ที่ยอดปราสาทบายน ศูนย์กลางเมืองนครธมของขอม คือพระพักตร์ของใคร?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“ปราสาทบายน” สร้างขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ.1724-1763 อันเป็นช่วงเวลาที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งกัมพูชาครองราชย์อยู่ที่ “นครธม” หรือเมืองพระนครหลวง ราชธานีแห่งใหม่ที่พระองค์สถาปนาขึ้น ทับอยู่บนราชธานีเดิมของพวกขอม หรือเขมร ซึ่งถูกทัพของพระเจ้าชัยอินทรวรมันที่ 6 กษัตริย์ของชาวจามปา ที่อยู่ทางตอนกลางของเวียดนาม บุกเข้ายึดครองอยู่ 4 ปี ก่อนพระองค์จะกรีธาทัพมาขับไล่ชาวจามออกไป แล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชา เมื่อเรือน พ.ศ.1724

นครธมสร้างขึ้นในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีปราสาทบายนตั้งอยู่ที่จุดศูนย์กลางของเมือง จึงเปรียบได้กับเป็นประธานของเมืองแห่งนี้

ลักษณะเด่นของปราสาทแห่งนี้ก็คือ ยอดปราสาททั้งหมดสลักเป็นรูป “พระพักตร์” ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายอยู่บนทุกยอด และทุกด้านของปราสาท นับรวมได้ทั้งหมด 216 พระพักตร์

จึงไม่แปลกอะไรหรอกนะครับ ที่นับตั้งแต่ความรู้สมัยใหม่ที่เข้ามาพร้อมกับอารยธรรมของชาวตะวันตก และควันปืนของลัทธิล่าอาณานิคมได้เข้ามาค้นพบปราสาทแห่งนี้แล้ว จะมีข้อถกเถียงเกิดขึ้นอย่างมากมายว่า บรรดาพระพักตร์ที่ประดิษฐานอยู่บนยอดของปราสาทบายนเหล่านี้หมายถึงอะไร? และเป็นพระพักตร์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์พระองค์ใดกันแน่?

 

แรกเริ่มที่สุดเมื่อชาวตะวันตกได้ค้นพบรูปพระพักตร์เหล่านี้ พวกเขาก็ฟันธงลงไปเลยว่า บรรดาพระพักตร์ที่อยู่บนยอดของปราสาทนั้นหมายถึง “พระพรหม” อันเป็นหนึ่งในสามของเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

แต่ต่อมาเมื่อมีการสำรวจปราสาทแห่งนี้โดยละเอียด แล้วก็ค้นพบว่าปราสาทบายนไม่ได้สร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ข้อเสนอดังกล่าวจึงถูกปัดตกไป

พร้อมๆ กับที่มีการเสนอใหม่ว่า พระพักตร์เหล่านี้เป็นพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร สมันตมุข (คือพระอวโลกิเตศวร ปางที่มีหนึ่งพันพระพักตร์)

แน่นอนว่า ข้อเสนอนี้เกิดจากการค้นพบว่า ปราสาทบายนสร้างขึ้นในศาสนาพุทธแบบมหายาน ดังนั้น จากพระพักตร์ของพระพรหม จึงได้กลายมาเป็นพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์ อย่างที่ไม่ได้มีเหตุผลอะไรมารองรับมากกว่าการที่พระอวโลกิเตศวรปางดังกล่าวมีจำนวนพระพักตร์มากมายนับพันหรอกนะครับ

เอาเข้าจริงแล้วข้อสันนิษฐานที่ว่านี้ก็จึงถูกตั้งขึ้นมาลอยๆ ไม่ต่างไปจากข้อสันนิษฐานแรก ที่อธิบายว่าคือพระพรหม เพราะแต่ละยอดของปราสาทมีพระพักตร์ 4 ด้านเท่าไหร่นัก

ต่อจากนั้นก็มีข้อเสนอว่า พระพักตร์ต่างๆ บนยอดปราสาทบายนนั้น หมายถึงพระพักตร์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ อีก

ที่สำคัญก็คือข้อเสนอที่ว่า คือพระพักตร์ของสุนัตตกุมารพรหม (พุทธเถรวาทเรียกสนังกุมารพรหม) ซึ่งก็เป็นพระพรหมองค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา (ศาสนาพุทธเชื่อว่าพระพรหมมีหลายองค์ ต่างจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่พระพรหมมีเพียงองค์เดียว) และเหวัชระ คือยิดัม หรือเทพผู้พิทักษ์ ในศาสนาพุทธแบบตันตระยาน ซึ่งต่างก็มีเหตุผลอธิบายความที่แตกต่างกันไป

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอล่าสุดระบุว่า พระพักตร์เหล่านี้อาจจะไม่ใช่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์องค์ใดองค์หนึ่ง เพราะผลการสำรวจรูปแบบของพระพักตร์เหล่านี้พบว่ามีลักษณะที่แตกต่างจากกัน โดยเป็นที่ยอมรับกันในวงการเขมรศึกษา (Khmer study) ปัจจุบันว่า อาจจะจำแนกกว้างๆ ได้เป็นสามรูปแบบ ได้แก่ 1.เทพเจ้า 2.เทวดา และ 3.อสูร (แน่นอนว่าอสูรซึ่งสามารถให้คุณให้โทษได้ ก็ย่อมเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับมนุษย์ด้วย ไม่ต่างไปจากเทพเทวดาทั้งหลาย)

ดังนั้น พระพักตร์ที่ประดิษฐานอยู่บนยอดปราสาท ที่เป็นศูนย์กลางแห่งนครธม หรือเมืองพระนครหลวงเหล่านี้ จึงอาจจะไม่ได้หมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์องค์ใดองค์หนึ่งเป็นการเฉพาะก็ได้

 

น่าสนใจว่า ที่ปราสาทแห่งนี้ได้มีการค้นพบตัวอักษรจารึกข้อความสั้นๆ กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณปราสาท จารึกเหล่านี้ระบุพระนามของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จำนวนนับร้อยพระนามขึ้นมาโดดๆ โดยไม่ได้บอกว่าระบุขึ้นมาทำไม? หรือเพื่ออะไรแน่?

ในบรรดาจารึกเหล่านี้ มีจำนวนมากเลยทีเดียวที่เป็นพระนามของสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากสถานที่ต่างๆ ที่อยู่ในปริมณฑลอำนาจของนครธม ตัวอย่างเช่น “กมรเตง ชคต วิมาย” หรือพระผู้เป็นเจ้าแห่งเมืองพิมาย ในจารึกปราสาทบายน 25 (18) และอีกสารพัดชื่อของสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากเมืองต่างๆ ที่มีนครธมเป็นศูนย์กลาง

และก็ต้องอย่าลืมว่า ที่ใจกลางของ “นครธม” นั้น ก็มี “ปราสาทบายน” ตั้งอยู่ที่ตรงกลาง จึงนับเป็นศูนย์กลางความศักดิ์สิทธิ์ของเมืองพระนครหลวงของพวกเขมรโบราณ ที่มีพระพักตร์ทั้ง 216 พระพักตร์ที่ประดิษฐานอยู่บนยอดของปราสาทนั่นเอง

แน่นอนว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองเมืองพิมาย และเมืองอื่นๆ ที่ถูกเอ่ยถึงในจารึกเหล่านี้ ย่อมเป็น “ผีเจ้าที่” หรือที่ชาวกัมพูชาเรียกว่า “เนียะตา” มาก่อนที่จะถูกจับบวชเข้าเป็นส่วนหนึ่งในศาสนาพุทธ หรือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ภายหลังจากที่รัฐได้นำความเชื่อในศาสนาใหม่เหล่านี้เข้ามามีบทบาทในการปกครอง

นักวิชาการชาวฝรั่งเศสผู้คร่ำหวอดในวงการเขมรศึกษาอย่างบรูโน ดาแชง (Bruno Dagen) จึงนิยามถึงปราสาทบายนในทำนองที่ว่า

“เป็นศูนย์กลางของแผนที่ทางจิตวิญญาณ ที่ถูกปกป้องโดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในจักรวรรดิแห่งนี้ ซึ่งก็มีทั้งเนียะตา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายตามคติจากอินเดียในจำนวนพอๆ กัน”

ดังนั้น “พระพักตร์” ทั้งหลายบนยอดปราสาทแห่งนี้ก็อาจจะหมายถึง วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ หรือ “ผีเจ้าที่เจ้าทาง” ปะปนอยู่ในจำนวนครึ่งต่อครึ่ง ไม่ต่างอะไรกับจารึกที่ระบุชื่อพวกท่านไว้ในปราสาทหลังนี้ พระพักตร์ต่างๆ บนยอดปราสาทบายน จึงอาจจะไม่ได้หมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์องค์ใดองค์หนึ่ง แต่หมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ถูกรวบรวมมาไว้ที่ปราสาทบายน อันเป็นศูนย์กลางของนครธม ศูนย์กลางทั้งทางการเมือง การปกครอง และจิตวิญญาณแห่งจักรวรรดิของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นี้เอง