านกายภาพคือการมีสถาปัตยกรรมเชิงพาณิชย์ที่สวยงามหลายหลังสองฟากถนน ทั้งรูปแบบอาคารไม้ฉลุลวดลายขนมปังขิงที่เก่าแก่เกือบ 100 ปี อาคารรูปแบบผสมระหว่างทรงยุโรปกับลวดลายปูนปั้นฝีมือช่างจีน (คล้ายรูปแบบที่เรียกว่า ชิโน-โปรตุกีส ของภูเก็ต) รวมทั้งร้านค้าแบบไม้สองชั้นประเภทเรือนฝ้าเฟี้ยม เรือนฝาไหลที่หาดูได้ยากในเมืองเชียงใหม่

ทั้งหมดนี้ถือเป็นการหลอมรวมรูปแบบศิลปะสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะ “สากล” หรือมีกลิ่นอาย “นานาชาติ” ค่อนข้างสูง

ปัจจุบันท่าแพเป็นถนนสายวัฒนธรรมลำดับต้นๆ ของเมืองเชียงใหม่ เวลามีกิจกรรมที่เกี่ยวกับฮีตฮอยคนเมือง ไม่ว่างานลอยกระทง (ยี่เป็ง) สงกรานต์ (ปี๋ใหม่เมือง) งานไม้ดอกไม้ประดับ มักตั้งต้นขบวนแห่เริ่มจากสะพานนวรัฐยาวไปจนถึงประตูท่าแพ ก่อนเคลื่อนเข้าสู่คูเวียงเชียงใหม่ เพื่อไปสุดปลายทางที่วัดพระสิงห์ ทำให้ท่าแพได้รับฉายาว่าเป็นพื้นที่ “หน้าเวียงเชียงใหม่”

แต่เนื่องจากความเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองเชียงใหม่ เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน มุ่งเน้นแต่การรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา จากพื้นที่ยานพาณิชยกรรมที่มีอาคารสูงไม่มากเพียงแค่ 1-2 ชั้น เริ่มปรับเปลี่ยนพื้นที่เป็นย่านการเงินการธนาคารที่เพิ่มความสูงเป็น 3-4 ชั้นก่อนในเบื้องแรก

กระทั่งเร็วๆ นี้มีข่าวว่าจะมีการสร้างโรงแรม COSI ในเครือเซ็นทรัลบนพื้นที่เดิมของร้านค้าตันตราภัณฑ์ โดยจะมีความสูงถึง 13 ชั้น ข่าวนี้สร้างความกังวลให้แก่ชาวเชียงใหม่ไม่น้อย!

อย่าตีกรอบคำว่า “เมืองเก่า”
เพียงแค่การกำหนดเขตของ สผ.

เมื่อคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า จังหวัดเชียงใหม่ ภาคประชาสังคม (ทำหน้าที่คู่ขนานไปกับคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าจังหวัดเชียงใหม่ อีกคณะหนึ่ง ที่ได้รับการแต่งตั้งโดย สผ.อย่างเป็นทางการ) รับทราบปัญหาดังกล่าว จึงได้นัดประชุมหารือกันเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 เพื่อหาแนวทางระงับยับยั้งโครงการก่อสร้างตึกสูงดังกล่าวให้ชะลอออกไปก่อน

ช่องว่างที่เปิดทางให้โครงการสร้างตึกสูงแห่งนี้ไม่ได้รับการคัดค้านจากหน่วยงานใดๆ เลย เนื่องมาจาก

ประเด็นแรก การกำหนดขอบเขตว่าพื้นที่แห่งไหนบ้างสมควรได้รับการประกาศเขตว่าเป็นเมืองเก่า เน้นหนักไปยังบริเวณภายในคูเมืองสี่เหลี่ยมเท่านั้น ในขณะที่ถนนท่าแพอยู่นอกเขตคูเมือง ทำให้ไม่ได้รับความคุ้มครองจากแผนแม่บทเมืองเก่าเชียงใหม่

ประเด็นที่สอง เมื่อเอา พ.ร.บ.ของกรมศิลปากร ว่าด้วยข้อห้ามไม่ให้สร้างอาคารพาณิชย์ที่สูงค้ำตัวโบราณสถาน เว้นเสียแต่ว่าต้องห่างจากโบราณสถานเกิน 100 เมตรขึ้นไป ปรากฏว่าจุดที่จะสร้างโรงแรมแห่งนี้ห่างจากวัดอุปคุตและวัดแสนฝางเกิน 100 เมตร ทำให้หลุดข้อกฎหมายด้านนี้ไปอีก

ประเด็นที่สาม การยื่นแบบโครงการก่อสร้างโรงแรม มีการประชุมอนุมัติเห็นชอบในเบื้องต้นมาแล้วจากส่วนกลาง ดังนั้น หน่วยงานในพื้นที่หรือท้องถิ่นแทบจะไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่ว่าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองเชียงใหม่ หรือเทศบาลนครเชียงใหม่

เหลืออยู่ช่องทางเดียวที่จะทัดทานการก่อสร้างตึกสูง 13 ชั้นย่านท่าแพไว้ได้ นั่นคือ คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าจังหวัดเชียงใหม่ ภาคประชาสังคม จำเป็นต้องทำหนังสือไปถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ทบทวนโครงการดังกล่าว

นำมาซึ่งวันที่ 19 มิถุนายน 2563 มีการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ในวงกว้างที่ลาน “ฟื้นบ้านย่านเวียง” (หลังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์) มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ นักข่าว นักกิจกรรม NGO และประชาชนผู้สนใจจำนวน 60-70 คน

ในวันนั้นมีตัวแทนของเครือเซ็นทรัลเข้ารับฟังความเห็นจากภาคประชาสังคมด้วย นำไปสู่การทำข้อตกลงร่วมกันที่ทางบริษัทยินดีปรับแก้ในสามกรณีเบื้องต้น ได้แก่

หนึ่ง รูปแบบอาคารจะปรับให้สอดคล้องกับความเป็นเมืองเก่าย่านท่าแพ ซึ่งรายรอบไปด้วยบ้านโบราณ ตึกแถวลูกกรงปูนหล่อแบบคลาสสิค เรือนขนมปังขิง รวมทั้งยินดีลดขนาดของความสูงลงเท่าที่เพดานจะทำได้ คือพร้อมให้ความร่วมมือที่จะไม่ให้โรงแรมใหม่บดบังทัศนียภาพของถนนท่าแพตลอดทั้งสาย

สอง เพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ได้รับรู้ความเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ ว่าจะมีอาคารอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นกับเมืองของพวกเขา

สาม คำนึงถึงภูมิทัศน์ทางธรรมชาติของน้ำแม่ข่า (แม่น้ำโท) เนื่องจากโรงแรมที่จะจัดสร้างนั้นตั้งอยู่ประชิดกับลำน้ำแม่ข่าค่อนข้างมาก ควรมีการถอยร่นออกมาทางทิศตะวันออกอีกสักระยะ เนื่องจากแม่น้ำสายนี้เพิ่งจะได้รับการบำบัดเยียวยาคืนลมหายใจให้กับสายน้ำมาหมาดๆ (หลังจากที่น้ำเน่าเสียมานานกว่า 20 ปี)

อย่างไรก็ดี ควรมีการสร้างความเข้าใจกันใหม่สำหรับทุกๆ พื้นที่ที่เข้าข่ายนิยามของคำว่า “เมืองเก่า” แม้จะอยู่นอกพื้นที่เมืองเก่าตามนิยามทางกฎหมาย เหตุเพราะไม่ได้รับการประกาศเขตพื้นที่

ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่พระราชบัญญัติคุ้มครองเมืองเก่าจักสามารถครอบคลุมพื้นที่ที่เป็น “เมืองเก่าจริงๆ” อย่างทั่วถึงทุกเขตทุกชุมชนทั้งจังหวัดเชียงใหม่

อนึ่ง หากดูนิยามที่ สผ.บัญญัติเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ย่านชุมชนเก่า” อันเป็นส่วนหนึ่งของ “เมืองเก่า” ที่ปรากฏในหนังสือ “คู่มือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม” ที่ สผ.จัดทำเผยแพร่แล้ว

พบว่า “ชุมชนย่านท่าแพ” อยู่ในคำจำกัดความของคำว่า “เมืองเก่า” อย่างไม่มีข้อแม้

เพราะย่านชุมชนเก่าหมายถึง พื้นที่ที่แสดงออกอย่างชัดเจนถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชน มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มีโครงสร้างทางกายภาพของชุมชนที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม เศรษฐกิจสังคม การค้าพาณิชย์ อาคารบ้านเรือน สถาปัตยกรรม ฯลฯ

ในเมื่อ “ท่าแพ” เป็นย่านประวัติศาสตร์ที่มีพัฒนาการการตั้งถิ่นฐานของชุมชนหลากหลายเผ่าพงศ์ หลอมรวมความแตกต่างทางชาติพันธุ์ของประชากรให้อยู่ร่วมกันอย่างไม่ขัดแย้ง ซ้ำยังมีมรดกทางสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าที่ทับซ้อนกันหลายยุคสมัยหลากสไตล์ศิลปะ

ท่าแพย่อมจัดเป็น “ย่านชุมชนเก่า” แห่งหนึ่งที่สมควรได้รับความคุ้มครองตามมาตรฐานที่ สผ.กำหนดไว้ในคู่มือการอนุรักษ์ฯ นั้นด้วยเช่นกัน

 

“มลทัศน์” ปัญหาคู่ขนาน “มลพิษ”

คําว่า “มลทัศน์” เป็นศัพท์เฉพาะที่รู้จักกันเพียงแค่ในแวดวงนักวิชาการด้านผังเมืองและภูมิสถาปัตย์ แปลตรงตัวได้ว่า “เป็นมลภาวะทางสายตา” หรือบางครั้งเรียกว่า “ทัศนะอุจาด” นั่นเอง

การก่อสร้างอาคารใดๆ นอกจากจะต้องคำนึงถึง “มลพิษ” ด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังต้องตระหนักถึงปัญหาด้าน “มลทัศน์” อย่างหนักหน่วงอีกด้วย ด้วยมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย

ปัญหามลทัศน์หากเกิดขึ้นที่ใด ก็ทำลายคุณค่าทางทัศนียภาพของพื้นที่นั้นทันที อาทิ ป้ายโฆษณารุงรังไร้ระเบียบบดบังความงามของแนวถนน ถังขยะระเกะระกะ ฟุตปาธไม่สม่ำเสมอ รูปแบบสถาปัตยกรรมที่แปลกแหวกแนวไร้ราก ไม่กลมกลืนสอดคล้องกับบ้านเรือนรายรอบ ความสูงของอาคารที่สูงโด่ขึ้นมากดข่มค้ำอาคารหลังอื่นให้ดูด้อยค่า รวมทั้งการทาสีอาคารแบบฉูดฉาดบาดตาด้วยสีโทนร้อนแรง เป็นต้น

ทั้งหมดนี้คือปัญหาด้าน “มลทัศน์” ที่ย่านชุมชนเก่าทุกแห่งทั่วประเทศควรมีการทบทวน มิใช่เพียงแค่ย่านท่าแพเท่านั้น

อย่างน้อยที่สุด อนุสติที่ได้จากบทเรียนครั้งนี้ก็คือ “เสียงของคนในชุมชนคือเสียงสะท้อนความจริงแท้ที่ไร้ผลประโยชน์แอบแฝง” และ “อย่าให้กฎหมายใดๆ ก็ตามมีอำนาจเหนือกฎของสัจธรรม”