เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | ภูมิบ้านภูมิเมืองแพร่

พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

“โบราณสถาน” หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้างหรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี ทั้งนี้ ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย

การแบ่งประเภทของโบราณสถาน มีวิธีการแบ่งประเภทเป็น 2 แบบ

แบบที่ 1 แบ่งแยกโดยพิจารณาตามหลักกรรมสิทธิ์ แบ่งเป็น

1.1 โบราณสถานที่มีเจ้าของหรือผู้ครองครองโดยชอบด้วยกฎหมาย

1.2 โบราณสถานที่ไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย

แบบที่ 2 แบ่งโดยพิจารณาหลักการขึ้นทะเบียน

2.1 โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียน

2.2 โบราณสถานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน

มาตรา 10 ห้ามมิให้ผู้ใดซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถานหรือส่วนต่างๆ ของโบราณสถาน หรือขุดค้นสิ่งใดๆ หรือปลูกสร้างอาคาร ภายในบริเวณโบราณสถาน เว้นแต่จะกระทำตามคำสั่งของอธิบดีหรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี และถ้าหนังสืออนุญาตนั้นกำหนดเงื่อนไขไว้ประการใดก็ต้องปฏิบัติตนตามเงื่อนไขนั้นด้วย

มาตรา 32 ผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน หรือทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีหรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 35 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 10 หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดไว้ในหนังสืออนุญาตตามมาตรา 10 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 84 ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริมหรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำ หรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ และถ้าผู้ถูกใช้เป็นบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ ลูกจ้างหรือผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ใช้ผู้ที่มีฐานะยากจน หรือผู้ต้องพึ่งพาผู้ใช้เพราะเหตุป่วยเจ็บหรือไม่ว่าทางใด ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้ใช้กึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับผู้นั้น

กรณีรื้ออาคารบริษัท บอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้ง ที่จังหวัดแพร่ ดังเป็นข่าวครึกโครมอยู่นี้ เป็นการกระทำความผิดร่วมกันทั้งผู้ใช้และผู้ถูกใช้ให้กระทำความผิดตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีหรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เหตุผลตามกฎหมายดังกล่าว 4 ข้อคือ เข้าข่าย

หนึ่ง อาคารนี้เป็น “โบราณสถาน” ตามเกณฑ์ คือ ด้วยอายุ (ซึ่งเกิน 100 ปี) ด้วยลักษณะศิลปะสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ ด้วยหลักฐานที่เป็นประโยชน์ทางประวัติศาสตร์

สอง อาคารนี้ถูกรื้อถอนโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร

สาม อาคารนี้ถือเป็น “โบราณสถาน” ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแต่อยู่ในความคุ้มครองของกฎหมาย ซึ่งมีระวางโทษเบากว่าโบราณสถานประเภทขึ้นทะเบียน

สี่ ผู้กระทำความผิด คือ ทั้งผู้ใช้และผู้ถูกใช้ให้รื้อถอนโดยยังไม่ได้รับการอนุญาต อันเป็นความผิดร่วมกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84

จากนี้ ผลจะเป็นอย่างไร คงรู้ได้ในไม่ช้า เพราะเป็นข่าวดังข่าวเด่นที่สังคมจับตาดู เปิดหูฟัง

จะโยนความผิดกันอย่างไรไปให้ใครต่อใครก็จะได้รู้กัน

ต้องขอขอบคุณชาวแพร่ผู้ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นความสำคัญที่ทำให้คนได้ตระหนกและตระหนักรู้กันทั้งประเทศถึงความเป็น “ภูมิบ้านภูมิเมือง” ที่เรามีอยู่อันเราไม่ใส่ใจใคร่รู้ ครั้นเมื่อจะต้องสูญเสียสิ่งนั้นไป เราจึงมักฉุกใจได้คิด

ซึ่งมักสายไปแล้วเสมอ

และที่น่าขุ่นใจข้องใจก็คือ เรื่องทำนองนี้มักเกิดขึ้นจากความผิดพลาดของทั้งราชการกับเอกชนร่วมกัน และก็ที่มักหาผู้รับผิดไม่เจออยู่เสมอ ด้วยที่เจอก็มักจะเป็น “แพะรับบาป” อยู่ร่ำไป

กรณีอาคารเมืองแพร่ที่เป็นเสมือน “ภูมิเมืองแพร่” นี้ ก็ดูจะมีนัยยะส่อไปในทางเห็น “มูลค่า” สำคัญกว่า “คุณค่า” อยู่ค่อนข้างจะชัดเจน

อาคารสวยงามทรงเสน่ห์เป็น “ภูมิเมืองแพร่” นี้ บอกเล่าถึงคุณค่าของแผ่นดินอันอุดมด้วยป่าไม้ที่เป็นทรัพยากรสำคัญ อาคารหลังนี้บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัย สมควรให้จดจำรำลึกถึงและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังอาคารสถานแห่งนี้ที่เป็นส่วนหนึ่งในสถาบันศึกษาของกรมป่าไม้นั้น และครั้งนี้ถ้าไม่มีภาคประชาชนเข้ามาได้พบได้เห็น เรื่องก็คงเป็นไปตามระบบ “อำนาจบาตรใหญ่” ที่กำลังกลายเป็น “บาทใหญ่” ไปทั่วโลกในวันนี้

ขอบคุณคนแพร่ผู้ทรงภูมิ และได้แพร่ภูมิ ให้โลกได้รับรู้ถึงความเป็น

“ภูมิเมืองแพร่”