มนัส สัตยารักษ์ | รำพึงถึงความตาย

ในช่วงปีหลังจากเกษียณอายุไม่นาน ผมเขียนเรื่องสั้น 2 หรือ 3 เรื่องก่อนวางปากกาไปเขียนอย่างอื่นที่ไม่ใช่เรื่องสั้น

เรื่องสั้นเรื่องหนึ่งได้ไอเดียจากความฝันที่ฝันว่าตัวเองเหาะได้ เหาะแบบ “ลอยละล่อง” ประหนึ่งตัวเบาจนเดินแหวกว่ายไปในอากาศได้โดยปราศจากแรงดึงดูด ไม่ได้เหาะแบบ “บินละลิ่ว” อย่างซูเปอร์แมนในภาพยนตร์ หรืออย่างตัวเอกในวรรณคดีโบราณ

ขณะที่ฝันนั้นเราไม่รู้หรอกว่ามันเป็นแค่ความฝัน หลงเชื่อว่าเราตัวเบาจนสามารถบังคับให้ลอยละล่องไปไหนต่อไหนได้ดังใจโดยปราศจากแรงโน้มถ่วง ในฝันนั้นผมรู้สึกว่าการเหาะได้ไม่ใช่เรื่องยาก และอดแปลกใจไม่ได้ว่าเหตุใดก่อนหน้านี้เราไม่เลือกที่จะเดินทางด้วยการเหาะ?

รู้สึกตัวตื่นขึ้นมาแล้วก็ไม่ได้ดีอกดีใจว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษเหนือคนอื่นแต่อย่างใด คิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ใครๆ ก็มีสิทธิ์และมีโอกาสที่จะฝันอย่างนี้ได้เช่นกัน

แล้วผมก็ได้เรื่องสั้นเรื่องหนึ่งไปส่งบรรณาธิการ เป็นเรื่องที่ผมเอาความฝันของตัวใส่เข้าไปในความฝันของตัวละครที่ผมจินตนาการขึ้นมา

บรรณาธิการอ่านอย่างรวดเร็วแล้วให้ข้อสังเกตว่า เรื่องสั้นในระยะหลังๆ ของผมมักข้องเกี่ยวกับความตาย เขาทักด้วยอารมณ์ขันว่า เป็นเพราะวัยหลังเกษียณอายุของคนเขียนหรือเปล่า

ผมปฏิเสธทั้งที่คิดว่าส่วนหนึ่งอาจจะเป็นความจริงก็ได้

นาทีนี้ผมยังอยู่ในบรรยากาศใจหายจากการเสียชีวิตของ “ตั้ว” ศรัณยู วงษ์กระจ่าง รู้สึกหม่นหมองจนรำพึงถึงความตาย ทั้งที่ผมกับตั้วไม่ได้รู้จักกัน เราเกี่ยวพันกันเพียงว่าผมเป็น “เด็กสวน” ก่อนเขา 30 รุ่น

ติดตามมาด้วยการเสียชีวิตของอาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ซึ่งผมไม่ได้รู้จักเช่นกัน เพียงแต่ได้เห็นหน้ากันในวันที่อาจารย์มาเปิดงานแสดงภาพเขียนสีน้ำมันของเพื่อนที่ ม.ศิลปากรเท่านั้น

ผมพยายามหลีกเลี่ยงความเศร้าหมอง แต่ความเป็นปุถุชนทำให้ยากที่จะหลีกพ้น

ชีวิตจริงในช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ “ความตาย” ค่อนข้างใกล้ชิดกับผมผู้เริ่มวัย 81 ปี คนที่ผมเคารพนับถือและรักใคร่เริ่มลาจาก และตัวเราเองก็พบว่าเราในวันนี้กับเราเมื่อเริ่มเป็นหนุ่มน้อยนั้นช่าง “ห่างไกล” กันมากเหลือเกิน

เมื่อตอนที่ผมอายุ 80 ตั้งใจจะเขียนเรื่อง “18 กับ 80” เป็นการแก้ตัวที่พลาดเขียนเรื่องสั้นชื่อ “16 กับ 60” ในระหว่างที่ลังเลไม่รู้จะเริ่มต้น “18 กับ 80” อย่างไร ผมก็จัดภาพถ่ายครั้งอายุ 18 เทียบกับภาพถ่ายตอนอายุ 80 เตรียมไว้ ตั้งใจจะโพสต์โชว์ในสื่อโซเชียล

แต่ความ “ห่างไกล” ทำให้ภาพชายในวัย 80 ดูน่าเกลียดจนผมต้องเปลี่ยนใจ เอาภาพที่เตรียมไว้เก็บเข้าแฟ้ม

พออายุ 84 มาดูใหม่อีก จึงได้เห็นว่ามันก็ไม่น่าเกลียดเท่ากับภาพในปัจจุบัน

อายุ 80 ผมเปลี่ยนวิถีชีวิตไปโดยไม่ได้ตั้งใจ เมื่อเพื่อนคู่หูตายจากไป เราเป็นเพื่อนเก่าตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ ครอบครัวของเรา “หนีญี่ปุ่น” ไปอยู่ในป่ายางที่ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่

พอโตเป็นผู้ใหญ่ เราชอบเที่ยว ชอบเต้นรำเหมือนกัน มีรสนิยมในการกินคล้ายกัน หลังเกษียณเราจึงเที่ยวด้วยกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เมื่อคู่หูจากไป ผมจึงหลีกเลี่ยงที่จะไปในที่ที่เคยไปกับเพื่อนคนนี้ ซึ่งทำให้ผมกลายเป็นคนที่ไม่อยากออกจากบ้านไปไหน และแทบจะไม่เดินทางไปต่างจังหวัดที่เคยไปกับเพื่อนอีกเลย

พี่อาด หรือสอาด เปี่ยมพงษ์สานต์ เป็นรุ่นพี่โรงเรียนมัธยมหาดใหญ่ก่อนผมราว 4 หรือ 5 ปี หลังจากได้รับพระราชทานรางวัลเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง พี่อาดติดต่อให้ผมพาไปบ้านพี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่บ้านแก่งเสี้ยน อ.เมืองกาญจนบุรี

ฟังคนรุ่นพี่ทั้งสองพูดคุยกันถึงอดีตอันแสนเหน็ดเหนื่อยแต่น่าภาคภูมิใจ ได้เห็นรูปถ่ายพี่อาดครั้งที่เล่นละครเป็นพระเอกรูปหล่อในโทรทัศน์ช่อง 4 จนค่ำจึงได้ลากลับกรุงเทพฯ ระหว่างเดินทางกลับ นิวัติ กองเพียร สัมภาษณ์พี่อาดออกอากาศทางวิทยุไปด้วย และเมื่อแยกทางกันผมนั่งรถที่พี่อาดขับไปช่วงหนึ่ง ผมออกปากบ่นว่าพี่อาดขับรถเร็วยังกับวัยรุ่น

ไม่มีใครคาดคิดว่าที่บ้านเชิงเขาแก่งเสี้ยน กาญจนบุรีในวันนั้นจะเป็นวันสุดท้ายที่พี่ทั้งสองได้เจอและกอดคอกัน และเป็นวันสุดท้ายที่ผมได้พบหน้าพี่ทั้งสองด้วย เพราะเมื่อพี่อาจินต์เสียชีวิต ผมกับพี่อาดไปฟังสวดอภิธรรมที่วัดตรีทศเทพไม่ตรงกัน

หลังสูญเสียพี่อาจินต์ไปประมาณเดือนเศษ พี่อาดก็ตามไป

ในวันที่สวดอภิธรรม ผมถามบุตรสาวพี่อาดด้วยความงุนงงว่า พี่อาดสั่งเสียอะไรบ้างไหม

บุตรสาวพี่อาดตอบทันทีว่า “ไม่…พ่อเขาไม่เคยคิดว่าตัวเขาอายุแปดสิบแปดไง”

พี่เทพ-สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง เป็นอีกคนหนึ่งที่ทำให้ผมต้องรำพึงถึงความตาย และด้วยความที่พี่เทพเป็นศิลปินระดับ “ดารา” ผมจึงอดที่จะหวนนึกถึงความหลังไม่ได้แม้แต่เรื่องเล็กน้อย เช่น เรื่องที่ผมแอบจำชื่อ “ตันโจ” แท่งครีมใส่ผมของพี่เทพ เป็นต้น

ผมมีโอกาสได้รู้จักพี่เทพตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น เพราะ “ไอ้แป๊ว” นริศ ทรัพยะประภา เพื่อนสวนกุหลาบฯ 66 เป็นหัวหน้าวงและเป็นคนเรียบเรียงเสียงประสานเพลงที่เทพร้อง และต่อมาผมกับพี่พี่เทพก็มีโอกาสเกี่ยวพันกันมากขึ้น เมื่อผมเป็นนักดนตรีของวง “สามพราน” มี นรต.อาจหาญ วิไลกิจ (พ.ต.อ.) ลูกผู้น้องของพี่เทพเป็นนักร้อง

แม้อาจหาญจะไม่หล่อเท่าพี่เทพ แต่เป็นเรื่องแปลกที่น้ำเสียงและลีลาร้องเพลงของลูกพี่เรียงน้องคู่นี้ใกล้เคียงกันมาก

ผมไปอยู่หน่วย นปข. อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย จำได้ว่าตลอดเวลา 1 ปีที่ท่าบ่อ เพลงของสุเทพ วงศ์กำแหง แว่วติดหูตลอดเวลา เมื่อกลับมาทำงานที่กองปราบปราม สามยอด ผมกับเพื่อนไปนั่งในคลับที่พี่เทพร้องเพลงเป็นประจำ

พี่เทพเป็นสมาชิกสมาคมนักเขียน สนิทสนมกับนักเขียนผู้ใหญ่หลายท่าน เช่น ครูแจ๋ว-สง่า อารัมภีร อาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นต้น พี่เทพไปงานของสมาคมนักเขียนเกือบทุกงาน ตอนที่พี่ปุ๊ “รงค์ วงษ์สวรรค์ เสียชีวิต สมาคมได้เชิญพี่เทพมาเล่าถึงความหลัง

พบกันครั้งสุดท้ายในวันเลือกนายกสมาคมนักเขียน ที่อาคารปรีดี พนมยงค์ ผมทักพี่เทพด้วยความจริงใจว่า วันที่พี่เทพร้องเพลงออกทีวีพร้อมกับนักร้องอาวุโสท่านอื่นนั้น ผมไม่ได้ลำเอียงที่จะบอกว่าพี่เทพดูหนุ่มและสดชื่นกว่าทุกคน

แต่แล้วในที่สุดพี่เทพก็ลาจากไปก่อนทุกคน

นึกย้อนไปไกลถึงปี 2506 วันที่ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ แห่งสหรัฐอเมริกาถูกลอบสังหาร ผมกับเพื่อนทราบข่าวขณะที่เรากำลังกินมื้อเย็นอยู่ที่ร้านอาหาร “ศรแดง” อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเอาแรงไว้ไปเที่ยวต่อตอนกลางคืน

แต่ผมรู้สึกอิ่มจนจุกเหมือนมีอะไรมาติดค้างอยู่ในลำคอ บอกเพื่อนว่าไม่อยากไปเที่ยวต่อแล้ว เพื่อนเห็นด้วยทันที

มาวันนี้ผมพอจะเข้าใจตัวเองถึงความรู้สึกหม่นหมองจากการสูญเสีย แม้ว่าบางคนจะเป็นผู้ที่เราไม่รู้จักสนิทสนมก็ตาม สาเหตุหลักก็คือ เราเห็นว่า “พวกเขา” (ทั้งที่เอ่ยนามและไม่ได้เอ่ยนาม) “ยังมีอะไรดีๆ ที่เขาทำได้และอยากทำ-ให้ทำอีกมาก”

พวกเขายังไม่ถึงเวลาที่ควรจะลาจากไป

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอยู่ข้อหนึ่ง นั่นคือพวกเขาต่างอยู่กับงานจนกระทั่งถึงวาระแห่งการตาย