ผ่าปมสหกรณ์คลองจั่น ศาลยกฟ้องคดีฉ้อโกง ‘ศุภชัย ศรีศุภอักษร’ สู้ต่อ‘ยักยอก-ฟอกเงิน’

เป็นอีก 1 คดีมหากาพย์ทางการเงินเมืองไทย สำหรับกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด

ที่มีกว่า 13,500 สาขา สินทรัพย์กว่า 2 ล้านล้านบาท และมีสมาชิกกว่า 11 ล้านคนทั่วประเทศ

ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการขัดแย้งการบริหารงานภายใน ตามมาด้วยการแฉถึงการบริหารงานที่มีพิรุธ และข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการยักยอกเงินกว่าหมื่นล้านบาท

จนเป็นเหตุที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้ามารับผิดชอบ

พร้อมออกหมายจับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ในข้อหายักยอกทรัพย์ และฉ้อโกงประชาชน

ลามไปถึงวัดพระธรรมกาย เมื่อพบว่ามีการนำเงินของสหกรณ์ส่วนหนึ่งไปบริจาค จนออกหมายจับพระธัมมชโย และส่งกำลังพลปิดล้อมตรวจค้นวัดพระธรรมกายเมื่อปี 2559

แต่ก็คว้าน้ำเหลว แม้ทุ่มทรัพยากรไปจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถหาตัวพระธัมมชโยได้

นอกจากนี้ ยังพัวพันกับเจ้าสัวคนดัง ในคดีฟอกเงิน ซึ่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว

ล่าสุดในคดีฉ้อโกงประชาชน ก็ได้ข้อสรุปในระดับศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง เพราะหลักฐานไม่ชัดเจน

เหลือต้องต่อสู้กันต่อไปในชั้นอุทธรณ์และฎีกา


ศาลยกฟ้องฉ้อโกง “ศุภชัย”

วันที่ 30 มิถุนายน ที่ห้องพิจารณาคดี 812 ศาลอาญา รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีดำ อ.1260/2561 ที่ น.ส.นวลฉวี เกตุวัฒนเวสน์ กับพวกรวม 410 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด และนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อายุ 63 ปี อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-2 ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343

โดยคำฟ้องระบุว่า ระหว่างปี 2552-2556 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด จำเลยที่ 1 โดยมีนายศุภชัย จำเลยที่ 2 ในฐานะประธานคณะกรรมการ โฆษณาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปทราบว่ากิจการของจำเลยที่ 1 เป็นธนาคาร มีสถานะทางการเงินมั่นคง

ความจริงแล้วจำเลยที่ 1 เป็นเพียงสถาบันการเงินเพื่อชุมชนเท่านั้น ไม่มีสถานะเป็นธนาคาร การที่จำเลยที่ 1 โฆษณาเผยแพร่ว่าตนเองมีสถานะเป็นธนาคาร มีสถานะทางการเงินที่มั่นคงและน่าเชื่อถือ สามารถจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์อื่นพึงจ่ายได้

เป็นเหตุให้โจทก์และประชาชนหลงเชื่อ ทำให้จำเลยทั้งสองได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินของโจทก์จำนวนทั้งสิ้น 1,115,567,027.51 บาท เหตุเกิดที่แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม. และทั่วราชอาณาจักร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, 83 และ 91

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ทั้ง 410 คนและจำเลยทั้งสองแล้ว สำหรับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด จำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2526 โดยใช้คำว่า “สหกรณ์” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อที่แสดงออกต่อบุคคลภายนอกมาโดยตลอด

แม้ในช่วงเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 1 จะใช้คำว่า “U BANK” และข้อความว่า “ธนาคารที่คุณเป็นเจ้าของ” แต่เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายป้ายชื่อและเอกสารต่างๆ ยังปรากฏชื่อ “สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด” รวมอยู่ด้วย

อีกทั้งประชาชนทั่วไปรวมถึงโจทก์ทั้งหมดก็จะต้องสมัครเข้าอบรมก่อนเข้าเป็นสมาชิก จึงย่อมทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ดำเนินกิจการโดยมีสถานะเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ การใช้ข้อความดังกล่าวจึงไม่อาจทำให้โจทก์ทั้งหมดหลงเชื่อได้

ส่วนประเด็นที่กล่าวอ้างการปกติ หรือจัดทำงบประมาณการเงินเป็นเท็จเพื่อหลอกลวงสมาชิก โจทก์ไม่ได้นำพยานยืนยันว่าจัดทำบัญชีงบการเงินเป็นเท็จหรือไม่

หากมีการกระทำฝ่าฝืนข้อบังคับ ก็เป็นการกระทำผ่านทางคณะกรรมการดำเนินการ จะถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ได้

นอกจากนี้ โจทก์ยังไม่ได้นำพยานมาสืบให้เห็นว่าดอกเบี้ยที่ตกลงจะให้เป็นอัตราที่สูงกว่าสถาบันการเงินอื่นเพียงใด และจำเลยที่ 1 จ่ายดอกเบี้ยให้ไม่ได้แน่ๆ และก่อนหน้านี้โจทก์ทั้ง 410 คนก็เบิกถอนเงินและได้รับดอกเบี้ย เงินปันผลจากจำเลยที่ 1 ตามปกติ เพิ่งมามีเหตุการณ์ที่ทำธุรกรรมเบิกถอนไม่ได้ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556

จึงบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้หลอกลวงโจทก์ การไม่สามารถทำธุรกรรมเบิกถอนเงินและจ่ายผลตอบแทนให้แก่สมาชิก จึงไม่ใช่เกิดจากการหลอกลวง

จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้อง

ชี้หลักฐานยังรับฟังไม่ได้

สําหรับนายศุภชัย จำเลยที่ 2 นั้น โจทก์นำสืบโดยไม่มีรายละเอียดถึงพฤติการณ์ว่ากระทำการหลอกลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนต่อโจทก์ทั้ง 410 คนอย่างไร

อีกทั้งในการจัดประชุมใหญ่ประจำปีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ซึ่งจัดทำวาระรายงานงบการเงินประจำปี ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้ง 410 คนหรือสมาชิกคนใดคัดค้านหรือโต้แย้ง นอกจากนี้ โจทก์ก็มิได้นำผู้ตรวจการสหกรณ์มาเบิกความยืนยันว่ามีการจัดทำงบการเงินเป็นเท็จจริงหรือไม่

แม้โจทก์ทั้ง 410 คน จะมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน มาเบิกความถึงพฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ 2 แต่นายไพบูลย์ก็เป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองแทนโจทก์ ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด

มิได้รู้เห็นเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำของนายศุภชัย จำเลยที่ 2 มาด้วยตนเองโดยตรง เพียงแต่ได้รับคำบอกเล่าและมาเบิกความตามที่ได้รับฟังมาเท่านั้น

ที่โจทก์ทั้ง 410 คนอ้างคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ 2472/2556 ซึ่งวินิจฉัยไว้ว่า นายศุภชัยกับพวกทุจริตยักยอกเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด แต่เมื่อนายศุภชัยมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว คำพิพากษาของศาลปกครองกลางจึงไม่ผูกพันกับนายศุภชัยในคดีนี้

อีกทั้งแม้ในขณะเกิดเหตุ นายศุภชัยจะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการดำเนินการของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด แต่ในการบริหารงานและดำเนินกิจการต่างๆ ก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดำเนินการซึ่งเป็นผู้แทนจำเลยที่ 1 โดยผ่านมติของที่ประชุมใหญ่ ไม่ได้ตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว

เมื่อโจทก์ทั้ง 410 คนอ้างว่านายศุภชัย จำเลยที่ 2 กระทำความผิด แต่ไม่มีพยานชี้ชัดว่าหลอกลวงโจทก์ทั้ง 410 คนและประชาชนอย่างไร ยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่า นายศุภชัยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัย พิพากษายกฟ้อง

นอกจากนี้ ในคดีหมายเลขดำ อ.235/2562 ที่โจทก์ 292 คน ยื่นฟ้องสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด กับนายศุภชัย เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบแล้ว โจทก์ไม่ได้นำพยานหลักฐานมาแสดงเรื่องการขาดทุน ไม่นำผู้ตรวจบัญชีมาเบิกความถึงข้อบกพร่อง มีคำเบิกความของผู้รับมอบอำนาจซึ่งไม่ใช่สมาชิก ไม่มีพยานหลักฐานแสดงว่าเป็นเท็จอย่างไร และจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด พยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1-2 กระทำทุจริตฉ้อโกง พิพากษายกฟ้อง

ยกฟ้องทั้ง 2 สำนวน

ย้อนจุดเริ่มคดีสหกรณ์คลองจั่น

สําหรับจุดเริ่มต้นของมหากาพย์ทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด เกิดขึ้นจากปัญหาช่วงชิงอำนาจบริหารเมื่อปี 2556 จนกลายเป็นหนังสือร้องเรียนกล่าวหาว่านายศุภชัย ในฐานะประธานคณะดำเนินการ ยักยอกเงินสหกรณ์ไปกว่า 1 หมื่นล้านบาท และมีการเบิกจ่ายเงินไม่เป็นไปตามข้อบังคับของสหกรณ์

จนกระทั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษรับไปดำเนินการ โดยรับเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 พร้อมประสานให้ ปปง.สั่งยึดและอายัดทรัพย์ของนายศุภชัย และขยายผลการอนุมัติสินเชื่อและสั่งจ่ายเช็ค 878 ฉบับ มูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท จนทำให้สหกรณ์ขาดสภาพคล่อง

นอกจากนี้ ยังมีเงินของสหกรณ์ 814 ล้านบาท ที่สั่งจ่ายเป็นเงินบริจาคให้วัดพระธรรมกาย จนตามมาด้วยการดำเนินคดีกับพระธัมมชโย และข้อหาสมคบฟอกเงินและรับของโจร โดยพระธัมมชโยปฏิเสธไม่มาตามหมายเรียกถึง 3 ครั้ง จนดีเอสไอขออนุมัติหมายจับจากศาลอาญา

จนกระทั่งเดือนมิถุนายน 2559 ดีเอสไอเริ่มปฏิบัติการตรวจค้นวัดพระธรรมกาย แต่เผชิญกับการระดมศิษยานุศิษย์เป็นโล่มนุษย์ขัดขวางการจับกุม จนต้องยุติปฏิบัติการ ต่อมาต้นปี 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ใช้อำนาจ ม.44 กำหนดพื้นที่วัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุม เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ แต่สุดท้ายก็คว้าน้ำเหลว ไม่ได้ตัวพระธัมมชโย

ไม่เพียงแค่นั้น ดีเอสไอยังขยายผลไปถึงนายอนันต์ อัศวโภคิน เจ้าสัวแลนด์แอนด์เฮ้าส์ กล่าวหาว่าร่วมกันฟอกเงิน ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการพิสูจน์ความจริง

ส่วนนายศุภชัย ก่อนหน้านี้ศาลฎีกาได้พิพากษายืนให้จำคุก 7 ปี ฐานยักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด 22,132,000 บาท เป็นของตนเองโดยทุจริต ไม่รอลงอาญา และยังคงมีคดีอาญาที่ถูกฟ้องซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอีกหลายสำนวน ทั้งความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินที่ได้จากการทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด

ต่อสู้กันไปอีกนานทีเดียว