5 สิ่ง “เขมร-ไทย” ในประเด็นตามหา

อภิญญา ตะวันออก

หลังทวงคืนปราสาทเขาพระวิหารกับศาลโลกเมื่อ 6 ทศวรรษก่อน ตอกย้ำความสำเร็จบนเวทีนานาชาติ ตอกย้ำความสำเร็จแต่ครั้งประเดิมคืนเอกราชจากฝรั่งเศสแล้วอย่างยิ่งยวดโดยมิโอ้อวดประวัติศาสตร์เลยนั้น เป็นความจริงทีเดียวสมัยสีหนุราช

แต่แล้วความภาคภูมิใจทั้งหมดก็ถูดลดเลือนโดยระบอบเขมรแดงและสงครามกลางเมืองที่สุดจะเยียวยาจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

กลับสู่ยุคใหม่ทั้งหมดฟื้นฟูระบอบกษัตริย์และการปกครองในปี พ.ศ.2536 แต่ความขัดแย้งก็ยังไม่สิ้น จนปี 2546 เมื่อสมเด็จฯ ฮุน เซน ชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลแต่เพียงพรรคเดียว

ก่อนหน้านั้นเขาหลงทางไปกับนโยบายโยนบาปตามแนวพรมแดนเพื่อแสวงหาวิถีรักชาติจากประชาชนกัมพูชา และพบว่ามันไม่อาจยั่งยืน

แต่นั้นมาเขาก็หันไปหาความสำเร็จแนวใหม่ นั่นคือแนวรบทางวัฒนธรรม และช่างบังเอิญว่า เมื่อกัมพูชากลับมาสู่ความสงบเรียบร้อยของความเป็นประเทศแล้ว ความถวิลหาวัฒนธรรมแห่งอดีตที่ยิ่งใหญ่ก็ตามมา โดยเฉพาะระหว่างปี 2513-2518 ที่ทำให้ขนบจารีตเขมรหลายอย่างได้บัดบ่งสูญหาย

และช่างบังเอิญกระไร ที่ประดาเรื่องทั้งหมดดูจะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไทย จนคล้ายเป็นเรื่องเดียวกัน

 

1. ระบำราชสำนัก : ละครรำสยาม

ไม่มีใครสนใจว่า จุดเริ่มต้นของต้นทุนวัฒนธรรมที่คนทั้งโลกจะรำลึกถึงกัมพูชานี้มาจากที่ใด

สำหรับระบำราชสำนักกัมพูชา ที่เดิมทีนักวิจัยฝรั่งเศสลงความเห็นว่าราชสำนักกัมโพชรับมาจากสยาม และถูกบันทึกความสำคัญอย่างยิ่งยวดคราวที่พระบาทสีโสวัฒถิ์ (2447-2470) นำไปแสดงในฝรั่งเศส

คราบไคลในความเป็นสยามของนาฏศิลป์แขนงนี้ก็ดูจะหายไป และพัฒนาต่อยอดในแบบฉบับระบำอัปสราในอีก 2 รัชกาลถัดมา นี่คือสิ่งที่ทำให้ระบำราชสำนักของกัมพูชาโดดเด่นไปด้วยอัตลักษณ์เฉพาะตน

จนยูเนสโก-องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี 2553

และนับแต่นั้นมา ระบำราชสำนักกัมพูชาก็กลายเป็นโมเดลแห่งความสำเร็จทางวัฒนธรรม

 

2. โขลเรียมเกร์ : โขนรามเกียรติ์

จุดบ่งชี้ที่เริ่มทำให้เห็นว่า ความสำเร็จจากชัยชนะในระบำเขมรอาจเป็นเรื่องง่ายเกินไปเพราะอยู่ในยุคที่ไร้คู่ต่อกร แต่สำหรับละครโขนรามเกียรติ์หรือละครโขลเรียมเกร์เขมรนั้นไม่ใช่

นี่คือจุดเริ่มต้นของการตามหาสิ่งที่สูญหายทั้งภายในประเทศเองและระดับนานาชาติ รวมทั้งความหมายของประเด็นชนชั้นล่าง-รวมทั้งศิลปินพื้นบ้านซึ่งเป็นผู้ก่อการการแสดงโขลในรูปแบบนานามาแต่ต้น

ก่อนหน้านั้น วัฒนธรรมโขลถือเป็นการแสดงชั้นสูงและถูกกีดกันจากราชสำนักผู้ปกครอง ทำให้โขลเขมรถูกจำกัด และแทบไม่มีตัวตนเชิงสาธารณะนอกจากบทร้องเรียมเกร์ของศิลปินพื้นบ้าน ที่พบก่อนปี พ.ศ.2518 โดยนักวิชาการฝรั่งเศส และยุคเขมรสาธารณรัฐหลังโค่นล้มกษัตริย์ไปแล้ว หลักฐานหลงเหลือของบทร้องเรียมเกร์โดยศิลปินพื้นบ้านคนสุดท้ายเพิ่งจะค้นพบเมื่อไม่นานนี้ คือบทร้องเรียมเกร์ของตาครุด

แต่อาจจะด้วยการถูกกดทับแสนนานหรือไม่ที่ทำให้เรียมเกร์เขมรมีลักษณะการเติบโตที่แตกต่างจากพื้นบ้านและการกลับมารื้อฟื้นอีกครั้งก็เกิดขึ้นโดยศิลปินท้องถิ่น โดยเฉพาะในลักษณะของความเป็นวัฒนธรรมจากฐานรากของชุมชนอย่างเป็นองค์รวม

ยูเนสโกขึ้นทะเบียนโขลเรียมเกร์ว่าเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้ สาขาอนุรักษ์/เสี่ยงการสูญหาย และขึ้นทะเบียนโขนไทยไว้ในสาขาเอกลักษณ์ชาติ

แต่ประเด็นวิวาทะก็ยังเป็นดราม่า อันเกิดจากวัฒนธรรมร่วมสมัยแต่ไม่ร่วมชาติในบางครั้ง

 

3. มวยไทย : กบัจคุน

กบัจคุนเป็นชื่อเดียวกับ “มวยไทย” ตามที่ชาวเขมรเรียก ก่อนหน้านั้นจากหลักฐานบุน จันมุล (บุนจันทร์ มุล) ที่ขณะนั้นชาวเขมรโดยรวมเรียกขานตัวเองว่ากัมปูเจีย นักเขียนและนักต่อสู้แนวทางซึง งอกทันห์ ท่านนี้ยอมรับศิลปะมวยไทยแต่ไหนแต่ไร และเคยไปดู “ประฎาล” ศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าระหว่างไทยกับเขมรราวครั้งหนึ่งที่พระตะบอง จันมุลเห็นว่ามีความสูสีกันมากและไทยขณะนั้นดูจะมีชั้นเชิงและชื่อเสียงมากกว่าเขมรนิดหน่อย โดยเฉพาะด้านเทคนิค

บุน จันมุล ลาโลกไปราว 30 ปี ประฎาลที่เขารู้จักก็ถูกยกระดับให้เป็น “กบัจคุน” กบัจคุนโบราณ คุนเขมร โบกะตอ หรือชื่ออะไรต่างๆ ดังที่รัฐกัมพูชาพยายามผลักดัน และแม้ชาวเขมรทั่วไปก็ยังติดปากเรียกประฎาล

แน่นอน วัฒนธรรมกีฬาสำหรับกัมพูชาแล้ว มิใช่แต่ความสนุก บันเทิงหรือท่องเที่ยว แต่เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองและความมั่นคงที่จำเป็นต้องปลุกเร้าให้เกิดอัตลักษณ์แห่งความเป็นชนชาติอีกด้วย

เพียงแต่ว่า ตอนที่เห็นคุณค่าเช่นนั้น กัมพูชาอยู่ในช่วงอันมืดมน และใครจะไปรู้ล่ะว่า ศิลปะการต่อสู้แขนงนี้นับวันจะกลายเป็นอัตลักษณ์แห่งความเป็นชาติและอนาคต ตลอดจนมิติความเป็นสากลที่นับวันจะมีมูลค่ามหาศาล!

และเหตุนั้น กบัจคุนจึงเป็นเหมือนคู่ต่อกรตลอดกาล ตราบใดก็ตามที่ประเด็นมวยไทยถูกกล่าวขานบนเวทีนานาชาติ และความสำเร็จของมวยไทยที่ชาวโลกขานรับอย่างมากมาย แต่ตราบใดที่คำว่า “มวยไทย” ยังไม่สามารถพิสูจน์ว่าเป็น “อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะตน” ไปได้

ความหมายของคำว่ามวยไทยบนเวทีนานาชาติก็ไม่อาจสง่างาม สำหรับเวทีกลางแห่งสากล

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเดียวกันที่ว่า ทั้งโขลเรียมเกร์และระบำเขมรโบราณ ต่างเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับไทยอย่างเห็นได้ เช่นเดียวกับกบัจคุนกับมวยไทย

และความพยายามยกระดับกบัจคุนเทียบเท่ากับศิลปะการต่อสู้ที่รุ่งเรืองสมัยพระนคร-นครธมยังคงดำเนินไป

เช่นเดียวกับกองทัพกัมพูชาที่บรรจุให้ศิลปะแขนงนี้เป็นนโยบายเอกแห่งการฝึกซ้อมและธำรงวินัย

 

4. พระแก้วมรกต : พระแก้วมรกต

มานานระยะหนึ่งแล้วที่หลักฐานเถรวาทกัมพูชาอ้างถึงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ว่าเป็นรัตนสมบัติ หรือ “ปฏิกภรณ์” ของฝ่ายตนนั้น

นับไปก่อนหน้า แต่ครั้งฝรั่งเศสสร้างพระราชวังจตุรมงคลและปราสาทพระที่นั่งเทวาวินิจฉัยถวายแก่กษัตริย์นโรดม (2403-2447) ตามพระองค์ร้องขอ ซึ่งแทบจะจำลองเอาพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัยไปไว้ที่กรุงพนมเปญเสียทั้งหมด รวมทั้งวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

มองความสัมพันธ์ชาวเขมรต่อพระแก้วมรกตที่ออกจะคลุมเครือนั้น

แต่ให้สงสัยว่า เหตุใดกษัตริย์เขมรจึงเจตนาสร้างพระรัตนารามเพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรไว้ ณ เขตพระราชฐานด้วยฉะนี้?

แม้โดยที่จริงแล้ว ราชสำนักกัมโพชเวลานั้น (และจนบัดนี้) ไม่เคยมีหรือครอบครองพระแก้วมรกตแต่อย่างใด?

และใช่แต่พระแก้วมรกตเท่านั้นที่นักวิชาการเขมรบางฝ่ายทวงถาม แต่ยังรวมถึง 1 ใน 5 ของเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทย

 

5. พระขรรค์กัมโพช : พระขรรค์แสงชัยศรี

เล่ากันว่า พระขรรค์แสงชัยศรีในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 10 ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นพระขรรค์เก่าแก่ยุคขอมโบราณสมัยรัชกาลพระบาทชัยวรมันที่ 7 เลยทีเดียว

ตกทอดมาถึงไทย จากที่ชาวประมงเขมรงมพบได้ในบารายและนำไปถวายเจ้าเมืองเสียมเรียบ และถูกนำไปถวายแด่กษัตริย์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กระทั่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อ 5 พฤษภาคมของปีกลาย

ทันใดนั้น ความพยายามจะกล่าวถึงพระขรรค์ของเขมรได้เกิดขึ้นอีกครั้งในหมู่ชาวเขมรบางกลุ่มและเงียบหายไปเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง

เป็นที่ทราบว่า การสืบสันตติวงศ์แห่งระบอบกษัตริย์และสิ่งอันบ่งบอกถึงราชประเพณีได้ถูกระบอบเขมรแดงทำลายไปจนสิ้นสำหรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์และพระขรรค์ประจำราชวงศ์ และพระบาทนโรดม สุระมฤทธิ์ คือองค์สุดท้ายที่ได้ทำพิธีดังกล่าวอย่างเต็มพระยศ เมื่อ 6 มีนาคม พ.ศ.2499

เช่นเดียวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 29 ตุลาคม 2547 โดยกษัตริย์เขมรองค์ปัจจุบัน คือพระบาทนโรดม สีหมุนี ที่เรียบง่าย

ปราศจากพระขรรค์ เครื่องราชกกุธภัณฑ์และอำนาจใดๆ