“Die Schone Heimat บ้านเกิด เมืองใด เรือนใจ เมืองงาม” บทสนทนาระหว่างรูปธรรมและนามธรรมจากจิตวิญญาณแห่งศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เรามีโอกาสไปชมผลงานนิทรรศการแสดงเดี่ยวของศิลปินคนสำคัญผู้หนึ่งมา เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

สมบูรณ์ หอมเทียนทอง

ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นในระดับสากล ผลงานของเขามีลักษณะเด่นในการหลอมรวมแนวความคิดและปรัชญาแบบตะวันตกเข้ากับมิติทางจิตวิญญาณแบบตะวันออกอย่างกลมกลืน

สมบูรณ์เคยเดินทางไปศึกษา, ใช้ชีวิต และทำงานอยู่ที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เป็นเวลากว่า 30 ปี จนมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

เขามีงานแสดงเดี่ยวในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ชั้นนำมากมายหลายแห่งในยุโรป

ในขณะเดียวกันเขาก็กลับมาแสดงงานให้ผู้ชมชาวไทยได้ชมเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็น นิทรรศการ “เดินทางไปกับลมหายใจ” ปี พ.ศ.2532, “เวลาที่ไร้นาม” (The Nameless Time) ปี พ.ศ.2536, หรือนิทรรศการ “The Mekong River” และนิทรรศการ “เสียงพูดที่ไม่ได้ยิน” (The Unheard Voice) ในปี พ.ศ.2538

หลังจากนั้นเขาก็ลาจากประเทศเยอรมนี หวนกลับมาอาศัยและทำงานในเมืองไทย และแสดงนิทรรศการหลายต่อหลายครั้ง ทั้งนิทรรศการ “So zu sehen” ในปี พ.ศ.2550 และนิทรรศการ Raj Loesuang and The Boy Somboom Hormtientong ในปี พ.ศ.2556 เป็นต้น

ในปี พ.ศ.2560 สมบูรณ์ยังได้รับเชิญให้ไปแสดงผลงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 57 ในนิทรรศการ KRUNG THEP BANGKOK อีกด้วย

ล่าสุดในปี พ.ศ.2563 นี้ สมบูรณ์ก็กลับมาแสดงผลงานให้ชาวไทยชมกันอีกครั้งกับนิทรรศการ “Die Schone Heimat” หรือ “บ้านเกิด เมืองใด เรือนใจ เมืองงาม” อันที่จริงนิทรรศการนี้เปิดให้ชมกันตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้นิทรรศการต้องพักการแสดงไประยะหนึ่ง ก่อนที่จะกลับมาเปิดให้ชมกันอีกครั้ง เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว

นิทรรศการครั้งนี้รวบรวมงานหลากหลายรูปแบบจำนวนกว่า 70 ชิ้น ที่ส่วนใหญ่ยังไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน ผลงานเหล่านี้สะท้อนเรื่องราวเกี่ยวกับความทรงจำ และการทุ่มเทเอาใจใส่ทั้งในด้านการสร้างสรรค์ผลงานและการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ซึ่งการระลึกถึงความทรงจำนั้น ในแง่หนึ่งเปรียบดั่ง “บ้านของตนเอง” ที่เป็นที่พักผ่อนทางใจ เป็นพลังแห่งการสร้างสรรค์สิ่งใหม่แก่ชีวิต

“ที่มาของนิทรรศการนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน คือผมบังเอิญนึกถึงภาษาเยอรมันประโยคหนึ่งขึ้นมาว่า “Die Schone Heimat” แปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า “บ้านที่งดงาม” ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับเวลา ทั้งเวลาในความทรงจำ ที่คนเราสามารถจะมีได้ทุกคน อาจจะเป็นคนที่ไปอยู่ต่างถิ่น ต่างแดน หรือคนที่อยู่ในประเทศไทยในจังหวัดที่ห่างไกลก็ตาม ผมก็เลยอยากเอาประโยคนี้มาใช้เป็นชื่อของนิทรรศการครั้งนี้ เพราะเป็นการแสดงผลงานย้อนหลังในช่วงที่ผมเคยทำตอนอยู่ต่างแดน รวมถึงผลงานที่ผมทำตอนอยู่ประเทศไทยด้วย”

“คำว่า “บ้าน” คือความเข้าใจ ความรู้สึกนึกคิด หรือความเป็นส่วนตัวอะไรสักอย่าง ที่มีความหมายกับคนคนนั้น หรือประสบการณ์ที่เขามีในวัยเด็กหรือในวัยไหนก็ตามแต่ ที่ทำให้ชีวิตเขามีการเปลี่ยนแปลง หรือรำลึกถึงในด้านใดก็ตาม มนุษย์แต่ละคนมีบ้านอยู่ในตัวเอง “บ้าน” ในที่นี้ไม่ใช่สถานที่หรือสิ่งของ หากแต่เป็นจิตวิญญาณมากกว่า”

“คำว่า “บ้าน” สำหรับผม คือสิ่งที่เป็นหน้าที่ของชีวิต และสิ่งที่ผมสนใจและทำมาตลอดชีวิต นั่นคือการสร้างงานศิลปะ เป็นการบันทึกทุกๆ ประสบการณ์และเหตุการณ์อะไรก็ตาม ทั้งในยามทุกข์ ยามสุข หรือในยามไหนก็ตาม เราได้บันทึกสิ่งเหล่านี้ลงในตัวงานของเราในช่วงระยะเวลาต่างๆ”

สมบูรณ์กล่าวถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการครั้งนี้ของเขา

คอศิลปะรุ่นใหม่ๆ อาจคุ้นเคยกับสมบูรณ์ในฐานะจิตรกรนามธรรมระดับแนวหน้าของเมืองไทยและสากล แต่ในความเป็นจริงแล้ว เขาทำงานศิลปะในหลากหลายแนวทาง

ซึ่งนิทรรศการในครั้งนี้ก็แสดงให้เห็นถึงผลงานอันหลากหลายของเขาอย่างครบถ้วนแทบจะในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม, ประติมากรรม, วาดเส้น, ศิลปะจัดวาง, สื่อผสม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปะจากวัสดุและข้าวของสำเร็จรูป ที่คนดูงานศิลปะในบ้านเราหลายๆ คนอาจไม่คุ้นเคยกันเท่าไรนัก

“ผมไปเยอรมนีในฐานะประติมากรและศิลปินผู้ทำงานศิลปะจัดวาง เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่จะเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่ในนิทรรศการของผม จริงๆ สิ่งเหล่านี้เป็นแกนหลักในงานของผมด้วยซ้ำไป ข้าวของในงานของผมเหล่านี้ จะดูว่าเป็นของเก่า หรือเป็นของที่มีอดีตก็ได้ แต่สำหรับผม ผมมองว่าสิ่งเหล่านี้ถูกออกแบบมาโดยช่างพื้นบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตู้เสื้อผ้า ตู้เก็บของอะไรก็ตาม ซึ่งผมเห็นลักษณะที่งดงาม จึงอยากจะถอดหน้าที่การใช้งานของเขาออก ให้เขามาทำหน้าที่ใหม่ ภายใต้ความคิดใหม่ เพื่อสร้างบทสนทนากับผลงานชิ้นอื่นๆ ของผม และกับผู้ชม”

“ของทุกอย่างในโลก ถ้าเราสัมผัสได้ มันจะมีการสร้างบทสนทนาต่อกันตลอดเวลา เพียงแต่เราจะมีความเข้าใจมันไหม ผมเคยยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า “ถ้าเรามองหิน หินก็คือเรา เราก็คือหิน” บางคนฟังแล้วอาจจะงง แต่คำพูดนี้หมายถึง ถ้าเราจะทำงานกับสิ่งใดก็ตาม เราต้องทำความเข้าใจกับสิ่งนั้นให้ถ่องแท้ เมื่อนั้น เราก็จะเห็นตัวเราอยู่ในสิ่งเหล่านั้น”

“อย่างเช่น ถ้าเราทำงานกับเหล็ก เราก็ต้องรู้ว่าธรรมชาติของเหล็กเป็นอย่างไร เราจึงจะหาวิธีใส่จิตวิญญาณของเราเข้าไปในเหล็กนั้นได้ เพื่อให้เขาแสดงเนื้อหาอย่างที่เราต้องการ ถ้าทำได้ ก็แปลว่าเราสร้างบทสนทนากับเขาได้สำเร็จ”

สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งอีกประการในนิทรรศการครั้งนี้ก็คือ การปะทะประสาน และการสร้างบทสนทนากันอย่างขัดแย้งทว่ากลมกลืนระหว่างงานศิลปะนามธรรมและศิลปะรูปธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยพบเห็นในนิทรรศการศิลปะของศิลปินคนไหนๆ

“รูปธรรมและนามธรรม สองสิ่งนี้อยู่คู่กันเสมอ เพียงแต่มนุษย์ไปแยกมันออกจากกันเอง ถ้าเราอยากจะดูสิ่งที่มีรูปธรรมและนามธรรม เราไม่ต้องไปดูสิ่งที่มนุษย์ทำหรอก เราไปดูจากสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ”

“อย่างดอกไม้ดอกหนึ่ง รูปธรรมก็คือรูปทรงของมัน แต่ความเป็นนามธรรมของมันก็คือ สีสัน ความงดงาม หรือแม้แต่กลิ่น ที่เราสัมผัสได้ชัดเจน ในธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้รวมกันเป็นหนึ่งเดียว”

“แต่สิ่งที่มนุษย์ทำ บางทีสองสิ่งนี้ไม่อยู่ร่วมกัน เพราะเขาไม่เข้าใจคำว่านามธรรม งานที่ออกมาก็จะเป็นเพียงวัตถุสิ่งของ การจะเข้าใจนามธรรมได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ คนคนนั้นต้องเรียนรู้ความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดกับตัวผู้สร้างก่อน ถึงจะถ่ายทอดลงไปในงานได้ ความจริงนามธรรมนั้นมีอยู่ทุกหนแห่ง เพียงแต่เราไปคิดว่ามันซับซ้อนและไม่เข้าใจมันเอง”

“ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างปกติผมไม่เคยเขียนงานที่เป็นรูปธรรม แต่พอผมเอาตุ๊กตาหมีของลูกมาเขียนเล่นๆ ในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยชิน ลองเขียนเป็นหมีออกมา พอเราเขียนๆ ไป ก็มีอะไรที่น่าสนใจ เราก็เขียนไปเรื่อยๆ จนพบว่าในรูปหมีนี้มีภาวะนามธรรมอยู่”

“การเขียนรูปหมีสอนผมให้รู้ว่า จริงๆ งานทุกชิ้นที่ผมทำมามีหมีอยู่ในนั้นทุกชิ้นเลย เพียงแต่มันไม่แสดงออกมาเป็นรูปธรรมให้เราเห็น แต่พอวันหนึ่งเรามาแตะรูปธรรมที่เป็นหมี คุณจะเห็นเลยว่ามันมี “ความซื่อ” อยู่ ถ้าคุณมองเห็นความซื่อในงานของผม สิ่งนั้นก็คือ “หมี” นั่นแหละ เรื่องนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่า จริงๆ แล้วงานแต่ละชิ้นเรามีสิ่งนี้อยู่ เพียงแต่มันไม่ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างให้เราเห็นเท่านั้นเอง”

“Jedes Wesen folgt seiner Natur” ประโยคในภาพนี้ได้มาจากหนังสือกวีของ ฮั่นซาน กวีจีนโบราณ ที่ถูกนำมาแปลเป็นภาษาเยอรมัน แปลเป็นไทยได้ว่า “จิตวิญญานของทุกชีวิตล้วนตามหาธรรมชาติของตนเอง”

ท้ายที่สุดแล้ว ศิลปินผู้นี้มีความเชื่อว่า เมื่อผลงานของเขาเหล่านี้ถูกนำมาจัดวางในพื้นที่ จังหวะ และเวลาที่เหมาะสม ก็จะเกิดเป็นความรู้สึกที่สามารถสร้างบทสนทนากับผู้ชมได้ เขามุ่งหวังให้ผลงานของเขาเป็นเสมือนแรงกระตุ้นให้ผู้ชมมองเข้าไปภายในใจตนเองจนพบแรงบันดาลใจหรือภาพสะท้อนบางอย่างในชีวิต

ด้วยเชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนต่างมี “Die Schone Heimat” หรือ “บ้านที่งดงาม” เป็นของตนเอง

นิทรรศการ “Die Schone Heimat บ้านเกิด เมืองใด เรือนใจ เมืองงาม” เปิดให้เข้าชมฟรี ระหว่างวันที่ 19 มีนาคม – 31 สิงหาคม พ.ศ.2563 ตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น.

ณ JWD Art Space ซอยจุฬาลงกรณ์ 16

เปิดให้บริการทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์)

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก JWD Art Space