นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ยิ่งกว่าติดกระดุมให้ถูกเม็ด

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นายกรัฐมนตรีกล่าวคำปราศรัยปลุกเร้าให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายหันมาร่วมมือกันกอบกู้ประเทศจากวิกฤตที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด สรุปเป็นคำขวัญว่า “รวมไทยสร้างชาติ”

ถ้าดูจากปฏิกิริยาของสื่อต่างๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ดูเหมือนตัวเนื้อหาสาระที่กล่าวข้างต้นไม่ได้รับการตอบสนองที่ดีนัก บางส่วนไปติดอยู่กับ “ภาพลักษณ์ใหม่” ของนายกฯ ในการปราศรัย บางส่วนไม่เชื่อน้ำมนต์ อ้างพฤติกรรมที่ผ่านมา 6 ปีว่า นายกฯ คนนี้ไม่มีทางที่จะ “รวมไทย” ด้วยการเปิดฟังความคิดเห็นของผู้คนอย่างกว้างขวางได้จริง

ที่สำคัญกว่าสื่อก็คือ อาการตอบสนองของสังคมในวงกว้างซึ่งประเมินได้ว่า “ต๋อม” คือไม่เกิดกระแสความตื่นตัวเข้าไปมีบทบาทในการ “สร้างชาติ” แต่อย่างไร ไม่ได้ยินว่ามีข้อเสนอจากใคร ไม่ว่านักการเมือง, ปัญญาชน, นักธุรกิจชั้นนำ, สถาบันวิชาการ ฯลฯ ใดๆ เรียกร้องหรือเสนอว่า การเมืองใหม่, เศรษฐกิจใหม่, วัฒนธรรมใหม่ (ที่มากกว่านิวนอร์มอล) ฯลฯ ควรเป็นอย่างไร จึงจะทำให้ชาติถูกสร้างขึ้นมาได้ใหม่

ความเฉยชานี้เกิดขึ้นจากอะไร?

ผมคิดว่า คนจำนวนมากทีเดียว ทั้งโดยมีสำนึกและไม่มีสำนึก ต่างรู้สึกว่า หากชาติที่จะถูกสร้างขึ้นใหม่หรือกู้คืนกลับมา คือชาติอย่างที่เรารู้จักก่อนการระบาดของโควิด ก็ไม่รู้จะสร้างหรือกู้ไปทำไม

ความหมายที่แท้จริงในทัศนะของผมก็คือ คนไทยจำนวนมากในปัจจุบันเห็นว่า ประเทศไทยต้องการความเปลี่ยนแปลงมากกว่านั้นไปไกลแล้ว โครงสร้างทางเศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม และวัฒนธรรมที่ลงรูปลงรอยมาตั้งแต่ พ.ศ.2500 เมื่อสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจ ไม่ตอบโจทย์ชาติอีกต่อไปแล้ว กว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาโครงสร้างดังกล่าวก่อให้เกิดความลักลั่นในตัวระบบ (contradiction) มากเสียจนระบบไม่อาจดำเนินต่อไปได้

ไม่เฉพาะแต่คนทั่วไปเท่านั้นที่บรรทุกความไม่พอใจต่อระบบไว้มากมาย แม้แต่ชนชั้นนำเองก็พบว่าระบบนั้นไม่ตอบโจทย์ของตนนั้นเอง ภายในระยะเวลาเพียง 17 ปี ชนชั้นนำฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งไปสองฉบับ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับนั้น ชนชั้นนำเองมีส่วนในการกำหนดเนื้อหาอยู่มาก ถึงร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดยไม่ประนีประนอมกับฝ่ายอื่น ชนชั้นนำก็รู้ดีว่า จะรักษารัฐธรรมนูญนี้หรือรัฐธรรมนูญลักษณะนี้ให้คงอยู่ต่อไปได้ ก็แต่โดยการบังคับด้วยกำลังบังคับ (coercive force) เท่านั้น

ชนชั้นนำที่พอมีสมองอยู่บ้างย่อมรู้ดีว่า ระบอบอะไรในโลกนี้หากต้องตั้งอยู่บนกำลังบังคับเพียงอย่างเดียว ย่อมหาความยั่งยืนไม่ได้ ซ้ำร้ายกว่านั้น ยิ่งใช้กำลังบังคับมาก จุดจบของมันก็ยิ่งจะรุนแรงมากตามไปด้วย

ผมขอใช้เนื้อที่ต่อไปนี้ เพื่อทำให้เข้าใจความคิดของคนไทยจำนวนมาก (ซึ่งอาจไม่ใช่ส่วนใหญ่ แต่มากทีเดียว) ในเวลานี้ว่า ปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ เรียกร้องให้ต้องปรับแก้ลงไปถึงระดับโครงสร้าง เพียงติดกระดุมให้ถูกเม็ดเพียงอย่างเดียวไม่พอ จำเป็นต้องรื้อเสื้อมาเย็บใหม่หมดทั้งตัว

เริ่มต้นด้วยการกู้เศรษฐกิจที่พังพินาศลงก็ได้ ใครไม่ทราบพูดถึงการกู้เศรษฐกิจโลกเมื่อเร็วๆ นี้ว่า จำเป็นต้องคิดนอกกรอบให้ได้ เพราะปัจจัยเก่าๆ ที่ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต หรือที่นักเศรษฐศาสตร์ไทยชอบเรียกว่า “ลูกโป่ง” ที่เป็นแรงดึงเศรษฐกิจให้โงหัวนั้น ไม่อาจทำงานได้ในสภาวะใหม่หลังโควิดเสียแล้ว

คำถามก็คือ แล้วนายกฯ จะไปหาใครมาเป็นรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจและรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ซึ่งต้องคิดถึงอะไรที่อยู่นอกกรอบของ “ลูกโป่ง” สี่ใบ หรือนอกกรอบ “การเมืองของผู้เชี่ยวชาญ”

ความพยายามที่จะรักษาโครงสร้างหรือระบบเอาไว้ให้คงเดิม ทำให้ปัญหาแต่ละปัญหาถูกมองแยกออกไปเป็นมิติเดียว นำมาซึ่งทางแก้ที่เป็นไปในเชิงเทคนิค คือวางอยู่บนมิติเดียวโดยตลอด ด้วยเหตุดังนั้น ในระยะประมาณครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เราจึงถนัดจะแก้ปัญหาเป็นจุดๆ ถึงแก้ได้ก็ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ในเรื่องเดิม และยิ่งนับวันการแก้ปัญหาเป็นจุดๆ ก็กลับแก้อะไรไม่ได้เลยยิ่งขึ้น

“ผู้เชี่ยวชาญ” ทั้งอเมริกันและไทย (ซึ่งได้ทุนไปศึกษาต่อที่สหรัฐ) สอนให้มองปัญหาแยกส่วนเช่นนี้มาตลอด ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าประสบความสำเร็จในการทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะแรก แต่เริ่มไม่ตอบโจทย์มากขึ้นในระยะหลัง

ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำทั่วโลก ก่อให้เกิดคำตอบมาตรฐานมานานหลายทศวรรษแล้วคือ สร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตร ด้วยวิธีการเช่น ตั้งตัวเป็นครัวของโลก, ทำคาร์เทลหรือรวมกลุ่มประเทศผู้ผลิตเพื่อกำหนดราคาเอง, ลดต้นทุนการผลิต ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปที่ดิน, เกษตรพอเพียง, เกษตรอินทรีย์ ฯลฯ ด้วย, ลดจำนวนของประชากรภาคเกษตรลงเสียบ้าง และอื่นๆ อีกหลายประการ

แต่มิติด้านการเกษตรมีมากกว่าผลผลิตและตลาด ยังมีมิติด้านการเมือง, สังคม และวัฒนธรรม ที่ทำให้อำนาจต่อรองของเกษตรกรต่อคนกลาง, นายทุน, ตลาด และรัฐ น้อยเสียจนเกษตรกรต้องตกเป็นเหยื่อหรือเป็นเบี้ยล่าง (subaltern) ที่ต่อรองไม่ได้ หรือปรับเปลี่ยนการผลิตของตนเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองได้ยากมาก

ตราบใดที่มองเห็นปัญหาและคำตอบจากมิติเดียวเช่นนี้ ปัญหาที่เกิดจากการเกษตรของไทยก็จะกลายเป็นปัญหาเชิงเทคนิคเท่านั้น

แต่ไม่มีปัญหาอะไรในโลกนี้ที่เกิดขึ้นจากมิติเดียว แม้แต่ปัญหาส่วนตัว เช่น ติดยา ก็ยังมีมิติอื่นแทรกอยู่ในความหลงผิดนั้นอีกมาก และมากกว่าการตัดสินใจของบุคคลด้วยซ้ำ

เราบ่นเรื่องการโกงทรัพย์สินสาธารณะมาเกือบจะครบศตวรรษแล้ว (แม้แต่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์) แต่เราเอาการโกงสาธารณะออกจากระบบทั้งหมด ให้เหลือเพียงพฤติกรรมส่วนบุคคล จึงเหลือทางแก้เพียงอย่างเดียวได้แก่การย้ำสอนศีลธรรม

การคอร์รัปชั่นอำนาจด้วยการทำรัฐประหารก็ไม่ถูกจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของการโกงสาธารณะที่ร้ายแรง เพราะทำลายเงื่อนไขอื่นๆ ทั้งหมดที่จะช่วยยับยั้งการโกงทรัพย์สินสาธารณะลงไปหมด เช่น เสรีภาพของสื่อ, สิทธิในข่าวสารข้อมูลสาธารณะ, เสรีภาพที่จะไม่ถูกปิดปาก, การตรวจสอบสาธารณะ ฯลฯ

รัฐบาลที่ไม่โกงนั้นดีแน่ แต่ไม่พอสำหรับประเทศไทยหรอก ไม่โกงแต่บริหารไม่เป็นด้วย จะช่วยให้คนไทยรวยขึ้นได้อย่างไร ยกที่ดินให้บริษัทจีนใช้ทีละ 60 ปี ซ้ำยังขอต่ออายุได้อีก ผลลัพธ์ไม่ต่างอะไรกับการฮุบที่ดินสาธารณะเข้ากระเป๋าตนเองหรือพรรคพวก

เราเคยอยากให้ไทยมีสื่อสาธารณะที่เป็นอิสระ คืออิสระจากทุน (ไม่รับโฆษณา), จากฝักฝ่ายทางการเมือง, จากการครอบงำทางวัฒนธรรม ฯลฯ จึงสร้างองค์กรสื่อสาธารณะขึ้น เป็นเจ้าของโทรทัศน์และอื่นๆ ในช่วงหนึ่งเคยวาดหวังว่าจะเป็นเหมือน BBC ของอังกฤษ แต่องค์กรก็ถูกแทรกแซงจากฝ่ายต่างๆ ทั้งโดยวิธีเนียนๆ และวิธีโหดๆ ตลอดมา ผู้อำนวยการที่มุ่งหมายจะดำเนินงานตามอุดมคติอยู่ได้ไม่เกินวาระแรกของตน แต่ ผอ.ที่พร้อมจะรับการแทรกแซงกลับครอบงำทีวีขององค์กรสืบมาอย่างไม่เสื่อมคลาย

BBC เป็นสื่อสาธารณะที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้เพราะเงื่อนไขทางสังคม, การเมือง และวัฒนธรรมอังกฤษเท่านั้น มีอีกหลายประเทศที่พยายามสร้างสื่อลักษณะเดียวกันนี้เลียนแบบ แต่ไม่มีประเทศใดประสบความสำเร็จ

อุดมคติเดียวกันเพียงอย่างเดียวไม่พอจะสร้างสื่อสาธารณะอย่างนั้น ตราบเท่าที่ไม่มีเงื่อนไขทางสังคม, การเมือง และวัฒนธรรมที่จะรองรับสื่ออิสระเช่นนั้นในเมืองไทย

แท้จริงแล้ว ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นสังคมไทยนั้น อุดมคตินั่นแหละคือตัวปัญหา ไม่ใช่เพราะอุดมคติผิดหรือไม่ดี แต่อุดมคติที่มีมาแต่เดิมต้องการความหมายใหม่ คนอเมริกันยอมรับอุดมคติในคำประกาศอิสรภาพว่า All men are created equal. ตลอดมา ทั้งๆ ที่คนผิวดำไม่เคยได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับคนอื่นเลย

ข้ออ้างความไม่เท่าเทียมนี้คือทุกคนเสมอภาคกันเบื้องหน้ากฎหมาย อย่างที่ได้ยินนายกฯ นอกตำแหน่งบางคนพูดเสมอ แต่ในความเป็นจริง สิทธิซึ่งกฎหมายให้การรับรองไว้อย่างเท่าเทียมกันนั้น หาใช่สิ่งที่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงได้เหมือนกัน ดังนั้น ในทางปฏิบัติ ความเท่าเทียมจึงไม่อาจมีจริงนอกตัวบทกฎหมายไปได้

ความวุ่นวายที่เกิดในสหรัฐช่วงนี้ เป็นหนึ่งในสายธารที่ต่อเนื่องมายาวนานของสำนึกใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นแก่ทั้งคนดำและคนขาวจำนวนมากว่า ทุกคนควรได้รับความเสมอภาคในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง ซึ่งกฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่อาจประทานให้ได้

ว่าถึงเฉพาะเมืองไทย สถาบันในอุดมคติของชาติคือ “ชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์” ซึ่งเกิดและดำรงอยู่สืบมานาน ในสังคมไทยซึ่งคนส่วนใหญ่ขาดการศึกษาแผนใหม่, ยังผลิตในเศรษฐกิจพอเพียง คือประกันการยังชีพของตนเป็นหลัก แม้ส่วนที่เหลือขายจะมีจำนวนมากกว่าก็ตาม, รัฐยังแทบไม่ได้แทรกเข้าไปในหมู่บ้านซึ่งเป็นที่อยู่ของคนไทยส่วนใหญ่มากไปกว่าสัญลักษณ์ เช่นโรงเรียน, ธงชาติ, และกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ

สภาพดังกล่าวได้สูญสิ้นไปแล้วในเมืองไทย ชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์ จะมีความหมายเหมือนเดิมได้อย่างไร ใครๆ ก็เห็นได้ว่าสามสถาบันนี้อาจขัดแย้งกันเองก็ได้ ศาสนาซึ่งควรมอบชีวทรรศน์ของคนในสังคมสมัยใหม่อาจไม่ช่วยเสริมอำนาจของสองสถาบันที่เหลือ หรือบางครั้งถึงกับขัดแย้งเป็นอริต่อกันก็ได้

ในสมัยก่อน อำนาจของ “ชาติ” เกิดจากการสั่งของผู้ที่สามารถกุมกลไกของรัฐไว้ได้อย่างเด็ดขาด แต่ในปัจจุบัน อำนาจของ “ชาติ” เป็นอำนาจเชิงอุดมการณ์ ที่เราพอใจจะทำตามคำเรียกร้องของ “ชาติ” ก็เพราะเราจำนนต่ออุดมการณ์ ไม่ใช่จำนนต่อผู้กุมกลไกรัฐ และด้วยเหตุดังนั้น ประชาธิปไตยจึงมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอันที่จะรักษาชาติให้มีความหมายต่อไปได้

(ประชาธิปไตยในที่นี้หมายถึงอำนาจของผู้กุมกลไกรัฐเกิดจากการยินยอมของประชาชน ไม่ใช่การรัฐประหารหรือความชอบธรรมตามประเพณี)

นับวัน “ชาติ” ในข้ออ้างการทำรัฐประหารย่อมทดแทนความยินยอมได้ยากขึ้นไปเรื่อยๆ ก่อให้เกิดความตึงเครียดเสียจนคณะรัฐประหารไม่สามารถบริหารประเทศได้มากไปกว่าหวงแหนอำนาจของตนไว้เท่านั้น แต่จนถึงทุกวันนี้ ชนชั้นนำก็ไม่มีอะไรอื่นในการควบคุมการเมืองไว้ในมือ นอกจากรัฐประหาร

อุดมคติที่ถูกตั้งคำถามและถูกตีความใหม่เช่นนี้แหละ ที่ทำให้ไม่เคยมียุคสมัยใดที่สถาบันหลักของชาติทั้งสามจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเหมือนปัจจุบัน ยิ่งทำให้ความแตกแยกในเมืองไทยร้าวลึกลงไปอย่างยากจะประนีประนอมกันได้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องของการเลือกข้างเลือกสีเท่านั้น แต่เป็นการเลือกอนาคตที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว

ไม่ใช่เพียงติดกระดุมให้ถูกเม็ด แต่เป็นเรื่องว่าเราควรจะสวมเสื้อที่ตัดเย็บกันมาเช่นไรต่างหาก