อยาก “ลืม” กลับ “จำ”

“พี่น้องผู้ร่วมตายทั้งหลาย

ท่านยังระลึกได้หรือไม่ว่า ณ ที่ใดซึ่งเปนที่ๆ พวกเราได้เคยร่วมกำลังกาย กำลังใจและกำลังความคิด กระทำการเพื่อขอความอิสสระเสรีให้แก่ปวงชนชาวสยาม

ข้าพเจ้าเชื่อว่าบางท่านคงจะจำได้แต่เพียงเลาๆ และบางท่านที่ต้องไปทำหน้าที่อื่นๆ ที่ห่างไกลออกไป ก็คงไม่ทราบ ว่าที่นั้นอยู่แห่งใดแน่

ข้าพเจ้าเห็นว่าพวกเราชาวสยาม และโดยฉะเพาะอย่างยิ่งสหายผู้ร่วมก่อการณ์ไม่ควรจะหลงลืมที่สำคัญแห่งนี้เสีย เพราะเปนที่ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ซึ่งถือกันว่าเปนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเปนมิ่งขวัญของประชาชาติไทย

มิ่งขวัญของชาวสยามได้เริ่มถูกเรียก และถูกเชิญให้มาอยู่กับเนื้อกับตัว ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้

ในขณะวันและเวลาที่กล่าวนั้น พวกท่านผู้ร่วมก่อการได้มอบชีวิตจิตต์ใจไว้แก่ข้าพเจ้าอย่างเต็มที่ คือ เราจักต้องตายร่วมกัน ถ้ากิจการที่ก่อขึ้นนั้นไม่เปนผลสำเร็จลุล่วงดังประสงค์ แต่ด้วยความสามัคคีพร้อมเพรียงเปนน้ำหนึ่งใจเดียวกันนี้แหละ จึ่งทำให้มีความบากบั่นพร้อมด้วยน้ำใจอันแรงกล้าที่ยอมเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อ เพื่อขอพระราชทานสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น

ความประสงค์อย่างบริสุทธิ์จริงใจของเรานี้ ได้รับความนิยมเลื่อมใสของอาณาประชาราษฎร ตลอดทั้งได้รับพระบรมราชานุมัติของพระมหากษัตริย์ด้วย

เพื่อเปนเครื่องป้องกันการหลงลืมและเปนอนุสสรณ์สืบต่อไปภายภาคหน้า ข้าพเจ้าได้ปรารภกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในการที่จะจัดให้มีหมุดที่ระลึกนี้

ฉะนั้น ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึ่งได้จัดทำขึ้น หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญนี้ทำด้วยโลหะสำฤทธิ์ และจะได้ประดิษฐานไว้ ณ จุดที่ข้าพเจ้า ผู้ได้รับแต่งตั้งแลมอบหมายจากพวกพี่น้องผู้ร่วมก่อการณ์ทั้งหลายให้เปนผู้นำ และได้ยืนกล่าวประกาศอิสสระเสรี เพื่อปลุกใจเพื่อนร่วมตายทั้งหลาย และได้สั่งการเด็ดขาดในการที่จะดำเนินการต่อไป

โดยวางกำหนดโทษอย่างหนักไว้ ถ้าผู้ใดขัดขืนคำสั่งหรือละเมิดวินัยในการกระทำหน้าที่ ซึ่งเกี่ยวแก่การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น

ฉะนั้น หมุดที่จะวางลง ณ ที่นี้จึ่งเรียกว่า “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ในมงคลสมัยซึ่งเปนปีที่ ๕ แห่งการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉะบับถาวรนี้ นับว่าเปนมงคลฤกษ์

ข้าพเจ้าขอถือโอกาสวางหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ ณ ที่นี้ ขอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม จงสถิตย์เสถียรอยู่คู่กับประเทศชาติชั่วกัลปาวสาน เทอญ”

ข้างต้นคือสุนทรพจน์ของ “พระยาพหลพลพยุหเสนา” อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องในพิธีฝัง “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ท่ามกลาง “คณะผู้ก่อการ 2475” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2479

จากข้อความข้างต้น ย่อมถือว่า “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ถือเป็น “หลักฐานประวัติศาสตร์” ของชาติ

ดังที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนไว้ในมติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 18 เมษายน ว่า

“หมุดคณะราษฎร เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์การเมืองของไทย เป็นสมบัติสาธารณะ

ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องทักท้วงถกเถียงกันได้ ไม่มีข้อยุติ

แต่ไม่จำเป็นต้องทำลายหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีที่เป็นสมบัติสาธารณะ ไม่ว่าทำด้วยฐานความคิดแบบใด?

หมุดคณะราษฎร (อ่านว่า คะ-นะ-ราด-สะ-ดอน) มีชื่อเป็นทางการว่า “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ทำด้วยทองเหลือง

แผ่นทองเหลืองหมุดคณะราษฎร ฝังเสมอพื้นคอนกรีตลานพระบรมรูปทรงม้า จุดเดียวกับที่พระยาพหลพลพยุหเสนา ยืนอ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 เมื่อย่ำรุ่ง 24 มิถุนายน 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยของคนเท่ากัน

หมุดคณะราษฎร กับบริเวณฝังหมุด เป็นหลักฐานร่วมกันทางประวัติศาสตร์การเมืองของสยามประเทศไทย

[โบราณวัตถุสถานมีเกณฑ์อายุกำหนด (ซึ่งไม่ค่อยน่าวางใจ) แต่ความเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ไม่ต้องขึ้นกับเกณฑ์อายุ]

จะขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุสถาน หรือไม่ขึ้นก็ได้ โดยปกติจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายฯ

แต่ถ้าทางการที่เกี่ยวข้องยังไม่ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุสถาน (หรือเลือกขึ้นบางอย่าง ไม่ขึ้นบางอย่าง) ย่อมหนีไม่พ้นเป็นพวกเดียวกับกระบวนการทำให้ลืม

สั่งให้จำ ทำให้ลืม

ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย ถูกเขียนขึ้นเพื่อสั่งให้จำ และทำให้ลืม เช่น

1. สั่งให้จำ ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และระบอบก่อนนั้น

2. ทำให้ลืม ด้วยการตอกย้ำว่าชิงสุกก่อนห่าม ต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎร…”
อนึ่ง หมุดคณะราษฎรเดิม มีข้อความว่า

“ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ”

ส่วนหมุดใหม่ที่ถูกนำมาแทนที่หมุดคณะราษฎร

มีข้อความรอบนอกว่า

“ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง”

ส่วนรอบในระบุว่า

“ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน”

ซึ่งน่าสังเกตว่า ไม่มีสิ่งที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พ.ศ.2475 อยู่เลย

แม้การหายไปของหมุดคณะราษฎรจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่หากดูปฏิกิริยาของฝ่ายรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ จะพบว่ามีปฏิกิริยาออกไปในทาง “ออกตัว” มากเป็นพิเศษ

นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า

“เรื่องดังกล่าวผมไม่อยากให้เป็นประเด็น ผมรับทราบและได้รับรายงานในเรื่องดังกล่าวมาแล้ว และได้มอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ติดตามสืบสวนและสอบสวน อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้เป็นประเด็นในเวลานี้ เราเองก็เป็นประชาธิปไตยมากว่า 80 ปีแล้ว ผมเองก็ยืนยันว่าผมก็เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น ก็อยู่ที่ใจของพวกเราทุกคนว่าเราจะเดินหน้าประเทศกันอย่างไรมากกว่า ที่เหลือก็เป็นเรื่องของกระบวนการสืบสวนสอบสวนที่ต้องว่ากันไป ถ้าพูดกันไปมา ก็ไม่มีวันจบ ก็ขอให้ดำเนินการไปตามขั้นตอน”

“…เราควรมองอนาคตดีกว่าหรือไม่ เรื่องเก่าๆ ก็เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ก็ว่ากันไป ถ้าจะมาโต้แย้งกันไปมา ผมขอไม่พูดดีกว่า เพราะทุกคนก็มีความเชื่อที่แตกต่างกัน อันนี้คือหลักการของประชาธิปไตย ไม่ได้อยู่ที่อะไรทั้งสิ้น”

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า

“ทางเจ้าหน้าที่เขาดำเนินการ ผมตอบอะไรไม่ได้ และผมไม่ทราบรายละเอียด ขออย่าทำอะไรให้บ้านเมืองวุ่นวาย”

“ผมไม่ได้ติดตามเรื่องนี้ เพราะไม่ใช่เรื่องสำคัญ ไม่เกี่ยวกับความอดอยากปากแห้งของประชาชน ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ”

“คุณรู้หรือว่าอยู่ที่ไหน เมื่อคุณไม่รู้ ผมก็ไม่รู้”

อนันต์ ชูโชติ

เมื่อไปพิจารณาท่าทีของภาครัฐ

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเรื่องหมุดคณะราษฎรหายโดยกล่าวสั้นๆ ว่า “เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกรมศิลปากร”

เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บอกว่า “ไม่ทราบเรื่องจริงๆ…อีกอย่างก็เกิดไม่ทัน ถ้าผมเกิดทันในปี 2475 ผมตอบให้เลยว่าหมุดหายไปไหน อีกอย่างผมไม่ได้เป็นผู้สั่งให้เปลี่ยน”

อัศวิน ขวัญเมือง

ด้าน นายบรรลือ สุกใส ผู้อำนวยการเขตดุสิต เจ้าของพื้นที่กล่าวว่า “เขตไม่ได้เป็นผู้เปลี่ยน ส่วนกรณีการแชร์ที่บอกว่าสำนักงานเขตดุสิตเป็นผู้เปลี่ยนหมุดก็ไม่ใช่ความจริง พื้นที่ดังกล่าวมีหลายหน่วยงานที่ร่วมรับผิดชอบ กทม. ก็มีหน้าที่ดูในเรื่องของหาบเร่แผงลอยเท่านั้น”

ขณะที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติด้านความมั่นคง กล่าวว่า

“กรณีหมุดนี้ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ สอบถามไปยังหน่วยงานราชการ ทั้งสำนักงานเขตดุสิตและกรมศิลปากร ได้รับการยืนยันว่าไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าของ จึงไม่ใช่ของแผ่นดิน ไม่ใช่โบราณวัตถุ หรือดูแลครอบครอง เมื่อเป็นดังนั้นยังไม่ชัดว่าทรัพย์นี้เป็นของใครเลย จะดำเนินคดีลักทรัพย์ได้อย่างไร ทรัพย์เป็นของใครยังไม่รู้เลย จึงยังไม่สามารถดำเนินคดีได้”

“กรณีอ้างเป็นทายาท (คณะราษฎร) หรือเป็นเจ้าของ ก็ต้องมีหลักฐานกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น หากไม่มีหลักฐานว่าเป็นทรัพย์มรดกก็อ้างเป็นมรดกหรือเป็นเจ้าของทรัพย์ไม่ได้”

ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล

ฟังตามนี้ ดูเหมือนหมุดคณะราษฎร จะล่องลอย “หาย” ไปในสายลมมีสูงยิ่ง…แต่คำถามก็คือ เมื่อหมุดหายไป ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลง 2475 จะหายไปด้วยหรือไม่

หลายคนอาจไม่มีคำตอบ

แต่มีเสียงเพลงของ “อยากลืมกลับจำ” ที่ สุรพล โทณวณิก แต่ง – เดอะ ฮอทเปปเปอร์ ร้อง แว่วมา

“บางสิ่งที่อยากจำเรากลับลืม

บางสิ่งที่อยากลืม เรากลับจำ

คนเรานี้ คิดให้ดีก็น่าขำ

อยากจำกลับลืม

อยากลืมกลับจำ”